ต่างประเทศ : ฐานทัพจีนในกัมพูชา?

มีกระแสข่าวลือมาเป็นระยะตั้งแต่ปีก่อนว่าจีนจะเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศกัมพูชา

ซึ่งแน่นอนว่าเป็นกระแสข่าวที่ทำให้สหรัฐอเมริกา ชาติมหาอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจโลกคู่ปรับของจีน ย่อมอยู่ในโหมดนิ่งเฉยไม่ได้

ถึงขนาดที่ทำให้ไมก์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ลงทุนเขียนจดหมายถามไถ่ถึงสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาด้วยตนเองในช่วงปลายปีที่แล้ว

เพื่อไขข้อข้องใจในเรื่องนี้

แต่คำตอบที่ฝ่ายสหรัฐอเมริกาได้รับจากกัมพูชานั้น เป็นคำปฏิเสธอย่างหนักแน่นจากสมเด็จฯ ฮุน เซน ว่าไม่มีอะไรในกอไผ่!

 

ล่าสุดกระแสข่าวเรื่องการตั้งฐานทัพจีนในดินแดนกัมพูชาถูกกระพือขึ้นอีกครั้ง โดยปรากฏเป็นรายงานข่าวในสื่อชั้นนำอย่างวอลล์สตรีตเจอร์นัล เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อ้างแหล่งข่าววงในของสหรัฐอเมริกา บอกว่าจีนและกัมพูชาได้ทำข้อตกลงกันอย่างลับๆ ที่จีนจะใช้ “ฐานทัพเรือเรียม” ของกัมพูชาที่ตั้งอยู่ในอ่าวไทย เป็นที่ตั้งฐานทัพของจีน

แหล่งข่าวยังบอกอีกว่า ข้อตกลงลับนี้จะเปิดทางให้จีนมีขีดความสามารถมากขึ้นในการแสดงอภินิหารอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ทับซ้อนและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาคทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาททางทะเลที่จีนมีปัญหาขัดแย้งอยู่กับหลายชาติเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้

และเป็นสิ่งท้าทายในเชิงยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรในภูมิภาคนี้ด้วย

 

ต่อกระแสข่าวล่าสุด สมเด็จฯ ฮุน เซน ออกโรงปฏิเสธทันควันเหมือนเช่นเคยว่าเป็นการเสกสรรปั้นข่าวกันไปเอง เรื่องแบบนี้ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้ “เพราะการให้ต่างชาติเข้ามาตั้งฐานทัพในเขตอธิปไตยของกัมพูชา เป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของประเทศ”

เป็นคำปฏิเสธในทำนองเดียวกับที่สมเด็จฯ ฮุน เซน เคยออกมาตอบโต้กระแสข่าวลือในลักษณะนี้มาก่อนแล้ว

แต่ถึงแม้กัมพูชาจะปฏิเสธเสียงแข็งเรื่องให้จีนเข้ามาตั้งฐานทัพทหาร ทว่าก็ไม่สามารถดับความวิตกหวั่นกลัวของฝ่ายสหรัฐอเมริกาที่มีต่อการแผ่ขยายอิทธิพลเชิงรุกของจีนในภูมิภาคนี้ลงไปได้

โดยเฉพาะในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับกัมพูชาไม่สู้จะดีนัก

หนึ่งในเหตุผลหลักใหญ่มาจากการวิจารณ์โจมตีสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในกัมพูชาอย่างหนัก

จนเป็นแรงผลักให้รัฐบาลกัมพูชาหันไปใกล้ชิดสนิทสนมกับจีนมากขึ้น

ถึงขั้นมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าประเทศกัมพูชากำลังจะกลายเป็นเมืองขึ้นของจีนไปแล้ว

จากการที่มีเม็ดเงินลงทุนหลั่งไหลจากจีนเข้ามาลงทุนพัฒนาในประเทศกัมพูชาจำนวนมหาศาล

ยังไม่นับเงินสนับสนุนและความช่วยเหลืออีกจำนวนมากผ่านความร่วมมือระดับทวิภาคีของสองประเทศ และผ่านความริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) ภายใต้แนวคิดของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่ถูกมองว่าเป็นยุทธศาสตร์ของการสยายปีกอิทธิพลของจีนไปในภูมิภาคต่างๆ

ยิ่งเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลฮุน เซน ปฏิเสธที่จะยอมรับเงินช่วยเหลือในการพัฒนาฐานทัพเรือเรียมของกัมพูชา ก็ยิ่งทำให้น้ำหนักที่สหรัฐอเมริกาจะเชื่อในกระแสข่าวเรื่องตั้งฐานทัพจีนในกัมพูชายิ่งมีมากขึ้น

 

รายละเอียดส่วนหนึ่งของร่างข้อตกลงลับที่กัมพูชาทำไว้กับจีนเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ที่วอลล์สตรีตเจอร์นัลอ้างอิงว่ามีนั้น ระบุให้สิทธิพิเศษแก่จีนในการใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของฐานทัพเรือเรียมของกัมพูชาเป็นเวลา 30 ปี

โดยจะมีการต่ออายุใช้ฐานทัพให้แก่จีนโดยอัตโนมัติทุกๆ 10 ปี ซึ่งจะทำให้กองทัพจีนสามารถส่งทหารมาประจำการ ตั้งคลังแสงอาวุธ และนำเรือรบเข้ามาประจำการได้

นอกจากนี้ ในร่างข้อตกลงลับยังเปิดทางให้จีนสร้างท่าเรือใหม่ขึ้น 2 แห่ง

โดยท่าเรือแห่งหนึ่งไว้ใช้สำหรับจีน อีกแห่งสำหรับกัมพูชา

ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐอเมริกาตั้งข้อสังเกตว่าการให้สร้างท่าเรือใหม่นี้อาจมีไว้เพื่อรองรับเรือขนาดใหญ่ของกองทัพเรือจีน

นอกจากประเด็นการตั้งฐานทัพจีนในพื้นที่ฐานทัพเรือเรียมของกัมพูชาแล้ว ยังมีอีกประเด็นที่สหรัฐห่วงกังวลและกำลังพยายามล็อบบี้ให้รัฐบาลกัมพูชาเปลี่ยนใจ

นั่นคือการจะให้กองทัพจีนใช้สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้างขึ้นในเขตพื้นที่ดาราสาคร ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากฐานทัพเรือเรียมไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 65 กิโลเมตร

โดยพื้นที่ดาราสาครที่ว่านี้ ทางการกัมพูชาได้ให้สัมปทานแก่บริษัทเทียนจิน ยูเนี่ยน เดเวล็อปเมนต์ กรุ๊ปของจีนเช่าเป็นเวลา 99 ปี มีมูลค่า 3,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในการเข้ามาพัฒนาพื้นที่นี้ซึ่งมีแผนการก่อสร้างสนามบิน ท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม ตลอดจนรีสอร์ตหรู โรงไฟฟ้า โรงบำบัดน้ำเสีย และโรงพยาบาล

ซึ่งสหรัฐอเมริกากำลังจับตาอย่างใกล้ชิดว่าการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวจะมีนัยแอบแฝงทางด้านการทหารอยู่หรือไม่

 

วอลล์สตรีตเจอร์นัลยังอ้างภาพถ่ายดาวเทียมที่จับภาพไว้เมื่อเร็วๆ นี้ เผยให้เห็นการพัฒนาในพื้นที่ดังกล่าวคืบหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก ซึ่งเผยให้เห็นการสร้างรันเวย์ยาว 3.2 กิโลเมตร และใหญ่มากพอที่เครื่องบินขนาดใหญ่อย่างเครื่องโบอิ้ง 747 หรือเครื่องบินแอร์บัส เอ 380 จะลงจอดได้

นั่นหมายความว่ายังรองรับเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลและเครื่องบินลำเลียงทางทหารของจีนลงจอดได้ด้วยเช่นกัน

สหรัฐอเมริกายังตั้งข้อสังเกตว่า ดูจากภาพถ่ายดาวเทียมนี้ยังแสดงให้เห็นว่าการก่อสร้างรันเวย์ดังกล่าวมีการเตรียมการรองรับที่จะทำให้รันเวย์นั้นสามารถปรับใช้สำหรับการขึ้นลงรันเวย์โดยเร็วสำหรับเครื่องบินทหาร รวมถึงเครื่องบินขับไล่ด้วย

ทว่าบริษัทจีนผู้รับสัมปทานพัฒนาพื้นที่ดาราสาครบอกว่าสนามบินแห่งนี้มีขึ้นเพื่อใช้เชิงพาณิชย์เท่านั้น!

ขอย้ำว่าข้อมูลส่วนใหญ่ยังคงเป็นเพียงกระแสข่าว โดยกัมพูชาที่เป็นต้นตอของข่าวลือที่ปรากฏ ยังปฏิเสธเสียงแข็ง

ก็คงต้องให้เวลาเป็นตัวพิสูจน์ข่าวลือนี้ว่าจะเป็นจริงขึ้นมาหรือไม่!