อาชญากรรม | ผ่ากระแสโลกกดดันส่งฮาคีมกลับออสซี่ไทยเจรจา‘บาห์เรน’ได้ทางออก-จบสวย

จบลงด้วยดี สำหรับกรณีนายฮาคีม อัล อาไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน ที่ถูกตำรวจ ตม.จับกุมขณะเดินทางมาฮันนีมูนที่ประเทศไทย ตั้งแต่ปลายปี 2561

โดยอ้างว่ามีหมายแดงให้จับกุมจากอินเตอร์โพล แล้วเตรียมส่งตัวกลับไปดำเนินคดีที่บาห์เรน

แต่ก็มีเหตุแทรกซ้อนเมื่อรัฐบาลออสเตรเลียออกมาแถลงยืนยันว่านายฮาคีมได้สิทธิ์ผู้ลี้ภัยของออสเตรเลีย ถือเป็นพลเมืองของออสเตรเลียอย่างถูกต้องชอบธรรม

จึงต้องส่งกลับออสเตรเลียเท่านั้น

ในตอนแรกรัฐบาลไทยยืนยันว่าทำถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ขณะที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ขณะที่ฮาคีมตะโกนก้องขอให้อย่าส่งกลับไปตาย

จนสุดท้ายอัยการไทยยื่นถอนฟ้อง ศาลอนุญาตปล่อยตัว ตม.นำตัวส่งขึ้นเครื่องกลับออสเตรเลีย

ทั้งหมดจบครบภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง

ทิ้งเป็นปริศนาว่า หากทำได้รวดเร็วขนาดนี้ แล้วเวลาที่ผ่านมา 3 เดือน ทำอะไรกันอยู่!??

จบดี-ฮาคีมกลับออสเตรเลีย

หลังจากที่อัยการสำนักงานต่างประเทศเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา เพื่อขอให้ส่งตัวนายฮาคีมเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ตามคำร้องขอของบาห์เรน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ โดยยืนยันหนักแน่นว่าดำเนินคดีตามขั้นตอน เนื่องจากนายฮาคีมเป็นจำเลยที่ถูกดำเนินคดีอาญาในราชอาณาจักรบาห์เรนแล้วหลบหนีไป

โดยสำนักงานอัยการสูงสุดรับเรื่องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่านายฮาคีมถูกดำเนินคดีที่ศาลบาห์เรน ในข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์ และมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง ต่อมาศาลอาญากลาง เขต 1 แห่งบาห์เรนมีคำพิพากษาจำคุก 10 ปี ก่อนที่นายฮาคีมจะหลบหนีไป และถูกควบคุมตัวในประเทศไทย

จึงเห็นว่าคำร้องขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีอาญา เป็นข้อกล่าวหาที่ในประเทศไทยก็ถือเป็นการกระทำความผิด และมีอัตราโทษจำคุกไม่น้อยกว่า 1 ปี อีกทั้งไม่ใช่ความผิดทางการเมือง และความผิดทางการทหาร จึงเข้าหลักเกณฑ์และข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551

ยืนยันขันแข็งต้องเดินตามกระบวนการยุติธรรม โดยไม่มีใครแทรกแซงได้!??

จนกระทั่งศาลอาญาเบิกตัวนายฮาคีมมาสอบปากคำเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 โดยนายฮาคีมปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิด และไม่ยินยอมกลับไปที่บาห์เรน ศาลอาญาจึงมีคำสั่งให้นายฮาคีมและทนายความยื่นคำคัดค้านคำฟ้องภายในวันที่ 5 เมษายน 2562 และนัดตรวจพยานทั้ง 2 ฝ่ายในวันที่ 22 เมษายน 2562

โดยไม่ให้ประกันตัวเพื่อไปต่อสู้คดี

แต่ระหว่างที่ทนายความเร่งรวบรวมเงินขอยื่นประกันตัวอีกครั้ง โดยยอมให้ใส่กำไลติดตามตัว และเตรียมหาบุคคลสำคัญมาการันตีว่านายฮาคีมจะต่อสู้คดีอย่างถึงที่สุด โดยจะไม่หลบหนีไปไหน

ก่อนที่จะยื่นประกันตัว ช่วงบ่ายวันที่ 11 กุมภาพันธ์ น.ส.เสฏฐา เธียรพิรากุล พนักงานอัยการสำนักงานต่างประเทศ ก็เข้ายื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้อัยการถอนฟ้องคดีได้

นายชัชชม อรรฆภิญญ์ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ ระบุว่า เนื่องจากช่วงเช้าวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ได้รับประสานจากกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งว่าบาห์เรนไม่ประสงค์ติดใจขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนนี้อีก จึงเห็นว่าไม่มีประโยชน์ต่อสาธารณะตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการฯ มาตรา 21 จึงยื่นถอนฟ้อง เมื่อศาลอนุญาต ก็จะปล่อยตัวนายฮาคีมเป็นอิสระทันที

ต่อมาช่วงเย็น เจ้าหน้าที่สถานทูตออสเตรเลียมารับตัวนายฮาคีมจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนที่นายฮาคีมจะเดินทางกลับทันทีด้วยสายการบินไทย เที่ยวบินทีจี 465 จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิปลายทางเมลเบิร์น ออสเตรเลีย

กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง

เผยเหตุถอนคดี-เจรจาบาห์เรน

อย่างไรก็ตาม กว่าจะมาถึงจุดนี้ ก็มีเรื่องราวกดดันมากมายที่เป็นเงื่อนไขให้เรื่องราวจบลงด้วยดี โดยดูได้จากคำร้องขอถอนฟ้องของอัยการ ที่ระบุว่า หลังจากที่ยื่นฟ้องนายฮาคีมแล้วเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งศาลกำหนดให้จำเลยยื่นคำคัดค้านภายในวันที่ 5 เมษายน และนัดตรวจหลักฐานในวันที่ 22 เมษายน

แต่ต่อมาปรากฏข้อเท็จจริงว่าคดีเป็นที่สนใจของประเทศต่างๆ รวมทั้งองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในวงกว้าง ประกอบกับเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ อัยการสูงสุดได้รับหนังสือจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มกราคม แจ้งว่ากระทรวงการต่างประเทศได้รับหนังสือจาก รมว.มหาดไทย ประเทศออสเตรเลีย เกี่ยวกับนายฮาคีม และขอให้ทางการไทยพิจารณาเรื่องการขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนอีกครั้ง

ซึ่งอัยการสูงสุดก็มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ขอให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และประเด็นอื่นๆ ที่อาจจะเป็นเหตุผลที่จะไม่ดำเนินการให้ตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551 มาตรา 17

กระทั่งกระทรวงการต่างประเทศมีหนังสือแจ้งเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ว่า กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าการดำเนินคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนดังกล่าวมีผลกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความสัมพันธ์ระดับประชาชนต่อประชาชน

จึงเห็นว่ามีเหตุผลที่จะไม่ดำเนินการต่อไป จึงขอให้อัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลาง พิจารณาถอนฟ้องคดีนี้ตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดนฯ มาตรา 17 นอกจากนี้ยังแจ้งว่า ทางการบาห์เรนตัดสินใจขอยกเลิก หรือขอถอนคำร้องขอตัวนายฮาคีมเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจากไทย

อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับจำเลยต่อไปไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัย หรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ จึงมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องต่ออัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้อง

แต่เมื่อยื่นฟ้องไปแล้ว อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งให้ถอนฟ้อง เมื่อศาลอนุญาต ก็ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ พร้อมออกหมายปล่อยจำเลย

โดยก่อนหน้านี้นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ เดินทางไปเข้าเฝ้าเจ้าชายซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งบาห์เรน เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พร้อมเปิดเผยว่า บาห์เรนเข้าใจดี ไม่อยากเห็นประเทศไทยถูกวิจารณ์ ถูกกดดันอย่างไม่ชอบธรรม และไม่อยากให้เรื่องนี้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองเล่นงานรัฐบาล

จึงระบุว่า หากไทยอยากส่งนายฮาคีมให้ออสเตรเลียก็ได้ แต่บาห์เรนขอสงวนสิทธิ์เรื่องคดีของนายฮาคีมกับออสเตรเลียต่อ

เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้แรงกดดัน

ย้อนไทม์ไลน์ฮันนีมูนระทึก

สําหรับกรณีนายฮาคีมนั้น หากไล่เรียงเรื่องราวที่เกิดขึ้น พบว่าชนวนเหตุเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 เมื่อนายฮาคีมถูกทางการบาห์เรนควบคุมตัว และทรมาน หลังจากวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ซ้อมทรมานนักฟุตบอลที่ร่วมชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล

ต่อมาปี 2557 เกิดเหตุเผาสถานีตำรวจ นายฮาคีมถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร่วมลงมือ ทั้งที่ขณะเกิดเหตุ เขาไปแข่งขันฟุตบอล มีภาพจากการถ่ายทอดสดเป็นหลักฐาน แต่ก็ถูกศาลบาห์เรนสั่งจำคุก 10 ปี ในความผิดลอบวางเพลิง ชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมายมากกว่า 5 คน ครอบครองวัตถุไวไฟ และทำรถยนต์ผู้อื่นเสียหาย

ต่อมานายฮาคีมหลบหนีออกจากบาห์เรนไปยังประเทศออสเตรเลีย พร้อมยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยจากประเทศออสเตรเลีย จากนั้นเมื่อปี 2560 นายฮาคีมได้รับสถานะผู้ลี้ภัย และเล่นฟุตบอลอาชีพที่สโมสรฟุตบอลพาสโคเวลเอฟซี เมลเบิร์น

จากนั้นวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 นายฮาคีมพร้อมภรรยาเดินทางมาฮันนีมูนในประเทศไทย แต่ถูกตำรวจ ตม.จับกุมตามหมายจับของอินเตอร์โพล ก่อนถูกนำตัวไปควบคุมที่ศูนย์กักตัวคนต่างด้าว ซอยสวนพลู

วันที่ 3 ธันวาคม 2561 อินเตอร์โพลถอนหมายจับนายฮาคีม ขณะที่ศาลสั่งฝากขังเป็นเวลา 12 วัน

วันที่ 11 ธันวาคม 2561 อัยการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอขังนายฮาคีมชั่วคราว 60 วันระหว่างรอคำร้องจากบาห์เรนขอตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน

18 มกราคม 2562 บาห์เรนส่งหนังสือพร้อมหลักฐานถึงอัยการสูงสุดขอตัวฮาคีมกลับไปรับโทษที่บาห์เรน

29 มกราคม 2562 นายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกฯ ออสเตรเลีย ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. เรียกร้องให้ปล่อยตัวและส่งนายฮาคีมกลับออสเตรเลีย โดยยืนยันสถานะผู้ลี้ภัยของนายฮาคีม และระบุว่านายฮาคีมคือพลเมืองออสเตรเลีย

ขณะที่คณะกรมการโอลิมปิกสากลยื่นหนังสือให้รัฐบาลไทยหาทางช่วยเหลือตามหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม

จนกระทั่งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 อัยการยื่นฟ้องศาลอาญาให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ประชาชนออสเตรเลียชุมนุมที่นครซิดนีย์และเมลเบิร์น เช่นเดียวกับกระแสในโลกออนไลน์ที่ติดแฮชแท็ก #savehakeem และ #boycottthailand

จนกระทั่ง 11 กุมภาพันธ์ 2562 อัยการยื่นถอนคำร้อง และวันที่ 12 กุมภาพันธ์ นายฮาคีมเดินทางถึงเมลเบิร์น

พร้อมขอบคุณปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้น