คำ ผกา | ฮิโนกิแลนด์กับวัฒนธรรมของเรา

คำ ผกา

หลังจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรมประกาศ 10 แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ซึ่ง 1 ใน 10 แหล่งนั้นมีฮิโนกิแลนด์ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ด้วย จากนั้นก็มีกระแสในโซเชียลมีเดีย สงสัยว่า ฮิโนกิแลนด์ ติดอยู่ในลิสต์ได้อย่างไร เชียงใหม่มีหมุดหมายทางวัฒนธรรมตั้งเยอะแยะ ทำไมไปเลือกเมืองจำลองญี่ปุ่น ถ้าอย่างนั้นทำไมไม่เลือกวอร์มอัพ ผักชื่อดังเสียเลยเล่า?

นอกจากฮิโนกิแลนด์แล้ว อีก 9 สถานที่ยังมีทั้ง จิมทอมป์สันฟาร์ม สวนนงนุช ภูเก็ตแฟนตาซี สยามนิรมิต เป็นต้น

ถ้าดูจากลิสต์จะเห็นว่ากรมส่งเสริมวัฒนธรรม ไม่ได้ตีความวัฒนธรรมอย่างแคบว่าต้องเป็น “ไทย” เท่านั้น แต่กำลังมองวัฒนธรรมในลักษณะที่ไทยร่วมสมัยมากขึ้น

เช่น นับเอาสวนนงนุช หรือภูเก็ตแฟนตาซี เป็นหนึ่งในสถานที่ทางวัฒนธรรม

ดังนั้น ฮิโนกิแลนด์ – เมืองจำลองญี่ปุ่นฝีมือคนไทย เป็นญี่ปุ่นตามการตีความแบบคนไทยก็ควรจะเป็นสถานที่ทางวัฒนธรรมได้เช่นกัน

เว็บไซต์ The Momentum ให้รายละเอียดเกี่ยวกับฮิโนกิแลนด์ว่า

“ฮิโนกิ เป็นสนไซเปรสพันธุ์ญี่ปุ่น (Japanese Cypress) มีคุณสมบัติเนื้อแน่น ทนแดดฝน จึงเป็นที่นิยมนำมาใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์และโครงสร้างบ้าน แต่เดิม โชกุนในสมัยเอโดะก็เลือกใช้ไม้ชนิดนี้มาสร้างปราสาท

ภายในเนื้อไม้ยังมีน้ำมันหอม สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น คุณสมบัติการต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ไอระเหยจากน้ำมันฮิโนกิยังสามารถช่วยเรื่องการลดอาการคัดจมูก ให้ผลดีต่อระบบทางเดินหายใจ

อนิรุทธ์ จึงสุดประเสริฐ สร้างบ้านไม้หอมฮิโนกิไชยปราการ ซึ่งเป็นบ้านหลังแรกของประเทศไทยที่ทำจากไม้สนชนิดนี้ เมื่อปี พ.ศ.2550 ก่อนจะเปิดบริษัท ฮิโนกิไชยปราการ จำกัด ชักชวนชาวบ้านในอำเภอไชยปราการและละแวกใกล้เคียงร่วมกันผลิตสินค้าที่ต่อยอดมาจากน้ำมันหอมที่สกัดจากไม้สนฮิโนกิ โดยผ่านการค้นคว้าวิจัยจากห้องแล็บวิทยาศาสตร์ และได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในทุกผลิตภัณฑ์”

ฮิโนกิแลนด์ เบื้องหลังแลนด์มาร์กเมืองญี่ปุ่นกลางหุบเขาในเชียงใหม่

ในแง่นี้ฮิโนกิแลนด์จึงเป็น “ธีมปาร์ก” ในเชิงวัฒนธรรมที่น่าสนใจที่สุด

และสำหรับฉันในบรรดา 10 สถานที่อันกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเลือกมา ฮิโนกิแลนด์เป็นตัวเลือกที่ต้องยอมรับว่ากรมส่งเสริมวัฒนธรรมก้าวหน้าและกล้าหาญมากที่หยิบฮิโนกิแลนด์ขึ้นมา

เพราะไม่เพียงแต่เป็นธีมปาร์กสำหรับการไปท่องเที่ยว แต่นี่คือการต่อยอดของธุรกิจการนำเข้าไม้สนของนักธุรกิจคนหนึ่งที่นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้กับท้องถิ่น

สร้างงาน สร้างอาชีพ และพาชุมชนออกไปจากวังวนว่า คนไชยปราการไม่จำเป็นต้องปลูกแต่หอมหัวใหญ่ ทำแต่สวนส้ม หรือสวนลิ้นจี่เท่านั้น

การทำฮิโนกิแลนด์ก็ไม่ต่างจากฟาร์มโชคชัยที่ต่อยอดธุรกิจฟาร์มโคนมจนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและกลายเป็นสัญลักษณ์ของเขาใหญ่ ไม่ต่างจากไร่องุ่นหลายแห่งในเมืองไทยที่อาจพัฒนาเป็น wineyard ท้ายที่สุดก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วยตัวของมันเอง

ช็อกโกแลตชื่อ Shiroikoibito ของฮอกไกโด ที่คนไทยไปเที่ยวฮอกไกโดก็ต้องไปเที่ยวที่โรงงาน แล้วขนซื้อเจ้าช็อกโกแลตอันนี้กลับมามากมายก่ายกอง ปัจจุบัน ช็อกโกแลต Shiroikoibito คือสัญลักษณ์ของเมืองฮอกไกโดไปแล้ว และเป็นที่รู้กันดีว่า รายได้ของโรงงานช็อกโกแลต Shiroikoibito ไม่ได้มาจากการขายช็อกโกแลต แต่มาจากยอดคนที่ซื้อตั๋วเข้ามาเยี่ยมชมโรงงานที่ถูกทำให้เป็นธีมปาร์ก

ถามว่า ช็อกโกแลตมีความเป็นญี่ปุ่นไหม?

เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่นไหม?

คำตอบคือไม่! คนสร้างแบรนด์ Shiroikoibito ก็สร้างแบรนด์นี้ขึ้นมาด้วยการทำที่ดินรกร้างแปลงหนึ่งให้กลายเป็นเมืองแบบยุโรปในจินตนาการ

ทำโรงงานช็อกโกแลตในหมู่บ้านที่เหมือนยุโรปอันนี้ ทำสวนสวยๆ ให้คนเข้าไปถ่ายรูป (เหมือนสวนแกะในสวนผึ้ง ราชบุรี อะไรทำนองนั้น) ทำโรงงานช็อกโกแลตขำๆ เพื่อให้คนที่มาเที่ยวได้ซื้ออะไรกลับไป

ท่ามกลางหมู่บ้านที่ไม่มีอะไร ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยว ไม่มีโบราณสถาน สถาปัตยกรรมอะไรเลย ก็ถูกเนรมิตให้กลายเป็นแลนด์มาร์ก

จนท้ายที่สุดเป็นเอกลักษณ์ เป็นแหล่งสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้คนท้องถิ่น และเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นฮอกไกโดขึ้นมาได้

ถามว่า คนไทยรู้จักฮอกไกโดจากอะไร เบียร์ ช็อกโกแลต ขนมเค้กยี่ห้อ TAO ที่คนไทยแห่ไปเข้าคิวซื้อในราคาแพงลิบลิ่วในห้างเมืองไทยนั้น มีอะไรที่เป็น “ญี่ปุ่น” บ้าง, ชีสเค้กของฝรั่ง เบียร์ก็ของฝรั่ง แพนเค้กก็ของฝรั่ง ช็อกโกแลตก็ของฝรั่ง

แล้วทำไมคนไทยยอมรับว่าของฝรั่งเหล่านี้เป็นของฮอกไกโด ที่เป็นญี่ปุ่น แถมยังดูญี่ปุ๊นญี่ปุ่นอีกด้วย!

เช่นเดียวกัน ฮิโนกิแลนด์ไม่จำเป็นต้องสร้างจากอะไรไทยๆ เลย และความสำเร็จของการสร้างสถานที่ท่องเที่ยว สร้างธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของคนไทยก็ไม่เห็นจำเป็นต้องขังตัวเองไว้กับเครื่องเงิน เครื่องเขิน ซิ่นตีนจกไม่ใช่หรือ?

ถ้าจะว่ากันตามจริง เครื่องเขินก็ไม่ใช่ของไทย เพราะมีใช้กันตั้งแต่จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม พม่า ส้ม, ลิ้นจี่ก็ไม่ใช่ผลไม้พื้นถิ่นของไทย – ใดๆ ในประเทศไทยที่ทำให้เรารุ่งเรืองมาจนถึงทุกวันนี้ก็เพราะบรรพบุรุษของเรามีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักเอาของต่างบ้านต่างเมืองเข้ามาปลูก เข้ามาเรียนรู้ เข้ามาผลิต พูดให้หยาบกว่านั้น จิม ทอมป์สัน ที่ทำให้ผ้าไหมไทยโด่งดังก็เป็นอเมริกันไม่ใช่หรือ? แล้วเราจะมารังเกียจรังงอนอะไรว่า ฮิโนกิแลนด์ไม่ใช่ของไทย

แล้วมันน่าตื่นเต้นแค่ไหน ที่อำเภอที่โลกลืมอย่างไชยปราการสามารถสร้างธุรกิจที่เก๋ไก๋ แสนจะอินเตอร์ อย่างผลิตภัณฑ์จากไม้สนฮิโนกิ!!!

ใจคอคนที่รังเกียจเรื่องนี้จะให้เมืองไทยมีแต่ล้งทุเรียน คนเชียงใหม่ขายลำไยอบแห้ง แคบไขควาย แอ็บอ่องออ ข้าวซอยหรืออย่างไร?

คําว่าวัฒนธรรมนั้นควรเป็นคำกลางๆ ที่หมายถึงวิถีชีวิต ซึ่งมีพลวัตในตัวของมันเองอยู่เสมอ

น่าเศร้าที่องค์ความรู้ของคนไทยโดยทั่วไปเข้าใจคำว่าวัฒนธรรม โดยเอาไปผูกติดอยู่กับวัฒนธรรมประดิษฐ์ หรือวัฒนธรรมสถาปนาของราชการไทยเมื่อเจ็ดสิบแปดสิบปีที่ผ่านมาเท่านั้น

เช่น เชื่อว่างานเลี้ยงขันโตกเป็นของชาวล้านนา มีความเป็นล้านนาอย่างยิ่ง ทั้งๆ มันเป็นประเพณีประดิษฐ์ขึ้นมาในยุคสมัยใหม่ประมาณปี 2500 ต้นๆ เท่านั้น

นั่นคือเราเชื่อวัฒนธรรมปลอมเป็นของ “ไทยแท้” แต่ไม่ยอมรับวิถีชีวิตแท้ๆ ของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ว่านี่แหละคือความเป็นไทย

ถามว่าวอร์มอัพเป็นสถานที่ทางวัฒนธรรมไหม?

ฉันตอบด้วยความมั่นใจว่า ใช่แน่นอน เพราะวอร์มอัพคือไอคอนของ youth culture ในภาคเหนือ และสามารถเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กของเชียงใหม่ได้ ไม่ผิดอะไรเลย

เพราะในคำว่าวัฒนธรรม เราจะปฏิเสธว่าวัฒนธรรมการกิน การเที่ยวของคนหนุ่มสาวร่วมสมัยไม่ใช่วัฒนธรรมได้อย่างไรกัน

คำว่าวัฒนธรรมเป็นคำกลางๆ ไม่ได้มาพร้อมกับความดีงาม สูงส่ง เก่าแก่ ด้วยตัวของมันเอง แต่วัฒนธรรมคือวิถีชีวิต คือความเป็นไปของสังคม คือ “มนุษย์” ที่ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมขึ้นมา

เราเป็นอย่างไร กินอะไร นุ่งห่มอะไร ใช้ชีวิต กิน อยู่ หลับ นอน อย่างไร – นั่นแหละคือวัฒนธรรม คือตัวเรา ไม่ต้องไปนั่งส่องในมิวเซียมที่ไหน

เพราะอะไรที่ถูกขังไว้ในมิวเซียม แปลว่ามันตายไปแล้ว