มนัส สัตยารักษ์ : เพื่อความอยู่รอดของประชาชน

แต่เดิมผมมักจะเผื่อเวลาเดินทางไปกิจธุระไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง สถานที่ที่ผมจำเป็นต้องไปบ่อยๆ ที่จริงก็ไม่ไกลจากบ้านเท่าไรนัก เช่น โรงพยาบาลจุฬาฯ สโมสรสนามม้านางเลิ้ง โรงแรมมารวย เยื้องมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น

ต่อมาก็เพิ่มเป็นชั่วโมงครึ่ง เพราะความเปลี่ยนแปลงของถนนและสภาพการจราจร

ไปโรงพยาบาลจุฬาฯ หาแท็กซี่เต็มใจไปยาก ขากลับไม่มีแท็กซี่หรือแท็กซี่ไม่หยุดรับ ต้องนั่งรถไฟฟ้า 2 ต่อให้พอพ้นใจกลางเมืองแล้วอาจจะพอหาได้ แต่หนหนึ่งถึงบ้าน 4 ทุ่มเศษ ครั้งต่อมาจึงแข็งใจขับรถไปอย่างเดิม ขากลับถ้าการจราจรติดขัดมากเกิน ก็แวะหาที่นั่งกินกาแฟแก้เครียดพร้อมกับเล่น facebook ไปพลาง

ไปสนามม้านางเลิ้ง ต้องเผื่อเวลาเพิ่มเป็นชั่วโมงครึ่ง เพราะขับผิดเลนจึงเหมือนถูกบังคับให้ขึ้นทางด่วน เสียเงินและเสียเวลาอ้อมอีกต่างหาก

ไปโรงแรมมารวยเพื่อคุยกับเพื่อนเก่า พอเขารื้อสะพานลอยตรงแยกเกษตรทิ้ง ทำรางรถไฟฟ้า (หรืออะไรสักอย่าง-ผมก็ลืมเสียแล้ว) คราทีนี้ทั้งติดรถและติดทางห้ามเข้า มีอยู่หนหนึ่งเขาห้ามเลี้ยวขวาเข้าพหลโยธิน ผมต้องขับตรงไปหาที่ U-Turn เกือบถึงแคราย

ผมจับสังเกตได้ว่า ผมมักจะขับรถเซ่อซ่าเฟอะฟะบนถนนที่เคยคุ้นมาก่อน เช่น ถนนในท้องที่ที่เคยเป็นตำรวจ หรือบนเส้นทางที่ผ่านเกือบทุกวันสมัยเป็นนักเรียนมัธยม ทางไปที่ทำงาน หรือไปสำนักพิมพ์

กล่าวคือ ผมปรับ “การเปลี่ยนแปลง” ไม่ทัน ยังยึดติดอยู่กับความทรงจำเดิมนั่นเอง

มาวันนี้ ผมเผื่อเวลาสำหรับเดินทางชั่วโมงครึ่ง แล้วผมก็ไปถึงที่หมายช้าไปครึ่งชั่วโมง นั่นหมายความว่า ครั้งต่อไปผมต้องเผื่อเวลาสำหรับเดินทาง 2 ชั่วโมง

2 ชั่วโมง สำหรับการเดินทางไปกิจธุระปกติธรรมดาในกรุงเทพฯ?!

เพราะถนนหนทางรอบบ้านผมกำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง ซึ่งเท่ากับมีกำแพง เครื่องกีดขวาง แบริเออร์ ทางเบี่ยง หลุมบ่อ หรือคูคลองรอบบ้านนั่นเอง

เริ่มต้นจากงานขุดอุโมงค์กลางถนนพัฒนาการ ระยะทางประมาณ 2 ก.ม. จากตลาดคลองตันถึงบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต มีป้ายประกาศบอกให้ประชาชนรับรู้ว่า “ขออภัยในความไม่สะดวก” เป็นเวลา 2 ปี

แต่ดูเหมือนจะย่างเข้าปีที่ 3 แล้วยังไม่มีวี่แววว่าจะเสร็จ

หลังจากนั้นไม่นาน ถนนรามคำแหงก็มีการปิดเส้นทางบางเลนและบางสะพานลอย ผมจำไม่ได้แล้วว่าเขากำลังจะทำอะไร

ถัดมาก็เริ่มปิดเกาะกลางถนนศรีนครินทร์ จากแยกหมู่บ้านนักกีฬาไปทางศูนย์การค้าซีคอน เข้าใจว่าจะทำทางรถไฟฟ้าหรือขุดอุโมงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือทั้งสองอย่าง) ผมขี้เกียจสนใจจำ

รู้แต่ว่า “แผนการเดินทาง” ที่วางไว้ล่วงหน้าใช้ไม่ได้ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปเป็นว่าไปทางไหนการจราจรก็ติดขัดไปหมด แผนที่ในแอพพลิเคชั่นในมือถือซึ่งอัพเดตตลอดเวลาก็ช่วยไม่ได้ เพราะทุกเส้นทางจากปากซอยหน้าบ้านเป็นสีแดงเถือกตันไปหมด

หลายหน่วยงานของทางการกำลังขยันสร้างอะไรต่อมิอะไรอย่างฟุ่มเฟือย

ผมชอบเล่าประสบการณ์แปลกๆ ที่พบเห็นจากการเดินทางไปต่างประเทศให้ลูกหลานฟัง เรื่องหนึ่งที่เล่าบ่อยก็คือเรื่องประทับใจในการไปทัวร์ประเทศจีนเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน

“ขาไปพอออกจากที่พักรถก็ติดแบบนี้แหละ” ผมเริ่มเล่าเมื่อทุกคนในรถมองสภาพการขุดหรือทำถนนอย่างอิดหนาระอาใจ “แต่ขากลับเขาทำเสร็จแล้ว”

“ที่พ่อโม้น่ะมันเมืองจีน” ลูกลากเสียงยาว

ทอดระยะไปสักเดือน-สองเดือน บนถนนอีกสายหนึ่ง ผมก็เล่าเรื่องนี้ซ้ำอีกเพราะไม่รู้จะคุยเรื่องอะไรในรถกลางการจราจรที่ติดสนิท

“เรื่องนี้พ่อเล่าแล้ว” ผมถูกขัดคอทันที

“ไม่ได้เล่าโว้ย…พ่อบ่นต่างหาก” ผมท้วง (ฮา)

ความรวดเร็วในการทำงานของคนจีนไม่ใช่เรื่องใหม่ ฐากูร บุนปาน เล่าว่า “ในปี 2011 จีนสร้างตึก 30 ชั้นใน 15 วัน พอถึงปี 2014 จีนสร้างตึก 57 ชั้นใน 19 วัน

ถึงวันนี้จีนสร้างถนนไปแล้ว 2.6 ล้านไมล์ ครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 95 ของประเทศ ในจำนวนนี้เป็นซูเปอร์ไฮเวย์ 70,000 ไมล์”

ไม่เพียงแต่คนจีนเท่านั้น คนญี่ปุ่นก็ทำงานเร็วเหมือนกัน

แผ่นดินไหวทุกครั้งถนนหนทางในญี่ปุ่นพังยุบเสียหายหนัก บางครั้งทรุดเป็นช่องลึกลงไป เกิดหลุมยักษ์ เสาไฟฟ้าและเสาไฟจราจรจมหาย ญี่ปุ่นใช้เวลาไม่นานในการซ่อมและประเมินความปลอดภัย 15 วันบ้าง 7 วันบ้าง 6 วันบ้าง

แผ่นดินไหวครั้งล่าสุด เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้เอง ถนนเกิดหลุมยุบขนาดใหญ่ในเมืองทาคัตสึกิ ตอนเหนือของจังหวัดโอซาก้า ญี่ปุ่นใช้เวลาเพียงวันเดียวเท่านั้นในการซ่อมจนรถสามารถวิ่งได้ตามปกติ

โลกออนไลน์ประทับใจการทำงานของทางการประเทศญี่ปุ่นที่มีความรวดเร็วว่า พวกเขาทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เป็นการร่วมมือกันของบริษัทเอกชนหลายบริษัท

มีเป้าหมายชัดเจน… “เพื่อความอยู่รอดของประชาชนเป็นสำคัญ”

ผมมีความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยเรามีความรู้ความสามารถในเรื่อง “วิศวกรรมโยธา” ทัดเทียมกับประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่น

แต่วิศวกรรมจีนคงมองวิศวกรรมไทยผิดไปหรือต่ำไป พวกเขาคงเห็นว่าประเทศไทยไม่เอาอ่าวในเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าในการเจรจาเพื่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง จีนยืนยันจะใช้วิศวกรที่เป็นคนจีนล้วน

ผมไม่อยากลงโทษคนจีนในประเด็นนี้ ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ

1 จีนปิดประเทศมานานจนไม่รู้จักประเทศไทยดีพอ

2 จีนมองผลงานวิศวกรรมของไทยที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันว่าล้าหลัง ไม่ทันกาล คิดเองทำเองไม่เป็น อย่าว่าแต่รถไฟฟ้าความเร็วสูงเลย แม้แต่ถนนหนทางธรรมดา หรืออาคารเล็กๆ อย่างสถานีตำรวจ 5 ปียังสร้างไม่เสร็จ หรืออควาเรี่ยมที่ทะลสาบสงขลาราคาสูงถึง 1,400 ล้านบาท 10 ปีแล้วยังไม่เสร็จ

ความรู้ความสามารถ กำลังคน งบประมาณมหาศาล ไม่ช่วยให้งานรวดเร็วเลย

จีนไม่รู้เรื่องความเละเทะของระบบราชการไทย ไม่รู้เรื่องการประมูลงานที่สลับซับซ้อน จีนไม่เข้าใจการร่วมมือกันทุจริตกรณี “ต่อสัญญา” การก่อสร้างที่ล่าช้าโดยไม่ต้องเสียค่าปรับ

จีนเข้าใจผิด คิดว่าผู้นำไทยต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังเหมือนผู้นำจีน

ส่วนคนไทยที่รู้เรื่องเหล่านี้ดี ได้แต่ร้องเรียนต่อหน่วยงาน ป.ป.ช. แต่จำนวนเรื่องก็มากเสียจนรับไม่ไหวและทำไม่ทัน ค้างเติ่งเป็นดินพอกหางหมู แล้วก็เงียบหายไปจนลืม

ที่โวยวายเสียงดังอยู่บ้างส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องสำหรับเข่นพิฆาตฝ่ายตรงข้าม ไม่ใช่เรื่อง “เพื่อความอยู่รอดของประชาชน”