ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์ /THE KID WHO WOULD BE KING

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

THE KID WHO WOULD BE KING

‘ราชันแห่งนิรันดร์กาล’

 

กำกับการแสดง Joe Cornish

นำแสดง Louis Ashbourne Serkis Denise Gough Dean Chaumoo Tom Taylor Rhianna Dorrin Angus Imrie Rebecca Ferguson Patrick Stewart

 

หนังเรื่องนี้ได้ชื่อเรื่องโดยตั้งเป็นวลีล้อกันกับหนังเรื่อง The Man Who Would Be King (1974) ซึ่งสร้างจากนิยายขนาดสั้นของรัดยาร์ด คิปลิง และนำแสดงโดยฌอน คอนเนอรี กับไมเคิล เคน ขณะที่ทั้งสองยังหนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยวกินขาดเลย

ทว่าแรงบันดาลใจที่กลายมาเป็นเนื้อหาและโครงเรื่องหลัก คือ The Once and Future King ของที.เอช.ไวต์ ซึ่งเขียนขึ้นจากนิยายสมัยศตวรรษที่ 15 ของโธมัส มัลลอรี ในชื่อ Le Morte D’Arthur ซึ่งก็รวบรวมเรื่องราวจากตำนานพื้นบ้านสมัยยุคกลางของอังกฤษและฝรั่งเศส

เกี่ยวกับกษัตริย์อาร์เธอร์ ดาบเอ็กซ์คาลิเบอร์ และอัศวินโต๊ะกลม

 

The Once and Future King เป็นที่มาของมิวสิคัลชื่อดังเรื่อง Camelot ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนคอลัมน์นี้แปลหนังสือของที.เอช.ไวต์ อันเป็นเรื่องราวละเอียดพิสดารของอาร์เธอร์ตั้งแต่ยังเป็นเด็กกำพร้า โตขึ้นมาโดยมีผู้วิเศษเมอร์ลินผู้หยั่งรู้อนาคตเนื่องจากใช้ชีวิตย้อนเวลาถอยหลังจากอนาคตสู่อดีต เป็นครูผู้อบรมสั่งสอนวิชาการต่างๆ และสามารถดึงดาบเอ็กซ์คาลิเบอร์ในแท่งหินขึ้นได้ จึงได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์อาร์เธอร์ ในยามที่บ้านเมืองขาดผู้นำ เนื่องจากกษัตริย์องค์ก่อนสิ้นพระชนม์ไปโดยไม่มีทายาท และแล้วก็ไปสู่การสร้าง “คาเมล็อต” อันเป็นดินแดนในฝัน ที่ซึ่งผู้แข็งแรงย่อมปกป้องคนอ่อนแอ ภายใต้คติธรรมว่า “อำนาจไม่ใช่ธรรม” หรืออำนาจไม่ใช่ความถูกต้อง

หนังสือฉบับแปลพิมพ์สองหน โดยใช้ชื่อในการพิมพ์ครั้งแรกว่า “อาร์เธอร์จอมราชันย์” ซึ่งประกอบด้วยห้าตอน คือ “ดาบในศิลา” “ราชินีแห่งลมฟ้าราตรี” “อัศวินอัปภาคย์” “เปลวเทียนในสายลม” และ “คัมภีร์เมอร์ลิน”

พิมพ์ครั้งที่สองรวมทุกเรื่องเข้าด้วยกันหนาเตอะ จนต้องแยกเป็นสองเล่ม ในชื่อว่า “ราชันแห่งนิรันดร์กาล” ซึ่งประกอบด้วยทั้งห้าตอนครบถ้วนประมวลความ

นับเป็นหนังสือที่ยากที่สุดเล่มหนึ่งที่ผู้เขียนเคยแปล และประมวลสรรพวิชาตั้งแต่อดีตกาลไว้ นับแต่การเลี้ยงเหยี่ยว เรื่องราวของโรบินฮู้ด ชีวิตในราชสำนักยุคกลาง การแสวงหาจอกศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ ไปจนถึงความคิดทางการเมืองการปกครองระบอบต่างๆ ที่เมอร์ลินประมวลไว้จากการใช้ชีวิตย้อนเวลาผ่านประวัติศาสตร์โลกในยุคต่างๆ

 

จากการดูหนังเป็นอาชีพ ผู้เขียนได้เห็นอิทธิพลของ “ราชันแห่งกาลครั้งหนึ่งและอนาคตกาล” ในวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ หรือ pop culture ปรากฏอยู่เนืองๆ โดยแทบไม่ขาดสาย ไม่ต้องพูดถึงว่าเรื่องราวในตำนานปรัมปราของโลกตะวันตกได้แพร่ไปอยู่ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นจนดูเหมือนฝังรากลึกจนเด็กญี่ปุ่นรู้สึกเป็นวัฒนธรรมของตัวเองด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในการ์ตูนอานิเมะ

ในตอนจบของหนังเรื่อง X-Men เรื่องหนึ่ง หลังจากการต่อสู้แบบฉิบหายวายป่วงจนวินาศสันตะโรกันไปทั้งสองข้างระหว่างฝ่ายธรรมะและอธรรมแล้ว โปรเฟสเซอร์เอ็กซ์กลับมาสอน “เด็กพิเศษ” ในชั้นเรียนโดยเริ่มด้วยการตั้งคำถามว่า “ใครเคยอ่านหนังสือเรื่อง The Once and Future King บ้าง”

บอกให้รู้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นหัวข้อสำหรับการสอนในชั้นเรียนต่อไป

ซึ่งโดยหลักๆ ก็น่าจะสอนให้รู้ถึงการใช้อำนาจในทางผิด และการใช้พรสวรรค์ในตัวปกป้องคุ้มครองผู้ที่อ่อนแอกว่า เหมือนกับอัศวินโต๊ะกลมที่กษัตริย์อาร์เธอร์ก่อตั้งขึ้น โดยมีลานซ์ล็อตเป็นอัศวินคู่ใจ

 

The Kid Who Would Be King ไม่ได้เดินเรื่องไปไกลเกินนั้นหรอกค่ะ ยังไม่ถึงตอนที่โต๊ะกลมแตกเป็นเสี่ยงๆ เพราะความขัดแย้งภายในและการยุยงของผู้ไม่ประสงค์ดี จนนำไปสู่สงครามที่สร้างความเสียหายแก่ทุกฝ่าย และความตายของอาร์เธอร์

หนังเป็นการตีความสมัยใหม่ ด้วยตัวละครหลักคือเด็กผู้ชายชื่อ อเล็กซานเดอร์ (ลุยส์ แอชบอร์น เซอร์คิส ผู้เป็นลูกชายของแอนดี้ เซอร์คิส นักแสดงที่แสดงหนังโดยแทบไม่เคยให้เห็นใบหน้าจริงของตนเลย

เขาเชี่ยวชาญการใช้คอมพิวเตอร์ที่จับความเคลื่อนไหวของคนและนำไปใส่ในรูปลักษณ์อื่น โดยเฉพาะการสวมบทบาทตัวประหลาดอย่างเช่น กอลลัม ใน Lord of the Rings และมนุษย์วานรใน Planet of the Apes เป็นต้น

อเล็กซานเดอร์กำพร้าพ่อ และโตขึ้นมาในความดูแลของแม่ (เดนีส กัฟ) โดยคอยปกป้องเพื่อนสนิท เบดเดอร์ส (ดีน โชมู) จากการถูกคนที่แข็งแรงกว่ารังแก คนที่แข็งแรงกว่าคือแลนซ์ (ทอม เทย์เลอร์) และเคย์ (รีอานนา ดอร์ริส) ซึ่งโตกว่าหลายปี นอกจากนั้นอเล็กซ์ยังยึดคติธรรมแห่งเกียรติยศที่จะต่อสู้ด้วยตัวเองโดยไม่หันไปพึ่งอำนาจที่เหนือกว่า

อเล็กซ์มีหนังสือการ์ตูนนิยายเกี่ยวกับกษัตริย์อาร์เธอร์ ซึ่งพ่อเคยให้เขาไว้ตั้งแต่เด็ก และเขียนอุทิศให้ว่า “สำหรับราชันแห่งนิรันดร์กาลของพ่อ”

ชัดเจนแล้วว่า อเล็กซ์ คือ อาร์เธอร์ราชันแห่งนิรันดร์กาลนั่นเอง

 

ด้วยเวทมนตร์บางประการที่หนังไม่ได้พยายามอธิบาย หรืออธิบายไม่ได้ อเล็กซ์บังเอิญไปเจอ “ดาบในศิลา” ในสถานที่ก่อสร้างที่ปิดร้างไว้ และบังเอิญดึงขึ้นจากแท่งหินได้อย่างง่ายดาย

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการผจญภัยอันมหัศจรรย์ของ “เด็กชายผู้จะได้เป็นราชา”

เมื่อดาบถูกดึงออกจากแท่งหิน ศัตรูตัวร้ายในอดีตของอาร์เธอร์ คือพี่สาวต่างมารดา ชื่อมอร์กานา (รีเบกกา เฟอร์กูสัน) ผู้มุ่งจองล้างจองผลาญกับอาร์เธอร์มาแต่ไหนแต่ไร และถูกกักขังไว้ในโลกใต้พิภพมาตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ก็ถูกปลุกให้ตื่นและได้รับพลังเพิ่มขึ้น

มอร์กานากลายเป็นศัตรูของอเล็กซ์ไปในทันที เนื่องจากต้องการดาบเอ็กซ์คาลิเบอร์ที่เป็นสิ่งพิสูจน์การเป็น “ราชัน” และนางก็ถือตนว่ามีสิทธิในการได้ครองบัลลังก์เหมือนกัน

นางส่งกองทัพปีศาจเพลิงมาตามล่าอเล็กซ์ ซึ่งต้องเกณฑ์เพื่อนฝูงมาต่อสู้ โดยใช้ดาบเล่มนั้นแต่งตั้งให้เป็นอัศวิน

ชื่อของอัศวินคู่ใจของอาร์เธอร์ ก็มีอยู่แล้วในเพื่อนและอดีตศัตรู เช่น เบดเดอร์ คือเซอร์เบเดเวียร์ แลนซ์ คือ เซอร์ลานซ์ล็อต และเคย์ คือเซอร์เคย์ (ในกรณีนี้ เคย์เป็นผู้หญิง เลยกลายเป็นเลดี้เคย์)

นอกจากนั้นยังมีเมอร์ลินผู้วิเศษที่พอจามฮัดเช้ยทีก็กลายร่างเป็นนกฮูกได้ เมอร์ลินปรากฏในรูปลักษณ์ของเด็กหนุ่มเก้งก้างสูงชะลูด (แองกัส อิมรี) และอธิบายว่ายิ่งเวลาผ่านไป เขายิ่งเด็กลงเรื่อยๆ (ประมาณเดียวกับแบรด พิตต์ ผู้ใช้ชีวิตย้อนหลังจากชราภาพสู่วัยเยาว์ ใน The Curious Case of Benjamin Button ที่สร้างจากเรื่องสั้นของเอฟ. สก็อต ฟิตซ์เจอรัลด์ ซึ่งก็น่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตสวนทางของเมอร์ลินนี่แหละ)

แต่เราก็ยังได้เห็นผู้วิเศษเมอร์ลินตามที่ควรเป็นคือเป็นตาเฒ่า ในรูปลักษณ์ของแพทริก สจ็วต เป็นครั้งเป็นคราวเหมือนกัน

 

หนังพาเราไปสู่เกาะทินทาเจล ที่เป็นที่เกิดของอาร์เธอร์ ด้วยการเดินทางแบบสมัยใหม่ด้วยรถเมล์ แต่ก็อาศัยเวทมนตร์ข้ามช็อตระยะทางและระยะเวลาเหมือนกัน ด้วยการผ่านเข้าไปในสิ่งก่อสร้างอันชวนพิศวงของยุคโบราณ กล่าวคือ “สโตนเฮนจ์” ซึ่งเป็นกลุ่มหินเรียงรายที่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดียังตีความไม่ได้ว่าสร้างเพื่อจุดประสงค์อันใดกันแน่

พอดูหนังเรื่องนี้แล้วจึงจะถึงบางอ้อว่า นี่คือเครื่องมือที่คนโบราณสร้างไว้สำหรับเดินทางข้ามมิติ…อย่างนี้นี่เอง!

เหตุการณ์ตอนสำคัญในหนังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เกิดสุริยุปราคาเป็นเวลาหลายนาที และมีการตระเตรียมการต่อสู้กับกองทัพศัตรูอันทรงพลัง เหมือนหนูน้อยโฮมอะโลน ที่ตระเตรียมการสกัดกั้นโจรโหดที่จะขึ้นบ้านในเวลาที่อยู่บ้านตามลำพัง

หนังยังมีข้อคิดดีๆ ไว้เตือนใจเยาวชน โดยให้มาในรูปแบบของคติธรรมที่อัศวินพึงยึดถือ นั่นคือ

– ให้เกียรติแก่คนที่เรารัก

– ไม่ทำอะไรบุ่มบ่ามเฟอะฟะ

– พูดความจริงในทุกโอกาส

– และพากเพียรอุตสาหะให้ตลอดรอดฝั่ง

โดยที่ถ้าไม่ปฏิบัติตนตามนี้ งานที่ทำก็จะไม่สัมฤทธิผล

เป็นหนังที่สนุกใช้ได้ สร้างสรรค์และให้อะไรดีๆ เหมือนกันค่ะ