บทบาท ความหมาย “โรดแม็ป” ต่อการเมือง 2560 “คสช.” ต้องสำเหนียก

AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA

เนื่องจาก “โรดแม็ป” ได้รับการกำหนดมาจาก คสช. และจากรัฐบาล ดูราวกับ “โรดแม็ป” จะเป็นของ คสช. และเป็นของรัฐบาล

แต่ “โรดแม็ป” ก็เหมือนกับ “คำพูด”

นั่นก็คือ ก่อนพูดเราเป็น “นาย” แต่ทันทีที่เปล่งเป็นคำพูดออกจากปาก บัดดลนั้นคำพูดก็จะกลายเป็น “นาย” ของเรา

ความหมาย หมายความว่า มีสภาพ “เป็นของเรา” แต่เราก็มิอาจควบคุมได้

ต่อคำพูด 1 สังคมรับรู้ว่าเป็นคำพูดของใคร เจ้าของก็คือคนที่พูดออกมา แต่ “คำพูด” ก็ดำเนินบทบาทของมันไปอย่างเสรี

ไม่สามารถไปควบคุม ไม่สามารถไปบังคับได้

หากศึกษากระบวนการของ “โรดแม็ป” นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ทุกคนต่างรับรู้ถึงวิถีดำเนินไปของมันว่ามิได้มีลักษณะตายตัว หากแต่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างยากที่จะกำหนดหรือควบคุมบังคับได้ตามใจของใครคนใดคนหนึ่ง

เราจึงรับรู้ใน “ปฏิญญาโตเกียว” เราจึงรับรู้ใน “ปฏิญญานิวยอร์ก”

การแปรเปลี่ยนของแต่ละ “ปฏิญญา” จึงเท่ากับเป็นการแปรเปลี่ยนของ “โรดแม็ป” ขณะเดียวกันเท่ากับยืนยันว่า “โรดแม็ป” มาจาก คสช. แต่มิได้เป็นสมบัติของ คสช. อีกแล้ว

นี่คือลักษณะแห่ง “สภาวธรรม” ดำเนินไปตามกฎแห่ง “ตถตา” เป็นเช่นนั้น

คำยืนยัน คสช.
โรดแม็ป ไม่เปลี่ยน

แม้ว่า นายวิษณุ เครืองาม ซึ่งมีความเข้าใจต่อลักษณะและความเป็น “สภาวธรรม” ของการเมืองและของสังคมเป็นอย่างดีจะนำเอาคำว่า “ตัวแปร” มาเตือน

แต่ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ตอบเหมือนกัน

นั่นก็คือ สถานการณ์ในขณะนี้ยังไม่มีอะไรมาทำให้ “โรดแม็ป” ของ คสช. และของรัฐบาลต้องเปลี่ยนแปลง

ไปในทาง “เร็ว” ขึ้น ไปในทาง “ช้า” ออกไป

ความหมายของคำพูดนี้หมายความว่า “โรดแม็ป” ซึ่งจะมี “การเลือกตั้ง” เป็นจุดหมายปลายทางยังคงปักหมุดอยู่ที่ประมาณปลายปี 2560 เป็นสำคัญ

นี่เป็นเรื่องที่ฝ่ายการเมืองสามารถรับได้

จึงมีเสียงไม่ว่าจะจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะจากพรรคประชาธิปัตย์ ประสานความมั่นใจว่า คสช. จะต้องรักษาคำมั่นนี้เอาไว้

เพราะว่านี่คือสิ่งที่เรียกว่า “สัญญาประชาคม”

ทั้งมิได้เป็นสัญญาประชาคมเฉพาะคนไทยภายในประเทศ หากแต่เป็นคำประกาศต่อนานาอารยประเทศอย่างเด่นชัด

ภายใต้ชื่อว่า “ปฏิญญาโตเกียว” ภายใต้ชื่อว่า “ปฏิญญานิวยอร์ก”

ทิศทาง โรดแม็ป
กับ “การเลือกตั้ง”

ความเข้าใจในความหมายของ “โรดแม็ป” มีความสัมพันธ์อยู่กับ “การเลือกตั้ง” อย่างแนบแน่น หมายความว่า หากเอ่ยถึง “โรดแม็ป” ก็ต้องเอ่ยถึง “การเลือกตั้ง”

การเลือกตั้งนี้เองคือ “รูปธรรม” แห่งโรดแม็ป

การตระเตรียมกฎกติกาต่างๆ นับแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา คือการตระเตรียมเพื่อบรรลุสู่เป้าหมายแห่งการเลือกตั้ง

ไม่ว่าจะเป็น “รัฐธรรมนูญ” ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือ “กฎหมายลูก”

ทุกอย่างดำเนินไปตามกระแสเรียกร้องในทางการเมืองอันเป็นมูลเชื้อและที่มาแห่งการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

นั่นก็คือ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”

น่าสนใจว่า แม้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ แม้กระบวนการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดความสงสัยว่า กระทำไปเพื่อบรรลุเป้าหมายในการสืบทอดอำนาจ เพื่อมิให้หวนกลับไปเป็นเหมือนกับการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 หรือภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

แต่ฝ่ายการเมือง หรือแม้กระทั่งประชาชนก็พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งตามโรดแม็ปภายในประมาณปลายปี 2560

เพราะเห็นว่า “การเลือกตั้ง” จะมีส่วนในการเข้าสู่ความเป็น “ประชาธิปไตย”

บรรยากาศทางการเมืองที่มีความสงบอย่างชนิดที่เรียกได้ว่า “ราบคาบ” ในห้วงหลังของปี 2559 สะท้อนให้เห็นว่า

1 ผลงานความสำเร็จในการควบคุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จโดย คสช.

ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างสูงก็คือ ความหวังและความมั่นใจของประชาชนว่าโดยผ่านกระบวนการของการเลือกตั้งจะนำสังคมไทยเข้าสู่พรมแดนแห่งความเป็นประชาธิปไตยและค่อยๆ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตลอด 10 ปีที่ผ่านมาให้หมดสิ้นไป

ความต้องการ “การเลือกตั้ง” นี้เองคือปัจจัยสำคัญซึ่งจะส่งผลอย่างลึกซึ้งในทางการเมืองในอนาคตอันใกล้

โรดแม็ป ประเทศ
สังคม เป็นเจ้าของ

นับแต่เดือนธันวาคม 2559 เป็นต้นมา และยิ่งการเคลื่อนเข้ามาของเดือนมกราคม 2560 เข้ามาใกล้มากเพียงใด สถานการณ์ทางการเมืองยิ่งมากด้วยความเร่งเร้าและเรียกร้อง

1 เรียกร้องอย่างเร่งเร้าให้มีการปลด “ล็อก” พรรคการเมือง

อย่างน้อยการควบคุมพรรคการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จก็ผ่านมา 2 ปีแล้ว และแทบไม่มีความจำเป็นอะไรอีกที่จะต้องควบคุมในนามแห่งความสงบเรียบร้อยเหมือนช่วงหลังของการรัฐประหาร

1 บทบาทและความหมายของ “โรดแม็ป” สัมพันธ์กับ “การเลือกตั้ง”

ทำให้กระแสความเรียกร้องต้องการ “การเลือกตั้ง” กลายเป็นความรู้สึกร่วมในทางสังคม และการเร่งเร้าเพื่อปลดล็อก “พรรคการเมือง” สอดรับกับอารมณ์และความรู้สึกร่วมในทางสังคม

หาก คสช. และรัฐบาลไม่สำเหนียกและตระหนักในเรื่องนี้ โอกาสที่จะเป็นฝ่ายตั้งรับจึงมีสูง

และที่สุดสถานการณ์จะตรวจสอบและพิสูจน์ทราบให้ คสช. จำเป็นต้องยอมรับว่า “โรดแม็ป” เป็นของ คสช. มาจาก คสช. แต่ก็ยากจะควบคุมและกำหนดกระบวนการได้อย่างเบ็ดเสร็จ