วิเคราะห์ : เปิดโรดแม็ป “อภิสิทธิ์” ประชาธิปัตย์ยุคใหม่? จับตา “อลงกรณ์-วรงค์” ศึกชิงเก้าอี้ หน.พรรค

โรดแม็ปการเลือกตั้งใกล้ความเป็นจริง

ถึงยังไม่กำหนดชัดเจนว่าเป็นวันใด แต่การที่ คสช.ออกคำสั่งคลายล็อกหลังกฎหมายลูก 2 ฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็มีผลให้บรรยากาศการเมืองคึกคักทันที

พรรคการเมืองเร่งจัดทัพจัดแถวเตรียมพร้อมลงสนาม พรรคเก่า พรรคใหม่ พรรคใหญ่ พรรคเล็ก ทุกขั้วค่ายขยับเคลื่อนไหวพร้อมเพรียง

ในจังหวะศึกเลือกตั้งใหญ่กำลังจะมีขึ้น ตำแหน่งหัวหน้าพรรค ซึ่งถือเป็น “แม่ทัพ” นำพาไพร่พลออกรบ ถือเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการชี้ขาดผลแพ้-ชนะ

สถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย

พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งถูกยกให้เป็น “ตัวแปร” สำคัญในเกมอำนาจก็กำลังถูกจับตาด้วยเช่นกันในประเด็นที่ว่า เมื่อคณะกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันหมดวาระลงในสิ้นปีนี้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะยังรั้งสถานะของตนเองไว้ได้หรือไม่ หลังดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคมานาน 13 ปี ตั้งแต่ปี 2548

ท่ามกลางการเฝ้าจับตาทั้งจากคนในและคนนอกต่อทิศทางอนาคตประชาธิปัตย์นับจากนี้ ซึ่งจะมีส่วนสัมพันธ์กับอนาคตการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร

เดือนพฤศจิกายนนี้ รับรองมีคำตอบ

กระแสข่าวการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ กำลังเป็นประเด็นร้อนแรง

เพราะไม่เพียงกระบวนการเลือกหัวหน้าพรรคจะแตกต่างจากเดิม อย่างที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศไว้ตั้งแต่เดือนเมษายนว่าจะนำพาพรรคเข้าสู่การเป็น “ประชาธิปัตย์ยุคใหม่”

ด้วยการเปิดให้หยั่งเสียง หรือไพรมารีโหวต ให้สมาชิกพรรคทั่วประเทศมีส่วนร่วมเลือกหัวหน้าพรรคโดยตรง

เป็นกระบวนการแตกต่างจากข้อบังคับพรรคเดิม ที่กำหนดให้ที่ประชุมใหญ่พรรค ซึ่งประกอบด้วย อดีต ส.ส. ผู้บริหารพรรคและประธานสาขาพรรค เป็นผู้มีสิทธิเลือกหัวหน้าพรรคเท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ระบุ เป็นก้าวสำคัญของระบบการเมืองไทย ในขณะที่การปฏิรูปการเมือง ดำเนินการโดย คสช. 4 ปี ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

ตัวอย่างชัดๆ คือ ความพยายามให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการหยั่งเสียง หรือทำไพรมารี คัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค

ที่สุดท้ายต้องล้มเลิก หันกลับไปใช้วิธีการคล้ายของเดิม คือให้อำนาจกรรมการบริหารพรรคชี้ขาดในขั้นตอนสุดท้าย

นายอภิสิทธิ์ทั้งยัง “เกทับ” พรรคใหญ่คู่แข่งตลอดกาล ด้วยการชูประเด็นว่า ประชาธิปัตย์เป็นพรรคเดียวที่มีการแข่งขันเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอย่างจริงจังหลายครั้ง

และครั้งนี้กำลังจะยกระดับขึ้นอีก เพื่อยืนยันความเป็นสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ด้วยการเปิดให้สมาชิกพรรคทุกคนหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค กำหนดอนาคตและแสดงความเป็นเจ้าของพรรคร่วมกัน

ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ

ที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งสำหรับการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ก็คือ

การเปิดโอกาสให้ “คนนอก” เข้ามาสมัครชิงตำแหน่งได้ ภายใต้หลักเกณฑ์ คุณสมบัติ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับพรรคที่ยกร่างขึ้นใหม่

ตรงนี้เองทำให้การเลือกตั้งหัวหน้าพรรค มีสีสัน เปิดกว้างมากขึ้น และยังรวมไปถึงความดุเดือดในการแข่งขันสูงตามไปด้วย

จากเดิมที่มีการแบ่งผู้เข้าแข่งขันเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลุ่มนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และกลุ่ม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม

ล่าสุด นายอลงกรณ์ พลบุตร ได้เสนอตัวเป็นผู้ท้าชิง กลุ่มที่ 4

ในส่วนของนายอลงกรณ์ มีความแตกต่างจาก 3 คนแรก เพราะเป็น “คนนอก” ดังนั้น การลงสมัครชิงหัวหน้าพรรค นอกจากต้องผ่านรูปแบบการหยั่งเสียง

ยังต้องทำตามข้อบังคับพรรคใหม่ อาทิ ต้องมีอดีต ส.ส.รับรอง 40 คน ต้องมีสมาชิกพรรคแต่ละภาครับรองทั้ง 4 ภาค ภาคละ 1,000 คน รวมเป็น 4,000 คน ต้องเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นต้น

นายอลงกรณ์อ้างว่า ได้รับการติดต่อทาบทามให้กลับมาลงชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคจากทางสาขาพรรคและอดีต ส.ส.บางส่วน

อย่างไรก็ตาม การเปิดตัวของนายอลงกรณ์ นำมาสู่การตั้งข้อสงสัยจากอดีต ส.ส.และสมาชิกพรรคบางส่วนเช่นกันว่า อาจเป็น “นอมินี”

ถูกส่งมาเพื่อ “เทกโอเวอร์” ประชาธิปัตย์ นำไปเป็นพรรคสาขาของพรรคสืบทอดอำนาจหรือไม่

เพราะถึงนายอลงกรณ์จะเคยเป็นรองหัวหน้าพรรค แต่ก็ลาออกจากพรรคไปหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

จากนั้นก็ได้รับแต่งตั้งจาก คสช. เข้าไปมีตำแหน่งในแม่น้ำ 5 สาย เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กระทั่งพ้นวาระ

ดังนั้น ถึงนายอลงกรณ์จะปฏิเสธว่าการเสนอตัวชิงหัวหน้าพรรค ไม่มี คสช.หรือทหารคนใดเข้ามาเกี่ยวข้อง

แต่เมื่อดูจากแหล่งพักพิงในช่วง 4 xuที่ผ่านมา ก็ไม่แปลกหากนายอลงกรณ์จะถูกตั้งข้อสงสัยว่า “รับงาน” มาจากผู้มีอำนาจอีกทอดหนึ่ง

เพื่อจุดมุ่งหมายการเมืองบางอย่าง

คล้ายกับกรณี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่ถึงจะเป็น “คนใน” แต่การได้รับแรงผลักดันจากแกนนำ กปปส.ในพรรค ก็ทำให้หลายคนมองเห็นเงาของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ยืนทะมึนอยู่เบื้องหลัง

จริงอยู่ที่นายสุเทพหันไปตั้งพรรคการเมืองของตนเอง ประกาศจุดยืนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ

แต่การจะบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว ทั้งนายสุเทพและผู้ได้รับการสนับสนุนย่อมรู้ดีว่า แผนสืบทอดอำนาจหลังเลือกตั้ง ที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำเครือข่ายพรรคสาขาอื่นๆ

ไม่มีทางสำเร็จอย่างมั่นคงได้หากไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก 2 พรรคใหญ่ คือ พรรคเพื่อไทย กับประชาธิปัตย์

สำหรับพรรคเพื่อไทยนั้น ตัดทิ้งไปได้ แต่กับพรรคประชาธิปัตย์ยังพอมีความหวัง เพียงแต่หัวหน้าพรรคต้องไม่ใช่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ทั้งนี้ เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า ในพรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกเสียงแตกออกเป็น 2 แนวทาง

ขณะที่นายอภิสิทธิ์เองเคยแสดงความเห็นต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์หลายครั้ง ครั้งหนึ่งถึงกับประกาศว่า หากใครต้องการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ให้ไปอยู่พรรคอื่น อย่ามาอยู่พรรคประชาธิปัตย์

แต่เชื่อได้ว่าสิ่งที่นายอภิสิทธิ์ประกาศออกไป เป็นจุดยืนส่วนตัวในฐานะหัวหน้าพรรค มากกว่าจะเป็นจุดยืนของพรรคทั้งหมด

และเมื่อถึงเวลา ความเห็นต่างในพรรคประชาธิปัตย์ก็ปรากฏเป็นรูปธรรม เมื่อมีการปล่อยชื่อผู้ท้าชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคคนใหม่ออกมา

ไม่ว่าชื่อของ นพ.วรงค์ หรือในกรณีที่มีสาขาพรรคและอดีต ส.ส. ติดต่อทาบทามนายอลงกรณ์ให้กลับมากอบกู้วิกฤตพรรค

ถึงแม้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะยังได้รับการอุ้มชูจากนายชวน หลีกภัย

รวมถึงแกนนำหลายคน ทั้งนายกรณ์ จาติกวณิช นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ หรือนายจุติ ไกรฤกษ์ ที่ยังให้การสนับสนุนเป็นหัวหน้าพรรคต่อไป โดยเห็นว่าในจังหวะที่การเลือกตั้งใกล้มาถึง ไม่ควรเปลี่ยนม้ากลางศึก

ในทางตรงข้ามก็มีสมาชิกอีกจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่านายอภิสิทธิ์ไม่น่าจะนำพาพรรคไปต่อได้

นอกจากภาพลักษณ์ไม่ติดดิน หรือดีแต่พูด จุดอ่อนสำคัญของนายอภิสิทธิ์ยังอยู่ที่บาดแผลใหญ่ กรณีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองเป็นเหตุให้มีคนตาย 99 คน บาดเจ็บพิการเกือบ 2,000 คน สมัยเป็นผู้นำรัฐบาลปี 2553

เป็นจุดอ่อนทำให้เสียเปรียบในสนามเลือกตั้งภาคอีสาน

ขณะที่สนามเลือกตั้ง กทม. มีแนวโน้มอาจถูกพรรคอนาคตใหม่ช่วงชิงไป เช่นเดียวกับภาคใต้ ที่อาจต้องเสียพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนให้กับพรรคประชาชาติ

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญของการที่หัวหน้าพรรคแสดงท่าทีแข็งขืนต่อผู้มีอำนาจ ผลอย่างแรกคือการถูกตัดท่อน้ำเลี้ยง กระทบโดยตรงต่ออดีต ส.ส. ลูกพรรคจำนวนมาก จึงไม่แปลกที่หลายคนตัดสินใจยอมสยบต่อ “พลังดูด”

ภายใต้สถานการณ์วิกฤต พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการหยิบยื่นทางออกหลายทาง เป็นการหยิบยื่นทั้งจากผู้หวังดี ทั้งจากผู้แสวงหาอำนาจและผลประโยชน์

แต่ไม่ว่าทางใด ล้มแล้วลุกด้วยตัวเอง หรือยื่นมือรอให้ผู้มีอำนาจมาช่วยฉุด จากนั้นก็กลายสภาพจากพรรคสถาบันการเมืองเก่าแก่ เป็นพรรค “นั่งร้าน” เพื่อตอบแทนบุญคุณ

คำตอบในเดือนพฤศจิกายน น่าลุ้นระทึกอย่างยิ่ง