สายล่อฟ้า กำลังสูง “ทุกคนต้องไม่ล้ำเส้นอยู่ในกรอบในระบอบประชาธิปไตย” / ฉบับประจำวันที่ 22-28 กุมภาพันธ์ 2562

แม้จะเป็นผู้บัญชาการทหารบก และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เหมือนกัน
แต่สไตล์ระหว่าง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท กับ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แตกต่างกันอย่างชัดเจน
พล.อ.เฉลิมชัย มีมาดสุขุม ใจเย็น หลีกเลี่ยงการปะทะ
ต่างจาก พล.อ.อภิรัชต์ ที่มีสไตล์ดุดัน ชนเป็นชน ไม่ประนีประนอม
จึงทำให้บรรยากาศระหว่าง “ทหาร” กับ “การเมือง” ของผู้บัญชาการทหารบก 2 ยุค ไม่เหมือนกันเลย
ยิ่งในห้วงปัจจุบัน ที่การเมืองเข้าสู่บรรยากาศได้เสียของการเลือกตั้ง
กองทัพแม้จะบอกว่าเป็น “กลาง”
แต่ในหลายกรณี หรือจะว่ากันจริงๆ ทุกครั้งที่ พล.อ.อภิรัชต์พูดเกี่ยวกับการเมือง
กองทัพกลายเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับฝ่ายการเมืองอยู่ตลอดเวลา

ภาวะดังกล่าว ทำให้พล.อ.อภิรัชต์ถูกเปรียบประหนึ่ง สายล่อฟ้า กำลังสูง
เพราะล่อ “ฟ้า” ให้เปรี้ยงปร้าง ตั้งแต่วันรับตำแหน่งเลยทีเดียว
และหลังจากนั้น ก็เปรี้ยงปร้างมาตลอด
แม้เจ้าตัวจะยืนยันว่า
“รักษาความมั่นคงอย่างตรงไปตรงมา”
แต่การยืนกราน “ทุกคนต้องไม่ล้ำเส้นอยู่ในกรอบในระบอบประชาธิปไตย”
ก็เป็นปัญหา
ว่าการล้ำเส้นนั้นล้ำอะไร
ล้ำเส้นไปแตะต้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ มีกระแส ข่าวว่า พล.อ.อภิรัชต์ได้กล่าวในที่ประชุมหน่วยขึ้นตรง ช่วงหนึ่งว่า ขอให้กำลังพลสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล อย่าให้ พล.อ.ประยุทธ์ที่ได้เสียสละทำงานเพื่อประเทศชาติบ้านเมืองในช่วงที่ผ่านมาเสียของ ไม่ควรต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่
คำพูดดังกล่าว ถูกตั้งข้อสงสัยว่านั่นคือการปกป้อง “ตัวบุคคล” ใช่หรือไม่
และบุคคลนั้นกำลังเสนอ ตัวเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องผ่านการวิพากษ์วิจารณ์ อย่างนักการเมืองอื่นๆมิใช่หรือ
ดังนั้นการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงาน การบริหารงบอย่าง งบกลาโหม จึงเป็นสิ่งปกติยิ่ง
มิน่าจะใช่เรื่อง ของ”หนักแผ่นดิน” แต่อย่างใด

การเป็นสายล่อฟ้า คงเป็นสิ่งที่พล.อ.อภิรัชต์ คิดใคร่ครวญให้ดี
เพราะหมวกที่สวมอยู่หลายใบนั้น ทำให้เกิดความปั่นป่วน
และยิ่งปั่นป่วน หรือหงุดหงิดมากขึ้นไปอีก เพราะขณะที่ “ล่อ”ฟ้านั้น
ฟ้ากลับหันไปรักพ่อ–ที่เป็นคนอื่นเสียนี่
—————————-