ขอม ไม่ใช่ชนชาติ ไม่มีคำว่า ขอม ในเขมร | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ปราสาทบายน (AFP PHOTO / VOISHMEL) / VOISHMEL

“ขอม หมายถึง เขมรในกัมพูชาอย่างแน่ชัดมาแต่โบราณ” จิตร ภูมิศักดิ์ บอก
โดยสรุปไว้ในหนังสือ “ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม” (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้ง
แรก พ.ศ. 2547)

ยกข้อความนี้มาเพื่อบอกกล่าวข่าวสารข้อมูล แก่ผู้มีคำถามส่งถึงผมว่าขอมเป็น
ใคร? มาจากไหน? ขอมเป็นสยามหรือไม่? ฯลฯ

นอกจากนั้น ยังมีข้อความอยู่ในหนังสือ อยุธยา มาจากไหน? เกี่ยวกับขอมและ
สยาม จะคัดมาดังนี้

 

ขอม

ขอม ไม่ใช่ชื่อชนชาติเฉพาะ ฉะนั้นไม่มีชนชาติขอมในโลก

แต่ขอมเป็นชื่อทางวัฒนธรรมมีขึ้นราวหลัง พ.ศ. 1500 ใช้สมมุติเรียกคนบริเวณ
ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่นับถือศาสนาพราหมณ์และพุทธมหายาน แล้วใช้ภาษาเขมรสื่อสาร
ในชีวิตประจำวัน กับใช้อักษรเขมรในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

เช่นเดียวกับคำว่าแขก ใช้สมมุติเรียกผู้นับถือศาสนาอิสลาม และคำว่าคริสต์ ใช้
สมมุติเรียกผู้นับถือศาสนาคริสต์ [ปรับปรุงใหม่จากข้อเขียนนานมากแล้วของ ม.ร.ว.
คึกฤทธิ์ ปราโมช]

เขมรไม่เรียกตัวเองว่าขอม และไม่มีคำว่าขอมในเขมร แต่รู้ภายหลังว่าถูกไทย
เรียกขอม

ศูนย์กลางขอมครั้งแรกอยู่ที่รัฐละโว้ (ลพบุรี) ต่อมาย้ายลงไปอยู่ที่อโยธยาศรีราม
เทพ (ต่อไปคือกรุงศรีอยุธยา) แล้วถูกขยายสมัยหลังไปอยู่กัมพูชา

ด้วยเหตุนี้ใครก็ตามจะถูกเรียกขอมทั้งนั้น ไม่ว่ามอญ เขมร มลายู ลาว จีน จาม
หรือ ไทย ฯลฯ เมื่อนับถือพราหมณ์และพุทธมหายาน แล้วสังกัดรัฐละโว้-อโยธยา และ
อาณาจักรกัมพูชา

แต่คนทั่วไปมักเข้าใจต่างกันเป็น 2 อย่าง ว่า ขอมคือเขมร และ ขอมไม่ใช่เขมร
กรณีขอมไม่เขมร มีเหตุจากการเมืองสมัยใหม่ ลัทธิชาตินิยมช่วงสงครามเย็น โดย
เฉพาะกรณีพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหาร เพื่อแสดงว่าไทยเป็นเจ้าของ บรรดาคนชั้น
นำไทยปลุกระดมว่าขอมสร้างปราสาทพระวิหาร ซึ่งไม่เขมร แต่ในทางวิชาการสากล
คนทั้งโลกไม่เชื่อคนชั้นนำไทย

สยาม

สยาม ไม่ใช่ชื่อชนชาติเชื้อชาติ แต่เป็นชื่อดินแดนที่คนพวกอื่นซึ่งอยู่ภายนอกใช้
เรียกบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำโขงตอนบนอย่างกว้างๆ หลวมๆ
ครั้นสมัยหลังมีขอบเขตแคบลงเหลือเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง (ที่บางครั้ง
ยาวต่อเนื่องลงไปถึงนครศรีธรรมราช)

ไทยเป็นชาวสยาม แต่สยามไม่ใช่คนไทย เพียงแต่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษา
กลาง

สยามไม่ใช่ชื่อชาติพันธุ์หนึ่งใดโดยเฉพาะ แต่เรียกกลุ่มคนที่เกิดและมีหลักแหล่ง
อยู่ดินแดนสยามว่าชาวสยาม โดยไม่จำกัดชาติพันธุ์หรือชาติภาษา

แต่ชาวสยามมักสื่อสารกันทั่วไปด้วยตระกูลภาษาไต-ไท (ซึ่งสมัยโบราณเป็น
ภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายใน)

คนเกิดมาไม่ว่าชาติพันธุ์อะไร (แม้เป็นตระกูลมอญ-เขมร, ชวา-มลายู, ไต-ไท
ฯลฯ) ถ้ามีหลักแหล่งอยู่ในดินแดนสยามแล้ว ถูกเรียกเหมาหมดว่าชาวสยาม
เช่น คนนานาชาติพันธุ์บริเวณสองฝั่งโขงที่มีเวียงจันเป็นศูนย์กลาง เคยถูกเรียก
ว่าพวกสยาม ด้วยคำเขมรว่า เสียมกุก หรือ เสียมก๊ก, สยามก๊ก เมื่อเรือน พ.ศ. 1650
(มีคำจารึกและภาพสลักบนระเบียงปราสาทนครวัด)

ชาวยุโรปเรียกกรุงศรีอยุธยาว่าสยาม หรือราชอาณาจักรสยาม ต่อมาเรียกกรุง
รัตนโกสินทร์ว่าประเทศสยาม

สยามมีรากจากคำพื้น เมืองดั้งเดิม ว่า ซมั , ซำ, หรือ สาม หมายถึงบริเวณทีมี่น้ำซึม
น้ำซับ เป็นตาน้ำพุน้ำผุดโผล่ขึ้นจากแอ่งดินอ่อนหรือดินโคลน

น้ำซึมน้ำซับหรือตาน้ำพุน้ำผุดเหล่านั้น เกิดจากน้ำฝนที่รากต้นไม้อุ้มไว้ทั้งบนภูเขา
และบนเนินดอน แล้วค่อยๆ เซาะซอนใต้ดินมาพุมาผุดขึ้นบริเวณดินอ่อนหรือดินโคลน
ที่ราบเชิงเขาหรือเชิงเนินดอน จนบางแห่งกลายเป็นที่ลุ่มห้วยหนองคลองบึงบุ่งทาม
เช่น หนองหานที่สกลนคร, หนองหานที่อุดรธานี, บึงบอระเพ็ดที่นครสวรรค์ เป็นต้น
[ปรับปรุงจากหนังสือ ความเป็นมาของคำสยามฯ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ พิมพ์ครั้ง
แรก พ.ศ. 2519]