นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ความไว้วางใจ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ถ้าปราศจากความไว้วางใจต่อคนอื่น เราจะทำธุรกิจอะไรไม่ได้มากไปกว่าแซะขนมครกขาย

ครับ ผมอยากจะพูดถึง Trust หรือความไว้วางใจ ซึ่งนักรัฐศาสตร์ชื่อดังเช่นท่านอาจารย์เกษียร เตชะพีระ และ Francis Fukuyama ย้ำความสำคัญตลอดมา

แต่ความไว้วางใจนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉยๆ จู่ๆ จะให้ไว้ใจไอ้ผมหยิกหน้ากล้อคนนี้ได้อย่างไร จำเป็นต้องมีกลไกทางสังคมบางอย่างที่ช่วยประกันให้ความไว้วางใจที่เราลงทุนให้คนอื่นไม่ “ขาดทุน”

กลไกที่ว่านั้นคืออะไร ผมคิดว่าเมื่อกล่าวโดยสรุปคือวัฒนธรรมครับ วัฒนธรรมที่จะทำให้เกิดความไว้วางใจแก่กันและกันนั้นประกอบด้วยสองส่วนหลัก หนึ่งคือขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งใช้กันอย่างกว้างขวางมาแต่เดิม และสองคือกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพและเที่ยงธรรม ซึ่งเข้ามาแทนที่ในภายหลัง

เมื่อตอนที่เรายังเก็บของป่าและล่าสัตว์เพื่อดำรงชีวิตอยู่ นักวิชาการที่ศึกษาสังคมของคนที่ยังอยู่ในวัฒนธรรมแบบนั้น ทั้งในแอฟริกาและเอเชียพบตรงกันว่า ในการล่าสัตว์เป็นอาหาร โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่ซึ่งต้องอาศัยการร่วมแรงกันหลายคน จะมีกฎเกณฑ์ที่ตายตัวว่า เนื้อสัตว์ที่ได้มานั้นจะต้องแบ่งกันอย่างไร เช่น คนที่ยิงธนูหรือลูกดอกไปโดนสัตว์คนแรกอาจได้ส่วนแบ่งเนื้อที่ดีหรือมากกว่าคนอื่น หัวหน้าเผ่าซึ่งอาจไม่ได้ออกล่าสัตว์ด้วยอาจได้สิทธิ์กินอวัยวะบางส่วนก่อน เช่น ตับหรือเนื้อลาย ฯลฯ และที่เหลือจะแบ่งกันอย่างไรในหมู่ผู้เข้าร่วม (หรือแม้แต่คนที่ไม่ได้เข้าร่วมด้วยในบางกรณี)

ฉะนั้น แต่ละคนจึงไม่ได้เพียงเตรียมเครื่องลาบไว้ที่บ้าน แล้วถือหอกวิ่งตามเขาไปอย่างเหยาะแหยะ ต่างก็ตั้งใจอุทิศแรงกายเพื่อล่าสัตว์ให้ได้ รวมทั้งกระตือรือร้นที่จะได้ “ล้ม” สัตว์นั้นเป็นคนแรก ทีมล่าสัตว์จึงทำ “ธุรกิจ” ล่าสัตว์กันอย่างแข็งขัน เพราะต่างไว้วางใจว่าตัวจะไม่ถูกโกงแน่

ความสามารถทางธุรกิจของคนจีนซึ่งเลื่องชื่อในอุษาคเนย์ก็เช่นกัน อาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมจีนสร้าง “กลุ่ม” หรือเครือข่ายแห่งความภักดีที่กว้างขวางอย่างยากจะหาวัฒนธรรมอื่นเทียบได้ ครอบครัวขยายของจีนไม่ได้หมายความเพียงคนต่างรุ่นที่อาศัยอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน แต่น่าจะหมายถึงคนที่สัมพันธ์เชิงเครือญาติผ่านสายบรรพบุรุษชายเดียวกันมากกว่า (หรือแซ่เดียวกันที่พอจะสืบความสัมพันธ์ได้จริง)

ความสัมพันธ์เชิงเครือญาติเช่นนี้ถูกใช้ประโยชน์อย่างมาก เมื่อต้องอพยพไปอยู่ต่างแดน ไม่แต่เพียงในทางธุรกิจเท่านั้น แต่รวมถึงสังคมสงเคราะห์ และความสัมพันธ์ทางสังคมในมิติอื่นๆ ด้วย

ว่าเฉพาะทางธุรกิจ “ซิงตึ๊ง” หรือผู้เริ่มเข้ามาถึงมีหลักประกันว่าอย่างน้อยก็ไม่อดตายในระยะแรกที่ไม่รู้จักใครเลย จนเมื่อเริ่มประกอบการขนาดเล็กของตนเองได้ ก็อาจได้เครดิตสินค้าจากคนแซ่เดียวกันไปเร่ขาย และในทางกลับกัน หากไปฉ้อโกงเถ้าแก่ “ประวัติ” อาชญากรรมของตนก็จะแพร่หลายไปในหมู่เถ้าแก่แซ่เดียวกัน จนยากจะทำมาหากินโดยสะดวกได้ต่อไป

ยิ่งกว่าแซ่เดียวกัน ผมได้อ่านพบในงานของอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน (เรื่องอะไรก็จำไม่ได้แล้ว) ว่า คนจีนในอุษาคเนย์ก่อนลัทธิชาตินิยม ไม่ได้มองตนเองเป็น “คนจีน” เท่ากับว่าเป็นแต้จิ๋ว, ฮกเกี้ยน, กวางตุ้ง, ไหหลำ, แคะ และต่างก็ถ้อยทีถ้อยเหยียดกันและไม่ไว้วางใจกันนักด้วย ด้วยเหตุดังนั้น คนในภาษาถิ่นเดียวกัน ก็กลายเป็นเครือข่ายแห่งความไว้วางใจอีกชนิดหนึ่งซึ่งคนจีนโพ้นทะเลอาจใช้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคมได้

ความสำเร็จทางธุรกิจ (และสังคม, การเมือง, วัฒนธรรมในอุษาคเนย์บางประเทศ) ของคนจีนจึงไม่ได้เกิดขึ้นจากความขยันอย่างเดียว แต่มีโครงสร้างของเครือข่ายความไว้วางใจที่สำคัญกว่าความขยันและอดออมเสียอีกหนุนหลังอยู่ด้วย

ผมเข้าใจว่า การเกาะเกี่ยวด้วยความไว้วางใจต่อกันเป็นกลุ่มก้อน และต่างคนก็ยึดในกฎเกณฑ์กติกาของกลุ่มเช่นนี้ คือหัวใจของ Asian Value หรือระบบคุณค่าเอเชียอย่างที่ลีกวนยิวเห็นว่าดีกว่าประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลแบบตะวันตก (แต่ที่จริงแล้วเป็น Confucian Value หรือศีลธรรมของลัทธิขงจื๊อมากกว่าของเอเชีย)

อย่างไรก็ตาม แม้ขนบธรรมเนียมประเพณีอาจสร้างความไว้วางใจที่ใช้ประโยชน์ได้ใน “กลุ่ม” ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใหญ่หรือเล็ก แต่ความไว้วางใจเช่นนี้ให้ได้แก่ “คนใน” ด้วยกันเท่านั้น ไม่สามารถให้แก่ “คนนอก” ได้ เครือข่ายของความไว้วางใจจึงต้องจำกัดที่จุดใดจุดหนึ่งจนได้

William Easterly (The Tyranny of Experts) อ้างงานศึกษาของนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่มีชื่อคนหนึ่ง (Anver Greif, Institutions and the Path to the Modern Economy : Lessons from Medieval Trade) เพื่อเล่ากำเนิดของเครือข่ายความไว้วางใจอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่บนขนบธรรมเนียมประเพณีเพียงอย่างเดียว

ในคริสต์ศตวรรษที่ 10 ชาวยิวกลุ่มหนึ่งซึ่งอพยพโยกย้ายจากมาฆริบ (ตะวันตกเฉียงเหนือของแอฟริกาเหนือ) ไปอยู่ในกรุงไคโรภายใต้ราชวงศ์ฟาติมี้ด ยิวกลุ่มนี้เป็นพ่อค้าซึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 11 ควบคุมการค้าทางไกลไว้ได้ทั่วทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ชาวมาฆริบหรือ “มาฆรีบี” กลุ่มนี้ ตั้งตัวแทนการค้าของตนในเมืองห่างไกลทั่วทั้งแอฟริกาเหนือและยุโรปใต้ ซื้อสินค้าตามที่สั่งเก็บไว้ในคลังสินค้าและรับสินค้าจากเรือของพ่อค้าชาวมาฆริบไปขายอีกทีหนึ่ง ฉะนั้น จึงมีเงินไหลผ่านมือตัวแทนเหล่านี้อยู่ไม่น้อย

พ่อค้าชาวมาฆริบจะป้องกันตนให้ไม่ถูกตัวแทนโกงได้อย่างไร วิธีการคือเกาะกลุ่มของชาวมาฆริบไว้อย่างเหนียวแน่น ทั้งแต่งงานกันเอง คบกันเอง และร่วมหุ้นกันเอง จึงสามารถบอกข่าวได้ในเวลารวดเร็วว่า ตัวแทนการค้าคนใดที่คดโกงพ่อค้าคนใดคนหนึ่ง ชาวมาฆริบทั้งหมดจะร่วมมือกันไม่ใช้บุคคลผู้นั้นเป็นตัวแทนการค้าอีกเลย ดังนั้น ตัวแทนการค้าจึงต้องคิดให้ดีว่าจะกินเปรี้ยวเดี๋ยวนี้ หรือกินหวานในอนาคตตลอดไป

ความไว้วางใจระหว่าง “คนใน” ด้วยกันเอง ช่วยปกป้องให้ไม่ถูก “คนนอก” โกงได้ง่ายๆ ทั้งนี้ รวมทั้งหลักการว่า “คนใน” ไม่โกงกันเองด้วย แต่ “คนนอก” ไม่ได้หลักประกันเดียวกัน ทั้งความเป็น “คนใน” ก็ไม่ได้มาจากความสมัครใจ แต่มาจากกำเนิดคือต้องเป็นชาวมาฆริบด้วยกันก่อน ดังนั้น จึงไม่มีช่องทางให้ “คนนอก” เล็ดลอดเข้ามาเป็นสมาชิกของกลุ่มได้

แต่ชาวมาฆริบก็คุมการค้าในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้ศตวรรษเดียว ชาวเยนัวส์ในอิตาลีเหนือก็แย่งเอาบทบาทนี้ไป และสร้างความมั่งคั่งแก่เมืองเยนัวส์อย่างมาก วิธีป้องกันการถูกโกงของพ่อค้าทางเรือของชาวเยนัวส์ต่างจากชาวมาฆริบอย่างมาก เพราะเขาสร้างความไว้วางใจจากกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพและเที่ยงธรรม ใครๆ ก็มีเสรีภาพที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกของ “เมือง” (คำว่า citizen เริ่มเกิดในตอนนี้ และแปลว่าคนที่อาศัยอยู่ใน “เมือง”) เพียงแต่ต้องยอมรับกฎหมายของเมือง

กฎหมายทำให้เครือข่ายความไว้วางใจขยายไปได้อย่างไม่สิ้นสุด เพราะพ่อค้าเยนัวส์อาจค้าขายกับใครก็ได้ หากคู่ค้าโกงก็อาจฟ้องร้องเอาโทษและสินไหมคืนได้ เพราะมีกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพและเที่ยงธรรมปกป้องเอาไว้

แน่นอนว่ากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเช่นนั้นมีค่าใช้จ่าย ในขณะที่ขนบธรรมเนียมประเพณีได้มาฟรีๆ แต่ผลตอบแทนที่ได้กลับมา กฎหมายทำให้ไม่ต้องแบ่งเป็น “คนใน-คนนอก” เครือข่ายความไว้วางใจจึงอาจขยายออกไปได้ไม่สิ้นสุด

ผมคิดว่า ในยามที่สังคมไทยสูญเสียความไว้วางใจระหว่างกันไป แม้ในระดับพื้นฐาน อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเช่นนี้ ไม่มีอุดมการณ์อะไรเหลือสำหรับปลุกให้เกิดความไว้วางใจกลับคืนมาได้อีก กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพและเที่ยงธรรมเท่านั้น จะสามารถรื้อฟื้นความไว้วางใจให้กลับมา อย่างน้อยก็ในในระดับพื้นฐาน ซึ่งจำเป็นสำหรับผดุงสังคมสมัยใหม่ให้ดำรงอยู่ต่อไปได้

ผู้คนที่มีความคิดต่างจะถูกละเมิดโดยไม่มีกฎหมายใดๆ รองรับไม่ได้ ไม่ว่าขับไล่ออกนอกประเทศ ทำร้ายร่างกาย ทำร้ายทรัพย์สิน ถูกองค์กรสาธารณะฟ้องหมิ่นประมาท เนื่องจากมีข้อสงสัยในความสุจริตขององค์กรอย่างมีเหตุผล (ไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรสาธารณะหรอกหรือ ที่มีภาระต้องพิสูจน์ความสุจริตเที่ยงธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของตน) ความเป็นส่วนตัวของผู้คนถูกละเมิด สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไม่มีผลในความเป็นจริง ฯลฯ

ความขัดแย้งแตกแยกเป็นเรื่องปรกติในทุกสังคม แต่ความไว้วางใจว่าทุกคนจะได้รับความคุ้มครองอย่างเสมอหน้ากันในกฎหมายและการใช้กฎหมาย ทำให้ทุกคนไว้วางใจคนที่เห็นต่างจากตนว่า จะไม่เป็นอันตรายต่อตนเองหรือสิ่งที่ตนเชื่อถือยึดมั่นไปได้เกินขอบเขตของกฎหมาย ความไว้วางใจเช่นนี้ทำให้ความขัดแย้งยังเป็นเรื่องปรกติอยู่ตราบนั้น เพราะทุกฝ่ายต่างตอบโต้กันภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย

ฉะนั้น ความหวังว่าสังคมไทยจะฟื้นกลับคืนสู่ความเป็นปรกติได้ จึงอยู่ที่กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพและเที่ยงธรรมเท่านั้น หากกฎหมายถูกร่างขึ้นอย่างไม่เป็นธรรมก็ตาม หากกระบวนการยุติธรรม “เลือกข้าง” ก็ตาม เครือข่ายความไว้วางใจระดับชาติก็จะร่อยหรอและสูญสลายไปในที่สุด

ความไว้วางใจไม่ได้มีความจำเป็นในการเมืองระดับสถาบันเท่านั้น แต่ยังจำเป็นในการทำธุรกิจและขยายตัวทางธุรกิจ และจำเป็นในการดำรงชีวิตอย่างสมบูรณ์ของผู้คนด้วย เพราะเรื่องเหล่านี้สัมพันธ์เป็นเรื่องเดียวกันอย่างแยกออกจากกันไม่ได้