สุจิตต์ วงษ์เทศ/วรรณกรรมจากอินเดีย ของคนชั้นนำ ไม่คนทั่วไป

"เย ธัมมา" คาถาหัวใจพุทธศาสนา ตัวอักษรจารึกบนแผ่นอิฐ พบที่เมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

วรรณกรรมจากอินเดีย

ของคนชั้นนำ ไม่คนทั่วไป

 

ภาษาและวรรณกรรมอินเดียเนื่องในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ฮินดู เป็นที่รับรู้ในกลุ่มคนชั้นนำระดับสูงของราชสำนัก เมื่อแพร่กระจายเข้าถึงภูมิภาคอุษาคเนย์

ประชาชนคนสามัญอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เข้าไม่ถึงอักษร, ภาษา และวรรณกรรมเหล่านั้นจากอินเดีย ไม่ว่านิทาน, ชาดก, คัมภีร์ไตรภูมิ, รามายณะ, มหาภารตะ หรืออื่นๆ

วรรณกรรมเหล่านี้คนพื้นเมืองจะรู้บ้างสมัยหลังๆ ก็โดยผ่านการละเล่นและคำบอกเล่าจากนักบวช เช่น พระเทศน์ ฯลฯ

 

จารึก ทำขึ้นเป็นพิธีกรรมของรัฐ เพื่อการเมืองการปกครองของพระราชาหรือคนชั้นปกครองแสดงตนเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาที่รับมาใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องอ่านจารึกได้และเข้าใจหมดด้วยตนเอง

จึงไม่เป็น “ประกาศ” เพื่อสาธารณชนสมัยนั้น (เพราะอ่านไม่ออก) แต่จารึกเป็นเครื่องมือสื่อถึงผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติ ได้แก่ เทวดา หรือผีบรรพชน

วสันตดิลกฉันท์ครั้งแรกสลักบนจารึกเนินสระบัว วางพิงไว้ที่โคนต้นโพธิ์ วัดต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ ต.โคกปีบ อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี (ภาพเก่าเมื่อ พ.ศ.2496)

 

ประสมประสาน

 

ภาษาและศิลปวรรณกรรมดั้งเดิมของอุษาคเนย์ มีเป็นรากฐานแข็งแรงหลายพันปีมาแล้ว ได้แก่

ศิลปกรรม พบในภาพเขียนสีบนเพิงผา และลายสลักบนกลองทองมโหระทึก

วรรณกรรม พบในคำบอกเล่าความเป็นมาของปรากฏการณ์ธรรมชาติ, ภูมิสถานและอื่นๆ

หลังรับจากอินเดีย, เปอร์เซีย, อาหรับ ก็คลุกเคล้าเข้าด้วยกันโดยบางอย่างรักษาหลักการของศาสนาผีแต่ละท้องถิ่น ส่วนอีกหลายอย่างรับหลักการของศาสนาพุทธและพราหมณ์ฮินดู

 

ไตรภูมิลุ่มน้ำเจ้าพระยา

 

ไตรภูมิ เป็นคัมภีร์ที่บอกให้รู้เรื่องกำเนิดมนุษย์ ยักษ์ มาร เทวดา พรหม รวมทั้งกำเนิดโลกและจักรวาล นับเป็นตำราภูมิศาสตร์ที่มีขึ้นครั้งแรก โดยเชื่อว่าโลกแบน มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนหรือศูนย์กลาง

การกล่าวถึงเทพเจ้าสำคัญในทางศาสนา ก็มักเป็นเรื่องของผู้ที่จะอภิบาลโลกเป็นหลัก เช่น พระอินทร์ และจตุโลกบาล

ความรู้เรื่องไตรภูมิไม่ได้แยกออกมาเป็นวรรณกรรมโดดๆ เรื่องเดียว แต่สอดแทรกปะปนอยู่ในทุกเรื่อง และควรเริ่มแพร่หลายอยู่ก่อนทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา แล้วจึงขยายขึ้นไปทางลุ่มน้ำปิง จนเข้าสู่ลุ่มน้ำยม-น่าน

หนังสือเรื่องไตรภูมิโดยเฉพาะ อาจมีขึ้นบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาพร้อมๆ กับการเขียนภาพเล่าเรื่องลงบนสมุดข่อยสมัยอยุธยา แต่ไม่พบเป็นเล่มต่างหากออกไป ต่อสมัยกรุงธนบุรีจึงพบฉบับจารลงใบลาน

 

พุทธศาสนนิทาน

 

วรรณกรรมอินเดียส่วนหนึ่งคนทั่วไปรู้ผ่านภาพปูนปั้นเล่าเรื่อง เช่น พุทธศาสนนิทานเรื่องหัสดิน มีเรื่องย่อดังนี้

พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระยาช้าง และอาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่งใกล้กับทะเลทราย

วันหนึ่ง พระองค์ได้ยินเสียงร้องออกมาจากบรรดาชายซึ่งกำลังเดินทางข้ามทะเลทรายเข้ามายังป่า หลังจากที่บอกไม่ให้เขาเหล่านั้นเกรงกลัวพระองค์แล้ว พระยาช้างก็ถามว่าเขาเหล่านั้นเป็นใครและเหตุใดจึงได้โศกเศร้า

พวกนั้นตอบว่าถูกขับไล่ออกมาจากบ้านเมือง และจากจำนวน 1,000 คน ขณะนี้ก็เหลือเพียง 700 คน บางคนซึ่งทนทุกข์ทรมานอย่างมากมายจากความหิวกระหายและเหนื่อยอ่อนจากความร้อน ได้ขอน้ำต่อพระยาช้าง

พระโพธิสัตว์ด้วยความเมตตากรุณา จึงตกลงที่จะอุทิศพระองค์เองให้เป็นทานแก่พวกเหล่านี้ จึงบอกแก่ชายเหล่านั้นว่าเบื้องล่างภูเขาที่อยู่ใกล้นั้นเขาจะพบทะเลสาบ และไม่ไกลจากทะเลสาบนั้นจะพบซากช้างที่เพิ่งตกลงไปจากภูเขา พวกเขาจะต้องกินเนื้อช้างนั้น และใช้กระเพาะของช้างเป็นถุงบรรจุน้ำเพื่อเดินทางข้ามทะเลทรายไป

หลังจากนั้นพระยาช้างก็ขึ้นไปบนยอดเขา และโจนลงมาจากหน้าผาเพื่อฆ่าตนเองเป็นทาน

เมื่อได้เห็นซากช้าง ชายเหล่านั้นก็จำได้ว่าเป็นช้างเชือกเดียวกันกับที่ได้เคยช่วยเขาไว้ บางคนจึงไม่ยอมกินเนื้อช้าง แต่บางคนก็ให้เหตุผลว่าถ้าไม่ยอมกินเนื้อช้าง การที่พระยาช้างยอมตายก็จะเสียประโยชน์เปล่า

ดังนั้น เขาจึงตกลงกันที่จะกระทำตามที่พระยาช้างประสงค์และดึงอาหารของเขาออกมาจากซากพระโพธิสัตว์ และเติมน้ำให้เต็มในกระเพาะเพื่อใช้เป็นถุงเก็บน้ำ เขาได้ตกลงกันในหมู่เขา ว่าจะเผาซากพระยาช้างเมื่อมีโอกาสที่จะสามารถกระทำได้ แล้วก็เดินทางออกมาจากทะเลทรายตามทิศทางที่ผู้มีพระคุณ คือพระยาช้างแนะนำไว้

[จากหนังสือ พุทธศาสนนิทานเจดีย์จุลปะโทน ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงแปลจากบทความภาษาอังกฤษของนายพิริยะ ไกรฤกษ์ (Buddhist Folk Tales Depicted at Chula Pathon Cedi) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2517]

พระยาช้าง (หัสติง) ภาพปูนปั้นเล่าเรื่องพุทธศาสนนิทาน ประดับฐานเจดีย์จุลประโทณ อ.เมือง จ.นครปฐม (ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม)

 

ไม่อาณานิคมอินเดีย

 

วัฒนธรรมที่รับเข้ามาใหม่จากอินเดียและเครือข่าย คนชั้นนำซึ่งเป็นหมอผี หัวหน้าเผ่าพันธุ์ เลือกรับตามความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่น เช่น

บางท้องถิ่นเลือกรับพุทธ แต่บางท้องถิ่นเลือกรับพราหมณ์ฮินดู หรือท้องถิ่นบางแห่งรับทั้งหมดก็ได้ ทั้งนี้เพราะคนชั้นนำไม่ได้ถูกบีบบังคับเหมือนอยู่ใต้อำนาจ

เนื่องจากอุษาคเนย์ไม่ใช่พื้นที่ของอินเดียหรือไม่เป็นอาณานิคมอินเดีย ตามที่ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส) เคยบอกไว้เป็นที่รับรู้ทั่วโลกในหนังสือชื่อ Indianized States of Southeast Asia