คำ ผกา : ความโง่ไม่ได้มาโดยกำเนิด

คำ ผกา

“ทําไมพวกคุณไม่มาจัดรายการวิทยุบ้าง ทำไมช่องคุณไม่เอารายการที่พวกคุณจัดมาออกวิทยุล่ะ” แท็กซี่คนหนึ่งถามฉัน หลังจากที่เขาจำได้ว่าฉันจัดรายการข่าวที่เขาชอบดู

“ข่าวช่องคุณมีสาระดี เสียดายตอนนี้ผมไม่ได้ดูแล้วเพราะต้องขับรถ”

ฟังดังนั้นฉันก็ตอบไปอย่างไร้เดียงสาว่า ดูทางเน็ตย้อนหลังได้เสมอนะคะ เมื่อกลับบ้านแล้ว”

แท็กซี่ตอบว่า

“โอ๊ยยย กลับบ้านก็เหนื่อยแล้วครับ ไม่มีเวลามาหาดูอะไรแล้ว ค่าเน็ตมือถือ ถ้าเอาไปดูอะไรเยอะๆ ก็หมดเร็ว ต้องเก็บไว้ใช้เท่าที่จำเป็น ผมจะได้ดูก็เฉพาะวันที่หยุดก็เปิดทีวีทิ้งไว้ ดูไปเรื่อยๆ”

บทสนทนานี้ทำให้ฉันนึกถึงที่คนเขาว่ากันว่าความจนทำให้คนต้องทำอะไรที่ดูโง่โดยไม่จำเป็นและโดยที่เขาไม่ใช่คนโง่เลยแม้แต่น้อย

จะเข้าใจง่ายเมื่อนึกถึงคำว่า “เงินต่อเงิน” ซึ่งเข้าใจได้ทันทีว่ามันหมายถึงคนที่มีความฟุ่มเฟือยในชีวิตพอที่จะ “ขาดทุน”

เช่น หากมีคนมาเสนอขายคอนโดฯ ราคาหนึ่งล้านห้าแสนบาท พร้อมเสนอว่ามีผู้เช่าในคอนโดฯ นั้นอยู่แล้ว รายได้จากค่าเช่าเดือนละแปดพันบาท เป็นรายได้ที่สูงกว่าเอาเงินล้านห้าไปฝากธนาคาร

ประเด็นคือ ถ้าฉันมีเงินทั้งเนื้อทั้งตัวแค่ห้าแสนบาท ฉันคงไม่สามารถเสี่ยงไปซื้อคอนโดฯ นี้ ทั้งๆ ที่เห็นชัดเจนว่ามีผลตอบแทนที่ดีรออยู่ (และอาจทำให้ดูโง่ที่ไม่กล้าลงทุน เลยหมดโอกาสที่จะแสวงหากำไรโดยใช้แรงน้อยๆ)

แต่ถ้าฉันมีเงินสองล้าน อาจจะเจียดไปซื้อ จากนั้นก็สามารถสะสมทุนต่อจากค่าตอบแทนจากค่าเช่า

ต่อจากนั้นฉันอาจนำเงินที่ได้มาโดยไม่ต้องลงแรงมากนี้ไปลงทุนกับหุ้น หรือทอง หรืออื่นๆ ที่อาจนำมาซึ่งความขาดทุนเท่าๆ กับที่อาจได้ค่าตอบแทนสูง อันอาจทำให้เกิดภาวะเงินต่อเงินไปได้อีกเรื่อยๆ

จากนั้นฉันก็สามารถบอกตัวเองได้ว่า “นี่สิ การลงทุนที่ฉลาด” ใช้เงินบริหารเงินไปเรื่อยๆ

ขาดทุนบ้างก็ไม่เคยเข้าเนื้อ

แต่เงื่อนไขที่ทำให้ฉันลงทุนอย่างฉลาดได้ และดูเหมือนจะรวยขึ้นเรื่อยๆ ได้ คือการที่ฉันมีเงินรองรังอยู่ระดับหนึ่ง

แต่ความจนทำให้เราโง่ลงโดยไม่จำเป็น ไม่ใช่แค่การไม่สามารถลงทุนได้อย่าง “ฉลาด” แต่กัดกินได้ลึกกว่านั้นเหมือนที่แท็กซี่เปิดสนทนาเอาไว้

สมมุติใหม่ว่า ถ้าฉันมีรายได้เดือนละเจ็ดพันถึงหนึ่งหมื่นบาทต่อเดือนและใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ต้องเช่าห้องพักราคาไม่เกินสองพันห้าร้อยบาท ซึ่งไม่อนุญาตให้ทำอาหารในห้อง เดินทางไปทำงานด้วยรถเมล์ รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เรือ หรือรถตู้

สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตของฉันเป็นอันดับแรกคือ ในเมืองที่รถติดเป็นบ้าเป็นหลัง เอาแน่เอานอนกับระบบขนส่งมวลชนราคาถูกไม่ได้ สิ่งแรกที่แพงๆ ที่สุดแล้วหายไปจากชีวิตอย่างแรกคือ “เวลา” เพราะจะต้องตื่นแต่เช้า จัดตัวเองให้อยู่ในสภาพพร้อมออกไปทำงาน และเผื่อเวลาสำหรับรถติดทั้งขาไปทำงานและกลับบ้าน

เวลาที่หายไปจากชีวิตวันละหนึ่งหรือสองชั่วโมง สามารถเปลี่ยนเป็นเวลาการนอนหลับพักผ่อนที่ยาวนานขึ้น เป็นเวลาที่จะดูหนัง ดูละคร หาความบันเทิงเล็กๆ น้อยๆ ให้กับชีวิต บริโภคข้อมูลข่าวสาร อ่านหนังสือพิมพ์ ดูข่าว

เรื่องนี้สำคัญอย่างไร เวลาการนอนที่ยาวนานขึ้นหมายถึงสุขภาพที่ดี นี่ยังไม่นับว่าการอยู่ในห้องเช่าเดือนละสองพันห้าร้อยบาท และการที่คุณต้องทำงานวันละแปดชั่วโมง

ไม่นับเวลาที่ใช้ในการเดินทาง ย่อมทำให้คุณไม่มีความฟุ่มเฟือยในชีวิตพอที่จะทำอาหารกินเอง ยกเว้นต้มมาม่า

ดังนั้น คุณต้องพึ่งพิงอาหารราคาถูกนอกบ้าน ที่ไม่การันตีทั้งสุขอนามัย คุณภาพ คุณค่าทางโภชนาการ

เมื่อการนอนและการกินไม่มีคุณภาพ ผลกระทบอันแรกคือ

ผลกระทบทางสุขภาพอันท้ายที่สุดจะทำให้คุณกลายเป็นคนที่ “จน” กว่าเดิม เพราะคุณอาจต้องไปหาหมอ ไปโรงพยาบาล อันทำให้เสียเงิน อย่างน้อยก็เสียค่ารถ เสียเวลา ต้องลางาน อันนำมาซึ่งการถูกหักค่าแรง หักเงินเดือน

ร้ายกว่านั้น คุณกลัวการเสียเงินไปหาหมอ และกลัวการถูกหักค่าแรง คุณอาจลงเอยด้วยการซื้อยามากินเอง และวินัจฉัยโรคภัยต่างๆ ด้วยตัวคุณเอง

เช่น ปวดหัวก็ซื้อยามากินเอง

เป็นหวัด ปวดท้อง ก็ซื้อยาระงับอาการเหล่านั้นมากินเอง กินน้อยไม่หาย คุณก็เพิ่มโดสของยา หรือกินยาที่แรงขึ้นไปอีก เพื่อให้หายเร็วๆ และทำงานต่อไปได้

สุดท้ายคุณก็จะพบว่าโรคพื้นฐานที่คุณเป็นก็ไม่ได้รับการรักษา แต่ตับ ไต กระเพาะคุณกลับพังเพราะการกินยาเองโดยหวังผลที่เร็ว

ทีนี้ โรคตับ ไต กระเพาะ ก็ยิ่งเรียกร้องการรักษาที่ยาวขึ้น เรียกร้องเวลา-อันเป็นทรัพยากรที่แพงที่สุด-ในการรักษาตัว

ทีนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คุณต้องเสียรายได้ เนื่องจากไม่สามารถไปทำงาน ต้องเสียเงินค่ารักษาพยาบาล และเสี่ยงที่จะตกงานเนื่องจากทางนายจ้างก็มองว่า ด้วยสภาพร่างกายเช่นนี้ก็ไม่คุ้มที่จะจ้างคุณต่อ ในภาวะที่มีคนรอทำงานเงินเดือนแทนที่คุณอีกเป็นจำนวนมาก

ไม่เพียงแค่นั้น เมื่อสังคมรับรู้เรื่องราวของคุณ ก็จะอธิบายว่า – นี่แหละตัวอย่างของการคิดสั้นไม่คิดยาว ทำอะไรแบบโง่ๆ ซื้อยากินเองจนตับ-ไตพัง ไม่รู้จักดูแลสุขภาพ กินอาหารไม่มีประโยชน์ ไม่พักผ่อน ไม่ออกกำลังกาย ฯลฯ

คุ้นๆ ไหมว่าเราได้ยินอะไรแบบนี้จนคุ้นชิน คนจนเพราะ “โง่” จนเพราะ “มักง่าย” กินแต่มาม่า กินแต่อาหารที่ไม่มีประโยชน์ กินอาหารไม่สะอาด กินของหมักดอง กินอาหารใส่แต่ผงปรุงรส ผงชูรส กินรสจัด แล้วยังซ้ำเติมตัวเองด้วยการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ สุดท้ายก็ป่วย ป่วยก็ทำงานไม่ได้ หาเงินไม่ได้ ก็จนต่อไปซ้ำซ้อน

แต่คนที่พูดเช่นนั้น ไม่ได้มองว่า หากคนจนคนนี้จะมีเวลาในชีวิตของเขามากกว่า

หากเมืองนี้รถจะไม่ติดวายป่วงเท่านี้ หากขนส่งมวลชนประเทศนี้จะเป็นที่พึ่งและเป็นที่วางใจมากกว่านี้

หากจะมีสวัสดิการห้องเช่าผู้มีรายได้น้อยที่เปี่ยมคุณภาพ ราคาสมเหตุสมผล หากและหาก และหาก

หากเขาอยู่ในเงื่อนไขที่เลือกได้มากกว่านี้เขาจะทำอะไร “โง่ๆ” ในแบบที่เขาต้อง/ได้ทำลงไปหรือไม่?

ดังนั้น มันจึงชัดเจนว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่โง่ หรือฉลาด

แต่ปัญหามันอยู่ที่ เราคือผู้มีความฟุ่มเฟือยในชีวิตพอที่จะได้เลือกทำในสิ่งที่ “ฉลาด” หรือเปล่าต่างหาก หรือเราจะต้องเลือกทำในสิ่งที่ดู “โง่” เพื่อให้วันนี้ผ่านพ้นไป เพื่อให้วันนี้มีแรงลุกไปทำงาน เพื่อให้วันนี้ยังได้ค่าแรงมาประทังชีวิต

ความโง่จำยอมนี้ไม่ได้ส่งผลให้เราต้องเข้าสู่วังวนของความจนอันไม่มีที่สิ้นสุดเท่านั้น

“เวลา” ที่เราถูกขโมยไปในแต่ละวัน ยังทำให้คนจนไม่มีโอกาสให้การศึกษาแก่ตนเองผ่านการอ่านหนังสือ การฟังข่าว ความบันเทิง ที่มีประโยชน์ต่อชีวิต

หรือเวลาในการพัฒนาทักษะ ความสามารถของตนเอง ดังที่แท็กซี่ท่านนั้นบอกกับฉันว่า เมื่อขับรถจนเหนื่อยมากแล้ว นอกจากรายการวิทยุที่ฟังในรถ กลับบ้านก็ไม่มีแรงที่จะหาดูหาฟังอะไรอีก ทั้งๆ ที่รู้ว่าอยากดูอะไร อยากฟังอะไร

และเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การคิดที่ซับซ้อน หรือการรับข้อมูลข่าวสาร ความบันเทิงที่ซับซ้อนไปกว่าการดูละครแย่งผัวตบตีกัน ความบันเทิงที่ซับซ้อนกว่าการดูประกวดร้องเพลง หรือความซับซ้อนของการดูข่าว วิเคราะห์ข่าวที่มากไปกว่าการดูข่าวที่เอาคลิปนักเรียนหญิงตบกัน คลิปรถชน คลิปขอหวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คลิปเจ้าของร้านข้าวต้มตบลูกค้าชาวจีน หรืออะไรเทือกนี้ – การเสพข้อมูลข่าวสารที่ซับซ้อนต้องการ “เวลา” และต้องการความสบายเนื้อสบายตัว ต้องการความปลอดโปร่งในชีวิตระดับหนึ่ง

แต่ทีนี้ ถ้าเราเป็นมนุษย์ที่ถูกกักขังเอาไว้ด้วยรายได้เดือนละเจ็ดพันถึงหมื่นห้า บ้านต้องเช่า ข้าวต้องซื้อ บางรายอาจต้องส่งเงินกลับไปเลี้ยงพ่อแม่ บางรายอาจต้องส่งเงินไปเลี้ยงลูกเต้าที่ต่างจังหวัด นี่คือสภาพที่เราถูกความยากจนกักขังไม่ให้เรามีโอกาสจะ “ฉลาด” ขึ้นจากที่เราเป็น หรือไม่เปิดโอกาสให้เราได้ฉลาด ได้มีศักยภาพตามที่เรามีอยู่จริง

เพราะมันทำให้เราไม่มีเวลาและเรี่ยวแรงพอที่จะได้ฟัง อ่าน คิด และครุ่นคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างมีวิจารณญาณ

พูดง่ายๆ คือ มันทำให้เราไม่มีเวลามาฉุกคิด หรือตั้งคำถามต่อสิ่งที่เราได้เห็นหรือได้ฟัง และง่ายมากที่จะทำให้เราเชื่อตามที่ได้เห็นได้ฟังโดยง่าย ไม่ต้องพูดถึงการที่มันทำให้เราไม่มีเวลาจะค้นหาและรู้จักศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง

ดังนั้น ความรุนแรงที่สุดของความยากจนคือมันทำให้เราไม่รู้ว่าเรา “ฉลาด” มันทำให้เราไม่รู้ว่าเรา “เก่ง” หนักกว่านั้นความยากจนในระยะยาวมันบังคับให้เราต้องอยู่ คิด และทำอะไรที่ “โง่” ไปโดยอัตโนมัติ

พูดให้ถึงที่สุดคือ ความยากจนไม่ใช่แค่ภาวะขาดแคลน แต่มันส่งให้เกิดกระบวนการที่จะทำให้คนจน จนต่อไปในเขาวงกต และบ่มเพาะความโง่เขลาให้เกิดแก่คนจนโดยไม่ยุติธรรมเลยแม้แต่น้อย และอาจพูดให้ชัดขึ้นไปอีกว่า

สิ่งที่ความจนทำกับเราคือ ความพยายามจะปล้นเอาสติปัญญาไปจากเราให้หมดจดที่สุดเท่าที่จะทำได้

ความจนและความโง่โดยละม่อมนั้นให้ประโยชน์แก่ใคร?

ในบางสังคม เห็นความจนและความโง่ ไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติและเศรษฐกิจของประเทศชาติเลย เหตุใดเราต้องสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ไปเพียงเพราะเขายากจน เรามีพลเมืองที่ฉลาด ที่มีศักยภาพ หน้าที่ของรัฐคือพัฒนาศักยภาพ ดึงทักษะของพวกเขาออกมา

ดึงสติปัญญาของพลเมืองทุกคนออกมาขับเคลื่อนประเทศ

สร้างนวัตกรรม สร้างเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาสังคม สิ่งที่รัฐและประเทศชาติจะได้ หากทำให้คนพ้นจากความจนคือ พลเมืองที่มีคุณภาพ เศรษฐกิจที่คึกคัก รัฐเก็บภาษีได้มาก ปัญหาอาชญากรรมลดลง พลเมืองเหล่านี้เมื่ออยู่ดีกินดี คุณภาพชีวิตดี มีลูกก็เลี้ยงลูกได้ดีต่อไป เป็นกำลัง เป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจต่อไปอีก

แต่น่าประหลาดมากที่ในบางสังคมต้องการหล่อเลี้ยงความจนเพื่อทำพลเมืองที่ฉลาดของตนเองให้ค่อยๆ โง่ลงเรื่อยๆ

ทำให้พลเมืองไม่มีเวลาครุ่นคิด เอาใจ ตั้งคำถาม

ทำให้คนเหนื่อยจนไม่สามารถเสพอะไรที่ซับซ้อน แต่พอใจกับละครน้ำเน่า การประกวดร้องเพลง หรือปาหี่เฟสติวัลเท่าที่มี และไม่มีความฟุ่มเฟือยในชีวิตที่จะทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม

เพราะลำพังการทำมาหากินรายวันก็แทบเอาตัวไม่รอด

ฉันก็ไม่รู้เหมือนกันว่าสังคมที่หล่อเลี้ยงความโง่และความจนไปเรื่อยๆ นี้มันจะส่งผลดีกับใครบ้าง

เพราะในระยะยาวแล้ว มันไม่น่าจะดีแก่ใครเลย

แม้แต่กับกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากความจนและความโง่นี้เพราะกำไรในระยะยาวก็ย่อมถดถอยเหมือนรีดเลือดจากปูที่ตัวเล็กลงเรื่อยๆ ท้ายที่สุดก็ไม่มีเลือดจะให้รีด

มีแต่ประชาชนอย่างเราที่ต้องพยายามดึงตัวเองให้มีแรงฉุกใจคิดให้ได้ทุกๆ วัน

และอย่างน้อยที่สุดจะไม่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตอกย้ำซ้ำเติมความจนและความโง่ที่อยู่รอบตัวโดยการผลิตซ้ำความเชื่อที่ว่า ความโง่ทำให้จน

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือเราไม่ได้โง่

แต่มันมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมืองที่จงใจกักขังเราไว้ในความจนและกดทับไม่ให้เรารู้ว่าเราฉลาดได้มากกว่าที่เรารู้และคิด!