เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์ /Green Book สมุดปกเขียวของโลกคนดำ

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

Green Book สมุดปกเขียวของโลกคนดำ

 

เครื่องเคียงฯ ฉบับนี้ ขอแวะไปที่จอเงินสักหน่อยนะครับ เพราะเพิ่งได้ไปชมภาพยนตร์เรื่อง Green Book มา ซึ่งมีเรื่องที่อยากจะพูดถึงไม่น้อย

หะแรกที่ได้ดูหนังตัวอย่างเรื่องนี้ ก็รู้ละว่าเป็นเรื่องแนว Road Movie ที่ย้อนไปในประวัติศาสตร์อเมริกายุคกลางศตวรรษที่ 20 และเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของคนต่างผิว 2 คน

แต่เมื่อได้รู้ผลจากงานประกาศลูกโลกทองคำประจำปีนี้ว่า Green Book สามารถคว้ามาได้ถึง 3 รางวัล คือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประเภทตลกหรือมิวสิคัล, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม คือ มาเฮอร์ชาลา อาลี ก็ยิ่งรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ต้องไม่ธรรมดา

เมื่อได้ชมแล้วก็รู้สึกได้ว่า Green Book เป็นหนังแนว Feel Good ที่มีเสน่ห์ผสมความเจ็บปวดลึกๆ ไม่น้อย

 

หากจะพูดถึงภาพยนตร์ที่นำประเด็นเรื่องของการเหยียดผิวมาเป็นแกนหลัก ก็มีออกมาให้เห็นอยู่บ่อยๆ และสำหรับประเด็นนี้ใน Green Book ก็ถูกขับออกมาให้เด่นชัดมากขึ้น แต่คราวนี้ไม่เพียงแต่ “คนดำ” เท่านั้นที่ถูกกระทำและเจ็บปวด หาก “คนขาว” ในเรื่องก็ถูกกระทำและเจ็บปวดไม่น้อยกว่ากันนัก

เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากเรื่องจริงของนายแพทย์ผิวดำที่มีความอัจฉริยะในฝีมือการเล่นเปียโน ชื่อว่า ดร.ดอน เชอร์ลีย์ รับบทโดย “มาเฮอร์ชาลา อาลี” ที่เคยได้รางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบชายมาแล้วจากเรื่อง Moonlight มาเรื่องนี้เขาเป็นนักเปียโนอาชีพที่ประสงค์จะเดินสายไปแสดงในเมืองใหญ่ต่างๆ ของมลรัฐทางภาคใต้

หากใครได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของอเมริกาคงทราบดีว่า เรื่องการเหยียดผิวนั้นรุนแรงอย่างมากทางดินแดนทางใต้ แล้วทำไม ดร.เชอร์ลีย์ถึงได้ตัดสินใจลงไปแสดงดนตรีทางแถบนั้น ในหนังจะมีคำตอบให้นะครับ ไม่อยากบอกก่อน

แล้ว Green Book ล่ะคืออะไร?

 

Green Book คือหนังสือคู่มือสำหรับการเดินทางทางรถยนต์ของคนผิวสี ที่จะให้ข้อมูลของที่พัก ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน ว่าที่ใดบ้างที่ให้บริการคนผิวสี นี่เป็นเครื่องแสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำ แบ่งแยกชนชั้น และความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่จริงบนดินแดนที่ป่าวร้องถึงเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคอยู่เสมอ

เป็นความน่าขำบนความเจ็บปวดโดยแท้ แม้ในปัจจุบันนี้ก็เถอะ

น่าแปลกใจไหมที่เหล่าคนชั้นสูงผิวขาวที่มีความรู้สึกต่อการเหยียดผิว ยินดีเสียเงินซื้อบัตรเพื่อมาชมการแสดงดนตรีจากนักเปียโนผิวดำที่พวกเขาตั้งแง่ เพียงเพราะเป็นการตอกย้ำความเป็นคนชั้นสูง มีรสนิยม เป็นการใช้ประโยชน์จากคนผิวดำเพื่อหนุนภาพลักษณ์ของตนเอง

และความขมขื่นก็เกิดขึ้นกับความรู้สึกแบบ “หน้าไหว้หลังหลอก” เป็นระยะ อย่างการที่พวกเหล่าคนขาวต่างปรบมือให้เกียรติกับการแสดงอันยอดเยี่ยมของ ดร.เชอร์ลีย์ แต่พอเขาลงจากเวทีมาเพื่อจะเข้าห้องน้ำ ก็ถูกกีดกันไม่ให้ใช้ห้องน้ำร่วมกับคนขาว แต่ให้ไปใช้ห้องน้ำโทรมๆ ที่ตั้งอยู่ภายนอกอาคารแทน

นี่คือการหน้าไหว้หลังหลอกชนิดโต้งๆ ที่เกิดขึ้นจริง

หรือตอนที่ต้องไปแสดงที่สถานที่หรูหราแห่งหนึ่ง ผู้จัดการก็ได้จัดให้ ดร.เชอร์ลีย์พักเตรียมตัวในห้องเก็บของที่ซ่อนอยู่ในห้องครัว ในขณะที่เพื่อนร่วมวงอีก 2 คนที่เป็นคนผิวขาวได้รับการต้อนรับอย่างดี แม้แต่เขาจะกินอาหารในห้องอาหารของสถานที่ก็ไม่ได้

 

เรื่องทำนองนี้ได้เห็นจากภาพยนตร์ก่อนหน้านี้ชื่อเรื่อง Race  ตัวเอกเป็นนักกีฬาผิวดำ ชื่อ Jesse  Owens ซึ่งเป็นฮีโร่ในกีฬาโอลิมปิกปี 1936 ในฐานะนักวิ่งที่ทำลายสถิติมากมาย และได้ตบหน้าอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ แต่เขากลับโดนเหยียดเสียเอง เมื่อกลับมาอเมริกาแล้วได้มายังงานเลี้ยงต้อนรับแสดงความยินดีที่โรงแรมหรูแห่งหนึ่ง เขาซึ่งเป็นพระเอกของงานก็ไม่สามารถเดินอย่างสง่าผ่าเผยเข้าทางประตูหลักของโรงแรมได้ แต่ต้องเลี่ยงไปเข้าทางห้องครัวแทน

หรือในภาพยนตร์เรื่อง Hidden Figures ตัวละครเอกที่เป็นผู้หญิงผิวดำในองค์กรนาซ่า เธอมีทักษะในเชิงคำนวณและฟิสิกส์ปราดเปรื่องกว่าเพื่อนร่วมงานชายที่เป็นคนผิวขาว เธอจึงโดนสองเด้งคือ ทั้งเป็นผู้หญิงในสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ และเป็นคนผิวดำท่ามกลางการเหยียดผิวของสังคมคนขาว

เมื่อเธอต้องใช้ห้องน้ำ เธอต้องวิ่งข้ามไปอีกตึกหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปเพื่อปลดทุกข์ เธอต้องทำอย่างนี้ทุกวันบนความขมขื่นใจที่เก็บกดไว้

ความสัมพันธ์ที่ดำเนินไปบนความขัดแย้งของตัวละครหลัก 2 คนคือ ดร.ดอน เชอร์ลีย์ ที่ว่าไปแล้ว กับคนขับรถผิวขาวที่ชื่อโทนี่ ลิป แสดงโดย “วิโก เมอร์เทนเซน” เป็นตามสูตรของหนังแนวนี้คือ ทั้งสองต้องมีบุคลิกอุปนิสัยแตกต่างกัน มีความคิดที่มาจากประสบการณ์ชีวิตคนละด้าน ซึ่งความน่าสนใจของเรื่องนี้คือ คนดำที่มักจะเป็นคนต่ำต้อยกว่า กลับเป็นคนมีการศึกษาดี มีความสามารถทางดนตรีระดับสูง อยู่ในสังคมที่ถูกเปรียบเปรยว่า “บนหอคอยงาช้าง” มีท่วงท่าบุคลิกที่เย่อหยิ่ง เงียบขรึม

ในขณะที่โทนี่เป็นคนขาวที่มาจากสังคมที่ต่ำต้อย ไม่มีความรู้ ทำงานใช้แรงงานมากกว่าสมอง ไม่มีมารยาท มุทะลุ ใช้อารมณ์มากกว่าสติ และติดดินมากๆ

ชอบการปะทะทางคำพูดที่มาจากอารมณ์ที่คุกรุ่นของสองคนในตอนท้ายๆ เรื่อง ที่ท้ายสุด ดร.เชอร์ลีย์ระเบิดคำพูดออกมาด้วยความรู้สึกเก็บกดว่า ตัวเองเหมือนเป็นคนดำที่ไม่ดำพอ จะเป็นคนขาวก็ไม่ขาวพอ จะเป็นผู้ชายก็ยังไม่เพียงพอ แล้วตกลงตัวเขาจะเป็นอะไรกันแน่

สะท้อนให้เห็นถึงความสับสน เปลี่ยวเหงา เดียวดาย อ้างว้าง ของชายผิวดำที่ดูภายนอกเหมือนจะสมบูรณ์แบบอย่างเขา แต่ภายในนั้นกลับขาดแคลนตัวตนบางอย่าง ในขณะที่โทนี่ที่ดูไม่เอาไหน ไม่สนใจจิตใจใคร กลับได้เรียนรู้ถึงการแคร์ความรู้สึกคนอื่น การต่อสู้เพื่อสิทธิของคนดำแทนด้วยการอัดคนขาวที่จาบจ้วง และท้ายที่สุดคงคาดเดาได้ว่า จากคนขาวที่ถูกปูไว้แต่ตอนต้นเรื่องว่าก็รังเกียจคนดำเหมือนกัน กลับเปลี่ยนใจมายอมรับคนดำเข้าไปในหัวใจได้ในที่สุด

เพราะลึกๆ แล้ว เขาก็เป็นคนที่ถูกเหยียดจากการมีเชื้อสายอิตาเลียนมาเจือปนเช่นกัน

 

หนังให้ความหวังถึงการยอมรับในความแตกต่าง ความเท่าเทียมกันในหัวใจของแต่ละคน ก่อนจะเบ่งบานไปสู่สังคม ซึ่งในเมืองไทยแล้ว เรายังคงเห็นถึงการแบ่งชนชั้น การย่ำยีความเป็นมนุษย์ในหลายๆ เรื่องอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ที่ร่ำๆ จะมีการเลือกตั้งในไม่ช้า ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยได้แค่ไหน หากผู้นำที่ได้มายังไม่เรียนรู้ถึงความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง และย่ำยีต่อสิทธิ์ในความเป็น “เจ้าของประเทศ” เช่นกันของประชาชนทุกคน ด้วยการเอารัดเอาเปรียบ ฉ้อโกง เอาผลประโยชน์เข้าตัวและพวกพ้อง

ต่อให้หนังสือจะกี่ปกกี่สี ก็ดูจะช่วยอะไรไม่ได้

ขออย่างเดียว อย่าให้ถึงกับต้องเป็น “สีเลือด” กันเลย พี่น้องไทยเอ๋ย