ต่างประเทศ : กราดยิงไครสต์เชิร์ช “ขวาจัดสุดโต่ง” ในจุดบอด

เหตุกราดยิงอุกอาจโดยชายชาวออสเตรเลียที่มัสยิดในเมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 50 คน นอกจากจะเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสลดใจให้กับคนทั้งโลกแล้ว

ยังเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึง “จุดบอด” ของการตั้งรับความรุนแรงจากกลุ่มคนที่มีแนวคิดความเชื่อแบบ “ขวาจัดสุดโต่ง” ด้วยเช่นกัน

กลุ่มแนวคิดสุดโต่งดังกล่าวเผยแพร่แนวคิด อุดมการณ์ และวิธีการก่อเหตุ ด้วยการใช้ประโยชน์จากพลังของโลกอินเตอร์เน็ต เช่นเดียวกับกลุ่มแนวคิดมุสลิมสุดโต่งเช่นกลุ่มที่โลกรู้จักดีอย่างกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม หรือไอเอส

อมาร์นาธ อมาราสินกัม นักวิจัยจากสถาบันเพื่อการหารือยุทธศาสตร์ (ไอเอสดี) ระบุว่ากลุ่มขวาจัดสุดโต่ง ซึ่งไม่ได้มีการจัดการหรือไม่ได้มีผู้นำชัดเจน แสดงให้เห็นถึง “จุดบอด” ของหน่วยงานข่าวกรอง

พร้อมกับย้ำว่า การปิดช่องว่างดังกล่าว แทนที่จะโฟกัสไปที่กลุ่มอิสลามหัวรุนแรงเพียงกลุ่มเดียวนั้นควรจะเริ่มทำเป็นลำดับแรก

อมาราสินกัมระบุว่า หน่วยข่าวกรองของรัฐหลายแห่งสามารถเชื่อมโยงเหตุโจมตีด้วยมีดที่เกิดขึ้นแบบสุ่มซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มไอเอสได้ง่าย แต่ไม่ใช่กับเหตุที่มีแรงจูงใจจากแนวคิดขวาจัดสุดโต่ง หรือแนวคิดคลั่งคนขาว แบบที่เกิดขึ้นล่าสุด

 

จากข้อความของ “เบรนตัน ทาร์แรนต์” มือปืนผู้ก่อเหตุที่โพสต์ผ่านสังคมออนไลน์แสดงให้เห็นว่าทาร์แรนต์ได้รับแนวคิดนีโอ-ฟาสซิสต์ แนวคิดต่อต้านมุสลิม ก่อนที่จะก่อเหตุสลดดังกล่าว ทว่า ทาร์แรนต์ก็ไม่ได้อยู่ในลิสต์เฝ้าระวังใดๆ ของทางการ และยังสามารถเดินทางไปต่างประเทศได้อย่างอิสระ

จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ยอมรับในประเด็นนี้ผ่านการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมาว่า นิวซีแลนด์จะตรวจสอบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรู้อะไรบ้าง หรือควรจะรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับบุคคลหรือกิจกรรมของบุคคลซึ่งรวมไปถึงการเข้าถึงอาวุธ หรือหน่วยงานเหล่านี้อยู่ในสถานะที่จะป้องกันการโจมตีได้หรือไม่

แม้การสืบสวนจะยังไม่มีการเปิดเผยถึงความเชื่อมโยงหรือรายละเอียดเชิงลึกใดๆ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็ส่งผลให้เกิดคำถามเกี่ยวกับนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายโดยเฉพาะกับกลุ่ม “ขวาจัดสุดโต่ง”

ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญที่ถูกนำมาปัดฝุ่น และให้ความสนใจอีกครั้งมาจากบทความของโธมาส เฮกแฮมเมอร์ นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยด้านกลาโหมนอร์เวย์ ที่เคยเผยแพร่เมื่อปี 2011 ระบุเอาไว้ว่า กลุ่มเคลื่อนไหวคลั่งคนขาวนั้นยึดโยงเอาคนที่แตกต่างกันในโลก ผ่านแพลตฟอร์มที่สื่อสารแนวคิดสุดโต่ง เช่น แนวคิดอย่างการต่อต้านผู้อพยพ ซึ่งมักจะนำไปสู่แนวคิดชิงชังชาวยิว ชาวมุสลิม รวมไปถึงแนวคิดชิงชังผู้หญิง เป็นต้น พร้อมทั้งระบุว่า ความรุนแรงของพวกคลั่งคนขาวนั้นเทียบได้กับ “สงครามอารยธรรม” แนวใหม่

“มันเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดกับกลุ่มอัลเคด้าในเวอร์ชั่นชาวคริสต์” เฮกแฮมเมอร์ระบุ

 

เดเนียล ไบมัน จากสถาบันบรูกกิ้งชี้ให้เห็นว่า การก่อการร้ายจากแนวคิดขวาจัดสุดโต่งนั้น เกิดขึ้นจากแนวคิดทางการเมืองประชานิยมขวาจัด ที่เริ่มต้นจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และขยายตัวไปอย่างมากในยุโรป

นักวิเคราะห์จากหน่วยงานที่มีสำนักงานในสหรัฐอเมริการะบุว่า การก่อร่างของแนวคิดหัวรุนแรงแบบทาร์แรนต์นั้นเกิดขึ้นจากการขยายตัวของแนวคิดประชานิยมขวาจัด พรรคการเมืองที่มีนโยบายต่อต้านผู้อพยพทั่วโลก รวมถึงการแสดงออกถึงความไม่พอใจกับความรุนแรงของนักการเมือง

ล้วนเป็นแรงจูงใจไปสู่ความรุนแรง

 

ในออสเตรเลีย รัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งรวมไปถึงรัฐบาลของสก๊อต มอริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียคนปัจจุบันเอง ก็ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการเติมเชื้อไฟจากนโยบายต่อต้านผู้อพยพ

ด้านปีเตอร์ ดัดตัน รัฐมนตรีมหาดไทยออสเตรเลีย ยืนยันว่ากลุ่มหัวรุนแรง นีโอ-นาซี กลุ่มคลั่งคนขาว กลุ่มขวาจัดสุดโต่ง เหล่านี้อยู่ในการจับตาของหน่วยข่าวกรองของรัฐ

โดยดัดตันระบุว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทาร์แรนต์อาศัยอยู่ในออสเตรเลียเพียง 45 วัน ขณะที่จากข้อความในโลกออนไลน์แสดงให้เห็นว่า มือปืนวัย 28 ปีรายนี้เริ่มความคิดก่อการร้ายขณะอาศัยในยุโรปตะวันตกตั้งแต่ปี 2017 ที่ผ่านมา ช่วงเวลาที่มีคลื่นผู้อพยพหลั่งไหลเข้าไปเป็นจำนวนมาก

แนวคิดเหล่านี้เผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์ทั้งในเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาแนวคิดนีโอ-นาซี อย่าง Stormfront หรือแม้แต่ 8chan เว็บบอร์ดพูดคุยเกี่ยวกับแนวคิดขวาจัดสุดโต่ง เป็นต้น

วิธีการรวมตัวและการเผยแพร่แนวคิดขวาจัดสุดโต่งผ่านโลกออนไลน์นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง แม้รัฐบาลทั่วโลกจะมีโครงสร้างพื้นฐานในการเฝ้าระวังเนื้อหาเหล่านี้อยู่แล้วก็ตาม

และแน่นอนว่าบริษัทเอกชน โดยเฉพาะบริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ ก็จำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการเฝ้าระวังเนื้อหาสุ่มเสี่ยงที่เข้มงวดเป็นมาตรฐานเดียวกันกับการคัดกรองเนื้อหาของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงเช่นกัน