“ปาร์ก กึน เฮ” ดิ้นฝ่าวิกฤตการเมืองฉาว

REUTERS/Kim Hong-Ji

“ปาร์ก กึน เฮ” ผู้สร้างประวัติศาสตร์ในฐานะประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ กำลังจะจารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการเมืองโสมขาวอีกครั้งในฐานะเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศที่จะถูกอัยการสอบสวนในขณะที่ยังดำรงอยู่ในตำแหน่งบริหารประเทศ

จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าประธานาธิบดีปาร์กอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกรรโชกทรัพย์จากกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศที่มีมูลค่ารวมกันหลายหมื่นล้านวอนของ นางชเว ซุน ซิล เพื่อนสนิทที่คบหากันมานานและถูกครหาว่าเป็น “ประธานาธิบดีเงา” ของประธานาธิบดีปาร์ก

และกรณีที่มีการกล่าวหาว่าผู้นำปาร์กปล่อยให้เพื่อนหญิงคนสนิทผู้นี้เข้าถึงเอกสารความลับของทางราชการ

แม้ตามรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้แล้วจะมีบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีพ้นจากการถูกดำเนินคดีทางอาญาใดๆ ยกเว้นในข้อกล่าวหาก่อจลาจลหรือก่อกบฏ

แต่จากกระแสกดดันและความรู้สึกโกรธเกรี้ยวของประชาชนที่มีต่อประธานาธิบดีปาร์กซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีหลายเสียงทั้งจากฟากฝ่ายค้านและสมาชิกพรรครัฐบาลด้วยกันเองโต้แย้งว่าอัยการสามารถเข้ามาสอบสวนประธานาธิบดีปาร์กได้ตามข้อกล่าวหาที่มีอยู่

ส่วนการดำเนินคดีฟ้องร้องตามกระบวนการทางกฎหมายกระทำได้หลังจากที่ผู้นำหญิงเกาหลีใต้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว

South Korea's President Park Geun-Hye speaks during an address to the nation at the presidential Blue House in Seoul on November 4, 2016. Park on November 4 agreed to submit to questioning by prosecutors investigating a corruption scandal engulfing her administration, accepting that the damaging fallout was "all my fault". / AFP PHOTO / Ed Jones
AFP PHOTO / Ed Jones

ชนวนเหตุที่นำมาสู่ห้วงวิกฤตหนักสุดบนเส้นทางชีวิตในวงการเมืองของปาร์กเริ่มต้นขึ้นเมื่อถูกสื่อชั้นนำตีแผ่ถึงความสัมพันธ์อันสนิทสนมระหว่างประธานาธิบดีปาร์กที่มีกับนางชเว ที่ยังถูกตั้งฉายาว่าเป็น “รัสปูตินหญิง” แห่งเกาหลีใต้ ซึ่งกำลังตกเป็นเป้าสอบสวนของอัยการ

กรณีถูกกล่าวหาว่าใช้สายสัมพันธ์ที่มีกับประธานาธิบดีปาร์กไปใช้หาผลประโยชน์ใส่ตัวและพวกพ้องด้วยการบังคับให้กลุ่มแชโบลยักษ์รายหลายรายของประเทศ เช่น บริษัท ซัมซุง และ ฮุนได บริจาคเงินรวมกันมีมูลค่ามากถึง 77,000 ล้านวอนให้กับ 2 มูลนิธิที่นางชเวควบคุมดูแลอยู่

และกรณีที่มีการกล่าวหาว่านางชเวใช้อิทธิพลที่มีเหนือประธานาธิบดีปาร์กเข้าไปแทรกแซงกิจการอำนาจรัฐ ทั้งๆ ที่นางชเวไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่ใดๆ ในรัฐบาลแต่อย่างใด

คลื่นผู้ประท้วงนับหลายแสนคนที่พากันออกมากดดันเรียกร้องให้ประธานาธิบดีปาร์กลาออกในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นปรอทวัดอุณหภูมิความร้อนแรงของวิกฤตอื้อฉาวที่ประธานาธิบดีปาร์กเผชิญได้เป็นอย่างดี

และสร้างแรงบีบคั้นให้เธอต้องเร่งหาทางคลี่คลายวิกฤตของชีวิตครั้งนี้ให้ได้โดยเร็ว

เพราะแค่การออกมากล่าวคำขอโทษ โดยที่ไม่สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาประชาชนได้ ก็ไม่มีทางที่จะทำให้ปาร์กรอดพ้นจากวิกฤตครั้งใหญ่นี้ไปได้

AFP PHOTO / Ed JONES
AFP PHOTO / Ed JONES

ถึงตอนนี้มีเพียงไม่กี่ทางเลือกที่รอให้ประธานาธิบดีปาร์กเลือกตัดสินใจว่าจะไปในทางใด

ตามมุมมองของนักวิเคราะห์ที่มองว่าทางเลือกแรกเลยของประธานาธิบดีปาร์กคือ การลาออกจากตำแหน่ง แล้วไปต่อสู้ข้อกล่าวหาในชั้นศาล

โดยหลังการลาออก จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่ภายใน 60 วัน เพื่อให้ประธานาธิบดีคนใหม่ขึ้นมาบริหารประเทศต่อไป

อีกทางเลือกหนึ่งคือ การเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่งหรือไม่ ที่เรียกว่า อิมพีชเมนต์

ซึ่งการจะเริ่มกระบวนการนี้ได้จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาเกาหลีใต้ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 300 เสียง

และญัตติการพิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่งจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนเกิน 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา

หากญัตตินี้ผ่านความเห็นชอบ ร่างกฎหมายอิมพีชเมนต์จะถูกส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งจะต้องใช้มติเห็นชอบจากองค์คณะผู้พิพากษา 6 จากทั้งสิ้น 9 เสียง

หลังจากนั้นอำนาจประธานาธิบดีจะถูกระงับไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตัดสินออกมา

โดยหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเห็นชอบให้มีการถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง หลังจากนั้นจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นใหม่ภายใน 60 วัน

แต่หากศาลรัฐธรรมนูญปฏิเสธการถอดถอนออกจากตำแหน่ง ประธานาธิบดีปาร์กจะได้รับอำนาจบริหารประเทศกลับคืนมาในทันที

(FILES) This file photo taken on February 26, 2015 shows South Korea's President Park Geun-Hye at the presidential Blue House in Seoul. Park was to address the nation on November 4, 2016 over a corruption scandal that has engulfed her administration and triggered the arrest of a close personal friend accused of meddling in state affairs. / AFP PHOTO / ED JONES
AFP PHOTO / ED JONES

ผู้เชี่ยวชาญยังชี้ถึงอีกทางเลือกหนึ่งว่า ประธานาธิบดีปาร์กอาจจะต้องยอมสละอำนาจที่มีอยู่ในมือทั้งหมดให้แก่พรรคการเมืองต่างๆ เพื่อแลกกับการที่ตนเองจะสามารถรักษาเก้าอี้ประธานาธิบดีไว้ได้ต่อไปจนครบวาระที่จะสิ้นสุดลงในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2561

ซึ่งแนวทางนี้นักวิเคราะห์การเมืองส่วนใหญ่เชื่อว่าไม่มีทางไปเป็นได้ที่ปาร์กจะยอมรับแนวทางนี้

แนวทางสุดท้ายคือ ดันทุรังอยู่ในตำแหน่งต่อไป โดยอาศัยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นเกราะกำบังภัยจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี

เพราะข้อกล่าวหาที่ปาร์กเผชิญอยู่ ไม่ได้เข้าข่ายก่อกบฏตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

เพียงแต่ว่าประธานาธิบดี ปาร์ก กึน เฮ จะทนกระแสต่อต้านจากพลังประชาชนที่ถาโถมเข้าหาหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ต่อไปหรือไม่