กรองกระแส / การเมือง การทหาร เอา หรือ ไม่เอา กับ ‘คสช.’ บทเพลง หนักแผ่นดิน

กรองกระแส

 

การเมือง การทหาร

เอา หรือ ไม่เอา กับ ‘คสช.’

บทเพลง หนักแผ่นดิน

 

ไม่มีอะไรที่สะท้อนภาวะอับจนในทางความคิดได้เท่ากับเมื่อได้ยินคำประกาศการต่อสู้กับ “อ้ายตัวร้าย” บนเวทีปราศรัยของพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่บึงกุ่ม ไม่มีอะไรที่สะท้อนภาวะอับจนในทางความคิดได้เท่ากับเมื่อมีข้อเสนอให้ไปฟังเพลง “หนักแผ่นดิน” จากผู้มีอำนาจใน คสช.

เพราะว่าพลันที่เสียงเพลง “หนักแผ่นดิน” ดังขึ้น สังคมจะนึกถึงสถานการณ์รัฐประหารอย่างน้อยก็ 2 ครั้ง

1 ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2519

1 ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เมื่อมีการนำเอาเพลง “หนักแผ่นดิน” มาร้องและก่อให้เกิดอาการกระเหี้ยนกระหือรือ ไม่แตกต่างไปจากที่ “กลุ่มกระทิงแดง” สำแดงออกเมื่อบุกเข้าไปภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่น่าสนใจก็คือ พื้นฐานของพรรครวมพลังประชาชาติไทยสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวในห้วงก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อย่างแนบแน่น

การก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยก็เพื่อสนองต่อการสืบทอดอำนาจของ คสช.

คำประกาศที่จะจัดการกับ “อ้ายตัวร้าย” ทางการเมืองไม่ว่าใหม่ ไม่ว่าเก่า จึงมีลักษณะร่วมกับการเชิญชวนให้ไปฟังเพลง “หนักแผ่นดิน”

นี่คือภาวะอับจน นี่คือการดิ้นอย่างใหญ่หลวงในทางการเมือง

 

เพลงหนักแผ่นดิน

เดือนตุลาคม 2519

 

บทเพลง “หนักแผ่นดิน” อันกระหึ่มมาตั้งแต่ปี 2518 มีผลสะเทือนอันนำไปสู่การเกิดสถานการณ์นอกเลือดในเดือนตุลาคม 2519 อย่างลึกซึ้ง

นี่ย่อมเป็นโศกนาฏกรรมในยุคสงครามเย็น

นายประสาน มฤคพิทักษ์ ในห้วงที่อยู่พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยย่อมรับรู้อย่างลึกซึ้ง นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่เป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย่อมเจ็บปวดเป็นอย่างสูงจากการที่มีการล้อมปราบ จับกุมและเข่นฆ่าอย่างเหี้ยมโหดในตอนนั้น

ไม่ว่าจะเป็นการแขวนคอเหยื่อบนต้นมะขาม สนามหลวง ไม่ว่าจะเป็นการข่มขืนและฆ่าภายในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

น่าเศร้าที่เมื่อมีการเคลื่อนไหวของ กปปส. ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ โดยมาตรการชัตดาวน์กรุงเทพมหานคร ชัตดาวน์การเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ได้มีการนำเอาบทเพลง “หนักแผ่นดิน” มาร้องและบรรเลงกันอย่างคึกคัก

และในที่สุดพรรครวมพลังประชาชาติไทยก็ประกาศจัดการกับบรรดา “อ้ายตัวร้าย” ทางการเมือง ขณะที่มีการเชิญชวนให้ไปรับฟังบทเพลง “หนักแผ่นดิน” อีกครั้งหนึ่ง

เท่ากับเป็นการงัดกลยุทธ์ในยุคแห่ง “สงครามเย็น” หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

 

ขวาพิฆาตซ้าย

ยุคสงครามเย็น

 

สถานการณ์ “หนักแผ่นดิน” เกิดขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์การแบ่งแยกทางความคิดระหว่างขวากับซ้าย เสรีประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์

มีการให้ร้ายป้ายสีอีกฝ่ายเป็นพวก “หนักแผ่นดิน”

เหมือนๆ กับที่ได้เกิดคำประกาศบนเวทีหาเสียงของพรรครวมพลังประชาชาติไทยกล่าวหาฝ่ายตรงกันข้ามว่าเป็น “อ้ายตัวร้าย”

เป็นอ้ายตัวร้ายก่อนรัฐประหาร 2549 เป็นอ้ายตัวร้ายหลังรัฐประหาร 2557

นี่ย่อมเป็นยุทธวิธีหนึ่งในกระบวนการขวาพิฆาตซ้าย ในกระบวนการ “ม็อบกินม็อบ” อันมีกลุ่มนวพล กระทิงแดง เป็นกองหน้า เพื่อจัดการกับขบวนการนิสิตนักศึกษาที่ถือว่าเป็นซ้าย

การสังหารกลางเมืองอย่างโหดร้ายจึงได้ปะทุขึ้น

กล่าวสำหรับการเสนอสโลแกนที่จะจัดการกับพวก “อ้ายตัวร้าย” เมื่อประสานเข้ากับการรื้อฟื้นเพลง “หนักแผ่นดิน” ขึ้นมาจึงเท่ากับสะท้อนความคิด และกระบวนการทางการเมืองที่ต้องการจะทำลายล้างอีกฝ่ายที่คิดแตกต่างเช่นเดียวกับที่เคยจัดการเมื่อเดือนตุลาคม 2519

ทั้งที่ยุคแห่งสงครามเย็นได้จบสิ้นไปแล้ว ทั้งๆ ที่เคยมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ออกมาอย่างทรงประสิทธิภาพ

 

เส้นทางเลือกตั้ง

คสช. เป็นตัวตั้ง

 

ในเมื่อความต้องการจัดการกับ “อ้ายตัวร้าย” เกิดขึ้นพร้อมกับการรื้อฟื้นเพลง “หนักแผ่นดิน” มีรากฐานการคิดและนำเสนอโดยเครือข่ายของ คสช. ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

ผลก็คือ การตั้งป้อมค่ายในทางการเมืองก็ปรากฏเป็นจริง

ผลก็คือ การต่อสู้ผ่านกระบวนการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 จึงเท่ากับเป็นการต่อสู้ใน 2 แนวรบอันแหลมคมและมากด้วยความดุเดือดเข้มข้น

แนวรบ 1 ต่อท่ออำนาจของ คสช. ยืนยันการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แนววรบ 1 สกัดขัดขวางและต่อต้านอย่างสุดกำลังความสามารถ ยับยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช. ในที่สุดแล้วก็เพื่อมิให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

  เอา หรือ ไม่เอา คสช. จึงกลายเป็นคำขวัญขึ้นมา