เรื่องจริงของเปาบุ้นจิ้น (จบ) : ปริศนาเปาบุ้นจิ้น หนังสือต้องห้ามไปโดยที่ไม่ได้ถูกห้าม

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

แต่การเคลื่อนย้ายหลุมศพนั้นก็เป็นไปเพราะความจำเป็น และด้วยความกตัญญูของลูกหลานที่ไม่ต้องการเห็นหลุมศพของบรรพชนถูกทำลายจากวิกฤต

ส่วนการปล้นสะดมนั้นหากไม่ใช่ฝีมือของชนต่างชาติพันธุ์ที่รุกรานจีนแล้วก็จะเป็นพวกนักล่าสมบัติ

และหากไม่ใช่นักล่าสมบัติก็คงเป็นคนในตระกูลใดตระกูลหนึ่งที่มีความแค้นกับตระกูลเจ้าของสุสาน

และความแค้นนี้คงต้องเป็นความแค้นอย่างหาที่สุดไม่ได้ นอกจากจะทำลายสุสานเพื่อแก้แค้นเท่านั้น

อย่างหลังนี้เป็นเรื่องที่ชาวจีนถือกันมาก ว่าต่อให้แค้นมากเพียงใดก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง

แต่กระนั้น เรื่องทำนองนี้ก็มีอยู่ในประวัติศาสตร์จีนเช่นกัน แต่ก็ไม่มากจนดูเป็นเรื่องปกติธรรมดา

ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

 

สุสานหรือหลุมศพของเปาเจิ่งก็ประสบกับชะตากรรมที่ว่า

แต่ชะตากรรมนี้เป็นไปใน 2 ทาง

ทางหนึ่ง ประสบเมื่อเกิดการกบฏจนบ้านเมืองเป็นจลาจล และถ้าหากมันลามมาถึงถิ่นฐานอันเป็นที่ตั้งสุสานแล้ว ลูกหลานของเปาเจิ่งก็จำต้องเคลื่อนย้ายสุสานไปยังที่ที่ปลอดภัยกว่า

อีกทางหนึ่ง ประสบเมื่อเกิดการรุกรานของชนชาติอื่นที่มิใช่ชนชาติฮั่น (จีน) ในทางนี้สุสานของเปาเจิ่งเคยประสบกับการปล้นสะดมของผู้รุกราน

แน่นอนว่า ที่ผู้รุกรานเหล่านี้ปล้นก็ด้วยรู้ว่านี่คือสุสานของขุนนางชั้นสูง ซึ่งภายในสุสานย่อมมีสิ่งของมีค่าฝังรวมอยู่ด้วย

และเนื่องจากชนชาติเหล่านี้ไม่ได้มีวัฒนธรรมความเชื่อแบบจีน การปล้นสะดมจึงไม่ใช่เรื่องของความแค้น แต่เป็นเรื่องของความต้องการสมบัติในสุสานสถานเดียว

สุสานเปาเจิ่งผ่านชะตากรรมดีบ้างร้ายบ้างสุดแท้แต่เหตุการณ์ของบ้านเมือง ตราบจนเมื่อจีนเข้าสู่ยุคคอมมิวนิสต์แล้ว สุสานของเปาเจิ่งก็ยังคงอยู่และมีลูกหลานคอยดูแลมาตลอด

ซึ่งดูไปแล้วก็น่าจะเป็นเรื่องดีไม่น้อย เพราะบ้านเมืองได้เข้าสู่ความสงบอีกครั้งหนึ่ง และเป็นความสงบที่น่าจะยั่งยืนด้วย

แต่การณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่ ที่ว่าสงบนั้นคงกล่าวได้ว่าสงบจริง เพียงแต่มันเป็นความสงบในแบบคอมมิวนิสต์เท่านั้น

คอมมิวนิสต์ที่ไม่มีค่านิยมความเชื่อในวัฒนธรรมจีนดั้งเดิม แต่มีค่านิยมใหม่ที่สังคมจีนไม่เคยสัมผัสมาก่อน คือเป็นค่านิยมที่ไม่ให้คุณค่าใดๆ ที่มิได้มาจากลัทธิมาร์กซ์ ลัทธิเลนิน และความคิดเหมาเจ๋อตง

จากเหตุนี้ สิ่งใดที่มิใช่ค่านิยมทั้งสามความเชื่อนี้แล้ว สิ่งนั้นก็ย่อมไม่มีความสำคัญในสายตาของรัฐคอมมิวนิสต์

 

การมีอยู่ของสุสานของเปาเจิ่งและของผู้อื่นย่อมคือการมีอยู่ของค่านิยมเก่า มันจึงไร้ความหมายแม้ในยามสงบ

โดยในต้นทศวรรษ 1970 ในขณะที่การปฏิวัติวัฒนธรรมยังไม่ได้ตกกระแสอยู่นั้น หน่วยพรรคในท้องถิ่นก็ได้แจ้งแก่ลูกหลานของเปาเจิ่งให้ย้ายสุสานไปยังที่อื่น (รวมทั้งสุสานอื่นๆ ในพื้นที่เดียวกัน) โดยให้เหตุผลง่ายๆ แต่เด็ดขาดว่า ทางหน่วยพรรคจะใช้พื้นที่บริเวณนั้นสร้างเตาปูนขาวให้กับโรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่ง

ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้าที่จะมีคำสั่งให้ย้ายสุสานเปาเจิ่งนั้น หน่วยพรรคเองก็รู้ดีอยู่แล้วว่านั่นคือที่ตั้งสุสานของเปาเจิ่ง และก็รู้ดีถึงประวัติของเปาเจิ่ง แต่เพราะการปฏิวัติวัฒนธรรมที่ปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่างที่มิใช่สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์

เรื่องราวและสุสานของเปาเจิ่งจึงถูกประทับตราว่าเป็นสิ่งที่เชิดชูวัฒนธรรมศักดินา

จากเหตุนี้ ต่อให้ประวัติและบทบาทของเปาเจิ่งจะดีสักปานใด แต่เพราะเกิดในสมัยศักดินา มันก็ไม่มีคุณค่าที่ควรแก่การกล่าวถึง เรื่องราวของเปาเจิ่งจึงเป็นสิ่งที่ต้องห้ามในช่วงที่มีการปฏิวัติวัฒนธรรมไปด้วย

แต่กระนั้น ก็ยังดีที่สุสานของเปาเจิ่งไม่ได้ถูกพวกเรดการ์ดบุกเข้าทำลายดังสุสานของจักรพรรดิว่านลี่แห่งราชวงศ์หมิง

 

เมื่อสุสานเปาเจิ่งต้องถูกย้ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความยุ่งยากต่างๆ ก็ตามมา

แต่ในท่ามกลางความยุ่งยากก็มีเรื่องดีเกิดขึ้นเช่นกัน

นั่นคือ

ตอนที่มีการขุดสุสานเพื่อย้ายไปยังแห่งอื่นนั้น คณะผู้ขุดค้นก็ได้พบหลักฐานต่างๆ มากมายภายในสุสาน

และส่วนหนึ่งของหลักฐานเหล่านี้ก็คือ หลักศิลาจารึกที่บันทึกเรื่องราวของเปาเจิ่ง

หลักฐานนี้เองที่ช่วยคลี่คลายขยายความประวัติของเปาเจิ่งจากที่มีอยู่ในบันทึกให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น

และเป็นที่มาของเรื่องราวของเปาเจิ่งดังที่บทความนี้ได้นำเสนอ

ถึงตรงนี้ก็ได้เวลาที่จะต้องกล่าวถึงที่มาของบทความขนาดยาวชิ้นนี้แล้วว่า นอกจากจะพึ่งแหล่งอ้างอิงจำนวนหนึ่งก็จริง แต่แหล่งอ้างอิงที่สำคัญที่ใช้เขียนบทความนี้ก็คือ ปริศนาเปาบุ้นจิ้น (2551) ที่เขียนขึ้นโดย เฉินกุ้ยตี้ และ ชุนเถา และแปลเป็นไทยโดย อมร ทองสุก ต้นเรื่องที่เป็นภาษาจีนคือ เปากงอี๋กู่จี้ ที่อาจแปลเป็นไทยได้ว่า บันทึกอัฐิที่สาบสูญของเปากง

ที่ต้องกล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ก็ด้วยเหตุผล 2 ประการ

ประการแรก หนังสือเล่มนี้นอกจากจะได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับประวัติของเปาเจิ่งแล้ว ก็ยังได้กล่าวถึงวิบากกรรมของสุสานเปาเจิ่งอีกด้วย หากผู้ที่สนใจรายละเอียดที่มากกว่าที่นำเสนอในที่นี้ก็อาจศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือเล่มที่ว่า

ประการที่สอง ที่ยกหนังสือเล่มนี้ขึ้นมากล่าวถึงก็เพราะต้องการบอกเล่าถึงชะตากรรมหนังสือเล่มนี้ และของสามีภรรยาผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ความสำคัญอยู่ที่ประการหลังซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปข้างหน้า

ปริศนาเปาบุ้นจิ้น ได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสุสานของเปาเจิ่งค่อนข้างจะละเอียด แต่กล่าวโดยสรุปคือ หลังจากที่มีคำสั่งให้เคลื่อนย้ายหลุมศพแล้ว ความยุ่งยากวุ่นวายก็ตามมาอยู่เป็นระยะ

และผู้ที่ต้องรับภาวะเช่นนี้ก็คือลูกหลานของเปาเจิ่ง

ตราบจนเหตุการณ์ได้เดินมาถึงสุดทางนั้นเอง ก็ปรากฏว่าอัฐิของเปาเจิ่งได้อันตรธานหายไปอย่างไร้ร่องรอย

ที่สำคัญ เป็นการหายไปแบบมีปริศนา เพราะบางทีลูกหลานของเปาเจิ่งอาจจะรู้ก็ได้ว่าอัฐิเปาเจิ่งอยู่ที่ใด แต่คงด้วยเอือมระอาต่อชะตากรรมของสุสานบรรพชนของตนที่ถูกกระทำจากการเมืองมาโดยตลอด จึงปล่อยให้เรื่องนี้เป็นปริศนามาจนทุกวันนี้

ส่วนเฉินกุ้ยตี้กับชุนเถาสองสามีภรรยาผู้เขียน ปริศนาเปาบุ้นจิ้น จะรู้หรือไม่นั้น ก็มีแต่คนทั้งสองเท่านั้นที่จะตอบได้

แต่ทั้งสองก็คงไม่อยู่ในวิสัยที่จะตอบ เพราะเอาเข้าจริงแล้วในปัจจุบันทั้งสองต่างก็มีฐานะไม่ต่างกับบุคคลต้องห้ามในจีน

 

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะ ปริศนาเปาบุ้นจิ้น ที่ทั้งสองเขียน แต่เป็นเพราะก่อนหน้านี้ทั้งสองได้มีผลงานอีกเล่มหนึ่งคือ จงกว๋อหนงหมินเตี้ยวฉา (สำรวจชีวิตชาวนาจีน)

หนังสือเล่มนี้ได้ให้ภาพชีวิตที่ขมขื่นของชาวจีนในยุคปฏิรูปได้อย่างถึงเลือดถึงเนื้อ

โดยเฉพาะกับการถูกกดขี่ข่มเหงและเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่น ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วก็คือหน่วยพรรคคอมมิวนิสต์ในท้องถิ่นนั้นเอง

เมื่อหนังสือถูกตีพิมพ์เผยแพร่ก็ได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านทั่วประเทศ จนกลายเป็นหนังสือขายดีในชั่วพริบตา หลังจากนั้นสองสามีภรรยาคู่นี้ก็ถูกสัมภาษณ์จากสื่อมวลชนแขนงต่างๆ จนเวลาผ่านไปไม่นาน รัฐบาลจึงมีประกาศให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือต้องห้าม นับแต่นั้นมาก็ไม่มีสื่อมวลชนสำนักใดกล้าสัมภาษณ์คนทั้งสองอีกเลย แต่ที่ร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ทั้งสองถูกดำเนินคดีในข้อหาให้ร้ายป้ายสีเจ้าหน้าที่รัฐอีกด้วย

ภายหลังคดีสิ้นสุดลง ทั้งสองถูกคุกคามจากอันธพาลไม่ทราบฝ่ายจนต้องหนีไปที่อื่น จนทุกวันนี้ไม่มีใครรู้ว่าทั้งสองอยู่ที่แห่งหนตำบลใด หรือถึงรู้ก็ไม่กล้าติดต่ออยู่ดี ด้วยเกรงในอำนาจรัฐจะเล่นงาน

 

ควรกล่าวด้วยว่า ก่อนที่ทั้งสองจะเขียนหนังสือเล่มดังกล่าวนั้น ทั้งสองเคยมีรายงานการสำรวจมลพิษในแม่น้ำฮว๋ายมาก่อน รายงานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นปัญหามลพิษในแม่น้ำดังกล่าวว่ามีความรุนแรงน่ากลัวเพียงใด มลพิษเหล่านี้มาจากโรงงานที่ไม่มีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ โรงงานเหล่านี้ล้วนเกิดจากทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ทั้งสิ้น ซึ่งจะว่าไปแล้วปัญหาชาวนาจีนที่ทั้งสองสะท้อนให้เห็นใน สำรวจชีวิตชาวนาจีน ก็มาจากแนวทางนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ตอนที่ทั้งสองกำลังมีชื่อเสียงอบอวลจากการเปิดโปงชีวิตขมขื่นของชาวนาจีนอยู่นั้น หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งกำลังตีพิมพ์ผลงานเรื่อง ปริศนาเปาบุ้นจิ้น ของทั้งสองเป็นตอนๆ

แต่พอเกิดปัญหาขึ้นมา หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวก็ยุติการตีพิมพ์ทันที

ทั้งๆ ที่ ปริศนาเปาบุ้นจิ้น มีเนื้อหาโดยรวมอยู่ที่ชีวิตของเปาเจิ่ง ในส่วนที่กระทบพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็มิได้รุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้น การยุติการตีพิมพ์จึงมาจากการที่ทั้งสองเป็นบุคคลต้องห้ามเพียงสาเหตุเดียว

 

ผลก็คือ ปริศนาเปาบุ้นจิ้น ก็กลายเป็นหนังสือต้องห้ามไปโดยที่ไม่ได้ถูกห้าม

ส่วน สำรวจชีวิตชาวนาจีน นั้น ต่อมาได้ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ หลายภาษา

ในภาษาไทยก็มีผู้แปลเช่นกันโดยให้ชื่อหนังสือว่า ฤๅเรือจะล่มน้ำ ผู้แปลคือ ดุษฎี เฮย์มอนด์ ควรกล่าวด้วยว่า หนังสือเล่มนี้ได้ทับศัพท์ชื่อผู้เขียนว่า เฉินกุ้ยตี้ และ อู๋ชวนเทา ชื่อหลังซึ่งเป็นชื่อภรรยานั้นต่างกับชื่อ ชุนเถา ใน ปริศนาเปาบุ้นจิ้น ที่ถูกแล้วชื่อผู้เป็นภรรยาคือ อู๋ชุนเถา

ถึงตรงนี้เราก็คงเข้าใจแล้วว่า นอกจากเรื่องจริงของเปาบุ้นจิ้นที่เป็นสาระสำคัญของบทความนี้แล้วก็ยังมีสาระด้านอื่นปะปนเข้ามาด้วย สาระอื่นที่ปะปนเข้ามานี้ประกอบไปด้วยชะตากรรมของสุสานเปาเจิ่ง ชะตากรรมของหนังสือเรื่อง ปริศนาเปาบุ้นจิ้น และชะตากรรมของเฉินกุ้ยตี้และอู๋ชุนเถาสองสามีภรรยาผู้เขียนหนังสือเล่มนี้

เปาบุ้นจิ้น เปาเจิ่ง หรือเปากง มีชื่อเสียงเกียรติคุณขึ้นมาได้ก็ด้วยบทบาทขุนนางที่ซื่อสัตย์สุจริตและยุติธรรมโดยแท้

เรื่องราวทั้งที่เป็นเรื่องจริงและเรื่องแต่งต่างก็มีคติสอนใจและเป็นแบบอย่างให้ยึดถือทั้งสิ้น

แต่เมื่อดูถึงปลายทางชีวิตที่อยู่ในรูปของสุสานแล้ว คติสอนใจดังกล่าวกลับไร้ความหมายในยุคสมัยหนึ่ง ส่วนปัจจุบันที่จีนเปิดกว้างมากขึ้น เรื่องราวของเปาเจิ่งมิใช่สิ่งต้องห้ามอีกต่อไป แต่คติสอนใจจะมีหรือไม่มีความหมายแก่ใครอย่างไรนั้น ย่อมเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล

ทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องจริงของเปาบุ้นจิ้นที่มีชื่อจริงว่า เปาเจิ่ง และมีชื่อที่เรียกขานกันอย่างยกย่องว่า เปากง