ฉัตรสุมาลย์ : อาหาร 3 ถ้วย

คราวนี้ มีเหตุได้กลับมาที่วัดโฝวกวางซันอีก

มาประชุมนักบวชสตรีพุทธกับคริสต์ มาจาก 16 ประเทศค่ะ เดี๋ยวค่อยเล่าให้ฟังในอีกบทความหนึ่งนะคะ วันนี้ ตั้งใจเล่าถึงประสบการณ์การกินอาหารสามถ้วย ซึ่งเป็นการฝึกของชาววัดค่ะ

ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้มีโอกาสฝึกการกินอาหารสามถ้วยนี้ เมื่อปี ค.ศ.2000 เลขมันสวยจำได้ง่าย ตรงกับ พ.ศ.2543 ก็เอา 543 บวกเข้าไปนั่นไง

ปีนั้น มันก็มีบรรยากาศที่น่าตื่นเต้น เพราะขึ้นสหัสวรรษใหม่ ปกติเราพูดถึงศตวรรษใหม่ก็ตื่นเต้นแล้ว นี่เป็นสหัสวรรษใหม่ยิ่งตื่นเต้นมากขึ้น

ในการฉลองต้อนรับสหัสวรรษใหม่ที่โฝวกวางซัน เขาก็จัดงานประกาศรับชาวพุทธเข้ามารับพุทธมามกะ ให้ศีลห้าสำหรับชาวพุทธ และให้ศีลโพธิสัตว์สำหรับคนที่แสวงหาแนวทางชีวิตทางศาสนาที่ชัดเจนแล้ว

ขณะเดียวกันก็มีการอุปสมบทภิกษุณีด้วย

ก็เพราะเรื่องความสำคัญในการรับสหัสวรรษใหม่นี้แหละ ผู้เขียนจึงไปรับศีลโพธิสัตว์ที่วัดโฝวกวางซัน

 

วัดโฝวกวางซัน ให้บริบทหน่อยนะคะ โฝว แปลว่า พุทธ กวาง แปลว่า แสงสว่าง และซัน แปลว่า ภูเขา แปลเพราะๆ ได้ว่า พุทธประทีปบรรพต แต่รู้จักกันทั่วไปแล้วว่าโฝวกวางซัน ในประเทศไทยก็มีสาขาค่ะ อยู่ที่อาคารว่องวานิชชั้น 32

วัดโฝวกวางซันอยู่ที่เมืองเกาสง ทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน มีสายการบินไทยบินตรงเข้าที่นั่นเลย การเดินทางสะดวกมาก ทั้งนี้เพราะที่เกาสงเป็นเมืองที่มีงานอุตสาหกรรมและใช้แรงงานไทยเป็นหลัก จึงเอื้อให้มีสายการบินบินตรงเข้าที่เมืองนั้น

วัดโฝวกวางซัน สร้างเมื่อ 50 ปีที่แล้ว โดยหลวงพ่อซิงหยุน ท่านมาจากแผ่นดินใหญ่ มาเผยแผ่คำสอนของพุทธศาสนาที่นั่นประสบความสำเร็จมาก ท่านมาตั้งแต่อายุ 23 ปีนี้ท่านอายุ 92 แล้วค่ะ

จากวัดขนาดกลางที่ผู้เขียนเคยมาเมื่อ พ.ศ.2543 ตอนนี้เป็นวัดขนาดใหญ่มาก มีส่วนที่ขยายออกไปคือส่วนที่เป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับต้อนรับแขกที่หลั่งไหลเข้ามาจากทุกสารทิศ

 

คราวนี้เราไปพักที่โรงแรมของวัด ปีกที่เราอยู่เรียกว่า กอไผ่ ห้องที่เราได้ มีสี่เตียง มีสองห้องน้ำ สำหรับรับงานใหญ่ๆ อย่างเช่นที่ผู้เขียนเคยมารับศีลโพธิสัตว์นั้น จำนวนคนมากถึง 3,500 คน ตอนนั้นอยู่ห้องละ 6 เตียงด้วยซ้ำ

บังเอิญเป็นเช้าวันอาทิตย์ พวกนักบวชในศาสนาคริสต์เขาต้องออกไปโบสถ์ข้างนอกกัน อาหารเช้าเลยเลื่อนขึ้นมาเป็น 6 โมง 15 นาที

มีหลวงพี่ภิกษุณีของโฝวกวางซันเองเป็นเจ้าหน้าที่คอยนำแขกเดินแถวเรียงหนึ่งไปห้องอาหารใหญ่อยู่ที่อีกอาคารหนึ่ง เรียกว่า เป็นการรับประทานอาหารอย่างเป็นพิธีการ ทุกคนต้องมีหูฟังการแปลคำอธิบายภาษาจีนว่า ทำอะไร อย่างไร เมื่อไร

ซิสเตอร์จากนิกายต่างๆ ในศาสนาคริสต์เดินเข้าแถวอย่างงงๆ แม้ศาสนาพุทธจากนิกายอื่นก็งงๆ ไม่มีการให้คำอธิบายล่วงหน้าว่าเราจะไปเจอะเจออะไร ที่สำคัญมีความหมายอย่างไรต่อชีวิตนักบวช

มันไม่ใช่เรื่องพุทธศาสนาอย่างเดียว แต่มีส่วนของวัฒนธรรมจีนเข้ามาด้วย เช่น การใช้ตะเกียบ เป็นต้น

 

เราเดินแถวเข้าไปนั่งที่โต๊ะที่วางเป็นแถวยาว ทั้งสองฝั่งนั่งหันหน้าเข้าหากัน โต๊ะหนึ่งมีสามเก้าอี้ เราเว้นเก้าอี้ตัวกลาง เพื่อไม่เบียดกันมากไป ตรงกลางห้องเป็นพระประธาน และมีคำสอนเป็นอักษรจีนอย่างมีศิลปะ

คราวก่อนที่มาตอนนั้น ผู้เขียนยังเป็นฆราวาส จึงนั่งฝั่งซ้ายของพระประธาน คราวนี้ท่านธัมมนันทาบวชแล้ว จึงไปนั่งทางฝั่งขวาพระ ซึ่งเป็นที่สำหรับนักบวช ข้างซ้ายของท่านธัมมนันทาเป็นซิสเตอร์จากเขมร ฝั่งขวามือเป็นผู้ช่วยที่เป็นอุปัฏฐากท่านธัมมนันทา ทั้งสองคนไม่เคยมีประสบการณ์ ในเวลากะทันหันอย่างนั้น ได้แต่บอกว่า ให้คอยมองก็แล้วกันว่าทำอย่างไร เมื่อไร

พื้นที่บนโต๊ะนั้นมีความหมายอย่างยิ่งในการกินอาหารแบบสามถ้วย ฝั่งโต๊ะที่ชิดตัวเรา คือพื้นที่ของเรา ฝั่งโต๊ะที่อยู่ด้านนอก เรียกว่าเป็นพื้นที่สำหรับเสิร์ฟ

เมื่อตอนที่เรานั่งลงนั้น มีถ้วยข้าวใบเล็ก 2 ใบวางอยู่ ระหว่างถ้วยทั้งสองเป็นจานเล็กรูปไข่ ถ้วยใบหนึ่งมีข้าวต้มที่ต้มใส่มัน ทั้งหมดวางชิดด้านนอกของโต๊ะ

มีการสวดมนต์ก่อนอาหาร บทสวดที่วางให้ มีลวดลายตามศิลปะจีนที่งดงาม

วัดนี้ หลวงพ่อท่านเป็นคนมีศิลปะ และสนใจงานด้านศิลปะมาก แสดงออกทุกๆ จุดที่เราจะสามารถสัมผัสได้

 

พนักงานเสิร์ฟที่เดินให้บริการขวักไขว่อยู่นั้น มีทั้งสามเณรีและภิกษุณี รูปหนึ่งมาตักอาหารให้ อาหารนั้นหน้าตาเหมือนเต้าหู้เห็ดสับมีรสออกเค็ม ตักใส่ในจานเปลใบเล็ก อีกรูปหนึ่งตักผัดผักเขียว ไม่ทราบผักอะไร รสจืด ใส่อีกข้างหนึ่งของจานเปล อีกรูปหนึ่งมาตักข้าวสวยใส่ถ้วยข้าวใบเล็กอีกใบหนึ่ง ตกลงเรามีอาหารกินแค่นี้แหละ

ถึงเวลาจะกินให้ยกถ้วยจากฝั่งซ้ายสลับมาอยู่ข้างขวา และกับมาวางชิดทางริมโต๊ะฝั่งที่ใกล้ตัวเรา หากจะขออะไรเพิ่มให้เอาถ้วยนั้นไปวางชิดขอบโต๊ะฝั่งด้านนอก พนักงานเสิร์ฟจะมาเสิร์ฟให้ทันที

ทีนี้ พอมาถึงน้ำ เมื่อกินข้าวต้มหมดแล้ว เอาถ้วยข้าวต้มวางยื่นออกไปจากจานกลางเล็กน้อย หลวงพี่องค์น้อยที่ถือกาน้ำอุ่นก็จะมาบริการน้ำให้

ทีนี้ เราทำอะไรกับน้ำ เอาน้ำมาล้างถ้วยค่ะ ใช้ตะเกียบเขี่ยเศษอาหารให้สะอาด กินข้าวและกับทั้งในถ้วยข้าวสวย และกับในจานเปลหมดแล้ว ก็เอาน้ำนี้มาล้าง เสร็จแล้วก็เทลงถ้วยข้าว แล้วดื่มหมดเลยค่ะ

เสร็จแล้ว เอาถ้วยข้าวสองใบซ้อนกัน วางไว้ที่ขอบโต๊ะด้านนอกตัวเอง วางจานเปลเล็กไว้ข้างๆ วางตะเกียบระหว่างถ้วยและจาน โดยหันปลายตะเกียบออก

คนที่ไม่เคยกินอาหารแบบนี้ มักมีอาหารเหลือในจาน ในการฝึกกินอาหารสามถ้วยไม่ควรมีอาหารเหลือค่ะ ถ้าเรากินไม่หมด รู้ว่าจะกินไม่หมด อย่าไปหยิบมา ถ้าหยิบมาวางฝั่งของตนเองแล้ว ต้องรับผิดชอบกินให้หมด

ถ้วยที่เราจะใช้กินอาหารคือ ถ้วยทางขวามือเท่านั้น แม้มีอาหารหรือข้าวถ้วยอื่น ก็ให้ใส่ถ้วยข้าวทางขวา เป็นการถือตามพระวินัยที่ว่า ฉันจากถ้วยเดียว ตรงนี้ก็ตลกอีก เถรวาทหมายความถึงบาตร ซึ่งใบเบ้อเริ่ม แต่มหายานของจีนหมายถึงถ้วยข้าวใบจิ๋ว

ตรงนี้เองที่ผู้เขียนเพิ่งรู้ตอนที่ฝึกครั้งแรก คือรู้ขนาดของกระเพาะของตนเองว่าจะกินได้แค่ไหน

ในกรณีที่ข้าวมากไป เราไม่รับถ้วย ผู้บริการก็จะมาเทข้าวลงหม้อ แล้วตักให้ใหม่จำนวนน้อยกว่าเดิม

ในกรณีที่เป็นซุปที่มีผัก อยากได้เฉพาะน้ำซุป ก็เอาถ้วยไปวางในพื้นที่ให้บริการ คือชิดขอบโต๊ะด้านนอก แล้วเอาตะเกียบชี้ที่กลางถ้วย แปลว่าไม่เอาผัก ประมาณนั้น

ทุกอย่างเป็นสัญลักษณ์ ทุกอย่างในความเงียบสงบ ทุกขณะคือการเฝ้าดูจิต

 

หลวงพี่ท่านหนึ่งอธิบายว่า การกินอาหารสามถ้วย มีปาก 2 ปากครึ่ง ปากหนึ่งคือ หลวงพ่อที่จะสอนธรรมะตอนท้าย ปากที่สองคือ หลวงพี่ที่เป็นผู้คุ้มกฎ ดูแลเรื่องระเบียบในการกิน และอีกครึ่งปากคือ อาจจะมีการกระซิบขออาหารได้เบาๆ ในการพูดกับบริกร

มีซิสเตอร์ที่กินผักเหลือ ก็มันจืดอย่างนั้น จะมีหลวงพี่อีกรูปหนึ่งมาจัดการกับเศษอาหารโดยเฉพาะ มือท่านใส่ถุงพลาสติก มารวบเศษอาหารที่เหลือลงถังที่ท่านถือมา

ทันทีที่อาหารเหลือจะเป็นอุปสรรคในการเก็บถ้วย เพราะเขาจะวางซ้อนกัน ถ้ามีเศษอาหารเหลือ จะไม่สะดวกในการเก็บถ้วย

เกิดความตระหนักว่า เรามาให้เขาเสิร์ฟให้ทุกอย่าง อย่าสร้างความลำบากให้เขาอีกเลย การฝึกอาหารสามถ้วยจึงเป็นการฝึกของชาววัดอย่างแท้จริง

คนที่เสิร์ฟก็จะมีวาระที่ได้มาเป็นผู้รับบริการ และทุกคนจะได้เวียนกันทำหน้าที่เช่นนี้ ทำให้สามารถชื่นชมในความร่วมมือซึ่งกันและกันได้มากขึ้น

เมื่อ พ.ศ.2543 หรือ ค.ศ.2000 มีผู้มารับประทานอาหารพร้อมกัน 3,500 คน ไม่ได้ยินเสียงพูดกันเลย และขยะจากการเสิร์ฟอาหารคน 3,500 คน มีเพียงถุงดำใบเดียว ใช้เวลาในการกินอาหาร 30 นาที

เป็นอะไรที่ประทับใจผู้เขียนมาก ตั้งแต่บัดนั้น จนมาวันนี้ ที่ได้มาร่วมรับประทานอาหารแบบสามถ้วยอีกครั้ง

เกิดความเข้าใจว่า ไม่ใช่เรื่องการกินอาหาร แต่กินอย่างไร ปฏิบัติจิตอย่างไร ดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างไร เป็นชาวพุทธอย่างไร

เป็นการฝึกที่ตรงที่สุดแบบหนึ่ง ขอขอบคุณวัดโฝวกวางซัน อีกครั้งหนึ่ง