วิกฤติศตวรรษที่ 21 | ปัญญาประดิษฐ์กับอุดมการณ์สังคมปัญญาประดิษฐ์

วิกฤติประชาธิปไตย (53)

ปัญญาประดิษฐ์กับอุดมการณ์สังคมปัญญาประดิษฐ์

ปัญญาประดิษฐ์ หมายถึง เครื่องจักรหรือคอมพิวเตอร์ที่เรียนรู้ได้โดยอาศัยข้อมูลเชิงสถิติที่มนุษย์ประดิษฐ์สร้างขึ้นเลียนแบบการเรียนรู้การคิดวิเคราะห์ และการตัดสินใจของมนุษย์เพื่อประโยชน์ของผู้เป็นเจ้าของ นักลงทุน ผู้จ้างวาน และผู้บริโภค

ศาสตร์หรือเทคโนโลยีนี้เกี่ยวพันกันหลายสาขาวิชา เกี่ยวข้องกับผู้คนทั้งสังคมและทั่วโลก ความกว้างขวางและผลกระทบแบบพลิกโลกนี้ ทำให้มันถูกยกระดับสู่อุดมการณ์ได้ง่าย

เช่น การโฆษณาว่าสังคมปัญญาประดิษฐ์หรือเศรษฐกิจ-สังคม ที่ตั้งอยู่บนฐานความรู้และนวัตกรรมเป็นสิ่งที่พึงประสงค์

มีความเชื่อและศรัทธาว่า เทคโนโลยีโดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์สามารถแก้ไขปัญหาใหญ่ของมนุษย์ นั่นคือ ความยากจน สุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้

ไปจนถึงการสร้างวิสัยทัศน์ นโยบาย ยุทธศาสตร์ จุดประสงค์ของการเคลื่อนไหว หรือปฏิบัติการต่างๆ เพื่อให้เห็นว่าชาติของตนมีอำนาจทางเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์เหนือกว่า เป็นผู้ชนะชาติอื่น

การที่เทคโนโลยีถูกยกระดับสู่อุดมการณ์เป็นลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของสถานการณ์ปัจจุบัน

กล่าวในทางวิชาการ ปัญญาประดิษฐ์ต้องรวมความรู้ที่เกี่ยวกับเครื่องจักรและวิทยาศาสตร์การรับรู้ของมนุษย์เข้าด้วยกัน และการรับรู้ของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งซับซ้อนที่สุดเท่าที่มนุษย์รู้จัก

นักวิชาการที่เข้ามาทำงานทางด้านนี้มีอยู่หลายสาขา เช่น นักคณิตศาสตร์ นักทฤษฎีเกม นักฟิสิกส์ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ วิศวกร นักพัฒนาโปรแกรม นักวิเคราะห์ระบบซับซ้อน ไปจนถึงนักวิทยาศาสตร์การรับรู้ นักประสาทวิทยา และนักเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น

กล่าวในทางสังคม มีผู้แสดงหลักสามกลุ่ม

กลุ่มแรกได้แก่ รัฐบาลผู้บริหารภาครัฐ แสดงบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ขับเคลื่อน สร้างโครงการ จ้างวานและกำหนดยุทธศาสตร์ชาติทางด้านปัญญาประดิษฐ์ เห็นได้ว่า กำเนิดของอินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ของโลกนั้นมาจากโครงการของรัฐบาล (สหรัฐ) ทุกวันนี้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ในโลกเกือบทั้งหมดเป็นของรัฐบาล

ความก้าวหน้าทางปัญญาประดิษฐ์จำนวนมากมาจากการสนับสนุนของภาครัฐ

รัฐบาลต้องการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อประโยชน์ 3 อย่างใหญ่ได้แก่

1) การทหารและสงคราม มีตั้งแต่การสร้างอุปกรณ์ช่วยเหลือการรับรู้ของทหารในสมรถูมิ ไปจนถึงโดรนสังหาร ที่เปลี่ยนการสงครามของโลก

2) ความมั่นคง โดยสามารถสอดส่องกิจกรรมการเคลื่อนไหวของบุคคลและกลุ่มบุคคลได้อย่างกว้างขวางครอบคลุมในทุกที่และทันเวลา รวมทั้งปฏิบัติการข่าวสารและงานข่าวกรองเป็นเหมือน “พี่ชายใหญ่”

3) ด้านการบริหารปกครอง เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการทั้งภาครัฐและภาคพลเมือง เช่น การสร้างรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ในอีกด้านหนึ่งช่วยควบคุมกำกับภาคพลเมืองให้มีประสิทธิภาพขึ้น

กลุ่มที่สองได้แก่ ผู้บริหารภาคธุรกิจเอกชนและบรรษัทใหญ่ ซึ่งมีบทบาทสูงในประเทศพัฒนาแล้ว กลุ่มนี้มีความต้องการใหญ่ 2 ประการที่เกี่ยวเนื่องกัน ได้แก่

1) การเอาชนะการแข่งขันทางธุรกิจซึ่งอาจเป็น โดยการพัฒนาโซ่อุปทานและการตลาดให้มีประสิทธิภาพขึ้น การเข้าควบรวมและซื้อกิจการ ไปจนถึงการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ หรือสตาร์ตอัพ มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางธุรกิจ เช่น บริการเรียกรถแท็กซี่

2) การสร้างกำไรได้เพิ่มมากขึ้น มาจากทั้งการเก็งกำไร ไปจนถึงการประกอบการต่างๆ ซึ่งอินเตอร์เน็ต ระบบดิจิตอลและปัญญาประดิษฐ์ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญ

สองกลุ่มแรกนี้ มีบทบาทสูงมากในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ก่อให้เกิดกระแสขึ้นลงในการพัฒนานี้ ทำนองเดียวกับการขึ้นลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ นั่นคือมีการสร้างฟองสบู่หรือการโฆษณาสร้างความคาดหวังเกินจริง สำหรับรัฐบาลเพื่อขยายงบประมาณทางด้านนี้ สำหรับธุรกิจเอกชนเพื่อการระดมทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา และการขายสินค้าและบริการ

เมื่อเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามโฆษณา ก็เกิดขาลง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งปวง

หนทางแก้คือทำให้ชัดเจนว่า ปัญญาประดิษฐ์แท้จริงแล้วเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของมนุษย์ มีความจำกัดในตัวมันเอง บางคนเสนอว่าควรใช้คำว่า “ปัญญาเสริม” แทน

แต่ปัญญาประดิษฐ์ที่มีศักยภาพสูง ยังจะรุ่งต่อไปได้อีก (ดูบทความของ Kalia Barkai ชื่อ Artificial Intelligence : The Boom is in the Name ใน minervaquest.com 05.05.2018 เป็นต้น)

กลุ่มที่สามได้แก่ ภาคประชาชน ซึ่งป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด มีลักษณะถูกกระทำ มีบทบาทเป็นคนงานลูกจ้างและผู้บริโภค มีประโยชน์ใหญ่จากปัญญาประดิษฐ์ได้แก่ ความสะดวกสบาย รวมถึงการได้อิสระเสรีระดับหนึ่ง โดยทั่วไปภาคประชาชนยอมรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพราะรู้สึกว่าได้รับความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น เมื่อรู้สึกว่าเกิดความไม่สบาย โดยเฉพาะการไม่สบายใจ ในเรื่องของความไม่มั่นคงทางการงาน เนื่องจากหุ่นยนต์ที่ฉลาดขึ้นทุกทีเข้ามาแย่งงาน หรือจากการรู้สึกว่าถูกสอดส่องควบคุมโดยรัฐบาล และบรรษัททางไอทีและปัญญาประดิษฐ์ หมดความเป็นส่วนบุคคล ก็จะคัดค้านกดดัน ความไม่สบายใจและความกังวลดังกล่าวมีอยู่สูงในประเทศพัฒนาแล้ว

อนึ่ง การเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ แสดงถึงชัยชนะเด็ดขาดของแรงงานสมองเหนือแรงงานมือ สัญลักษณ์รูปค้อนและเคียวในขบวนการคอมมิวนิสต์เดิม ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงขณะนี้เหมือนเดิม รูปสัญลักษณ์เครือข่ายเส้นประสาทจะสะท้อนความเป็นจริงได้มากกว่า การต่อสู้เพื่อสร้างสังคมอุดมคติจำต้องมีการเพิ่มเติมอีกหลายประการ

การเป็นผู้นำและยุทธศาสตร์ทางปัญญาประดิษฐ์ของสหรัฐ

นักวิทยาศาสตร์คนแรกๆ ที่สร้างเครื่องจักรที่เรียนรู้ได้ ได้แก่ อลัน ทัวริง (1912-1945) นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ สร้างเครื่องจักรที่สามารถถอดรหัสทางทหารของเยอรมนีได้สำเร็จ รู้การเคลื่อนไหวของเรือดำน้ำเยอรมนี กล่าวกันว่ามีส่วนช่วยให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเอาชนะสงครามได้ง่ายขึ้น หลังสงครามความรู้ทางด้านปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยมีสหรัฐเป็นแกนกลาง

ในปี 1956 มีการพบปะของนักวิชาการเกี่ยวกับ “ปัญญาประดิษฐ์” ที่วิทยาลัยดาร์ตมัธ ช่วยจุดประกายการศึกษาวิจัยทางด้านนี้ จอห์น แม็กคาร์ธีย์ ผู้เป็นหัวแรงหนึ่งในการจัดการพบปะนี้ได้คิดคำว่า “ปัญญาประดิษฐ์” ขึ้นเพื่อใช้ในการประชุม

ชื่อนี้สามารถเรียกเป็นอย่างอื่นก็ได้ เช่น “เครื่องจักร/คอมพิวเตอร์ฉลาด” แต่เขาเลือกใช้คำว่าปัญญาประดิษฐ์ และติดปากมาจนถึงทุกวันนี้

ผู้เข้าร่วมพบปะสำคัญคนอื่นได้แก่ มาร์วิน มินสกี้ (1927-2016) นักวิทยาศาสตร์ด้านการรับรู้ ผู้สร้างทฤษฎี “สังคมแห่งจิต” (1986) อาร์เธอร์ แซมวล (1901-1990) ศึกษาทางด้านทฤษฎีเกม สร้างคำว่า “การเรียนรู้ของเครื่องจักร” (ปี 1959) อัลเลน นิวเวลล์ (1927-1992) ผู้ร่วมสร้างโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ ที่เลียนแบบทักษะการแก้ปัญหาของมนุษย์ เป็นโปรแกรมแรกเรียกชื่อว่า “นักทฤษฎีตรรกะ” (ระหว่าง 1955-1956) เฮอร์เบิร์ต ไซมอน (1916-2001) นักเศรษฐศาสตร์ร่วมงานกับนิวเวลล์ในการสร้างโปรแกรม “นักทฤษฎีตรรกะ” ตัวเขาเองมีชื่อเสียงในการเสนอทฤษฎี “ขอบเขตของการมีเหตุผล” เสนอว่า ความมีเหตุผลของผู้คนหมดไปเมื่อได้ตัดสินใจแล้ว

ปี 1979 มีการจัดตั้งสมาคมอเมริกันเพื่อปัญญาประดิษฐ์ ที่ต่อมาเติบโตขยายเป็นองค์การนานาชาติ เรียกชื่อใหม่ว่า “สมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางปัญญาประดิษฐ์” (AAAI ปี 2007)

แต่เรื่องแบบนี้ก็ย่อมมีการแข่งขัน ยุโรปเป็นภูมิภาคแรกที่มีการจัดตั้งสมาคมยุโรปเพื่อปัญญาประดิษฐ์ (1984)

แต่การท้าทายสำคัญมาจากประเทศญี่ปุ่น ที่พยายามต่อยอดเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ มีการนำหุ่นยนต์มาใช้ทางอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง

แต่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเกิด “ยางแตก” เสียก่อนตั้งแต่ปี 1991 มีอัตราการเติบโตต่ำต่อเนื่องจนถึงขณะนี้ การท้าทายจึงลดลง

เป็นการคุกคามจากจีน ที่เหมือนพายุใหญ่พัดโหมมาอย่างต่อเนื่อง สุดที่สหรัฐจะทนได้

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ประธานาธิบดีทรัมป์ออกคำสั่งฝ่ายบริหาร “ว่าด้วยการรักษาการเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์ของสหรัฐ” เป็นคำสั่งกว้างๆ เพื่อแสดงความมุ่งมั่น เพราะว่าหน่วยงานรัฐทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนได้ปฏิบัติอยู่แล้ว

เช่น สำนักโครงการวิจัยขั้นสูงด้านกลาโหม (ดาร์ปา) ของสหรัฐ กำลังมุ่งวิจัยและพัฒนา “คลื่นลูกที่สามด้านปัญญาประดิษฐ์” โดยคลื่นลูกแรกเป็น “ระบบอิงกฎ” สามารถปฏิบัติภารกิจเฉพาะเจาะจงได้ คลื่นลูกที่สอง “เทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องจักรที่สามารถสร้างการรู้จำตัวแบบเชิงสถิติจากข้อมูลปริมาณมากได้”

สำหรับลูกที่สาม ต้องการหา “ทฤษฎีและการนำไปใช้แบบใหม่ ซึ่งทำให้เครื่องจักรสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ด้วยข้อมูลที่จำกัด” (ดูบทความของ Sebastian Moss ชื่อ Understanding the United States” national AI strategy ใน datacenterdynamics.com 12.02.2019)

อุดมการณ์สังคมปัญญาประดิษฐ์ของจีน

อุดมการณ์สังคมปัญญาประดิษฐ์ของจีนปรากฏในแนวคิด “ความฝันของชาวจีน” ที่ทำให้แพร่หลายโดยประธานาธิปดีสีจิ้นผิง ซึ่งเป็นการขยายวงจาก “การปฏิวัติทางวัฒนธรรมของชนชั้นกรรมาชีพ”

ในสมัยประธานเหมาเจ๋อตง นี่เป็นความฝันของชาวจีนทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะชนชั้นกรรมาชีพ ความฝันของชาวจีนมีสองอย่าง ความฝันระยะยาวเกิดขึ้นภายในปี 2050 ที่จีนจะเป็นสังคมทันสมัย เป็นมหาอำนาจของโลก และมีวัฒนธรรมสูง

และที่เจาะจงยิ่งขึ้นได้แก่ “แผนการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์รุ่นใหม่” ของจีนที่ประกาศในปี 2017 มุ่งหวังที่จะให้จีนเป็นผู้นำโลกด้านปัญญาประดิษฐ์ในปี 2030 นำพาให้เกิดนวัตกรรมในทางเศรษฐกิจ และความทันสมัยทางการทหารไม่แพ้สหรัฐ

การที่จีนสามารถยกปัญญาประดิษฐ์สู่ระดับวิสัยทัศน์และอุดมการณ์ได้ ที่สำคัญเนื่องจากว่า ชาวจีนมีความเชื่อในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการสร้างงานและทำให้ชีวิตดีขึ้นสูงสุดในโลก

จากการสำรวจประชามติทั่วโลกพบว่า ชาวจีนถึงร้อยละ 65 เชื่อว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์จะช่วยสร้างงาน ไม่ใช่ทำลายงานในช่วง 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่มีเพียงร้อยละ 29 ในสหรัฐและหลายประเทศตะวันตกมีตัวเลขต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เช่น สหรัฐที่นำการสร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์มีเพียงร้อยละ 23 ญี่ปุ่นที่นำหน้าในการใช้และการพัฒนาหุ่นยนต์ทางอุตสาหกรรมมีร้อยละ 22 เยอรมนีที่ออกหน้าในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มีประชาชนที่เชื่อถือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการสร้างงานเพียงร้อยละ 18

ในด้านความเชื่อว่าเทคโนโลยีดิจิตอลจะช่วยมนุษย์แก้ปัญหาใหญ่ได้ พบว่า ชาวจีนถึงร้อยละ 71 เชื่อเช่นนั้น ขณะที่ชาวโลกเชื่อเพียงร้อยละ 42 (ดูรายงานข่าวของ Wendy Wu ชื่อ China tops global poll for faith in AI technology creating jobs and improving lives ใน scmp.com 09.02.2018)

จีนได้แปรสังคมให้เป็นแบบดิจิตอลอย่างรวดเร็ว และที่เป็นที่สนใจมาก ได้แก่ การทดลองสร้าง “ระบบเครดิตทางสังคม” ขึ้น (เริ่มปี 2014) เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลกตะวันตก ส่วนมากเป็นเชิงลบ

เช่น กล่าวว่าเป็นเหมือนการสร้างโลกอนาคตตามที่ปรากฏในนวนิยายชื่อ “โลกใหม่ที่กล้าหาญ” (Brave New World ของอัลดัส ฮักซลีย์ เผยแพร่ครั้งแรกปี 1953) ที่รัฐบาลควบคุมประชาชนของตนตั้งแต่เกิดจนตาย มีชีวิตที่ไม่คับข้องใจ

แต่มีบางคนชี้ว่า สิ่งที่จีนกำลังทำอยู่ เกิดจากความจำเป็นของจีน ทั้งได้ปฏิบัติอย่างแพร่หลายแล้วในตะวันตก เพียงแต่ในตะวันตกผู้ที่ทำอย่างเปิดเผย ได้แก่ ภาคธุรกิจเอกชน เช่น สถาบันการเงิน และบรรษัททางด้านปัญญาประดิษฐ์ในสหรัฐ มีกูเกิล เฟซบุ๊ก ยูทูบ และทวิตเตอร์ เป็นต้น ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลนับพันล้านคนทั่วโลกที่สามารถนำมาสร้างเครดิตทางสังคมได้เช่นกัน ส่วนภาครัฐบาลซุ่มปฏิบัติอยู่ในกลุ่มงานข่าวกรอง โดยประสานงานและ “ขอความร่วมมือ” จากบรรษัทต่างๆ

จีนอ้างข้อดีต่างๆ ในการทำระบบเครดิตสังคม เช่น เพื่อสร้างความไว้วางใจกันในสังคมจากปัญหาจำนวนมากได้แก่ การปลอมปนทางอาหาร นายจ้างไม่จ่ายเงินให้ลูกจ้าง การก่อมลพิษ ช่วยสร้างความมั่นคงและความเป็นเอกภาพในประเทศ เครดิตสังคมยังถือได้ว่าเป็นระบบเครดิตการเงินทางเลือกโดยเฉพาะสำหรับประชาชนในชนบท เพราะว่าคนจีนจำนวนมากอยู่นอกระบบการเงิน กลายเป็นผู้ไม่มีเครดิต

กล่าวอย่างเป็นกลางๆ เครดิตทางสังคมเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อขยายอำนาจทางการเมือง สู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมดูแลประชาชนได้ทั่วถึง (ดูบทความของ Nicole Kobie ชื่อ The complicated truth about China”s social credit system ใน wired.co.uk 21.01.2019)

แต่เวลาในชีวิตจริงไหลรุดไปข้างหน้า ไม่ย้อนกลับ และมวลชนชาวรากหญ้าที่แม้ขัดสนเกือบทุกสิ่ง ก็พอรู้ว่าระบอบปกครองที่เหมาะสมกับตนเป็นอย่างไร ดังนั้น ไม่ควรกังวลมากไป

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการชูอารยธรรมนิเวศของจีนเพื่อแสดงบทบาทการนำในโลก