ภาพยนตร์ /นพมาส แววหงส์ / TOY STORY 4 ‘ของเล่นก็มีหัวใจ’

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

TOY STORY 4

‘ของเล่นก็มีหัวใจ’

 

กำกับการแสดง Josh Cooley

เสียงพากย์ Tom Hanks Tim Allen Annie Potts Tony Hale Christina Hendricks Keanu Reeves Joan Cusack

 

เมื่อเก้าปีที่แล้ว Toy Story 3 (2010) ขมวดเรื่องจบลงไปอย่างสวยงามด้วยเนื้อหาที่ชวนอบอุ่นใจและให้ความคิดดีๆ

ย้อนกลับไปอีกสิบห้าปี เรื่องราวในโลกของของเล่นของเด็กชายคนหนึ่งชื่อแอนดี้ ซึ่งมีชีวิตโลดแล่นผจญภัยอย่างสนุกสนานและโดนใจ ด้วยเสียงพากย์ของนักแสดงชื่อดังที่ทำให้ตัวการ์ตูนมีชีวิตขึ้น อาทิ ทอม แฮงส์ ทิม แอลเลน ฯลฯ ก้าวเข้ามาครองใจแฟนหนังการ์ตูนทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่

ค่ายการ์ตูนพิกซาร์ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากหนังชุด Toy Story ซึ่งออกฉายเมื่อ ค.ศ.1995 และตามต่อมาด้วยภาคสองใน ค.ศ.1999

ตุ๊กตาคาวบอยชื่อวู้ดดี้ (เสียงของทอม แฮงส์) เคยเป็นของเล่นชิ้นโปรดของเด็กชายแอนดี้

ของเล่นทุกชิ้นย่อมมีความสุขมากเมื่อยามเจ้าของหยิบมาเล่นด้วย เมื่อแอนดี้ได้ของเล่นชิ้นใหม่คือตุ๊กตานักบินอวกาศ ชื่อ บัซ ไลต์เยียร์ (เสียงของทิม แอลเลน) วู้ดดี้ก็กลัวการตกกระป๋อง พยายามทำทุกอย่างเพื่อเรียกร้องความสนใจจากเจ้าของ

ขณะที่เด็กมนุษย์เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ของเล่นก็ยังคงเป็นของเล่นชิ้นเดิม อาจจะเก่าหรือหักพัง ถูกทอดทิ้งหรือโยนทิ้ง ซึ่งเป็นความกลัวในใจของของเล่นทุกชิ้นที่จะไม่ได้ใช้ชีวิตตามเจตจำนงที่ตัวเองถูกสร้างมา

 

ในแง่นี้ เนื้อหาของหนังสะท้อนความคิดแบบอัตถิภาวนิยม (existentialism) ซึ่งเป็นปรัชญาว่าด้วยการมีอยู่เป็นอยู่ของตัวตนที่เป็นปัจเจกซึ่งรับผิดชอบต่อการดำเนินชีวิตตนเองด้วยเจตจำนงเสรี

การตั้งคำถามเชิงอัตถิภาวะเป็นเนืองนิตย์ของเหล่าของเล่นที่มีชีวิตเป็นของตัวเอง ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นหนังสำหรับเด็กที่กระทบโดนใจผู้ใหญ่ที่หวนระลึกถึงความหลังครั้งเยาว์วัยกับของเล่นที่เราเคยมีเคยเล่นไปด้วย

เนื่องจากเรื่องราวมีมิติที่สะท้อนให้เห็นและคิดต่อมากกว่าความสนุกสนานผิวเผินชั่วครู่ชั่วยาม

 

ในภาคที่สาม แอนดี้ ผู้เป็นเจ้าของวู้ดดี้ โตเป็นหนุ่มถึงวัยเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ของเล่นที่เคยเก็บเข้ากล่องไว้ ก็ต้องนำไปบริจาคให้โรงเรียน (กลายเป็นของเล่นที่ไม่มีเจ้าของ เด็กที่หยิบฉวยไปเล่นชั่วครั้งชั่วคราวก็จับถือแบบไม่บันยะบันยัง ไม่ได้ทะนุถนอมเหมือนเจ้าของคนเดียวเลย) หาไม่ก็ถูกขนไปทำลายในกองเพลิง (ความตายที่น่ากลัวที่สุดสำหรับสิ่งมีชีวิต) วู้ดดี้จึงพยายามทุกทางเพื่อหนีจากชะตากรรมอันน่ากลัวนั้น

เด็กเติบโตเป็นหนุ่ม พ้นวัยจะเล่นของเล่นชิ้นโปรดแล้ว

วันเวลาไม่มีวันหวนคืน

และแอนดี้ไม่มีวันจะเล่นกับวู้ดดี้แบบเดิมอีกแล้ว นอกจากนั้นเขายังต้องโผผินบินจากบ้านที่เคยเป็นรังแสนสุขในวัยเด็ก ไปสู่โลกกว้าง และกลายเป็นผู้ใหญ่ในที่สุด

สิ่งดีที่สุดที่ช่วยวู้ดดี้ไว้จากการอุดอู้อยู่ในกล่องมืดๆ ในห้องใต้หลังคาทึมทึบตลอดกาล คือ แอนดี้ได้ยกของเล่นชิ้นโปรดหลายชิ้น รวมทั้งวู้ดดี้ ให้อยู่ในความดูแลของบอนนี่ น้องสาววัยห้าขวบ

ตอนจบของ Toy Story 3 จึงลงตัวด้วยความสุขแกมเศร้าของอดีตแสนสุขที่ไม่มีวันหวนคืน ทว่า วู้ดดี้ก็ยังได้มีโอกาสสำหรับอนาคตในการมีชีวิตใหม่อีกครั้ง

แหม ลงตัวเหมาะเจาะพอดิบพอดี จนไม่ได้นึกไว้เลยว่าจะมีหนังภาคสี่ตามมาอีก

แต่ความนิยมชมชอบในแฟรนไชส์ชุดนี้ก็ทำให้ผู้สร้างทนต่อความเย้ายวนไม่ได้ เลยสร้างภาคสี่ตามมาอีก ที่ฉายอยู่ขณะนี้นั่นแหละ

 

ผู้เขียนแทบไม่นึกอยากไปดูด้วยซ้ำในทีแรก อะไรที่ปิดฉากไปอย่างสวยงามแล้วก็ไม่น่าไปรื้อฟื้นเปิดขึ้นมาใหม่

แต่ผิดคาดค่ะ

Toy Story 4 มาเหนือคาด และเกินความคาดหวังที่ (ไม่ได้) ตั้งไว้ กลายเป็นตอนจบที่พาให้เรื่องสวยงามยิ่งขึ้นไปอีก เป็นตอนจบแบบที่หนังสมัยก่อนขึ้นตัวอักษรว่า “จบบริบูรณ์”

ในยามที่วู้ดดี้มีเจ้าของเป็นเด็กหญิงที่ไม่น่าจะชอบเล่นกับตุ๊กตาคาวบอย และทิ้งเขาไว้ในตู้เบื้องหลังบานประตูแทบตลอดเวลา วู้ดดี้วางบทบาท (อัตถิภาวะ) ของตัวเองใหม่ว่า หน้าที่ของเขาคือการทำทุกอย่างให้บอนนี่มีความสุข

บอนนี่ถึงวัยเข้าเรียนชั้นอนุบาล และเหมือนเด็กทั่วไป คือไม่อยากไปโรงเรียนเลย แต่วู้ดดี้ก็สู้อุตส่าห์หลบซ่อนตัวไปในเป้ เพื่อไปคอยดูแลบอนนี่ในสภาพแวดล้อมที่เธอไม่คุ้นเคย

ในการนี้เอง เขาช่วยให้บอนนี่ประดิษฐ์ของเล่นชิ้นใหม่จากส้อมพลาสติก เป็นสิ่งประดิษฐ์จากชั้นเรียนอนุบาลที่เธอภูมิใจมากและตั้งชื่อว่า “ฟอร์กกี้” (เสียงของโทนี่ เฮล)

ปัญหาก็คือ ฟอร์กกี้มองตัวเองเป็นของใช้ประเภทที่ใช้หนเดียวทิ้ง ไม่ใช่ของเล่นของเด็ก เขาจึงคอยแต่จะพาตัวเองไปอยู่ในถังขยะตลอดเวลา

ร้อนถึงวู้ดดี้ ผู้กำหนดหน้าที่ของตนไว้ในฐานะคนดูแลความสุขใจของบอนนี่ ต้องคอยไปตามเก็บฟอร์กกี้ขึ้นจากถังขยะ เอามาใส่ไว้ในมือบอนนี่ยามนอนหลับ

และเมื่อพ่อแม่พาบอนนี่นั่งรถวินนาเบโก้ หรือรถที่เป็นบ้านอยู่ในตัว ไปเที่ยวพักผ่อนค้างคืนสุดสัปดาห์ ฟอร์กกี้ที่มีความสุขกับสภาพการเป็นขยะของตน ก็หลบหนีโดยโดดจากหน้าต่างรถไปในตอนกลางคืน ทำให้วู้ดดี้ต้องติดตามไปนำมาคืนให้บอนนี่

นี่เป็นจุดเริ่มของการผจญภัยครั้งใหม่ของวู้ดดี้ ในโลกที่มีทั้งเพื่อนเก่าและเพื่อนใหม่อีกหลายคน

 

การเดินทางของวู้ดดี้ทำให้เขากลับไปเจอเพื่อนเก่าที่พรากจากกันไปหลายปีแล้ว โดยที่หนังภาคนี้เริ่มต้นโดยย้อนไปในตอนที่ตุ๊กตาสาวสวยเลี้ยงแกะ นาม “โบ พีป” (แอนนี่ พอตส์) ออกจากบ้านของครอบครัวแอนดี้ไป

โบเป็นตุ๊กตากระเบื้องถือไม้เท้าที่มีด้ามตะขอ และตั้งอยู่บนฐานของโคมไฟที่ให้แสงสว่างเพื่อไม่ให้เด็กหวาดกลัวความมืด

โบมีความฝันจะใช้ชีวิตอิสระท่องไปในโลกเสรี ผิดกับวู้ดดี้ที่อยากอยู่กับเด็กผู้เป็นเจ้าของเขา

เมื่อกลับมาพบกันอีกครั้ง โบกลายเป็นสาวห้าวผู้เก่งกาจแกร่งกล้า นักวางแผน ผู้นำของลูกสมุนหลายคน วู้ดดี้ต้องขอความช่วยเหลือจากโบกับทีมงานให้ไปช่วยฟอร์กกี้ให้พ้นเงื้อมมือของตุ๊กตาเด็กผู้หญิงชื่อ แกบบี้-แกบบี้ ที่ดูเหมือนจะเป็นผู้ร้ายในตอนแรก แต่แล้วก็กลับกลายเป็นตุ๊กตาที่น่าสงสารอีกตัว

หนังไม่มีผู้ร้ายจริงๆ ในเรื่อง ทั้งๆ ที่ตอนแรกรู้สึกว่าตุ๊กตาแกบบี้-แกบบี้ออกจะน่ากลัว…ประมาณเดียวกับตุ๊กตาผีแอนนาเบลล์ ที่กำลังฉายอยู่ตอนนี้เหมือนกัน…แถมยังรายล้อมด้วยลูกสมุนหลายตัวที่เป็นหุ่นแบบปากขยับได้ ที่คนเชิด (เวนทริโลควิสต์) ใช้เสียงพากย์แบบที่ปากคนเชิดไม่ขยับเลย

แต่เอาเข้าจริงแกบบี้-แกบบี้ก็ไม่ใช่ผู้ร้าย แต่เป็นตุ๊กตาอีกตัวที่โหยหาอยากมีเด็กมารับเป็นของเล่น

บัซ ไลต์เยียร์ ตุ๊กตามนุษย์อวกาศ ยังกลับมามีบทบาทพอควร และมีมุขโดนใจที่เกี่ยวกับ “เสียงในหัวตัวเอง” แถมยังมีตุ๊กตานุ่นคู่หูอีกสองตัวที่เป็นจอมวุ่น คือ ดักกี้กับบันนี่

และตามที่บอกไว้ว่าหนังมีตอนจบที่สมบูรณ์สวยงาม

อย่าพลาดนะคะ  ตุ๊กตาพวกนี้มีชีวิตโลดแล่นอยู่ในโลกภาพยนตร์มาตั้งยี่สิบสี่ปีเข้านี่แล้ว

วันเวลาผ่านไปไวเหมือนโกหกจริงๆ