ขอแสดงความนับถือ ฉบับวันที่ 4 – 10 พ.ย. 2559

มี จดหมายจาก 2 หน่วยงาน

ขอชี้แจง “มติชนสุดสัปดาห์”

ยินดี

แต่ขออนุญาตตัดทอนเพื่อความเหมาะสมของพื้นที่

ตามที่ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 7-13 ตุลาคม 2559 นำเสนอบทความ “ย้อนรอยมหาอุทกภัย “54 กับก้าวบริหารจัดการน้ำยุคปัจจุบัน เดินหน้า-ถอยหลัง หรือย่ำอยู่กับที่”

มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า

…ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ซ้ำซาก เกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่มีทีท่าว่าปัญหาจะลดลง ตามจำนวนโครงการที่เพิ่มขึ้นและงบประมาณที่ใส่ไป

เป็นเพราะความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำหรือไม่…

กรมชลประทานขอเรียนว่า

ประเทศไทยนั้น ปัจจุบันดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ พ.ศ.2558-2569 (12 ปี)

โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ “ทุกพื้นที่มีน้ำใช้เพียงพอ ไม่มีความเสียหายจากน้ำ น้ำมีคุณภาพดี ไม่มีมลพิษ เกิดจิตสำนึกของการแบ่งปันและประหยัดน้ำ” ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อ 7 พฤษภาคม 2559

โดยมี 6 ยุทธศาสตร์ด้วยกันคือ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค โดยการจัดการน้ำต้นทุนให้เพียงพอกับการอุปโภคบริโภค

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยปี 2569 จะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 8.7 ล้านไร่ เพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำ 4,800 ล้าน ลบ.ม. และบริหารจัดการให้สามารถใช้น้ำต้นทุนได้เพิ่มขึ้น 9,500 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจากการดำเนินการในปี 2558-2559 พัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มปริมาณน้ำได้ 756 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 1.35 ล้านไร่

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย โดยมีแนวทางในการปรับปรุงทางน้ำสายหลักและลำน้ำสาขา อาคารชลประทาน ระบบผันน้ำ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 จัดการคุณภาพน้ำ ปัจจุบันมีการระบายน้ำจากเขื่อนมาใช้ผลักดันน้ำเค็ม 2,800 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี นอกจากนั้น มีแผนเพิ่มสถานีตรวจสอบคุณภาพน้ำด้านความเค็ม รวมทั้งการสร้างอาคารป้องกันน้ำเค็มใกล้ปากแม่น้ำ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม มีการปลูกป่าทดแทนพื้นที่ป่าไม้ที่กลายเป็นแหล่งเก็บกักน้ำประมาณ 2 เท่า และมีการสนับสนุนและร่วมป้องกัน ดูแลพื้นที่ป่าร่วมกับกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ

ยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารจัดการน้ำ ใช้หลักการบริหารจัดการโดยการติดตามข้อมูลน้ำ วิเคราะห์และบริหารจัดการน้ำ ถูกต้อง แม่นยำและน่าเชื่อถือ

การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์น้ำเพิ่งดำเนินการเพียง 2 ปี โดยเน้นแก้ปัญหาพื้นที่วิกฤตก่อน ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็ก เน้นการจัดหาน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลัก

ส่วนโครงการขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เช่น พื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากต้องศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยอยู่ระหว่างดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย

ที่จะสามารถดำเนินได้ในปี 2560 เป็นต้นไป เช่น การพัฒนาโครงข่ายการระบายน้ำในพื้นที่สุโขทัย-พิษณุโลก การปรับปรุงโครงข่ายน้ำในพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง นครราชสีมา และชัยภูมิ เป็นต้น

กรมชลประทานได้เร่งแก้ไขปัญหาตามกลยุทธ์และยุทธศาสตร์ต่างๆ ให้ความสำคัญกับพื้นที่ประสบปัญหามาเป็นเวลานาน เช่น การพัฒนาบึงบอระเพ็ด โครงการอ่างเก็บน้ำแม่สอดตอนบน รองรับพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ปี 2561-2569

การบริหารจัดการน้ำ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 ปี และต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จึงจะสัมฤทธิผล

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

นายสัญชัย เกตุวรชัย

อธิบดีกรมชลประทาน

 

ตามที่ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 14-20 ตุลาคม 2559 ลงจดหมายร้องเรียนว่า น้ำประปาเทศบาลขอนแก่นมีทรายปะปนจำนวนมากนั้น

การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) โดย กปภ.สาขาขอนแก่น ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาภายในพื้นที่เทศบาลนครขอนแก่น ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการคือตำบลในเมืองทั้งตำบล

ไม่พบว่ามีบริเวณใดประสบปัญหาดังกล่าว

ทั้ง กปภ.สาขาขอนแก่น ไม่ได้นิ่งนอนใจ จัดส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการระบายตะกอนในเส้นท่ออย่างต่อเนื่อง

สำหรับกรณีน้ำประปามีทรายปะปน อาจมีสาเหตุจากระบบประปาภายในบ้านขัดข้อง ดังนั้น จึงขอให้ลูกค้าที่ประสบปัญหา โปรดแจ้งข้อมูล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ ไปที่ กปภ.สาขาขอนแก่น โทรศัพท์ 0-4322-8313 และ 0-4322-1218 หรือ PWA CALL CENTER โทร 1662 เพื่อจัดส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบโดยเร่งด่วน

จึงเรียนมาเพื่อทราบ

นางนรัญชลี รุ่งรัตนาอุบล

ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กรและลูกค้าสัมพันธ์

ปฏิบัติงานแทน ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค

 

หนังสือชี้แจงทั้ง 2 ฉบับ มาถึง “มติชนสุดสัปดาห์” หลังลงเรื่องไปไม่กี่วัน

แต่ด้วยเหตุ “โศกอาลัย” ของชาติ ทำให้ “ตกค้าง” มาถึงฉบับนี้

แต่คงไม่ช้า เพราะสิ่งที่ 2 หน่วยงานแสดงออกมา

ถือเป็น “การเอาใจใส่” ต่อชาวบ้าน

สอดคล้องกับแนวทางที่ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ทรงให้ไว้

“การทำงานทุกอย่างของข้าราชการนั้นมีผลเกี่ยวเนื่องถึงประโยชน์ส่วนรวมของบ้านเมืองและประชาชนทุกคน เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ทุกๆ ประการให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ โดยเต็มกำลังสติปัญญา ความรู้ ความสามารถ”

ขอบพระคุณ