เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | สุขเขษมที่เขมราฐ

ไปร่วมงาน 20 ปี เขมราษฎร์ธานี เมื่อวันเสาร์ 13 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา สบายตาสบายใจจริงๆ

ด้วยศัพท์ เขมก็คือ เขษม หรือเกษม แปลว่าความสบายใจ ความพ้นภัย ได้ความรู้สึกสมนามตามความหมายนั้นจริงๆ

โดยเฉพาะท่านสตรีหรือ “แม่หญิง” ผู้สูงวัย แต่งกายงามมาร่วมรำร่วมฟ้อนกันเต็มถนนนับร้อยคน ยาวนับร้อยเมตร ประกอบเสียงดนตรีจากนักดนตรีวงผู้เฒ่าและเด็กวัยรุ่น ผู้เป็นทั้งพ่อบ้านและลูกหลานชาวเขมราฐทั้งสิ้น

งานนี้มีทุกวันเสาร์ ใครไปเขมราฐก็จะได้พบบรรยากาศอย่างนี้ จะเข้าร่วมรำฟ้อนกับคุณแม่คุณป้า คุณย่าคุณยายก็ได้เลย

นี่แหละความสบายใจแท้จริงที่ชาวเขมราฐมีให้

ก่อนนั้นว่าชื่อเขมราษฎร์ธานี แปลว่า เมืองที่ประชาชนอยู่สุขสบาย ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นเขมราฐ ซึ่งแปลกระชับขึ้น คือสถานที่สุขสบาย สบายกาย สบายใจทั้งเมืองและทั้งคนนี่เอง

มีส่วนร่วมเสวนากับผู้นำชุมชนซึ่งมีท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัด คือ คุณศุภศิษฐ์ กอเจริญยศ เป็นผู้นำ กับคณะนักวิชาการจาก ม.รังสิต ม.ราชภัฏอุบลฯ และอุดรฯ รวมถึงปราชญ์ท้องถิ่น และนายกเทศมนตรีหญิงคือ คุณลัดดา เจษฎาพาณิชย์

เราเกริ่นว่า ถ้าย้อนเวลาไปได้สักหกสิบปี เราเองคงได้มาเป็นเขยเขมราฐแน่นอน คงพบรัก บอกรัก กระทั่งมาร่วม “สุขเขษมที่เขมราฐ” วันนี้

วันนี้ชาวเขมราฐเขามีเสื้อยืดพิมพ์คำ “บอกรักษ์เขมราฐ” ไว้แล้ว คราวหน้าคงมีเสื้อพิมพ์คำ “สุขเกษมที่เขมราฐ” ด้วยเป็นแน่

ความสุขสบายใจรู้สึกปลอดภัยมั่นคงนั้นมาจากสองภูมิสำคัญคือ “ภูมิฐาน” และ “ภูมิธรรม”

ภูมิฐานในทำเลที่ตั้งเมืองอยู่ริมน้ำโขง ทอดขนานตัวเมืองโดยตลอด บางช่วงมีหาดทรายชายน้ำและแก่งหินสวยงาม ดังเรียกหาดทรายสูง เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

กับมีถิ่นทำเลร่องรอยอารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์ที่ตำบลเจียด บ้านนาหนองเชือก แหล่งโบราณคดีดอนไร่ ขุดพบภาชนะดินเผาใส่ศพพร้อมเครื่องประดับแก้ว หิน และสำริด กับเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากสำริดและเหล็กว่ามีอายุกว่า 2,000 ปี

รวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านอีกมากมาย แสดงถึงความมีอารยธรรมต่อเนื่องมายาวนานของชุมชนบ้านนาหนองเชือก ตำบลเจียดแห่งนี้

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ในบริเวณวัดถ้ำพระศิลาทอง เขาจำลองหลุมขุดที่พบหม้อไหดินเผาแล้วยกหม้อไหดินเผาของจริงมาวางไว้ให้คนได้ชมด้วย

จำเพาะหม้อหรือไหดินเผานี้คือผอบ (ผะ-อบ) ใบใหญ่ ขนาดคนลงไปนอนขดตัวได้ ซึ่งพบซากกระดูกคนขดอยู่ในนั้นจริงๆ

ทำให้นึกถึงเรื่องรามเกียรติ์ที่ฤๅษีไถดินพบผอบ (ผะ-อบ) ใส่นางสีดาอยู่ในนั้น ผอบดินเผาที่พบนี้ก็มีหลายขนาดด้วย ใส่ร่างทั้งเด็กและผู้ใหญ่ตามขนาดต่างกันไป

ชะรอยจากผอบ (ผะ-อบ) นี่เองที่พัฒนาขึ้นมาเป็นโกฐใหญ่น้อยในพิธีศพบ้านเรา ที่มีตั้งแต่บรรจุศพจนถึงบรรจุสรีรังคาร คือเถ้ากระดูกนั้น

ไม่เคยเห็นหม้อไหบรรจุศพขนาดนี้มาก่อนเลย เพิ่งมาพบที่บ้านนาหนองเชือก ตำบลเจียด อำเภอเขมราฐแห่งนี้

นี้เป็นส่วนหนึ่งของ “ภูมิฐาน” สำคัญของเขมราฐ นอกเหนือไปจากความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินอันเกิดจากทำเลที่ตั้งริมน้ำโขง

อีกคือ “ภูมิธรรม” ดังมีวัดสำคัญอยู่กลางเมืองเขมราฐถึงหกวัด เป็นศูนย์กลางแห่งศานติธรรมของชาวบ้านชาวเมืองที่แตกหน่อต่อแขนงเป็นงานบุญประเพณีและศิลปวัฒนธรรมนานา เป็นอัตลักษณ์ของพื้นถิ่นจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเมืองเขมราฐในปัจจุบัน

โดยเฉพาะเรื่องเล่าผ่านลายผ้าด้ายทอย้อมครามมัดหมี่ เช่น ลายนาคน้อย ที่เล่าเรื่องความผูกพันของชาวบ้านชาวเมืองสองฝั่งโขง โดยมีน้ำโขงเป็นเสมือนจิตวิญญาณร่วม และลายช่อเทียน ที่ฝากตำนานวีรชนชาวเขมราฐไปร่วมตั้งบ้านตั้งเมืองเป็นสยามจนเป็นไทยวันนี้

สะท้อนถึงความรักที่แม่หญิงผู้เพิ่งรู้ข่าวคนรักได้มีชีวิตรอดกลับมา เธอนั่งทอผ้ามัดหมี่ลายช่อเทียนตั้งแต่ย่ำค่ำจนถึงย่ำรุ่ง ทันนุ่งไปรับสามีกลับจากทัพกู้กรุงสยามพอดี

ยังมีอีกหลายลายผ้าได้ฝากตำนานฝากเรื่องเล่าของชาวเขมราฐจำหลักไว้ในลายผ้ามัดหมี่ทอมือจากรุ่นสู่รุ่น สืบสกุลวงศ์ปัดสา ที่มี “ป้าติ๋ว” หรือคุณธนิษฐา วงศ์ปัดสา ผู้ทายาทปัจจุบัน

น่าชื่นชมเมืองเขมราฐที่มีเรื่องเล่าและได้เล่าเรื่องผ่านศิลปะลายผ้าผืนงาม

ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ คือ เรื่องเล่าและการเล่าเรื่องด้วยงานศิลปะ

ทุกเมือง ทุกชุมชนล้วนมี “เรื่องเล่า” มากมายหลากหลาย แต่มักขาดการ “เล่าเรื่อง” และแม้จะเล่าเรื่องก็จริง ที่มักจะขาดกันอยู่เสมอคือ “ศิลปะการเล่าเรื่อง” หรือเล่าเรื่องอย่างมีศิลปะ

งานศิลปวัฒนธรรมนี่แหละเป็นการเล่าเรื่อง “วิถีชีวิต” ของผู้คนในสังคม ดังพัฒนาการจากวัฒนธรรมสู่อารยธรรมอันเป็นตำนานแห่งมนุษยธรรมโดยแท้

เรื่องเล่าของเขมราฐวันนี้ ไม่ใช่การนำศิลปวัฒนธรรมมาเป็นจุดขาย หากงานศิลปวัฒนธรรมกำลังสะท้อนและสำแดงถึงความสุขสบายบนภูมิฐาน ภูมิธรรมของชาวเขมราฐโดยตรง

สมนามสมความหมายคือ

สุขเขษมที่เขมราฐ