เลือก ส.ว.67 แบบย้อนเกล็ดเผด็จการ เมื่อประชาชนไทย strike back!

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit
(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

บทความนี้เป็นตอนสุดท้ายของบทความชุด ส.ว.67 ซึ่งมีทั้งหมด 3 ตอน แต่ละตอนสามารถแยกอ่านได้แบบจบในตัว คือเขียนถึงเรื่อง ส.ว.67 เหมือนกันแต่ต่างประเด็น แต่ละตอนจึงสามารถอ่านได้โดยเป็นอิสระต่อกัน

ตอนที่ 1 ชื่อว่า “ส.ว.67 เป็นตัวแทนของอะไร เจตจำนงของกลุ่มใด ปากเสียงของใคร แล้วเลือกไขว้ไปเพื่ออะไร ตามลิงก์ กล่าวถึงปัญหาเรื่องการเป็นตัวแทนของเจตจำนงของผู้สมัคร ส.ว. 67

ส่วนตอนที่ 2 เรื่องปัญหาการจำกัดสิทธิและขยายสิทธิที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในระบบการเลือกสรร ส.ว. 2567” นำเสนอปัญหาเรื่องความขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ว.67

ก่อนอื่นขอแก้ไขตัวเลขที่คลาดเคลื่อนสักเล็กน้อย

เนื่องจากในบทความตอนที่ 2 ซึ่งกล่าวถึงปัญหาในข้อที่ 4 ซึ่งระบุว่ากฎกติกานี้ขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ในด้านความเสมอภาคทางการเมืองเรื่อง “1 สิทธิ 1 เสียง” (one man, one vote) โดยตัดสิทธิประชาชนทั่วไปไม่ให้มีสิทธิเลือกตัวแทนของตนเข้าไปทำหน้าที่เป็นวุฒิสมาชิกได้ ทั้งๆ ที่สิทธิในการส่งตัวแทนของตนเข้าไปในวุฒิสภาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

การตัดสิทธิดังกล่าวนี้ทำแบบเนียนๆ อ้อมๆ โดยใช้การกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ว. แล้วก็ให้สิทธิในการเลือก ส.ว. ตกอยู่แก่บรรดาผู้สมัครด้วยกันเองเท่านั้น ทำให้ประชาชนทั่วไปถูกตัดสิทธิการส่งตัวแทนของตนเข้าไปในวุฒิสภาโดยปริยาย คือไปยกเลิกสิทธิเลือกตั้งของประชาชนนั่นเอง

แต่ก่อนอื่นต้องขออนุญาตแก้ไขข้อมูลเดิมเล็กน้อย โดยในบทความเรื่อง “ปัญหาการจำกัดสิทธิและขยายสิทธิที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในระบบการเลือกสรร ส.ว. 2567” ผมเขียนเอาไว้ในข้อที่ 4 ว่า “ทำไมผู้สมัครจึงมีสิทธิเลือกมากกว่า 1 เสียง” คือให้ผู้สมัคร ส.ว. มี 1 สิทธิ แต่สามารถออกเสียงได้มากถึง 49 เสียง

ตรงนี้จริงๆ แล้วต้องเป็น 42 เสียง ไม่ใช่ 49 ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าในการเลือกไขว้ข้ามกลุ่มอาชีพจะเป็นการเลือกกลุ่มอื่นๆ ยกเว้นกลุ่มตนเอง

ดังนั้น จึงต้องลบการโหวตในกลุ่มตัวเองออกทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ

ในระดับอำเภอผู้สมัครจะมี 2 เสียงในการเลือกภายในกลุ่มอาชีพตัวเอง และมีอีก 4 เสียงในการเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม เพราะหากในสายนี้มี 5 กลุ่ม ผู้สมัครจะเลือกเฉพาะในอีก 4 กลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มอาชีพตัวเอง เลยทำให้ออกเสียงได้อีก 4 เสียง ไม่ใช่ 5 ซึ่งในระดับจังหวัดก็จะเป็นแบบนี้เช่นกัน ทำให้การเลือกในรอบอำเภอและจังหวัดมี (2+4)+(2+4)=12

ส่วนในระดับประเทศ ผู้สมัครสามารถออกเสียงในกลุ่มอาชีพของตนได้ 10 เสียง และมีอีก 20 เสียงสำหรับการเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม เนื่องจากในสายมีกลุ่มอาชีพได้สูงสุด 5 กลุ่ม โหวตเลือกได้กลุ่มละ 5 ยกเว้นกลุ่มอาชีพตนเอง เพราะฉะนั้นจึงเหลือ 4 กลุ่ม กลุ่มละ 5 เสียง ซึ่งเท่ากับ 20 รวมแล้วผู้สมัคร ส.ว. คนหนึ่งจึงมีโอกาสออกเสียงได้สูงสุดคือ (2+4)+(2+4)+(10+20)=42 เสียง ไม่ใช่ 49 เสียง จึงขออนุญาตแก้ไขข้อมูลและขออภัยผู้อ่านมา ณ ที่นี้ด้วย

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถทำความเข้าใจได้จากคลิปคำอธิบายนี้ https://www.youtube.com/watch?v=KmQ6_uyDc8w

 

ปกติแล้วสิทธิเลือกตั้งผู้แทนในระบอบประชาธิปไตยนั้นครอบคลุมไปถึง ส.ว. ด้วย มิใช่แต่เสียงแค่ ส.ส.เท่านั้น

ทว่า ส.ว.ชุดที่ผ่านมานั้นหาได้มาจากกระบวนการเลือกตั้งไม่ แต่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ซึ่งเป็นคณะรัฐประหารที่ชิงอำนาจปกครองของประชาชนมาเป็นของตนเอง

เมื่อชิงอำนาจมาด้วยกำลังอาวุธจึงไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลที่เหมาะสมและสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย เพราะประชาชนไม่สามารถไปต่อต้านขัดขืนได้

ความชอบธรรมทางการเมืองของ ส.ว. ชุดที่ผ่านมาจึงไม่มี มีแต่สิทธิอำนาจทางกฎหมายที่ได้มาจากคณะรัฐประหาร

แต่ปัจจุบันนี้คณะรัฐประหารได้สิ้นสภาพไปแล้ว และกลไกภาครัฐ ตลอดจนกระบวนการต่างๆ ในรัฐสภาก็เข้าสู่สภาวะปกติ ดังนั้น จึงต้องดำเนินงานต่างๆ ไปตามหลักการประชาธิปไตย มิอาจไปหยิบยกกรณีตัวอย่างหรือมรดกตกทอดจากคณะรัฐประหารมาใช้เทียบเคียงเพื่อเป็นต้นแบบที่พึงเจริญรอยตามได้

กล่าวง่ายๆ ก็คือจะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎและกติกาทางการเมืองให้วางอยู่บนพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยให้หมด

ซึ่งก็อย่างที่เห็นกันในกติกาว่าการเลือก ส.ว. 67 นั้นให้สิทธิการเลือก ส.ว. เฉพาะแก่ผู้สมัครเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยเรื่องความเสมอภาค 1 สิทธิ 1 เสียง กลายเป็นว่าผู้สมัครมี 1 สิทธิ 42 เสียง ในขณะที่ประชาชนทั่วไปซึ่งไม่ได้สมัครกลับถูกตัดสิทธิให้เหลือ 0 สิทธิ 0 เสียง จะเห็นได้ว่าทั้งๆ ที่เป็นประชาชนพลเมืองเหมือนกันแต่คนหนึ่งกลับมี 1 สิทธิ ส่วนอีกคนหนึ่งเป็น 0 สิทธิ และคนหนึ่งมี 42 เสียง ในขณะที่อีกคนหนึ่งกลายเป็น 0 เสียงไปเลย ตรงนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อกฎกติกานั้นได้มาจากเผด็จการ ครั้นจะไปหาความเป็นประชาธิปไตยจากเผด็จการก็คงไม่ได้

คำถามต่อมาคือแล้วจะเอาอย่างไรต่อไป ประชาชนคนไทยผู้ใฝ่หาประชาธิปไตยจะวางเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วปล่อยให้กลไกไร้เหตุผลนี้ดำเนินไปโดยไม่ต่อสู้หืออือเลยอย่างนั้นหรือ

คำตอบในเรื่องนี้ก็คือต้องสู้ สู้กับกฎกติกาบ้าบอด้วยการรวมใจกันไปสมัคร ส.ว. เท่าที่ทำได้ แล้วใช้วิจารณญาณของเสรีชนแต่ละคนเลือกผู้แทนที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยให้เข้าไปทำหน้าที่ในวุฒิสภา

 

นี่เป็นทางออกเดียวที่จะปลดล็อกและออกจากหลุมดำมืดมนอันนี้

ซึ่งแม้จะมีความหวังไม่มากนักแต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไร

ส.ว.ชุดใหม่นี้มีอำนาจหน้าที่มากมายซึ่งมีบทบาทอย่างใหญ่หลวงต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน การกลั่นกรองกฎหมาย และคัดสรรบุคคลผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ ตลอดจนการตรวจสอบ ถ่วงดุล และแก้ไขปัญหาทางกฎหมายและการเมืองมากมายที่หมักหมมยาวนานมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 เป็นอย่างน้อย

หลัง ส.ว.ชุดเก่าหมดวาระลงในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2567 นี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนสายประชาธิปไตยจะหลั่งไหลกันไป strike back!

ด้วยการเดินไปสู่ถนนสาย ส.ว. สมัครเข้าสู่กระบวนการเลือกสรร ส.ว. 2567 ที่กำลังมาถึง

สั่งสอนบทเรียนและประกาศให้อำนาจทั้งหลายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยให้หลาบจำ ผ่านวิธี “ลงสู่สนาม” แทนการ “ลงสู่ถนน” ด้วยการเลือก ส.ว.67 แบบย้อนเกล็ดเผด็จการ

และร่วมเปลี่ยนผ่านจากอำนาจเก่าสู่อำนาจใหม่ไปด้วยกันอย่างพร้อมเพรียง