อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ชีวิตาในโลกใหม่ (5) เทศะแห่งอาณานิคมและกาละของผู้ปกครอง

ประวัติศาสตร์ของเพศหญิงในโลกใหม่นั้นดำเนินไปอย่างเชื่องช้าและอยู่ภายใต้ข้อจำกัดจำนวนมาก

แม้ว่า คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส จะเดินทางมาถึงดินแดนแถบนั้นนับแต่ปี 1492 แต่ในการเดินเรือแสวงหาดินแดนใหม่เที่ยวแรกของเขานั้นไม่มีอิสตรีเลย

จนการเดินทางครั้งที่สามในช่วงปี 1497-1498 นั่นเองที่มีเพศหญิงติดตามมาด้วยสามสิบนาง

และหลังจากครั้งนั้นเองที่สตรีเพศเริ่มต้นการมีบทบาทสำคัญต่อโลกใหม่

 

นอกเหนือจาก คาทาลิน่า เด เอราโส่ ที่มีบทบาทจนถึงเป็นนายทหาร (แต่นั่นภายใต้รูปลักษณ์ที่ซ่อนเร้นของเพศชาย)

อิสตรีอีกสองนางที่มีบทบาทในการทำศึกสงครามกับเจ้าของดินแดนเดิมในโลกใหม่คือ โดน่า อิสซาเบล เด กูวาร่า-Dona Isabel de Guevara (นามสกุลที่ว่าภายหลังพ้องเคียงกับนามสกุลของ เช กูวาร่า ผู้เป็นนักรบแห่งการปลดปล่อยในอีกสี่ร้อยปีต่อมาอย่างน่าพิศวง) แห่งดินแดนปารากวัย และ ยิเนซ ซัวเรซ-Ines Suarez แห่งชิลี

อิสซาเบล เด กูวาร่า เดินทางไปสู่โลกใหม่ในปี 1534 ภายใต้การนำของ เปโดร เมนโดซ่า มีอิสตรีร่วมขบวนไปด้วยยี่สิบนาง

ทว่า การเดินทางครั้งนั้นกลับเป็นการเดินทางที่เลวร้ายครั้งหนึ่งของผู้บุกรุกชาวสเปน

หลังขึ้นสู่แผ่นดินใหญ่ที่ ริโอ เด ลา พลาต้า ซึ่งเป็นดินแดนอาร์เจนตินาในปัจจุบันได้ไม่นาน พวกเขาต้องเผชิญทั้งโรคระบาด ความขาดแคลนด้านอาหาร

ว่ากันว่ามีผู้คนที่ล้มตายในเหตุการณ์ทุพภิกขภัยครั้งนั้นนับหมื่นคน

%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b8%b8%e0%b8%aa%e0%b8%a3%e0%b8%93%e0%b9%8c-1

เพื่อเอาชนะภัยพิบัติครั้งนั้น อิสซาเบล เด กูวาร่า ตัดสิ
นใจไปตายดาบหน้า เธอพร้อมด้วยทหารสี่ร้อยนายออกเดินเท้ามุ่งหน้าไปยังป้อมคอร์ปุส คริสติ ในบัวโนสไอเรส

ระหว่างทาง กองทหารเหล่านั้นซึ่งไม่อาจทนทานความหิวโหยได้ล้มป่วยและตายจากไปอีกกว่าครึ่ง

เมื่อถึงป้อม ผู้หญิงที่เหลืออยู่จึงต้องทำหน้าที่ไม่ต่างจากผู้ชาย ทั้งการหุงหาอาหาร ปฐมพยาบาล เพาะปลูก และทำหน้าที่ยามรักษาป้อมด้วย

แต่อีกไม่กี่ปีต่อมา พวกอินเดียนโจมตีป้อมนั้นอีกครั้ง อิสซาเบล เด กูวาร่า ต้องนำกองทหารและผู้คนที่เหลืออยู่เดินเท้ากว่าแปดร้อยไมล์ไปยังปารากวัย

ที่นั่นเธอเริ่มต้นสร้างดินแดนใหม่ และเมื่อถึงปี 1556 ยี่สิบสองปีหลังการเดินทางมาสู่โลกใหม่ อิสซาเบลตัดสินใจเขียนจดหมายถึงพระนางจูอาน่า-Juana ราชินีแห่งสเปน เพื่อทูลขออภิสิทธิ์เหนือดินแดนใหม่นี้พร้อมทั้งอำนาจบังคับบัญชาเหล่าทาสชาวอินเดียนและเธอได้รับสิทธิ์นั้นตามที่ร้องขอ

อย่างไรก็ตาม สภาพของอิสซาเบลตอนนั้นไม่ต่างจากซากศพที่ไร้วิญญาณ เธอบรรยายข้อความในจดหมายว่า

“ข้าพเจ้าได้กลายเป็นหญิงที่มีผิวหนังเหี่ยวย่น ฟันและริมฝีปากกลายเป็นสีดำ ร่างกายของข้าพเจ้าคล้ายดังภูตผีที่เดินออกจากหลุมฝังศพ”

 

ความสัมพันธ์ระหว่าง อิสซาเบล เด กูวาร่า กับดินแดนปารากวัยอาจเป็นไปอย่างไม่โลดโผน หากแต่สำหรับสตรีอีกนางคือ ยิเนส ซัวเรซ ความสัมพันธ์ของเธอกับดินแดนที่กลายเป็นประเทศชิลียามนี้กลับลึกซึ้งยิ่งนัก

ยิเนส ซัวเรซ ออกเดินทางจากสเปนในปี 1537 หลังการเดินทางของอิสซาเบลเป็นเวลาสามปี เธอมาจาก เอ็กซ์เตรมาดูร่า-Extremadura ดินแดนที่เป็นถิ่นกำเนิดของเหล่านักรบหรือพวกคอนควิสตาดอร์-Conquistador เธอมีอายุถึงสามสิบปีแล้ว และเมื่อขึ้นฝั่งที่ลิม่า ดินแดนเปรูในปัจจุบัน เธอก็มีอายุถึงสามสิบเอ็ดปี

แตกต่างจาก อิสซาเบล เด กูวาร่า ที่ฝ่ายแรกนั้นออกเดินทางเพื่อแสวงโชค ยิเนส ซัวเรซ เดินทางมุ่งหน้าสู่โลกใหม่เพื่อตามหาผู้เป็นสามีของเธอ-ฮวน เด มาลาก้า ที่เดินทางมายังดินแดนแห่งนี้เมื่อหลายปีก่อน

ทว่า เมื่อเธอเดินทางถึงโลกใหม่ ข่าวร้ายก็ปรากฏแก่เธอ

ภายหลังการค้นหาไปตามเมืองต่างๆ จนปรากฏแน่ชัดว่าข่าวคราวสุดท้ายของผู้เป็นสามีอยู่ที่ลิม่า ยิเนสมุ่งหน้าไปยังดินแดนแห่งนั้น แต่เมื่อถึงลิม่า เมืองสำคัญ เธอได้พบว่าสามีของเธอได้เสียชีวิตไปนานแล้ว

ยิเนส ซัวเรซ จึงถูกต้อนรับด้วยโลกใหม่ในสถานภาพของหญิงม่ายที่ไม่มีหลักประกันอันใดเลยนอกจากที่ดินผืนเล็กในแถบกุสโก้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเปรู

 

ไม่มีทางเลือก ยิเนส ซัวเรซ ตัดสินใจเป็นภรรยาน้อยของนักรบผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้นคือ เปโดร ดิ วัลดิเวีย-Pedro Di Valdivia

ตัวเปโดรนั้นเป็นนักรบคู่ใจของ ฟรานซิสโก้ ปิซาร์โร ผู้พิชิตอาณาจักรอินคา-Inca อาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดในดินแดนแถบนี้ก่อนการมาถึงของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส

หลังการสังหารจักรพรรดิอตาฮวลปาแห่งอินคา ปิซาร์โรส่ง เปโดร ดิ วัลดิเวีย ไปสำรวจดินแดนใหม่รอบๆ เขาเดินทางมาถึงที่ที่เป็นประเทศชิลีในปัจจุบันในปี 1540 และทำศึกครั้งใหญ่กับพวกอินเดียนที่นั่นและได้รับชัยชนะอย่างงดงาม เปโดร ดิ อัลดิเวีย ประกาศชัยชนะด้วยการตั้งเมืองซานเตียโก้เป็นเมืองสำคัญและคงความเป็นเมืองหลวงของประเทศชิลีมาจนถึงทุกวันนี้

เปโดร ดิ อัลดิเวีย มีบ้านเกิดอยู่ที่เอ็กซ์เตรมาดูร่า ดินแดนเดียวกับ ยิเนส ซัวเรส ดังนั้น พวกเขาจึงผูกสมัครรักใคร่กันอย่างรวดเร็ว

ภายหลังจากที่เปโดรกลับจาการทำศึกย่อยในปี 1538 ยิเนสผู้ไร้ซึ่งครอบครัวในยามนั้นก็ตกล่องปล่องชิ้นเป็นภรรยาอีกคนของเขา

 

บทบาทสำคัญของยิเนส เริ่มต้นนับจากวันนั้น เปโดร ดิ วัลดิเวีย ต้องออกเดินทางลงใต้ไปสำรวจดินแดนใหม่

นอกจากกองทหารที่ไว้ใจได้แล้ว เขาร้องขอต่อผู้บังคับบัญชาของเขาว่าจะนำ ยิเนส ซัวเรซ ติดตามไปด้วย

คำขอได้รับการอนุมัติ แต่เพื่อไม่ให้ขัดต่อหลักศาสนาและหลักศาสนจักรที่เพิ่งตั้งมั่นลงในดินแดนแห่งนี้ที่ถือการครองครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียวเป็นสำคัญ เธอจะปรากฏนามในฐานะของคนรับใช้ ไม่ใช่ภรรยาของเขา

เปโดรใช้เวลาสิบเอ็ดเดือนหลังจากการออกเดินทางมุ่งหน้าลงใต้มาจนถึงแม่น้ำมาโปโก้-Mapocho

ระหว่างทาง ยิเนสนั้นต้องทำหน้าที่ทั้งหาน้ำ ควบคุมการหุงหาอาหารและปฐมพยาบาลทหารที่บาดเจ็บ เมื่อถึงแม่น้ำมาโปโก้ เปโดร ดิ วัลดิเวีย เล็งเห็นถึงชัยภูมิที่มีน้ำบริสุทธิ์ เทือกเขาสองด้านที่เป็นแนวป้องกันการโจมตี และพื้นดินอันอุดมสมบูรณ์

เขาตัดสินใจที่จะสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่นี่และเริ่มต้นผูกมิตรกับพวกอินเดียนในพื้นที่ด้วยการส่งของบรรณาการให้กับผู้นำชาวอินเดียนในละแวกนั้น

ทว่า กลับเกิดข้อผิดพลาด มิชิมาลอนโก้ ผู้นำคนสำคัญของพวกอินเดียนหันอาวุธเข้าสังหารทหารสเปน

และในขณะที่พวกสเปนกำลังเพลี่ยงพล้ำอยู่นั้น เหล่าข้าศึกอินเดียนกลับทิ้งอาวุธและวิ่งหนีเตลิดเปิดเปิงไป

หลังการจับกุมคนอินเดียนที่บาดเจ็บ พวกเขาให้การว่าระหว่างการศึกบนท้องฟ้าปรากฏชายหนุ่มควบม้าสีขาวลงมาจากฟากฟ้าพร้อมกับกวัดแกว่งดาบมาสู่พวกเขา

ท่าทีอันน่าสะพรึงกลัวเช่นนั้นทำให้พวกอินเดียนหวาดหวั่นและหนีทัพไป เปโดร ดิ วัลดิเวีย ลงความเห็นว่าภาพนิมิตที่ว่าคือภาพของนักบุญเจมส์ หรือ ซานโต้ ลาโก้ ผู้ปรากฏตัวแทบทุกครั้งในสงครามศาสนาของชาวสเปน

และทำให้เขาตัดสินขนามนามดินแดนแห่งใหม่นี่ว่า ซานเทียโก้ ตามชื่อของนักบุญผู้นั้น

เมืองสำคัญแห่งนี้จึงถูกตั้งขึ้นในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1541
ทว่า ความสงบในเมืองคงอยู่ได้เพียงไม่กี่เดือน

การรุกรานของพวกอินเดียนก็เกิดขึ้นอีก

และในครานี้เป็นความสามารถของยิเนสที่ปัดเป่าศัตรูให้พินาศไป

เดือนกันยายนในปีนั้น ในขณะที่เปโดรออกไปลาดตระเวนตามล่าหัวหน้าเผ่าอินเดียนในดินแดนอื่น กัปตันอัลลอนโซ่ เด มอนรอย ได้รับแจ้งว่าบริเวณนอกเมืองนั้นปรากฏพบพวกอินเดียนจำนวนมาก

เขาปรึกษากับยิเนสว่าควรส่งมอบตัวประกันทั้งหลายที่มีและเจรจาสงบศึกกับพวกอินเดียนหรือไม่

หากแต่ยิเนสปฏิเสธ เธอเห็นว่าการส่งมอบตัวประกันให้พวกอินเดียนมีแต่จะทำให้พวกอินเดียนฮึกเหิมขึ้น

ดังนั้น กองทหารสเปนที่หลงเหลืออยู่ในเมืองจึงเตรียมพร้อมสำหรับทำศึก

เช้าวันรุ่งขึ้น พวกสเปนควบม้าออกจากเมืองเข้าสู้รบกับพวกอินเดียน แต่พวกเขาประมาณการจำนวนอินเดียนน้อยกว่าความจริงเกินไป

จำนวนอินเดียนแปดพันที่ถูกคาดการณ์นั้นกลับพบว่าในความเป็นจริงมีพวกอินเดียนถึงสองหมื่นคน ทหารสเปนถูกไล่ฆ่าจนต้องถอยร่นออกจากเมืองและไปรวมตัวกันที่ลานโล่งทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำมาโปโก้

ช่วงเวลาตอนนั้น ยิเนสต้องทำหน้าที่ทั้งจัดเตรียมอาหาร ดูแลผู้บาดเจ็บและปลุกปลอบใจผู้ท้อถอย

พวกอินเดียนเผาเมืองซานเทียโก้ ระหว่างทางไปถึงทุ่งราบนั้นมีแต่ซากศพของทหาร ม้า และอาวุธของพวกสเปน หล่นกระจัดกระจาย

จากบันทึกของบาทหลวง โรดริโก้ กอนซาเลซ มาโมเลโญ่-Rodrigo Gonzalez Marmolejo ที่อยู่ในการศึกครั้งนั้นด้วยกล่าวว่า

“มีแต่ปาฏิหาริย์เท่านั้นที่จะช่วยพวกสเปนไว้ได้”

 

ยิเนสนั้นไม่เชื่อในปาฏิหาริย์

เธอเห็นว่าการปลุกปลอบขวัญและกำลังใจของทหารผนวกกับการข่มขวัญพวกอินเดียนคือทางออกที่ดีที่สุด

เธอเสนอต่อเหล่านายทหารว่าควรสังหารผู้นำอินเดียนเจ็ดคนที่ตกเป็นตัวประกัน

ตัดหัวของพวกเขาและนำขึ้นเสียบในที่สูงเพื่อแสดงให้พวกอินเดียนเห็น

นายทหารหลายคนไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้ พวกเขาเชื่อว่าผู้นำเจ็ดคนของอินเดียนจะเป็นดังข้อต่อรองที่ดีเมื่อเข้าตาจน

ยิเนสยืนกรานว่านี่คือวิธีที่ดีที่สุดที่เธอคิดได้ เธอตรงไปยังที่คุมขังนักโทษ พูดกับผู้คุมว่าต้องลงมือสังหารตัวประกันโดยด่วนและเอาหัวของพวกเขาออกไปประจาน

ผู้คุมถามว่าเราจะสังหารพวกเขาแบบไหน “แบบนี้” ยิเนสตอบก่อนที่จะฉวยดาบของผู้คุมและฟันคอผู้นำชาวอินเดียนคนหนึ่งจนขาดออกจากร่าง

หลังจากศีรษะของผู้นำชาวอินเดียนถูกบั่นจนหมดและถูกเอาออกประจานในที่แจ้ง ยิเนสเปลี่ยนชุดของเธอเป็นชุดนักรบ ควบม้าขาวออกไปที่ลานโล่งและตะโกนปลุกปลอบใจทหารที่เหลืออยู่

พวกเขาลุกขึ้นสู้อีกครั้งและอาศัยความกล้าหาญของยิเนส อิสตรีที่นำทัพ พวกสเปนไล่ล่าพวกทหารอินเดียนจนแตกพ่ายไปในที่สุด

และแล้วพวกเขาก็ยึดเมืองซานเทียโก้กลับคืนมาได้

หากปราศจากการกระทำครั้งนั้นของเธอ ยิเนส ซัวเรซ ดินแดนของสเปนทางฝั่งตะวันตกจะต้องตกกลับไปสู่มือพวกอินเดียน