ภูมิทัศน์ของอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (10) : อิสลามในลาว

จรัญ มะลูลีม

ในความเป็นจริงศาสนาอิสลามอยู่ร่วมกับดินแดนแห่งนี้มายาวนาน ซึ่งดินแดนดังกล่าวในตอนนี้คือลาวสมัยใหม่

อย่างไรก็ตาม ชีวิตของชาวมุสลิมในประเทศลาวกับชาวมุสลิมที่เป็นเพื่อนบ้านของลาวอย่างเช่นชาวมุสลิมในจีน ไทย กัมพูชา เมียนมา หรือแม้แต่เวียดนามจะมีความแตกต่างกัน ทั้งในทางจำนวน วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ

ที่สำคัญก็คือชาวมุสลิมในประเทศลาวมิได้ประกอบขึ้นเป็นชุมชนที่มีความสำคัญอยู่ในประเทศนี้แต่อย่างใด

แม้ว่าจะมีช่วงระยะเวลาของทศวรรษ 1960 และตอนต้นทศวรรษ 1970 ที่จะสังเกตเห็นชาวมุสลิมในประเทศลาวอาศัยอยู่ในหลายส่วนของประเทศก็ตาม

การปรากฏตัวของระบอบคอมมิวนิสต์และการเมืองรวมศูนย์อำนาจของรัฐบาลลาวเป็นสาเหตุให้ชาวมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวมุสลิมจีนฮ่อ (Haw Chinese) ต้องอพยพไปอยู่ต่างประเทศ

ศูนย์กลางแห่งตัวเมืองอย่างเวียงจันทน์ (Vientianne) และหลวงพระบาง (Luang Prabang) ที่เคยมีชาวมุสลิมอยู่ก็เช่นกันจะพบว่าชาวมุสลิมจะค่อยๆ หมดไปเมื่อปลายทศวรรษที่ผ่านมาหรือราวๆ นั้น

รัฐธรรมนูญปี 1991 ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Lao People”s Democratic Republic) ได้มีการแก้ไขในปี 2003 เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้เสรีภาพทางศาสนา

ข้อความในรัฐธรรมนูญดังกล่าวทำให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ถูกต้องตามกฎหมาย

มีการคาดการณ์กันว่าในจำนวนชาวลาวร้อยละ 40 นั้นเป็นชาวพุทธเถรวาท (Theravada Buddhism) กระนั้นก็ตามการปฏิบัติศาสนาต่างๆ รวมทั้งศาสนาพุทธ จะได้รับการควบคุมในหลายรูปแบบ แม้รัฐบาลจะแสดงให้เห็นความพยายามในการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดต่างๆ ในการปฏิบัติศาสนาของชนกลุ่มน้อยก็ตาม

ความบีบคั้นทางศาสนาที่ปรากฏอยู่ในประเทศลาวต่อผู้ที่นับถือศาสนาทุกๆ ศาสนา มีส่วนสำคัญต่อการจำกัดบทบาทของศาสนาอิสลามในประเทศด้วยเช่นกัน

ในเรื่องจำนวนของชาวมุสลิมในประเทศลาวนั้นแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะรู้ถึงจำนวนที่แท้จริง แต่สถิติจากหลายสำนัก รวมทั้งสถิติจากเอ็นไซโคลพีเดีย บริตันนิกา (Encyclopedia Britannica) คาดว่ามีชาวมุสลิมอยู่ประมาณร้อยละ 1 จากประชากรลาวทั้งหมดหรือจะมีอยู่ราว 50,000 คนจากประชากรลาว 5 ล้านคน

หากว่าตัวเลขนี้ที่ดูจะมากไปหรือว่าเป็นตัวเลขที่ถูกต้องแล้ว กระนั้นชาวมุสลิมก็ยังเป็นกลุ่มชนที่ยังขาดความสำคัญในประเทศลาว

แต่สิ่งที่เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปก็คือชาวมุสลิมในประเทศลาวมาจากวัฒนธรรมที่หลากหลายและจากพื้นฐานทางชาติพันธุ์

กลุ่มของชาวมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดคือจีนฮ่อ หรือชาวจีนมุสลิม ซึ่งจำนวนของพวกเขาได้ลดลงอย่างรวดเร็ว กลุ่มที่สองซึ่งเป็นกลุ่มของชาวมุสลิมของเอเชียใต้ (South Asian Muslim) โดยปกติจะมาจากอินเดีย ปากีสถานหรืออัฟกานิสถาน

กลุ่มที่สามเป็นกลุ่มของชาวจาม (Chams) ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วเป็นผู้ที่หลบหนีมาจากกัมพูชาในช่วงที่มีสงครามกลางเมือง อันเนื่องมาจากเหตุการณ์การไล่ล่าและการประหัตประหารของเขมรแดง (Khmer Rouges) ภายใต้การนำของ พล พต (Pol pot)

กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มที่ถือว่าเป็นตัวแทนของชาวลาวที่มาจากชาวพื้นเมืองต่างๆ ของประเทศลาว ซึ่งหันมาเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามด้วยการแต่งงานกับชาวมุสลิม

นอกจากนี้ ยังมีประชากรมุสลิมกลุ่มเล็กๆ ที่มาจากหลายประเทศรวมอยู่ด้วย

หากมองในแง่ภูมิศาสตร์ลาวเคยได้รับอิทธิพลของอิสลาม ผ่านการติดต่อกับหลายประเทศ อย่างเช่น ไทย จีน อินเดีย ปากีสถาน กัมพูชา มาเลเซีย และตะวันออกกลางหรือเอเชียตะวันตก ภูมิศาสตร์อีกเช่นกันที่มีส่วนทำให้พื้นที่ของชุมชนมุสลิมต้องแยกออกจากกัน

จากดินแดนที่มีพื้นที่เป็นภูเขาของลาวและความยากลำบากในการคมนาคมจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง กลุ่มก้อนของชาวมุสลิมจึงพยายามที่จะพัฒนาดินแดนที่พวกเขารวมตัวกันอยู่ ยกเว้นบริเวณที่เป็นตัวเมือง ซึ่งมีการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างกลุ่มต่างๆ กระนั้นก็ตามสองมัสญิดในนครเวียงจันทน์ เช่น มัสญิด อัซฮัร (Azhar Mosque) และมัสญิด ญามิอ์ (Jami Mosque) จะแบ่งผู้ศรัทธาไปตามเส้นทางของชาติพันธุ์ มัสญิดแรกโดยพื้นฐานแล้วเรียกกันว่ามัสญิดของชาวจาม (Cham Mosque) ส่วนมัสญิดที่สองจะเรียกกันว่ามัสญิดของชาวอินเดีย (Indian Mosque)

มัสญิดอัซฮัรยังเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นมัสญิดของชาวมุสลิมซุนนี ในขณะที่มัสญิดญามิอ์ เป็นมัสญิดของชาวเอเชียใต้ที่เป็นซุนนีเช่นกันแต่เป็นซุนนีที่ถือตามสำนักคิดย่อย หะนาฟี (Hanafi School of Jurisprudence)

แม้ชุมชนมุสลิมอินเดีย ปากีสถาน จะเป็นชุมชนขนาดเล็ก แต่จะแยกตัวไปตามเชื้อชาติ ทั้งนี้ พวกเขาบางคนจะเป็นตัวแทนของสมาคมอินเดียและปากีสถาน ตามลำดับ

ในทางประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ไทยลาวได้พัฒนาเป็นอย่างมากและชาวมุสลิมได้ใช้ช่องทางนี้เพื่อค้นหาความลงตัวของพวกเขาในทั้งสองประเทศ

ที่มีความน่าสนใจเช่นกันคือข้อเท็จจริงที่ว่าประชากรของเอเชียใต้กับประชากรมุสลิมจากดินแดนต่างๆ มักจะเลือกเดินทางเข้าสู่ประเทศลาวโดยใช้ช่องทางจากประเทศไทย

ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้มีผลต่อการทำให้สายสัมพันธ์ของพวกเขามีความเชื่อมต่อกันระหว่างชาวลาวและประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมทั้งชาวเอเชียใต้กับชาวลาวโดยผ่านประเทศไทยอีกด้วย

ในเรื่องความเข้มงวดทางการเมืองซึ่งมีอยู่ในคอมมิวนิสต์ลาวมากว่าสามทศวรรษแล้วนั้น พบว่าอิสลามได้ถูกทำให้ตึงเครียด แม้แต่ชาวจีนมุสลิม ซึ่งอาจถือได้ว่ามีความใกล้ชิดกับรัฐบาลมากที่สุดเนื่องจากเป็นชาวพื้นเมืองก็มีบทบาทน้อยลง พวกเขาถูกละเลยอันเนื่องมาจากอุดมการณ์ทางการเมืองของประเทศที่ให้ความสำคัญกับศาสนาและชนกลุ่มน้อยไม่มากนัก

จำนวนของพวกเขามิได้ลดลงเท่านั้น แต่ยังเข้าพบได้ยากอีกด้วย ชาวจามในลาวส่วนใหญ่ต้องการสัญชาติ แต่ก็รับรู้ได้เป็นอย่างดีถึงการที่พวกเขามีพื้นฐานมาจากการเป็นชาวต่างชาติ

ปัจจุบันมีจำนวนนักศึกษามุสลิมลาวเพิ่มมากขึ้นและเดินทางไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ (International Islamic University) ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และเป็นไปได้ที่พวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลงการจัดระเบียบอิสลามในลาวเสียใหม่ในอนาคต

แต่ตราบใดที่ยังมีการบีบคั้นให้เห็น การจัดระเบียบดังกล่าวคงไม่เกิดขึ้นโดยเร็ววัน