ทำความรู้จัก “JOMO” สภาวะอิสระจากมือถือ

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ในขณะที่กำลังขับรถอยู่บนถนน

สายตาของซู่ชิงก็เหลือบไปเห็นผู้หญิงสามคนออกมาจากประตูคอนโดฯ แห่งหนึ่งและเดินตามทางเดินไปเรื่อยๆ

แม้ว่าทั้งสามคนจะมีหน้าตา ทรงผม และเครื่องแต่งกายที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสามคนล้วนอยู่ในอากัปกิริยาแบบเดียวกันเป๊ะๆ

คือทุกคนก้มหน้าเล่นโทรศัพท์มือถือในมืออย่างตั้งอกตั้งใจ แม้จะรู้อยู่แล้วว่านี่เป็นเรื่องปกติที่เห็นได้ทั่วไปในสังคมตอนนี้

แต่การได้เห็นทั้งสามคนเดินเรียงกันออกมาก็ทำให้อดจ้องต่อไปนานๆ ไม่ได้

ขณะเดียวกันในหัวก็นึกไปถึงซอมบี้ในซีรี่ส์ เดอะ วอล์กกิ้ง เดด ว่าช่างละม้ายคล้ายคลึงอะไรกันเยี่ยงนี้

ปัญหาคนติดมือถือในยุคปัจจุบันนำมาซึ่งปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างแปลก

คือปกติแล้วบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะผู้ผลิตสมาร์ตโฟนและผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการไม่ว่าจะเป็นแอปเปิลหรือกูเกิลนั้นควรจะต้องดีใจที่คนทั่วโลกติดโทรศัพท์กันงอมแงมขนาดนี้

เพราะยิ่งผู้ใช้ติดโทรศัพท์มากแค่ไหน ก็แปลว่ามีจำนวนคนใช้งานและเวลาการใช้งานสินค้าของพวกเขามากขึ้นเท่านั้น นำไปสู่การสร้างรายได้ก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

แต่อาการติดสมาร์ตโฟนของคนยุคใหม่ที่เข้าขั้นสาหัสทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องออกมาบอกว่า เดี๋ยวก่อนนะ เราใช้มือถือกันมากเกินไปแล้วหรือเปล่า และคิดค้นบริการใหม่ๆ ที่จะช่วยจำกัดการใช้มือถือออกมา

อย่างฟีเจอร์การรายงานระยะเวลาที่ใช้มือถือในแต่ละวันให้ผู้ใช้ได้เห็น หรือฟีเจอร์ตั้งเวลาจำกัดการใช้งานแอพพลิเคชั่น

ซึ่งมีทั้งในระบบปฏิบัติการไอโอเอสและแอนดรอยด์

 

ทีมนักวิจัยฝั่งแอนดรอยด์ของกูเกิลได้ทำการวิจัยค้นหาข้อมูลว่า เพราะอะไรกันแน่เราถึงได้ติดโทรศัพท์กันหนักขนาดนี้ โดยได้พูดคุยเก็บข้อมูลกับอาสาสมัคร 19 คน อายุระหว่าง 18-65 ปี ที่ใช้โทรศัพท์ทั้งระบบแอนดรอยด์และไอโอเอส และนำข้อมูลจากผู้ใช้อีก 112 คนในหลากหลายประเทศที่เคยเก็บเอาไว้อยู่แล้วมาประกอบการวิเคราะห์

ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาน่าสนใจมากค่ะ เขาสรุปสาเหตุที่เราติดโทรศัพท์มือถือได้ออกมา 2 ข้อ ซึ่งเป็น 2 ข้อที่เราต่างก็รู้ดีอยู่แล้วละ แต่อาจจะไม่เคยนึกถึงมันจริงจังมาก่อน

สาเหตุแรกก็คือ มีอะไรให้เราทำในโทรศัพท์เยอะมาก โทรศัพท์ได้ควบรวมอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ด้วยกันในเครื่องเดียว ทั้งกล้องถ่ายรูป เครื่องคิดเลข เครื่องอัดเสียง กระเป๋าสตางค์ ไปจนถึงไฟฉายและอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้มันต้องติดตัวเราอยู่ตลอดคล้ายกับหมาน้อยน่ารักที่จะวิ่งพันแข้งพันขาตามเราไปทุกที่

และเมื่อไหร่ที่เราไม่มีโทรศัพท์อยู่ในมือเราจะรู้สึกร้อนรน กังวล และติดขัดไปเสียหมด

สาเหตุที่สอง คือความรู้สึกว่าการต้องตอบข้อความที่คนส่งมาหาอย่างเร็วที่สุดเป็นสิ่งที่พึงทำ และถ้าทำไม่ได้ก็จะรู้สึกผิด ในด้านของผู้ส่งจะเกิดความรู้สึกกังขาขึ้น 3 รูปแบบ

1. สถานการณ์ คือเกิดความกังวลว่าคนที่เราส่งข้อความไปหาเขายุ่งอยู่หรือเปล่า

2. ส่วนตัว คือเกิดความกังวลว่าที่เขาไม่ตอบภายในทันทีเพราะว่าเขาโกรธเราไหม มีอะไรที่ไม่พอใจในตัวเราหรือเปล่า

และ 3. ความปลอดภัย คือเกิดความกังวลว่าผู้รับเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ตอบข้อความไม่ได้หรือเปล่า ซึ่งเมื่อผู้ส่งส่งข้อความไปแล้วไม่ได้รับการตอบกลับ สิ่งที่จะทำต่อไปก็คือการตรวจเช็กว่าคนคนนั้นไปออนไลน์อยู่ที่อื่นไหม เข้าเฟซบุ๊กล่าสุดเมื่อไหร่ อัพเดตสถานะไปตอนไหน หรือไม่ก็ยกหูโทร.หาเพื่อนหรือคนในครอบครัวของเขาไปเลย

ทางฝั่งผู้รับข้อความก็มีความกังวลไปอีกแบบ คือรู้สึกกดดันว่าจะต้องตอบข้อความที่ได้รับภายใน 20 นาที หรืออย่างช้าสุดๆ ก็จะต้องตอบภายในวันเดียวกัน

ถ้าหากว่าไม่ตอบภายในระยะเวลาที่กำหนดก็จะเกิดรู้สึกเสียมารยาท ลบหลู่ผู้ส่ง หรือกลัวว่าตัวเองจะดูเป็นคนหยิ่ง

ซึ่งวิธีที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความรู้สึกผิดคือทำยังไงก็ได้ไม่ให้ผู้ส่งรู้ว่าตัวเองได้รับข้อความแล้ว

อย่างเช่น การอ่านเฉพาะพรีวิวบรรทัดแรก หรือการปิดโหมดไม่ให้คู่สนทนารู้ว่าอ่านแล้ว เป็นต้น

เพราะกังวลกันทั้งสองฝ่ายแบบนี้ก็เลยไม่มีใครยอมวางมือถือกันเสียที

 

ผลการวิจัยนี้ยังพูดถึงวงจรด้านลบของพฤติกรรมการใช้มือถือว่า เริ่มต้นตั้งแต่การใช้โทรศัพท์ในแบบที่จำเป็นจริงๆ อย่างเช่น การหยิบขึ้นมาดูเวลาบนหน้าจอ ไปจนถึงการหยิบขึ้นมาแบบเรื่อยเปื่อยเพราะเบื่อหน่าย หรือเพราะเกิดอาการ FOMO (Fear of Missing Out) ซึ่งเป็นอาการกลัวว่าตัวเองจะพลาดเรื่องราวข่าวสารอะไรไปถ้าหากไม่เช็กมือถืออยู่เรื่อยๆ

เมื่อเกิดความต้องการในการใช้มือถือขึ้น ก็จะเอื้อมไปหยิบโทรศัพท์มาปลดล็อกแล้วเปิดเข้าไปในแอพพ์ หากเปิดแอพพ์แล้วได้เห็นว่ามีข้อความที่เพื่อนส่งมา มีคอมเมนต์ใหม่ๆ ใต้ภาพที่แชร์ไว้ หรือมีเรื่องอัพเดตใหม่ๆ ให้อ่านสนุกๆ บนหน้าฟีด ก็จะรู้สึกว่าตัวเอง “ได้รับรางวัล” คล้ายๆ กับการเล่นสล็อตแมชชีนนั่นแหละค่ะ เราคาดหวังว่ารางวัลใหญ่จะออก แต่มันก็ไม่ได้ออกง่ายๆ ก็เลยทำให้ต้องคอยกดคันโยก (เช็กมือถือ) อยู่เรื่อยๆ จนกว่าแจ๊กพ็อตจะออก

นักวิจัยพบว่าเมื่อมีตัวกระตุ้นให้ต้องติดโทรศัพท์มือถือจนอยู่กับมันได้นานเป็นชั่วโมงๆ แล้ว หลังจากนั้นผู้ใช้มือถือจะเกิดความรู้สึกผิด ยิ่งใช้งานมือถือแบบเรื่อยเปื่อยนานแค่ไหนก็จะยิ่งรู้สึกผิดแค่นั้น แต่จะให้ลดหรือเลิกใช้มือถือก็ไม่ได้เพราะสาเหตุ 2 ข้อที่บอกมาตอนต้น ก็เลยวนลูปเดินตามวัฏจักรไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด

คำถามที่จะต้องถามต่อไปก็คือ เมื่อเรารู้แล้วว่าตัวกระตุ้นแบบไหนที่ทำให้เราต้องคว้าโทรศัพท์มาปลดล็อกวันละหลายร้อยครั้ง เราจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อทำให้ตัวเองพึ่งพาโทรศัพท์น้อยลง

นักวิจัยของกูเกิลเสนอว่า เราควรเปลี่ยนจาก FOMO ให้เป็น JOMO หรือ Joy of Missing Out ค่ะ

ตอนแรกอาจจะเริ่มด้วยการกำหนดว่าจะลดการใช้มือถือในระยะสั้นหรือระยะยาว อาจจะเป็นการกำหนดช่วงเวลาของวัน วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือตั้งใจวางมือถือไว้ในโรงแรม ไม่นำติดตัวไปด้วยในระหว่างออกไปเที่ยวช่วงพักร้อน

เมื่อทำไปแรกๆ อาจจะเกิดเสียงบ่นจากเพื่อนหรือคนในครอบครัวว่าตอบข้อความช้า

แต่เมื่อทำไปได้สักพักก็จะค่อยๆ เข้าใจว่าความหงุดหงิดนั้นเกิดขึ้นกับคนอื่น ไม่ได้เกิดขึ้นกับเราสักหน่อย เราจะไปเก็บมาคิดให้ปวดหัวทำไม

และจะเกิดความรู้สึกถึงอิสรภาพว่า “ไม่มีมือถือฉันก็อยู่ได้” จนนำไปสู่การใช้มือถือที่น้อยลงได้ในที่สุด

ซึ่งนักวิจัยกูเกิลเขาบอกว่า แค่หายจากอาการ FOMO ยังไม่พอ แต่ควรไปถึงจุดแห่ง JOMO

หรือมีความปีติที่เกิดขึ้นจากการที่เราอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาโทรศัพท์มือถือนั่นเองค่ะ