ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 มีนาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | เครื่องเคียงข้างจอ |
เผยแพร่ |
เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์
เพลงปลุกใจ
ขอเขียนถึง “เพลงปลุกใจ” สักหน่อยนะครับ เพราะเห็นอยู่ในกระแสยามนี้
ทำไมถึงอยู่ในกระแส อันนี้คุณผู้อ่านคงทราบกันดีอยู่แล้ว คงไม่ต้องไปสาธยายให้มากความ แต่ที่รู้ๆ คือ ทำให้เพลง “หนักแผ่นดิน” กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง
สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่เคยรู้จัก ก็พลอยได้ยินเพลงนี้ในคราวนี้ละ
หากไปค้นประวัติของ “เพลงปลุกใจ” ก็จะพบว่า เพลงปลุกใจ รวมอยู่ในประเภทบทเพลงหรือดนตรีที่ให้คุณต่อมนุษย์ด้านสังคม มีมาตั้งแต่สมัยโรมัน โดยใช้เครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า ใช้บรรเลงเพลงเดินแถวเพื่อปลุกใจทหาร
ในพจนานุกรมให้ความหมายเพลงปลุกใจไว้ว่า
“คือเพลงที่เร้าใจให้เกิดความกล้าหาญ และกระตือรือร้น จึงเป็นเพลงที่ฟังแล้วจะเหนื่อย…” เอ้า มีเขียนไว้อย่างนี้จริงๆ ไม่ใช่ผมเขียนเองนะ แถมเพิ่มเติมด้วยว่า “ยิ่งร้องเองยิ่งเหนื่อย เหนื่อยด้วยความฮึกเหิมเอาชัย”
นั่นแน่ เหมือนตบหัวแล้วลูบหลังเลย
สําหรับในบ้านเรา เริ่มมีเพลงปลุกใจขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ.2452 เพราะสยามของเราเริ่มมีการรุกรานแย่งชิงเขตแดนจากประเทศตะวันตก และเพลงปลุกใจก็เริ่มเด่นชัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ต่อด้วยรัชกาลที่ 7
ยิ่งพอเปลี่ยนระบอบการปกครองของไทยในยุคหลัง 2475 แล้ว เพื่อเป็นการสร้างความรู้สึกร่วมในการรักชาติ เป็นการรวมใจคนในชาติให้เป็นหนึ่งเดียว เพลงปลุกใจจึงถูกทำหน้าที่โดยแฝงความหมายทางการเมืองไว้ด้วย ถือว่าเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อที่สำคัญ
ถ้าเทียบแล้วก็ทำหน้าที่เหมือนข่าวตามโซเชียลมีเดียในยุคนี้
ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ใช้เพลงปลุกใจมากระตุ้นให้กองทัพเกิดความฮึกเหิมเพื่อสู้กับกองกำลังต่างชาติ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงบูมของเพลงปลุกใจก็ว่าได้
ผมเองก็จำได้ว่าตอนเรียนชั้นประถม ในชั่วโมงขับร้องครูก็จะนำเพลงปลุกใจมาให้นักเรียนฝึกร้องอยู่หลายเพลงเหมือนกัน แถมยังห่วงพะวงอีตอนสอบขับร้องที่จำเนื้อเพลงไม่ค่อยได้ ความฮึกเหิมเลยไม่ค่อยเกิดเท่าที่ควร
นอกจากเพลง “หนักแผ่นดิน” แล้ว ยังมีเพลง ได้ชื่อว่าเป็นเพลงปลุกใจอีกหลายเพลง เช่น เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย, ตื่นเถิดชาวไทย, ต้นตระกูลไทย, รักกันไว้เถิด, เลือดสุพรรณ, สยามานุสติ เป็นต้น
ดูจากชื่อเพลงโดยไม่ต้องฟังเนื้อหาของเพลงก็พอจะนึกออกถึง “บทบาท” การทำหน้าที่ของเพลงปลุกใจเหล่านี้ ปัจจุบันเราได้ยินได้ฟังกันน้อยลง เพราะไม่จำเป็นต้องปลุกใจอะไรกัน
แต่หากจะมีเปิดอยู่บ้างก็ในเขตพื้นที่ทหาร หรือตามสถานที่ราชการต่างๆ ไม่ก็สถานีวิทยุของทางราชการ
เมื่อย้อนกลับมาที่เพลงหนักแผ่นดิน ที่เป็นต้นเหตุของความสนใจในช่วงที่ผ่านมานี้ก็มีเนื้อเพลงที่ขอหยิบยกขึ้นมาบางส่วนดังนี้
“คนใดใช้ชื่อไทยอยู่ กายก็ดูเหมือนไทยด้วยกัน ได้อาศัยโพธิ์ทอง แผ่นดินของราชัน แต่ใจมันยังเฝ้าคิดทำลาย”
“คนใดยุยงปลุกปั่น ไทยด้วยกันหวังให้แตกกระจาย ปลุกระดมมวลชนให้สับสนวุ่นวาย เพื่อคนไทยแบ่งฝ่ายรบกันเอง”
นี่คือเนื้อเพลงส่วนหนึ่ง และก็มีท่อนสร้อยที่ติดหูและตอกย้ำอารมณ์ว่า
“หนักแผ่นดิน หนักแผ่นดิน คนเช่นนี้เป็นคนหนักแผ่นดิน”
ฟังจากเนื้อเพลงแล้ว ใครโดนต่อว่าว่า “หนักแผ่นดิน” นี่คงจะเจ็บแสบน่าดู คล้ายมาด่าพ่อแล้วตีหัวแบะปานนั้น เพราะเป็นเรื่องของคนทรยศขายชาติเลยทีเดียว ซึ่งก็นึกออกว่า เมื่อท่าน ผบ.ทบ.ย้อนกลับให้นักการเมืองไปฟังเพลงนี้ จึงเหมือนราดน้ำมันเข้ากองเพลิง
นอกจากการซัดกลับด้วยความเห็นที่ไม่เห็นด้วยต่อคำพูดของท่าน ผบ.ทบ. จากนักการเมืองหลายๆ คนแล้ว ยังมีคนนำบทเพลงอีกเพลงหนึ่งขึ้นมาสู้เหมือนกันจนเป็นข่าวคราว
นั่นคือเพลง “ประเทศกูมี” ที่เคยสร้างความไม่พอใจให้กับ คสช.มาแล้ว
มีคอลัมนิสต์บางคนบอกว่า กรณีนี้น่าจับเอาคนที่ทะเลาะกันด้วยเพลง 2 เพลงนี้มาแข่งกันในรายการ “กิ๊กดู๋” เสียเลย เพราะสมกับชื่อรายการที่ว่า “สงครามเพลง” (ฮา)
จากกรณีนี้เพลงปลุกใจที่เคยเงียบเหงาไปก็กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง
แต่หากจะพูดถึง “เพลงปลุกใจ” ที่เหมาะสมกับสภาพของสังคม ความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ที่ไม่ได้ต้องปลุกกันเฉพาะเรื่องของความมั่นคงเท่านั้น ก็น่าจะมีบทเพลงเพราะๆ ทั่วไปอีกหลายเพลงที่สามารถจัดเป็นเพลงปลุกใจร่วมสมัยได้
อย่างเช่นเพลง “ยังยิ้มได้” ของพลพล พลกองเส็ง นั่นไง ที่มีเนื้อท่อนหนึ่งว่า
“ไม่คิดจะยอมแพ้ เราก็ไม่แพ้ แค่เพียงทางไม่มีดอกไม้ให้ก้าวเดิน ขุนเขาหรือขวากหนาม ด้วยรักมันคงไม่ยากเกิน ที่จะเดินไปให้ถึงปลายทาง”
เป็นการปลุกใจให้ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคขวากหนาม เมื่อบวกกับเสียงทุ้มนุ่มอบอุ่นของพลพลแล้วก็ทำให้ใจมีพลังขึ้นได้ไม่น้อย
หรือว่าเพลง “ศรัทธา” ของวง หิน เหล็ก ไฟ ที่มีท่อนฮุกที่จิ๊กโก๋ร้องตามได้ทั้งเมืองก็ปลุกใจได้ดีทีเดียว
“ใจสู้หรือเปล่า ไหวไหมบอกมา โอกาสของผู้กล้า ศรัทธาไม่มีท้อ”
ถ้าจะดีต้องร้องไปจิบแอลกอฮอล์ไปด้วย รับรองปลุกใจได้ทั้งโต๊ะแน่นอน
หรือแม้แต่เพลง “ผู้สาวขาเลาะ” ของน้องลำไย ไหทองคำ นี่ก็เป็นเพลงปลุกใจเหมือนกัน
ลำพังเนื้อเพลงอาจจะไม่ค่อยปลุกเท่าไหร่ แต่ด้วยภาพลักษณ์ของลำไยและลีลาการร้องและเต้นนั้น หนุ่มๆ ลงความเห็นว่า ปลุกใจมากครับท่าน
เมื่อพูดถึง “นักการเมือง” ถามว่าจะมีเพลงปลุกใจอะไรให้กับพวกเขาในยามนี้หรือไม่ ก็ยังนึกไม่ออก แต่ถ้านึกได้คงเป็น “เพลงปลอบใจ” ซะละมากกว่า
สำหรับเพลงปลอบใจที่น่าจะเหมาะกับ “นักการเมือง” ก็น่าจะเป็นเพลงของคุณกมลา สุโกศล ที่ชื่อ “Live & Learn” ที่มีเนื้อเพลงว่า
“เมื่อวันที่ชีวิตเดินเข้ามาถึงจุดเปลี่ยน จนบางครั้งคนเราไม่ทันได้ตระเตรียมหัวใจ”
ฟังเอาไว้เกิดในกรณีที่ผลการเลือกตั้งอาจไม่เป็นตามที่หวัง เดี๋ยวจะทำใจไม่ได้
“อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน ตามความคิดสติเราให้ทัน อยู่กับสิ่งที่มีไม่ใช่สิ่งที่ฝัน”
ฉะนั้น ที่คิดจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หรือคิดถึงขั้นได้นั่งเก้าอี้นายกฯ ก็คงต้องยอมรับว่ามันเป็นแค่ความฝันนะตัวเอง
หรือถ้าปลอบใจกันอย่างนี้แล้วยังไม่พอ สงสัยคงต้องใช้เพลง “มันต้องถอน” ของปอยฝ้าย มาลัยพร เป็นแน่
“งึกงึกงักงัก มันเป็นงึกงึกงักงัก โอ๊ย งึกงึกงักงัก มันเป็นงึกงึกงักงัก
จั่งซี้มันต้องถอน จั่งซี้มันต้องถอน…” ฮาฮาฮา