พระธาตุอินทร์แขวน กับผีนัต : ร่องรอยศาสนาผีที่มีผู้หญิงเป็นใหญ่ในพม่า

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

นัต คือผีที่ตายร้าย ตายโหง แล้วกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามศาสนาพื้นเมืองดั้งเดิมของพม่า

แต่นิยามของคำว่าศาสนาในยุคสมัยใหม่ (modernity) ทำให้ในปัจจุบันชาวพม่าถือว่า “ผีนัต” ไม่ใช่ “ศาสนา”

แน่นอนว่าเป็นเพราะระบบความเชื่อเรื่องผีนัต ไม่มีทั้งศาสดา หรือนักบวชที่แน่นอน คัมภีร์ที่เปรียบได้กับไบเบิลของผู้นับถือผีนัต หรือแม้กระทั่งสาวกที่ประกาศตนชัดเจนว่าไม่นับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาอื่นควบคู่ไปพร้อมกันด้วยซ้ำ

แต่ในความเป็นจริงผีนัต ก็นับเป็นระบบความเชื่อหนึ่งที่ซับซ้อน มีพิธีกรรมการปฏิบัติและการดูแลตั้งแต่ระดับของครัวเรือนไปจนถึงที่สาธารณะของชาวพม่า เช่นเดียวกับศาสนาพุทธ ซ้ำยังมีร่องรอยความขัดแย้งกันระหว่างทั้งสองความเชื่อนี้ เพราะในขณะที่พุทธศาสนายอมรับการมีอยู่ของภูตผีปีศาจ ดังจะเห็นได้จากเรื่องเล่าในทำนองที่เป็นนิทานชาดก หรือพุทธประวัติจำนวนมาก

ดังนั้น จึงสามารถพบรูปเคารพของผีนัตตนต่างๆ อยู่ในวัด หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธศาสนาในพม่าได้เป็นเรื่องปกติ ทั้งๆ ที่ในขณะเดียวกันก็มีหลักฐานถึงการปฏิเสธอำนาจของผีนัต จากผู้ที่นับถือพุทธศาสนาในพม่าด้วย

 

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2504-2505 นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันท่านหนึ่งคือ เมล์ฟอร์ด สไปโร (Melford Spiro, พ.ศ.2463-2558) ได้ทำการวิจัยความเชื่อเรื่องเกี่ยวกับ “ผีนัต” โดยมีพื้นที่สำรวจเป็นชุมชนชนบทที่ห่างออกไปทางตอนเหนือราว 10 ไมล์จากเมืองมัณฑะเลย์

ผลจากการสำรวจภาคสนามของสไปโรในครั้งนั้น พบสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า ในชุมชนแห่งนั้นมี “ผู้ชาย” เกือบครึ่งหนึ่งที่ไม่เชื่อใน “ผีนัต” ในขณะที่ “ผู้หญิง” ทั้งชุมชนเชื่ออย่างเอาเป็นเอาตาย โดยทั้งชายและหญิงต่างก็ยอมรับว่า ผู้หญิงจะเกี่ยวข้องกับการนับถือผีนัตมากกว่า กลัวมากกว่า และประกอบพิธีกรรมมากกว่าผู้ชาย

ผู้หญิงมักจะเป็นผู้ดูแลผีนัตประจำหมู่บ้าน และมีผู้หญิงทั้งหมู่บ้านมาร่วมประกอบพิธีกรรม คนทรงก็เป็นผู้หญิงเกือบทั้งหมด

ผู้หญิงมักมาบนบานต่อผีนัตในขณะที่ผู้ชายมักจะไม่เชื่อ

ในพิธีฉลองผีนัตทุกบ้านจะเอาของมาถวายหรือเซ่นผีนัต ทั้งที่สืบสายมาทางแม่และทางพ่อ แต่ถ้าหากพ่อแม่นับถือผีนัตคนละตนกันก็มักจะเลือกสืบสายทางแม่มากกว่า

ผู้หญิงมีหน้าที่ต้องจัดหาอาหารมาถวายผี ส่วนผู้ชายจะเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธเต็มตัวอย่างเห็นได้ชัด แถมมักจะเลิกนับถือผีนัตไปเลยกันอยู่บ่อยๆ ลักษณะอย่างนี้ของชุมชนดังกล่าว ยังสามารถเป็นภาพแสดงแทนของชุมชนชาวพม่าได้เกือบทั้งประเทศ เพราะชุมชนไหนๆ ในประเทศพม่าก็มักจะเป็นอย่างนี้นั่นเอง

สำหรับกรณีของพม่าแล้ว “ผีนัต” จึงคล้ายกับเป็นศาสนาของ “ผู้หญิง” ในขณะที่ “พุทธ” เป็นศาสนาของ “ผู้ชาย” พุทธศาสนาถูกมองว่ามีอำนาจเหนือกว่า “พระสงฆ์” (ซึ่งต้องเป็นผู้ชายแน่) ได้รับการเคารพยกย่อง ในทางตรงกันข้าม “คนทรง” (ซึ่งมักจะเป็นผู้หญิง) ก็จะมักจะโดนดูถูก และวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอ

แต่ลักษณะอย่างนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงที่สไปโรทำการสำรวจหรอกนะครับ เพราะหากย้อนกลับไปดูตำนานของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์บางแห่ง เช่น พระธาตุอินทร์แขวน หรือที่พม่าเรียก ไจก์ทีโย (แปลตรงตัวว่า พระเจดีย์ฉัตร) เราก็จะเห็นได้ถึงอะไรในทำนองเดียวกันนี้ได้อย่างค่อนข้างจะชัดเจน

 

นิทานเกี่ยวกับพระธาตุอินทร์แขวน ในประเทศพม่า มีเรื่องเล่าค่อนข้างยืดยาวและซับซ้อน แต่พอจะสรุปความได้ว่า เมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว มีวิทยาธร (พม่าเรียก ซอว์จี) ตนหนึ่งเป็นลูกศิษย์ของฤๅษีอาคมกล้าที่อาศัยอยู่ในป่าลึก วิทยาธรตนนี้พบรักกับนางนาคตนหนึ่ง จนมีลูกด้วยกันหนึ่งคน (น่าแปลกที่ทำไมไม่เป็นหนึ่งตน?) ฤๅษีช่วยเลี้ยงลูกของคู่รักคู่นี้จนเติบใหญ่เป็นเจ้าผู้ครองเมืองชื่อ พระเจ้าติสสะ

อยู่มาวันหนึ่งฤๅษีรู้ตนว่าถึงแก่กาลละสังขาร จึงมอบพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าที่ประทานแก่ฤๅษีไว้ เมื่อคราวที่พระพุทธองค์โปรดสัตว์ในถ้ำพระฤๅษี พระฤๅษีซ่อนพระเกศาธาตุไว้ในมุ่นมวยผมของตนเองเป็นเวลานาน แต่ฤๅษีมีข้อแม้ว่า พระเจ้าติสสะจะต้องหาก้อนหินที่มีรูปร่างคล้ายศีรษะของพระฤๅษี แล้วสร้างพระเจดีย์ครอบทับพระเกศาธาตุอยู่บนหินก้อนนั้น จึงจะยอมยกพระเกศาธาตุให้

พระอินทร์จึงได้ตามมาช่วยพระเจ้าติสสะหาก้อนหินมาจากพื้นมหาสมุทร (นิทานย่อมมีหลายสำนวนนะครับ บางสำนวนเล่าว่า ผีนัตต่างหากที่มาช่วยพระเจ้าติสสะหาหินก้อนนี้จนเจอ) จากนั้นก็เอามา “แขวน” ไว้บนหน้าผา โดยในขณะที่กำลังก่อสร้างเจดีย์อยู่นั้น พระเจ้าติสสะได้พบรักกับธิดาสาวของหัวหน้าชาวกะเหรี่ยงที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนั้น เธอชื่อ “ชเวนันจิน”

ต่อมาเธอตั้งครรภ์แล้วป่วยกระเสาะกระแสะ เชื่อกันว่าเธอป่วยเพราะไม่ได้ไหว้ผีบรรพบุรุษก่อนแต่งงาน พระเจ้าติสสะจึงตรัสอนุญาตให้เธอกลับไปประกอบพิธี โดยมีพ่อและพี่ชายเดินทางไปเป็นเพื่อน ระหว่างทางกลางป่าเขา นัตตนหนึ่งแปลงเป็นเสือร้ายกระโดดเข้าขวางทาง พ่อและพี่ชายหนีเตลิดหายไปหมด เหลือแต่เธอที่ท้องแก่วิ่งหนีไม่ไหว ได้แต่นั่งทำสมาธิสวดมนต์ภาวนา ตาจ้องไปที่พระธาตุอินทร์แขวนที่พระสวามีสร้าง สุดท้ายเสือร้ายจึงจากไปโดยไม่ทำร้ายเธอเลย

ชเวนันจินกระเสือกกระสนปีนขึ้นไปจนถึงฐานของพระธาตุอินทร์แขวน ตั้งจิตอธิษฐานขอให้ได้อยู่ใกล้พระธาตุตลอดไป จากนั้นเธอก็สิ้นลมลงอย่างสงบ พระเจ้าติสสะเมื่อติดตามมาถึงร่างเธอก็ได้กลายเป็น “หิน” ไปเสียแล้ว และนับจากบัดนั้นมา วิญญาณของชเวนันจินก็ได้กลายเป็น “นัต” ผู้พิทักษ์พระธาตุอินทร์แขวนไปในที่สุด

 

แน่นอนว่าหากคิดตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว คงไม่มีพระอินทร์ที่ไหนมาแขวนหินไว้บนหน้าผาแห่งนี้ ยิ่งคงจะไม่มีกษัตริย์ที่เกิดขึ้นมาจากพ่อแม่ที่เป็นวิทยาธรกับนางนาค หรือคนที่ตายลงแล้วกลายเป็นซากฟอสซิลได้ในทันที

แต่นี่ก็ไม่ใช่นิทานที่เหลวไหลไร้สาระโดยสิ้นเชิงเสียทีเดียว ถ้าคิดถึงร่องรอยที่แฝงอยู่ในนิทานเรื่องนี้ว่า พื้นที่บริเวณโดยรอบของพระธาตุอินทร์แขวน เป็นพื้นที่ของกะเหรี่ยงมาแต่เดิม และชาวกะเหรี่ยงแต่เดิมก็ไม่นับถือในพุทธศาสนา (ยิ่งไม่ต้องพูดถึงในสมัยที่สร้างพระธาตุอินทร์แขวน) แต่นับถือศาสนาผีดั้งเดิมของอุษาคเนย์ ที่มีร่องรอยของการนับถือหินก้อนใหญ่ หรือจัดการกับหินให้เกิดเป็นรูปทรงต่างๆ ซึ่งมีศัพท์วิชาการเรียกว่า “megalithic culture”

แถมชเวนันจินเอง เมื่อสิ้นชีวิตลง ก็ไม่ได้กลายเป็น “ผีนัต” เพียงอย่างเดียวเสียหน่อย เพราะตำนานก็บอกเอาไว้เองว่า เมื่อตายไปร่างของเธอก็ได้กลายเป็น “หิน” ในทันที นี่จึงเป็นร่องรอยของการนับถือหินในศาสนาพื้นเมือง นอกเหนือไปจากองค์พระธาตุอินทร์แขวน

การเข้ามาของพระเจ้าติสสะ พร้อมวัฒนธรรมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนา อย่างพระเกศาธาตุ ได้จับบวชเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีของพวกกะเหรี่ยงอย่าง “หิน” ที่นัตเอามาแขวนก้อนนี้ กลายเป็น “เจดีย์” ที่พระอินทร์เอาหินมาแขวนไว้เป็นฐาน

ดังนั้น ถึงแม้ว่าพระพุทธศาสนาจะศักดิ์สิทธิ์จนพอที่จะมีอำนาจเหนือกว่าศาสนาผีดั้งเดิม แถมยังสามารถนำผีนัตมากลายเป็นผู้พิทักษ์พระศาสนาของตนเองได้ แต่ก็ศักดิ์สิทธิ์ไม่พอที่จะทำให้ผีพวกนี้ล้มหายตายจากไปเสียทีเดียวหรอกนะครับ เพราะอย่างน้อยที่สุด ชเวนันจินเธอก็เฮี้ยนพอที่จะเป็นผีผู้พิทักษ์พระธาตุสำคัญ อย่างพระธาตุอินทร์แขวนเลยก็แล้วกัน

“ผีนัต” จึงเป็นร่องรอยสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เห็นถึงสถานภาพที่เป็นใหญ่ของ “ผู้หญิง” ในศาสนาดั้งเดิมของพม่า ที่มีอยู่ก่อนที่จะรับเอาพุทธศาสนาเข้ามานั่นเอง