ฉัตรสุมาลย์ : พิพิธภัณฑ์เหอหนาน

วันสุดท้ายของการเดินทาง เราอยู่ที่เมืองเจิ้งโจว จะบินกลับไทยจากเมืองนี้ค่ะ จะหอบความหนาวเย็นกลับเมืองไทยด้วย

เมืองเจิ้งโจวตั้งอยู่ในมณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

เป็นเมืองที่มีอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจีน จึงทำให้เมืองนี้เจริญรุ่งเรือง

มีสิ่งที่น่าสนใจให้ท่องเที่ยวได้มากมาย เมืองเจิ้งโจวมีความสำคัญทางด้านคมนาคมในภาคกลางของจีน เพราะมีเส้นทางหลวง 1 ใน 7 สายสำคัญของประเทศ มีเส้นทางรถไฟ และสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจีน ทั้งยังมีทางด่วนและถนนสายสำคัญอีกหลายสาย นอกจากนี้ยังมีสนามบินถึง 3 แห่ง เมืองเจิ้งโจวจึงกลายเป็นศูนย์กลางแห่งการเดินทางท่องเที่ยวในจีน

โดยลักษณะภูมิประเทศ มีแม่น้ำฮวงโห ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับสองของประเทศไหลผ่าน

ด้วยลักษณะที่เด่นทางภูมิประเทศเช่นนี้ ทำให้ทางการเลือกที่จะตั้งพิพิธภัณฑ์ของมณฑลไว้ที่เมืองนี้

พิพิธภัณฑ์เหอหนานเป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงวัตถุโบราณและเรื่องราวในอดีต สร้างมาแล้วกว่า 70 ปี อาคารหลังกลางซึ่งเป็นอาคารหลัก สร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมของหอดูดาวโบราณ ดูเรียบง่ายแต่ยิ่งใหญ่

ภายในกว้างขวาง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เก็บรักษาโบราณวัตถุถึง 1,300,000 ชิ้น คิดเป็น 1 ใน 8 ของโบราณวัตถุที่มีในพิพbธภัณฑ์ทั้งหมดของประเทศจีน นักวิชาการประเมินว่า

หากพิจารณาจากมูลค่าทางวัฒนธรรมของวัตถุโบราณที่รักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศจีนแล้ว พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มาเป็นที่สองรองจากพิพิธภัณฑ์พระราชวังโบราณทีเดียว

 

ไกด์ว่า เรามีเวลาตอนเช้า ให้เราเลือกว่าจะไปช้อปปิ้งหรือจะไปชมพิพิธภัณฑ์ ตกลงคณะเราเลือกไปชมพิพิธภัณฑ์ของมณฑลเหอหนานซึ่งมีคุณค่าทางวัฒนธรรมยิ่ง

ขณะที่เรารอให้สุลิน ไกด์ไปซื้อตั๋ว เรามีเวลาเดินดูบริเวณพิพิธภัณฑ์ เห็นคนจีนมุงดูป้าย เราก็ไปมุงกับเขาบ้าง

เออ น่าสนใจ เขาทำป้ายสถิติให้ดูค่ะ ว่าแซ่ไหนมีประชากรที่ใช้แซ่นั้นมากที่สุด จัดลำดับให้เสร็จ แซ่หลี มาอันดับหนึ่ง แซ่ของผู้เขียน ทางสายพ่อนับไปไกลหน่อยประมาณ 5 ชั่วโคตร เป็นแซ่ลิ้ม มาเป็นอันดับที่ 16

เรื่องชื่อแซ่นี้ชาวจีนให้ความสำคัญมาก ตอนที่เราไปวัดเส้าหลิน ร้านค้าต่างๆ ที่เราเดินผ่านนั้น มีร้านหนึ่งที่ขายป้ายเล็กๆ เป็นป้ายชื่อแซ่ค่ะ เป็นสินค้าที่คนนิยมทีเดียว ด้านหน้าเป็นชื่อแซ่ที่เป็นอักษรจีนตัวเดียว

ด้านหลังอธิบายถึงคุณธรรมที่พึงรักษา

 

ตรงทางเดินเราเจอกลุ่มเด็กนักเรียนวัย 7-8 ขวบ ครูที่สอนพามาศึกษานอกโรงเรียน กำลังเรียนจากของจริง ตั้งใจจดมาก เด็กๆ ไม่วอกแวก แม้จะอยู่นอกสถานที่ เห็นความตั้งใจของครูที่สอนด้วย กลุ่มหนึ่งไม่เกิน 10 คน รู้สึกดีที่ได้เห็นความตั้งใจของทั้งครูและศิษย์ สมกับที่คนจีนยกย่องขงจื๊อว่าเป็นบิดาแห่งการศึกษา ประโยคหนึ่งที่ขงจื๊อสอนคือ การศึกษาเริ่มต้นที่เรารู้ว่าเรารู้อะไร และเราไม่รู้อะไร

ลึกซึ้งนะคะ ปัญหาที่เราพบในเมืองไทยคือ คนที่พูดมักจะยังไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ นั่นคือ ยังไม่ได้เริ่มขั้นแรกที่เป็นปฐมบทของการศึกษาเลย

ใกล้ๆ กับที่นักเรียนตัวเล็กกำลังตั้งใจเรียน กลุ่มผู้ชายชาวจีนยืนคุยกันเป็นกลุ่ม พ่นควันโขมง การสูบบุหรี่เป็นวัฒนธรรมที่ยังต้องพัฒนาทั้งในจีนและเกาหลี ท่านธัมมนันทาว่า เออ ยืนฆ่าตัวตายผ่อนส่ง แต่จะพาคนรอบข้างตายตามไปด้วย

เราต้องเดินหนีไปเหนือลม

 

พอดีได้เวลาพิพิธภัณฑ์เปิด การจัดวางวัตถุโบราณทำได้มาตรฐานทีเดียว

เสียอย่างเดียว ทุกอย่างเป็นภาษาจีนหมด

ที่ว่าเสียนี้ คือเราเสีย ตรงที่เราไม่รู้ภาษาของเขา

ถ้ารัฐบาลท้องถิ่นตั้งใจจะให้พิพิธภัณฑ์นี้มีความหมายต่อโลกภายนอก ก็จะขยับขยายมีคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษเพิ่ม

ก็ดูตัวอย่างบ้านเรา เพิ่งมาในทศวรรษนี้ที่เราเริ่มเห็นคำอธิบายในพื้นที่สาธารณะมีภาษาจีนกำกับ นั่นแปลว่า รัฐบาลเริ่มตระหนักว่าเรามีทัวร์จีนลงมากขึ้น และจะมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ทำเรือล่มพาคนจีนตาย เสียหายต่อการโฆษณาเชิญชวนให้คนจีนไว้ใจในความปลอดภัยที่จะมาเมืองไทย

อัศจรรย์ในความเจริญของชาวจีนย้อนไปหลายพันปี ที่เราดูจากวัตถุโบราณที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ บรรดาเครื่องใช้ที่เป็นทองเหลือง แสดงถึงพัฒนาการของช่างฝีมือที่มีการหล่อข้าวของเครื่องใช้ได้อย่างประณีตและอลังการ

ของชิ้นสำคัญมักมีความเกี่ยวเนื่องจากพิธีทางศาสนา เป็นภาชนะที่ใส่เหล้าไวน์ที่ใช้ในการบว”สรวง เป็นต้น

คณะเราหยุดดูนานหน่อย ตรงจุดที่แสดงส6สานของพระจักรพรรดิ มีโครงกระดูกม้าหลายตัว นอนเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ เขาใช้วิธีสังหารโดยแทงตัดเส้นเลือดใหญ่ที่คอ เพื่อให้ม้าล้มลงนอนตายอย่างเป็นระเบียบ

เอ่อ คือพูดไม่ออก

ทั้งหมดนั้นจากความเชื่อว่า พระจักรพรรดิจะได้มีม้าเป็นบริวารในภพภูมิใหม่ที่ท่านไป มนุษย์เราก็จะทำอะไรหลายอย่างก็จากความเชื่อเช่นนี้แหละ

 

ชื่นชมความเจริญรุ่งเรืองในอดีตของจีนโบราณแล้วก็เดินออกมา ข้ามไปยังอาคารอีกหลังหนึ่ง เป็นอาคารสองชั้น อาคารนี้มีนิทรรศการแสดงถึงวัฒนธรรมการเขียนรูปเทพเจ้าต่างๆ และนิทรรศการงานตัดกระดาษเป็นลวดลายต่างๆ จีนกับเวียfนามดูจะมีชื่อด้านนี้อยู่มาก

หากมีคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษประกอบ เราก็จะได้เรียนรู้ถึงศาสนาพื้นบ้านอย่างดี ความเชื่อสองแนวที่ปรากฏชัดเจนคือ เทพเจ้าที่คุ้มครองให้ความปลอดภัย ก็จะเป็นเทพเจ้าผู้ชาย ใส่เสื้อผ้าแพรพรรณที่เราจะเรียนรู้วัฒนธรรมจีนโบราณได้ดี

เทพเจ้าผู้หญิงก็จะงดงาม มีสีสันน่าดู ให้ความคุ้มครองเด็กและสตรี ชาวจีนนิยมไหว้เทพเจ้าฝ่ายหญิงโดยเฉพาะเวลามีเด็กเล็กในบ้าน ขอความคุ้มครอง ขอความเจริญรุ่งเรือง

ในประเทศไทย เนื่องจากมีประชากรส่วนใหญ่ที่มีเชื้อสายมาจากประเทศจีน แม้ในปัจจุบันเป็นชาวไทยไปแล้ว แต่ยังคงรักษาวัฒนธรรมจีนไว้อย่างเคร่งครัด เทพเจ้าที่นิยมมาในลักษณะ 3 องค์ คือ ฮก ลก ซิ่ว เป็นตัวแทนของความมั่งคั่ง เกียรติยศชื่อเสียง และความอายุยืน

ในวัฒนธรรมจีน บุคคลในประวัติศาสตร์ที่กลายเป็นเทพคือ กวนอู เมื่อเป็นเทพเจ้าแล้วเรียกว่ากวนกง ท่านเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ แม้พระจักรพรรดิก็ยังนิยมพาข้าราชบริพารไปสักการะ

ที่เราไปพาท่านผู้อ่านไปเคารพท่านที่สุสานของท่านในอาทิตย์ที่ผ่านมา

อีกบริการหนึ่งที่พิพิธภัณฑ์จัดให้คือ งาน DIY (do it yourself) คนจีนที่พาลูกหลานมาชมนิทรรศการให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ คือการพิมพ์งานแบบโบราณ สอดคล้องกับนิทรรศการที่เน้นภาพพิมพ์รูปเทพเจ้าต่างๆ คนเข้าแถวกันยาว เราก็ไปเข้าแถวกับเขาบ้าง เริ่มจากน้องเจี๊ยบที่ตาไว เห็นคนจีนให้ความสนใจกัน ไปเข้าแถวกับเขาบ้าง พวกเราก็เข้าแถวไปร่วมสนุกกับเขาด้วย รวมทั้งท่านธัมมนันทา

ที่โต๊ะนั้น เขาวางแม่พิมพ์ไม้ แกะสลักเป็นรูปเทพเจ้าผู้ชาย ให้เราเอาลูกประคบแตะหมึกดำที่อยู่บนแท่นทาที่แม่พิมพ์ให้ทั่ว แล้วเอากระดาษขนาด A4 วาง จากนั้นเอาลูกกลิ้งกลิ้งกดให้สีติดที่กระดาษ เราก็เลยได้สัมผัส และเรียนรู้วิธีการพิมพ์สมัยโบราณ

รอนานก็ไม่เป็นไร happy กันถ้วนหน้า

บางทีความสุขก็มาเล็กๆ แบบนี้แหละค่ะ

ออกมาตรงประตูทางออก มีตู้ให้หยอดเหรียญ ซื้อเหรียญรูปอาคารพิพิธภัณฑ์เหอหนาน เราถือโอกาlหยอดเหรียญเลือกซื้อมาเป็นของฝากจากมณฑลเหอหนาน

เสียงไกด์โบกมือหยอยๆ เรียกอยู่ด้านล่าง พร้อมกับโบกธงไทยด้วย

กินข้าวกลางวันแล้ว เราจะเดินทางไปสนามบินเจิ้งโจว กลับเมืองไทยแล้วค่ะ

ทริปนี้สนุกมาก พอกลับมาถึงยังไม่ทันตั้งตัว ลูกทัวร์พูดกันถึงทริปหน้าแล้วค่ะ เมืองจีนอีก เวลาเดิม คือ พฤศจิกายน 2562