“ถนอม ไชยวงษ์แก้ว” กับรางวัลประกวดบทกวีครั้งที่ 1 “มีกลิ่นอายอ้ายหนอม”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

“แพร จารุ” หรือ “พี่ยาย” ของน้องๆ นักเขียนหญิงชาวนครศรีธรรมราช คู่ชีวิตของ “ถนอม ไชยวงษ์แก้ว” กวีแก้วแห่งกระท่อมทุ่งเสี้ยว สันป่าตอง เชียงใหม่ ผู้ลาลับจากโลกนี้ไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ได้ปรารภกับเหล่าบรรดากวีและนักเขียนน้อยใหญ่ที่อยู่ในเชียงใหม่ว่า

“พี่ยายอยากจัดประกวดบทกวีรางวัล “ถนอม ไชยวงษ์แก้ว” เพื่อเป็นเกียรติและให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึงผลงานของอ้ายหนอม ใครมีความคิดเห็นเช่นไรกันบ้าง”

คำถามนี้ อันที่จริงไม่จำเป็นต้องรอคำตอบ เพราะคุณค่าแห่งความเป็น “กวีล้านนา” ของอ้ายหนอมฉายชัดจรัสโชนเปล่งแสงอยู่ใต้โลโก้คำว่า “ถนอม ไชยวงษ์แก้ว” พร้อมสรรพอยู่แล้ว ทั้งตัวอักษรา วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ

พี่ยายได้รับความร่วมไม้ร่วมมือจากเพื่อนแก้วสหายคำในด้านต่างๆ ไม่ว่าการมอบเงินเป็นค่ารางวัล การจัดทำโล่ที่ระลึก คณะกรรมการที่ยินดีร่วมอ่านคัดกรองและตัดสินผลงาน

ไปจนถึงการจัดงานวันประกาศผลรางวัลกวีที่ลุล่วงไปเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา

ญาติน้ำหมึกจากทั่วทุกสารทิศ (ไม่เพียงแต่ในสังคมล้านนา) ระดมความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้การประกวดรางวัลบทกวีถนอม ไชยวงษ์แก้ว ครั้งแรกนี้ ประสบความสำเร็จดังที่แพร จารุ ตั้งปรารถนาไว้

 

กรรมการรอบคัดเลือก VS กรรมการชุดตัดสิน

จํานวนบทกวีที่ส่งเข้าประกวดนั้นมีทั้งสิ้น 63 ชิ้น ซึ่งพี่ยายบอกว่าน่าประหลาดใจมาก เพราะเท่ากับอายุของอ้ายหนอมตอนจากไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว (อ้ายหนอมลาโลกวันที่ 25 สิงหาคม 2557) พอดีเลย

จำนวนตัวเลขบทกวี 63 ชิ้นนี้ ดิฉันในฐานะคณะกรรมการตัดสินผลงานคนหนึ่งเห็นว่า เป็นตัวเลขที่น่าตื่นเต้นทีเดียว

พิจารณาจากการส่งงานบทกวีเข้าประกวดรางวัลซีไรต์สาขากวีนิพนธ์ที่ผ่านมา ก็ซบเซาเสียเหลือเกิน สะท้อนให้เห็นว่าสภาวะของวงการกวีนิพนธ์ไทยในยุคถูกรัฐประหารนี้ย่ำแย่เอามากๆ แทบจะไม่มีที่อยู่ที่ยืนให้สมสง่าสมศักดิ์ศรีในสังคมไทยกันเสียแล้วฤๅ

เมื่อ 30 ปีก่อนเราเคยน้อยเนื้อต่ำใจว่ากวีนิพนธ์เป็นแค่ “ไม้ประดับ” ของนิตยสาร

คำว่าไม้ประดับฟังดูก็ว่าแย่แล้ว ยุคนี้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายซ้ำเติม กล่าวแบบไม่อ้อมค้อมก็คือ ทุกวันนี้แทบจะขุดหลุมฝังทั้งบทกวีและตัวกวีไปพร้อมๆ กัน กระนั้น?

เหตุฉะนี้ การที่กวีน้อยใหญ่ 63 คน ทั้งบิ๊กเนม โนเนม ทั้งล้านนา นอกล้านนา ทั้งรุ่นเก๋า รุ่นกระเตาะ ส่งผลงานมาให้คณะกรรมการอ่านมากถึง 63 ชิ้น ดิฉันรู้สึกว่า “เป็นเรื่องเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่” ยิ่งนัก

เสมือนน้ำแอ่งน้อยในโอเอซิสที่ช่วยชุบชูจิตวิญญาณอันผากแล้งกลางทะเลทรายให้พวกเราแอบมีความหวัง ต่ออายุสโลแกนที่ว่า “ฤๅกวีรู้แล้งแหล่งสยาม” ที่เกือบปิดฉากลงนั้น ยังมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่จริง

ดิฉันจึงอ่านงานทุกชิ้นอย่างคนกระหายน้ำ อย่างคนมีความหวัง

และกล่าวได้ว่างานทั้ง 63 ชิ้นนี้ โดยภาพรวมสอบผ่านทั้งหมด

ไม่มีมือสมัครเล่นประเภท “ฝึกเขียนส่งครู” มาปลอมปนแต่อย่างใด แม้ว่าบางคนมีอายุแค่ 16-17 เป็นเด็กมัธยมปลายชั้น ม.4 ม.5 เท่านั้น แต่เขียนได้ดีเหลือใจ

บางคนทำงานแบงก์ ทำงานในรัฐสภา บางคนเป็นนิสิต เป็นครูบาอาจารย์ บางคนเป็นชาวไร่ชาวนา

หลากหลายอาชีพการงาน คละวัย คละภูมิภาค คละเนื้อหา ซึ่งหัวข้อที่ให้เขียนค่อนข้างเปิดกว้างมาก รูปแบบกวีนิพนธ์ก็อิสระ จะใช้ฉันทลักษณ์หรือกลอนเปล่าหรือปนกันก็ได้

คณะกรรมการที่ร่วมตัดสินรางวัลคราวนี้ นอกเหนือจากดิฉันในนาม “เพ็ญ ภัคตะ” แล้วยังประกอบด้วย อ้ายไพฑูรย์ พรหมวิจิตร, ฝน รวิวาร รวิวารสกุล, สุวิชานนท์ รัตนภิมล, “ปะหล่อง” (ดร.ปฏิพันธ์ อุทยานุกูล) มี ภู เชียงดาว เป็นบรรณาธิการรวบรวมผลงาน คัดแยกกลุ่ม และประสานคณะกรรมการ

การทำงานของพวกเรา ไม่ได้แบ่งแยกคณะกรรมการเป็นสองชุดแบบรางวัลอื่นๆ ซึ่งมักมีคณะกรรมการชุดคัดเลือกก่อนในเบื้องแรก และอีกชุดคือคณะกรรมการชุดตัดสินขั้นสุดท้าย

ในทรรศนะส่วนตัวของดิฉันเห็นว่าทั้งสองแบบนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ว่าแต่ว่าเราจะไว้ใจได้อย่างไรเล่า ว่างานดีๆ จักไม่หลุดร่วงหล่นไปกลางทางเสียก่อนตั้งแต่รอบแรกจากรสนิยมความชอบส่วนตัวของคณะกรรมการชุดคัดกรองขั้นต้น

หากใครจำได้ในบางปีที่งานวรรณกรรมซีไรต์มีปัญหาในรอบตัดสินชี้ขาดขั้นสุดท้าย กรรมการดังเช่น “พี่เนาว์” หรือเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ต้องออกมาพูดระบายความในใจว่า

“จะให้กรรมการเลือกผลงานที่ดีกว่านี้ได้อย่างไรเล่า ในเมื่อดอกกุหลาบที่ถูกชงมาให้เลือกนั้น มีแต่ดอกไม้เหี่ยวๆ ก็จำเป็นต้องเลือกดอกไม้ที่เหี่ยวน้อยที่สุด”

เป็นไงล่ะ วิธีการมอบสิทธิ์ในคณะกรรมการชุดแรก (ที่ส่วนใหญ่เป็นครูบาอาจารย์ ไม่ใช่คนเขียนกวีจริงๆ) ทำการคัดกรองงาน 70-80 ชิ้น ให้เหลือ 10 ชิ้น แล้วส่งให้คณะกรรมการที่เขียนกวีมาทั้งชีวิตอ่านงานที่ถูกคัดมา โดยไม่มีสิทธิ์หวนกลับไปหยิบเอางานอีก 60-70 ชิ้นที่ถูกคัดทิ้งไปแล้วมาทบทวนได้อีก ว่ามีใครทำดอกไม้งามร่วงหล่นไปจากกระจาดบ้างหรือไม่

แน่นอนว่า ผู้จัดงานประกวดบทกวีมักมีความกริ่งเกรงใจคณะกรรมการชุดตัดสินว่าท่านเหล่านั้นเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ คงไม่มีเวลามากพอมานั่งพินิจพิเคราะห์ดอกไม้ทีละดอกๆ อย่างละเอียด

ดังนั้น จำเป็นต้องใช้ตัวช่วยคือคณะกรรมการชุดกลั่นกรอง ทำหน้าที่คัดเลือกงาน (ที่คิดว่าเข้าท่าแล้ว) รอบแรกก่อน

คือดิฉันเข้าใจทั้งหมด เข้าใจทุกฝ่าย ว่าการกำหนดให้มีคณะกรรมการสองชุดนั้น นอกจากจะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระงานอันหนักอึ้งให้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ผู้จัดประกวดยังคิดว่า การแบ่งคณะกรรมการเป็นสองชุดนั้น น่าจะช่วยป้องกันคำครหา ทำให้เกิดความโปร่งใสถ่วงดุลกันมากกว่ามีกรรมการเพียงแค่ชุดเดียว ก็ว่ากันไป

ในขณะที่การทำงานคัดเลือกบทกวีรางวัล “ถนอม ไชยวงษ์แก้ว” ครั้งนี้ มีกรรมการเพียงแค่ชุดเดียว คือกรรมการทุกคนต้องอ่านงานให้หมดครบทั้ง 63 ชิ้น

แล้วแต่ละคนต้องคัดเลือกบทกวีชิ้นที่ดีที่สุดมาดีเบตกันคนละ 6-7 ชิ้น

โชคดีที่ไม่มีคณะกรรมการกลั่นกรองงานมาก่อนชั้นแรกแล้วส่งที่เหลือ 6-7 ชิ้นให้ดิฉันอ่าน เพราะว่าชิ้นที่ดิฉันเห็นว่าดีที่สุดนั้น แทบไม่อยู่ในสายตาของคณะกรรมการท่านใดที่คัดเลือกเข้ามาเลย

ดิฉันมิได้กำลังจะบอกว่าคณะกรรมการเหล่านั้นตาไม่ถึง หรือใครมีสายตาล้ำลึกเกินกว่าใคร

พวกเราไม่มีประธานตัดสินชี้ขาด ไม่ได้ให้สิทธิ์แก่ผู้มีวุฒิการศึกษาสูงระดับปริญญาเอกเป็นคนยืนยันขั้นสุดท้าย แต่ความเห็นของคณะกรรมการทุกคนเท่าเทียมกัน และดิฉันก็ยอมรับเสียงส่วนใหญ่

เพียงแต่เรารู้สึกยินดีที่กรรมการแต่ละคนเลือกงานมามีทั้งเหมือนกันและต่างกัน งานที่เหมือนกันก็แน่นอนว่าต้องดีในระดับหนึ่งจึงเข้าตากรรมการหลายๆ คน ก็น่าจะมีสิทธิ์ได้รับรางวัลอยู่หรอก

ส่วนงานชิ้นที่แปลกออกไปของกรรมการบางคนที่เลือกชิ้นงานมาไม่เหมือนชาวบ้านนี่สิ เราจะทำอย่างไร

ปรากฏว่าเป็นการช่วยกระทุ้งให้กรรมการคนอื่นที่ปล่อยตกไปแล้ว นึกเอะใจฉุกคิด ต้องไปหยิบงานที่กรรมการคนอื่นคัดเลือกมาปัดฝุ่นอ่านใหม่ย้ำและซ้ำกันอีกหลายรอบ

นี่คือเบื้องลึกเบื้องหลังการทำงานของพวกเรา ดีแล้วที่รางวัลนี้ไม่ต้องมีกรรมการสองชุด ไม่ต้องมีกรรมการรอบคัดเลือก ปล่อยให้กรรมการชุดเดียว (ที่ล้วนแล้วแต่เป็นกวีมืออาชีพกันทั้งนั้น) ทำงานให้หนักเสียบ้าง คือต้องอ่านบทกวีให้ครบทุกชิ้น และหยิบชิ้นงานที่กรรมการคนอื่นเลือกแต่เราไม่ได้เลือกมาถกเถียงกันอย่างมีเหตุผล ถือเป็นการทำงานที่ให้สิทธิ์ต่อกรรมการเสียงส่วนน้อยด้วย

ดิฉันหวังใจว่า หากมีการจัดงานประกวดรางวัลกวีเช่นนี้อีกในปีต่อๆ ไป หรือไม่ว่ารางวัลใดที่อาจจะเกิดขึ้น ณ จุดไหนก็ตาม ขอเสนอแนะว่าลองใช้วิธีนี้ดูก็ดีเหมือนกันนะคะ ลองใช้กรรมการชุดมาตรฐานชุดเดียวพอ

เพราะเข็ดเหลือเกินที่ต้องทนฟังคำพูดที่ทรมานใจว่า “เหี่ยวน้อยที่สุดแล้วในบรรดาดอกไม้ที่เขาเลือกมาให้”

 

รางวัลที่ 1 มีกลิ่นอายอ้ายหนอม

ในเมื่อผลงานที่คณะกรรมการคัดเลือกกลั่นกรองมาแล้วคนละ 7 ชิ้น (มีทั้งซ้ำและไม่ซ้ำกันระหว่างคณะกรรมการด้วยกันเอง) ล้วนมีคุณค่า มีความงาม มีเสน่ห์สูสีกัน ดังนี้แล้วเราจะใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินว่าบทกวีชิ้นไหนควรได้รับ “รางวัลบทกวีถนอม ไชยวงษ์แก้ว”

เราถกเถียงกันมากจนตกผลึกทางความคิดเห็นพ้องตรงกันว่า ถึงที่สุดแล้วบทกวีชิ้นที่ดีที่สุดในบรรดาหลายๆ ชิ้นนั้น ควรมีลีลาอารมณ์คล้ายอ้ายหนอมด้วยหรือไม่

ลีลาอารมณ์แบบอ้ายหนอมเป็นเช่นไรละหรือ แน่นอนว่า ไม่ได้โรมานซ์สุดขั้วแบบพี่ปอน พิบูลศักดิ์ ละครพล

ไม่ได้เคร่งครัดฉันทลักษณ์เป๊ะๆ แบบอ้ายไพฑูรย์ พรหมวิจิตร และไม่ได้ต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองแบบตรงไปตรงมาเหมือนอ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น

ลีลาอารมณ์ของอ้ายหนอมนั้นซับซ้อนอ่อนไหว ดิฉันยังคงเชื่อในคำวิจารณ์ของพี่อี๊ด “ไพลิน รุ้งรัตน์” ที่ฟันธงว่า บทกวีของกวีหนุ่มร่วมสมัย (เมื่อ 30 ปีก่อน) แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มแรกประเภท “พราวคำเด่นความ” มีแรคำ ประโดยคำ กับ ประกาย ปรัชญา เป็นหัวหอก

กับอีกกลุ่มคือประเภท “หวานลึกรู้สึกนำ” มีไพวรินทร์ ขาวงาม และถนอม ไชยวงษ์แก้ว เป็นตัวแทนที่โดดเด่นของกวีกลุ่มนี้

คำว่า “หวานลึกรู้สึกนำ” น่าจะเป็นคำที่สะท้อนความเป็นตัวตนของอ้ายหนอมชัดเจนมาก เพราะอ้ายหนอมไม่ได้ต้องการสื่อความคิดเชิงปรัชญาอะไรล้ำลึก และไม่ได้พิถีพิถันด้านเทคนิควิธีการประพันธ์อะไรแบบลื่นไหลลงตัว บางครั้งลีลาออกตะกุกตะกักสักหน่อยด้วยซ้ำ

แต่สิ่งที่ได้รับเมื่ออ่านงานอ้ายหนอมเสร็จ คือกลิ่นอายของความหวานลึกๆ โรแมนติกหน่อยๆ เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ที่เปลี่ยวเหงาแสวงหาสัจธรรมชีวิต

อ้าว! หากคณะกรรมการเล่นใช้วิธีเลือกผลงานชิ้นที่มีลีลาและอารมณ์ละม้ายไปทางอ้ายหนอมแบบนี้แล้ว ปีต่อๆ ไป พวกที่ส่งบทกวีเข้าประกวดก็ย่อมรู้ไต๋หมดล่ะสิ คงไม่มีใครกล้าส่งงานที่มีลีลากาพย์ยานี 11 เข้มๆ แบบคมทวน คันธนู มาแน่แท้ กวีทุกคนคงจับทางอ้ายหนอมได้ถูกหมด ต่างหันมาเขียนแนวหวานกึ่งโรมานซ์กึ่งจินตนาการเพื่อเอาใจกรรมการที่มีแนวคิดว่า งานที่ได้รางวัลนี้ต้องมีกลิ่นอายของอ้ายหนอมเท่านั้นกระมัง

คงมิใช่เช่นนั้นดอก การที่เราพยายามคัดเลือกงานที่มีเงาของอ้ายหนอมนั้น ก็เพื่ออยากพิสูจน์ตัวผู้เขียนกวีแต่ละคนเองด้วยต่างหากว่า เมื่อคุณคิดจะประกวดรางวัลกวีถนอม ไชยวงษ์แก้ว แล้วไซร้ คุณมองเห็นความแตกต่างระหว่างอัตลักษณ์บทกวีของถนอมกับกวีคนอื่นๆ อย่างไรบ้าง

คุณเป็นแฟนพันธุ์แท้ของถนอมมาก่อนหรือไม่

คุณเคยศึกษางาน ดื่มด่ำ เข้าใจ ซาบซึ้งในจิตวิญญาณของความเป็นอ้ายหนอมมากน้อยแค่ไหน

หรือคุณเป็นแค่นักล่ารางวัลที่อยากส่งประกวดหมดทุกเวทีเท่าที่โอกาสจะอำนวย

นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายใช่หรือไม่

หรือผู้อ่านคิดว่า เรื่องนี้ไม่สำคัญ เอาชิ้นที่คิดว่าดีที่สุดก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้มีลีลาอารมณ์อะไรละม้ายกับอ้ายหนอมหรอก

ถ้าเช่นนั้น เราจะตั้งชื่อรางวัล “ถนอม ไชยวงษ์แก้ว” ไปเพื่ออะไร

เหมือนเราตั้งชื่อรางวัลสมมุติว่า “จิตร ภูมิศักดิ์” หรือ “อุชเชนี” งานที่สมควรได้รับรางวัลตามชื่อนั้นๆ ควรเป็นบทกวีชิ้นที่ดีที่สุด หรือควรเป็นชิ้นที่เข้าถึงตัวกวีต้นแบบมากที่สุด?

ตรงนี้เราน่าจะดีเบตกันอีกครั้งในเวทีใหญ่อย่างเป็นวิชาการนะคะ

 

สําหรับผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ “วันฟ้าใหม่ เทพจันทร์” บทกวีชื่อ “ถนอมความมืดไว้หน่อยผมจะยืนชมจันทร์” รับโล่เป็นไม้แกะสลัก พร้อมเงินรางวัล 3,000 บาท

รางวัลรองชนะเลิศที่ 1 “มิได้อุทธรณ์” โดยปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ รับโล่ พร้อมเงินรางวัล 2,000 บาท

รางวัลรองชนะเลิศที่ 2 “ถ่าเบิ๊ดเฮาไป ไผสิเคี้ยวหมากแทน” โดยสุกรณ์ บงไทสาร รับโล่ พร้อมเงินรางวัล 1,000 บาท

รางวัลชมเชยมีจำนวน 11 รางวัล ได้แก่ 1. ในชั้นเรียน โดยกังวาลไพร นามฯ 2. แว่วต่างบางเพลงผู้รอคอย โดยกอนกูย 3. …สมดุล (สะ มะ ดุน) โดยอรินทร ผ่องแผ้ว 4. บนถนนสายเศร้าที่เราฝัน โดยระวี ตระการจันทร์ 5. อำนาจนั้น! โดยพุทธิ์นันทะ ผลชัยอรุณ 6. มึนอ : การเดินทางใต้ขอบฟ้าชะตากรรม โดยธนวัฏ ปรีชาจารย์ 7. รั้วและเรา โดยองอาจ สิงห์สุวรรณ 8. เสียงเพรียกที่แห้งผาก จากรั้วบ้านของเรา โดยชาตรี อรุณพัด 9. คือความมหัศจรรย์ โดยสุธาทิพย์ โมราลาย 10. วันแม่ของฉัน โดยรอนฝัน ตะวันเศร้า 11. เราจึงพึงมี โดยชิตะวา มุนินโท

ฉบับหน้าดิฉันจะลงบทกวี 3 ชิ้นที่ได้รางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศ พร้อมทั้งบทสัมภาษณ์กวีแต่ละคน