ฉัตรสุมาลย์ : ABC 3 ที่จาการ์ตา การประชุมของเหล่าภิกษุณี

ABC ไม่ใช่ ก ข ค นะคะ

ABC ครั้งแรก หมายถึงงานประชุมภิกษุณีอาเซียน ที่ต้องเป็นอาเซียนก็เพราะไปจัดที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ที่เขามีการเปิดหลักสูตรอาเซียน เราจะทำอะไรต้องดูสถานที่ และเหตุการณ์ให้พอเหมาะกัน ABC หมายถึง ASEAN Bhikkhuni Conference

คราวนั้น เดือนกันยายน พ.ศ.2558 ค่ะ มีภิกษุณีที่มาเสนอบทความจาก 5 ประเทศ เป็นอาเซียน 4 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม และมีอินเดียมาแถม แต่อินเดียไม่ได้อยู่ในอาเซียน

การจัดงานครั้งนั้นมีทั้งภิกษุและภิกษุณี และได้จำนวนนักศึกษาช่วงเช้า 500 คน ช่วงบ่ายอีก 500 คน การจัดงานครั้งนั้น ผู้จัดก็พอใจทีเดียว

ต่อมา 2559 เราเกิดความตระหนักว่า ควรขยายฐาน เพราะในประเทศอาเซียนมีภิกษุณีเพียง 4 ประเทศที่ว่ามานั่นเอง

คราวนี้ ดูเหมือนว่าจะติดใจ ABC คงเป็นเพราะมันเรียกง่าย แต่ครั้งที่สอง หมายถึง ASEAN Buddhists Conference เปิดกว้างเป็นการประชุมชาวพุทธอาเซียน โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวพุทธ เปิดพื้นที่ที่จะไหลไปมาถ่ายเทซึ่งกันและกันได้คล่องขึ้น

ในความเป็นจริง การช่วยเหลือกันระหว่างประเทศก็มีอยู่แล้ว แต่ต้องการสร้างเครือข่ายให้กว้างขึ้น โดยการหยิบยืมบุคลากร สนับสนุนช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะสำหรับภิกษุณีนั้น ในช่วงแรกของการเกิดขึ้นต้องอาศัยซึ่งกันและกันมากอยู่

พูดให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น เวลารับกฐิน ก็ต้องมีพระภิกษุณีจำพรรษาครบ 4 รูป จึงจะรับกฐินได้ ก็มีการนิมนต์พระภิกษุณีจากไทยไปเข้าพรรษาช่วย ครั้นเวลาจะถวายกฐินจริงก็ต้องมีรูปที่ 5 ที่จะเป็นผู้สวดมอบผ้ากฐินให้

แรกๆ ทางฝ่ายเวียดนามก็จะนิมนต์ภิกษุณีจากศรีลังกา ต่อมาก็นิมนต์จากไทย ด้วยความสามารถในการใช้ภาษาในการอธิบายธรรมะให้แก่ญาติโยมที่มาในงาน

 

พ.ศ.2561 ABC ขยับเป็น ABC 3 คราวนี้ใช้อักษรย่อในความหมายว่า เราเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงกัน และไม่ได้ทำเฉพาะการจัดงานประชุมนานาชาติ แต่มีทั้งอบรมนักบวช มีทั้งการจัดเข้าเงียบ และการอบรมชาวพุทธสตรี ABC ใช้ในความหมายว่า Asian Buddhism Connection

นี่ก็เป็นพัฒนาการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ก้าวออกมาจากอาเซียน เพราะไม่ได้จัดที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมแล้ว ออกไปสู่โลกที่เป็นจริงกว่าอาเซียน นั่นคือเอเชีย

ที่เรียกว่าเป็นจริงกว่า เพราะประเทศที่มีภิกษุณีนั้น มีทั้งในอินเดีย ศรีลังกา โดยเฉพาะศรีลังกาไม่สามารถทิ้งได้เลย เพราะการเกิดขึ้นของภิกษุณีเถรวาทในปัจจุบันมีรากฐานมาจากศรีลังกานั่นเอง

ท่านธัมมนันทาเป็นประธาน และมี ดร.อมรชึพ โลจัน จากมหาวิทยาลัยเดลลี เป็นเลขานุการของงาน ABC

 

คราวนี้ จะเล่าถึงการประชุม ABC 3 ที่ไปจัดที่อินโดนีเซีย เพราะภิกษุณีคือท่านฐิตาจารินี ชาวอินโดนีเซีย กำลังทำปริญญาเอกอยู่ที่ศรีลังกา ได้มาร่วมประชุม ครั้งที่ 1 และ 2 เห็นความเป็นไปได้ในประเทศของท่าน จึงเสนอเข้ามาที่ท่านประธาน ท่านประธานจึงบินไปอินโดนีเซียเพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้

สถานที่ที่จะจัดงานประชุม คือที่ปราสาทชินรักขิตตะ ในเมืองจาการ์ตา ที่เรียกว่าปราสาทนั้น ที่จริงคือศูนย์ของชาวพุทธนิกายพุทธยาน เป็นอาคาร 8 ชั้น แต่ละชั้นทำหน้าที่ต่างๆ กันไป เราใช้ชั้นที่สอง ซึ่งเป็นห้องประชุมที่สามารถจุคนได้ถึง 1,000 คน หากมีคนน้อยลง ก็สามารถใช้ม่านกั้นให้ห้องเล็กลงได้

จริงๆ แล้วเคยเขียนถึงนิกายนี้มาแล้วในคอลัมน์นี้ เรียกว่า สังฆะอากุงอินโดนีเซีย หรือพุทธยาน

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีลักษณะเฉพาะ คือประกอบด้วยเกาะเล็กเกาะน้อยถึง 7,000 เกาะ ประชากร 300 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม มีชาวพุทธเพียง 1% ประมาณ 3 ล้านคน แต่ในการเสนอผลงานทางวิชาการคราวนี้ คุณวิโดโดทำกราฟให้ดูว่า จำนวนประชากรพุทธกำลังลดน้อยลง ภายใน 10 ปีข้างหน้า อาจจะเหลือเพียงครึ่งเดียว

ในจำนวนชาวพุทธ 3 ล้านนี้ ส่วนใหญ่เป็นนิกายพุทธยาน ต่อมาเป็นมหายาน และเถรวาท เถรวาทเป็นน้องน้อยสุดท้าย

ทั้งประเทศมีพระภิกษุประมาณ 50 รูป ส่วนใหญ่มาจากนิกายธรรมยุตจากประเทศไทย

 

งานประชุมที่เราไปครั้งนี้ ไปจัดงานร่วมกับพุทธยาน พุทธยานมีลักษณะแปลกตรงที่ว่า มีทั้งเถรวาท มหายาน และวัชรยาน อยู่ด้วยกัน

ด้วยหลวงปู่ชินรักขิตตะ ท่านเกิด พ.ศ.2466 และมรณภาพเมื่อ 2545 นี้เอง ท่านเริ่มต้นจากการเป็นสามเณรในนิกายมหายาน ท่านมีครูบาอาจารย์สายวัชรยานด้วย และท้ายสุดท่านเดินทางไปอุปสมบทเป็นภิกษุที่พม่า เรียกว่า สืบสายการบวชจากเถรวาท

ด้วยประวัติส่วนตัวเช่นนี้ ท่านจึงเตรียมฐานลูกศิษย์ของท่านที่มีทั้งมหายาน วัชรยาน และเถรวาท

ปัจจุบัน ประธานสงฆ์ของพุทธยานเป็นเถรวาท และน่าจะสลับกันในอนาคตเมื่อทางฝ่ายมหายานและวัชรยานในพุทธยานกล้าแข็งขึ้น

นิกายเถรวาทในอินโดนีเซีย พระภิกษุส่วนใหญ่มาบวชในเมืองไทย จึงไม่ยอมรับภิกษุณี ภิกษุณีเถรวาทชาวอินโดนีเซีย โดยการนำของภิกษุณีสันตินี (มีอารามอยู่ที่มารีบายา ใกล้ไปทางบันดุง) ที่บวชมาตั้งแต่ พ.ศ.2543 ก็ยังมีภิกษุณีเพียง 3 รูป ยังไม่สามารถสร้างสังฆะได้

แต่กลุ่มเถรวาทในนิกายพุทธยานเปิดรับภิกษุและภิกษุณี

ในกลุ่มของพุทธยานจึงมีภิกษุณีสายเถรวาทที่อุปสมบทที่ศรีลังกา และเรียนปริญญาเอกอยู่ที่นั่น 2 รูป

และดูว่าจะมีอนาคตที่จะเติบโตได้ดีกว่า เพราะได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากพระภิกษุในนิกายพุทธยานเอง

 

การทำงานของ ABC ส่งผ่านเข้ามาทางสายภิกษุณีที่ว่านี้ กำลังสำคัญของชาวพุทธและคณะสงฆ์ในอินโดนีเซีย คือสมาคมสตรีชาวพุทธ ประธานคือ มาดามลูซี่ มีอิทธิพลในสังคมอินโดนีเซียอย่างมาก งานประชุมนานาชาติ ถ้าได้มาดามลูซี่เป็นฐานกำลังให้ ก็รับรองว่าสำเร็จไปกว่าครึ่งแล้ว

พิธีเปิดงานประชุมก็จัดทำอลังการมาก มีผู้คนมาร่วมกว่า 400 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับรัฐมนตรีมาเป็นผู้เปิดงาน ทราบว่าท่านให้งบประมาณสนับสนุนการจัดงานก้อนโตไม่น้อย

มีผู้เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมจาก 16 ประเทศ จากประเทศไทย มีผู้เสนอบทความ 7 รูป/คน บทความทั้งหมดมี 45 บทความ มีส่วนที่เป็นภาษาอินโดนีเซีย ร้อยละ 20

การประชุมคราวนี้ เน้นหัวข้อเรื่องพุทธศาสนา สตรี และการศึกษา

ที่น่าประทับใจคือ บทความภาษาอังกฤษทั้งหมดที่ส่งเข้ามาภายในเวลาที่กำหนด ได้รับการแปลและพิมพ์เป็นภาษาท้องถิ่น ให้เป็นประโยชน์แก่ชาวพุทธอินโดนีเซียจริงๆ

 

ท่านอาจารย์สุชาโต พระภิกษุสายอาจารย์ชาที่ได้รับการอุปสมบทไปจากประเทศไทย ได้รับนิมนต์ไปออสเตรเลีย เพื่อเป็นองค์ปาฐก ท่านให้การสนับสนุนบทบาทของภิกษุณีในการที่จะเข้ามาช่วยกันส่งเสริมงานของพระศาสนา

พวกเราที่มาจากต่างประเทศและผู้เสนอบทความในประเทศอีก 50 คน ได้พักที่โรงแรมเฟฟ ซึ่งเป็นโรงแรมที่ใกล้กับสถานที่จัดงานมากที่สุด ระยะทางประมาณ 2 ก.ม. ก็มีคนเดินกลับเองเหมือนกัน

งานที่นำเสนอมีหลายบทความที่น่าสนใจ แต่ที่คนฟังรู้สึกถึงความแตกต่าง คือการเสนองานของพระภิกษุ จะพูดถึงบทบาทของพระภิกษุที่จำกัดในวัด พูดถึงการศึกษา ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ตามประเพณีนิยม ไม่มีการเสนอบทความของพระภิกษุเลยสักประเทศเดียว ที่นำเสนองานที่ออกสู่สังคม ทั้งลาว เขมร พม่า ภูฐาน

ในทางตรงกันข้าม งานของพระภิกษุณีทั้งจากทิพยสถานธรรม เกาะยอ และวัตรทรงธรรมกัลยาณี นครปฐม นำเสนองานที่เป็นประโยชน์แก่สังคม

เป็นการยืนยันพระพุทโธวาทที่พระพุทธองค์รับสั่งแก่พระภิกษุที่เป็นพระอรหันต์ล้วน 60 รูป ให้ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท

 

ท่านธัมมนันทาพูดถึงการทำงานที่มีความเอื้ออาทรกันในหมู่ภิกษุณีที่เป็นรูปแรกของประเทศในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย ไทย และศรีลังกา ว่า ต้องสนับสนุนเกื้อกูลกันเพื่อความอยู่รอดของภิกษุณีสงฆ์ในภาพรวม

ภิกษุณีธัมมวัณณาพูดถึงงานของภิกษุณีที่เข้าไปช่วยเหลือเยียวยาจิตใจของสตรีผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นงานที่ทำต่อเนื่องกันมากว่า 7 ปีแล้ว จนผู้การเรือนจำประจำจังหวัดขอให้เป็นงานอบรมหลักของเรือนจำ

ภิกษุณีธัมมกมลาเล่าถึงงานที่เกาะยอที่ดูแลคนป่วยใกล้ตาย จนถึงวาระสุดท้าย ภาพที่ภิกษุณีต้องประคองโลงศพสี่มุมกันเอง ยกร่างอันไร้วิญญาณลงโลง ทุกอย่างภิกษุณีจัดการกันเองทั้งสิ้น

เรียกน้ำตาผู้เข้าร่วมประชุมทีเดียว

 

งานปิดประชุม เจ้าภาพพาเราออกเดินทางออกไป 2 ชั่วโมง รถ 20 คัน วิ่งตามกันไปโดยมีรถตำรวจนำ เราไปสักการะหลวงปู่ชินรักขิตตะที่นั่น วัดศากยะวนาราม วัดที่ท่านอยู่และเผยแผ่ธรรมะ

หลังจากการมอบของขวัญที่น่าประทับใจคือ บรมพุทโธที่ถักด้วยเส้นเงิน แล้ว ก็มีการมอบธง ABC เป็นหมายว่ามีการส่งต่องาน ABC จากอินโดนีเซียไปสู่เนปาล ประเทศเจ้าภาพครั้งที่ 4 ที่จะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า

สมาคมสตรีชาวพุทธของอินโดนีเซียร้องเพลงของตัวเองด้วย เรียกว่า วนิตาบุดดิสชยา หลังจากนั้น ท่านธัมมนันทากล่าวถึงความประทับใจที่ท่านมีในการจัดการประชุมครั้งนี้

และเตือนให้ชาวพุทธเถรวาทตระหนักว่า เราต้องเป็นชาวพุทธก่อนเถรวาท เราต้องเน้นจุดร่วม ดังเช่นที่นิกายพุทธยานทำให้ดู ทั้งเถรวาท มหายาน และวัชรยานสามารถอยู่ด้วยกันได้

พระภิกษุเถรวาทที่บวชไปจากไทยนั้น ส่วนใหญ่เป็นธรรมยุต แต่ก็ลงปาฏิโมกข์ร่วมกันกับภิกษุเถรวาทที่มาจากศรีลังกา และภิกษุที่บวชมาจากมหานิกายได้อย่างไม่มีปัญหา

ล้วนเป็นงานที่เป็นกุศลและน่าศรัทธาทั้งสิ้น

ใช่ค่ะภิกษุณีไทยกำลังก้าวไปข้างหน้า เป็นการพลิกหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเถรวาทในเอเชีย