คุยกับทูต จิลส์ การาชง ฝรั่งเศสยึดมั่นในเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ (4)

ตอน 1 2 3

ในช่วงระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้ง ประเทศไทยและฝรั่งเศสได้กระชับความสัมพันธ์ ทั้งด้านการทูต การเมือง วัฒนธรรม รวมถึงการทหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นพระสหายร่วมชั้นกับ นายพลเดอ โกลล์ (Charles Andre Joseph Marie de Gaulle) ของฝรั่งเศส และมีนักศึกษาจากประเทศสยามเดินทางไปศึกษาต่อที่กรุงปารีสเป็นจำนวนหลายคน รวมถึง ท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาประเทศไทยยุคใหม่

ไทยและฝรั่งเศสมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งเสริมความร่วมมือไตรภาคีเพื่อการพัฒนาในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งได้ระบุในแผนปฏิบัติการร่วมไทย-ฝรั่งเศส ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2

ดังนั้น ระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดี ฌากส์ ชีรัก (Jacques Rene Chirac) แห่งฝรั่งเศส ในฐานะราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2006 ได้มีการลงนามความตกลงจัดตั้งคณะทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือไตรภาคีเพื่อการพัฒนา เพื่อเป็นกลไกในการพิจารณาและกำหนดรูปแบบและกิจกรรม/โครงการ ความร่วมมือ ตลอดจนบริหารโครงการ

และนำมาซึ่งการลงนามในความตกลงจัดตั้งสำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (Agence Francaise de Developpement -AFD) ในประเทศไทย

โครงการความร่วมมือไตรภาคีที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างทางรถไฟในลาวเส้นทางสาย ท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ และทุนการศึกษาปริญญาเอกกาญจนาภิเษก เป็นต้น

สําหรับกรณีเหตุก่อการร้ายเกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสหลายจุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2012 เป็นต้นมานั้น ท่านทูตการาชงให้ความเห็นว่า

“เพราะว่าเราเป็นสัญลักษณ์ที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายต้องการทำลายซึ่งอยู่ในคำอ้างของพวกเขาด้วย ไม่ว่าจะเป็นความรื่นรมย์ในชีวิต ความเป็นสังคมที่มีความอดกลั้นยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น (tolerance) คนที่มีความเห็นต่างสามารถอยู่ด้วยกันได้และผู้คนใช้ชีวิตกันได้ตามปกติ ไปภัตตาคาร บาร์ ชมคอนเสิร์ต เหล่านี้ ล้วนเป็นเป้าหมายที่กลุ่มก่อการร้ายต้องการทำให้หายไป เพราะกรุงปารีสเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่พวกเขาเกลียดและต้องการโจมตี”

“เราไม่ได้ต่อสู้กับคนบริสุทธิ์ แต่เรากำลังต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย กลุ่มคนที่พร้อมจะสังหารเราทุกคน กลุ่มคนที่มีอาวุธ เป้าหมายของพวกเขาก็คือ ต้องการให้เราเห็นด้วยกับคุณค่าแบบของเขา ถ้าไม่ ก็จะสังหารเรา”

“เราคงไปนั่งเจรจาต่อรองตั้งเงื่อนไขเสมือนว่าพวกเขาเป็นคนมีเหตุผล และคิดว่า แม้เราจะเห็นต่างเราควรจะประนีประนอม เราทำแบบนั้นกับพวกเขาไม่ได้ มีคำตอบเดียวเท่านั้นสำหรับกลุ่มคนแบบนี้ คุณอยากสังหารเรา เราจะสังหารคุณก่อน ไม่ใช่ว่าเราไม่มีความอดทนอดกลั้น ต้องบอกว่าเขาไม่มีมากกว่า ที่จริงเราพร้อม ถ้าพวกเขามีความอดทน พร้อมที่จะนั่งคุยกัน”

“แต่กรณีนี้ ดูแล้วเป็นไปไม่ได้เลยที่จะนั่งคุยกัน สิ่งที่พวกเขากระทำไม่ใช่การพูดคุย แต่กลับใช้อาวุธสังหารคนบริสุทธิ์ คนที่ไม่มีอาวุธ หรือคนบริสุทธิ์ตามท้องถนน คำตอบที่เหมาะสมคือ จะต้องโจมตีกลับ ซึ่งเราทำแล้ว และจุดประสงค์ของฝรั่งเศส คือ การทำลายเครือข่ายของพวกเขา”

“เรากำลังทำสงครามกับไอเอส (Islamic State-IS) เราอยู่ในภาวะสงครามจนกว่ากลุ่มไอเอสจะหายไป เรายึดมั่นเต็มที่ต่อความมีน้ำอดน้ำทน แต่กับคนที่ไม่มีน้ำอดน้ำทนและต้องการยกย่องคุณค่านั้น เราจะต้องหยุดยั้งพวกเขา มิฉะนั้นจะยิ่งมีคนเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น เราจึงต้องส่งสารจากฝรั่งเศสว่าเราเน้นคุณค่าของความเป็นเอกภาพ (unity) ความอดทนอดกลั้น (tolerance) และเรากำลังพยายามทำลาย (dismantle) เครือข่าย โดยได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ”

“ซึ่งเรารู้สึกขอบคุณมาก เรามีพันธะกับทั้งโลก และสหภาพยุโรป ว่าจะต้องต่อสู้กับไอเอส เพราะกลุ่มนี้คือภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ เราไม่ได้ต่อสู้เพื่อฝรั่งเศสเท่านั้น โดยมีความรู้สึกร่วมกันว่า ต้องรวมกันเป็นหนึ่งและต้องยืนหยัดในคุณค่าที่สังคมฝรั่งเศสยึดมั่น มีความเป็นเอกภาพ มีความมุ่งมั่น”

“และจะไม่ยอมศิโรราบต่อกลุ่มก่อการร้าย”

“เรายืนหยัดในคุณค่าของเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ อันเป็นศูนย์กลางในใจของเรา สังคมควรจะเต็มไปด้วยความความอดทนอดกลั้นและให้โอกาสทุกคน เราอาจจะไม่ได้เกิดมาเท่าเทียมกัน แต่รัฐบาลจะต้องดูแลเราอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน ให้มีโอกาสในการศึกษา การดูแลสุขภาพ แม้จะมีคนเห็นต่าง เช่น นับถือศาสนาต่างกัน แต่ในหลักการภราดรภาพนั้นเราเป็นพี่น้องกัน และหลักในเสรีภาพที่เราจะนอนหลับได้อย่างสนิทใจ มีเสรีภาพที่จะคบใครก็ได้ ซึ่งคุณค่าเหล่านี้สำคัญมากสำหรับเรา และเรายืนหยัดที่จะต้องต่อสู้ให้คงอยู่ต่อไป”

“ในอดีต เรามาจากสังคมที่ขาดความความอดทนอดกลั้นและผ่านการต่อสู้มาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่คุณค่าเหล่านี้จะต้องคงอยู่ เมื่อเกิดเหตุโจมตียิ่งทำให้เรารู้สึกมั่นใจว่า การต่อสู้เพื่อคงคุณค่าหลักการเหล่านั้นยังไม่จบ เพราะจะยังมีกลุ่มก่อการร้าย กลุ่มคนที่ไม่มีความอดกลั้น ที่ต้องการให้เราสยบยอม และให้เรายอมรับเผด็จการ ดังนั้น การต่อสู้จะเกิดขึ้นต่อไปอีกนาน เราจึงไม่มีเวลาที่จะมานั่งเสียใจ แต่เป็นเวลาที่ต้องเดินหน้า ยืนหยัด และช่วยคนอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือต่อไป”

“ผมไม่คิดว่าเป็นการต่อสู้ภายในฝรั่งเศสเท่านั้น แต่เป็นสถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ อันเป็นภัยต่อทุกประเทศในโลก เพราะการโจมตีไม่ใช่การโจมตีฝรั่งเศส แต่เป็นการโจมตีรูปแบบของการใช้ชีวิต รูปแบบของสังคมที่ให้โอกาสทุกคน กลุ่มผู้ก่อเหตุกำลังคุกคามรูปแบบการใช้ชีวิตนี้ และการโจมตียังไม่จบ ทุกคนคือเป้าหมายของการโจมตี ฉะนั้น เราจึงยิ่งต้องเป็นเอกภาพ”

“วันนี้เราอาจจะต่อสู้ชนะ แต่การต่อสู้กับความไม่มีน้ำอดน้ำทน จะต้องเดินหน้าต่อไป ครั้งนี้คือ ไอซิส ไม่รู้พรุ่งนี้จะเป็นกลุ่มไหน อาจจะมาในชื่ออื่น ซึ่งผมเชื่อว่าจะมีอีก และเราต้องพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองเพื่อคุณค่าที่พวกเขาเชื่อมั่น การคุกคามจะมีต่อไป ความมีน้ำอดน้ำทนเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องมี แต่การไม่มีน้ำอดน้ำทนก็มีอยู่ในตัวทุกคนเช่นกัน ฉะนั้น การต่อสู้อันดับแรกคือ ต่อสู้กับตัวเองก่อน ถึงค่อยสู่ในระดับสังคม”

“แม้คนส่วนใหญ่บนโลกใบนี้รักสันติภาพ แต่ยังมีคนบางกลุ่มที่พยายามทำลายและก่อสงคราม ที่ผ่านมาเราดูแลผู้ลี้ภัย คนยากจน พยายามหาที่พักอาศัยให้ เราต้องให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อไป เดินหน้ายอมรับความแตกต่าง มีน้ำอดน้ำทนในสังคมและเป็นสังคมที่เป็นกลาง”

“การพูดคุย ย่อมดีกว่าการทำสงคราม เราพยายามหลีกเลี่ยงสงคราม สงครามไม่ใช่คำตอบในทุกสถานการณ์ การหารือ คือการหาทางออกที่เหมาะสมที่สุดที่จะอยู่ร่วมกันต่อไป ทางออกที่ทุกฝ่ายจะชนะ คือหาทางให้ไอซิสเดินหน้าไม่ได้ และไม่เป็นภัยคุกคามอีกต่อไป เนื่องจากไม่มีช่องทางให้เจรจา ที่ผ่านมาเขาใช้การโจมตีที่ไร้มนุษยธรรม”

“กรุงปารีสถูกโจมตีเพราะเป็นปารีส ฉะนั้น เราจึงต้องเดินหน้าเพื่อให้ปารีสเป็นปารีส และอนาคตจะต้องคงความเป็นปารีสต่อไป”

ท่านทูตการาชงเล่าถึงการใช้เวลาพักผ่อนในยามว่างว่า

“ในฐานะที่เป็นชาวฝรั่งเศส อาหารจึงเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับผม วันใดที่ผมมีเวลามากขึ้น ผมจะใช้โอกาสนั้นในการทำอาหาร และส่วนใหญ่เรารับประทานอาหารฝรั่งเศสและอาหารไทยที่บ้านเป็นประจำ เพราะสถานทูตมีทั้งพ่อครัวฝรั่งเศสและพ่อครัวไทย อาหารไทยที่ผมโปรดปรานคือ แกงเขียวหวาน ข้าวเหนียว ผัดกะเพรา ส่วนผลไม้ได้แก่ ทุเรียน+มะม่วงทั้งสุกและดิบ”

“โดยปกติผมชอบที่จะไปเยือนสถานที่ทางประวัติศาสตร์ เช่น ลพบุรีและอยุธยา ได้ไปชมสถาปัตยกรรมโบราณทั้งในภาคเหนือและภาคอีสาน แต่ส่วนใหญ่ที่ไปเป็นประจำแทบทุกสุดสัปดาห์ คือ ตลาดนัดจตุจักร ที่นี่มีสินค้าที่ดีๆ หลากหลายมาก”

ก่อนจบการสนทนา ท่านทูตการาชง ฝากข้อความถึงคนไทยว่า

“สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปเยือนประเทศฝรั่งเศส อาจจะยังมีความรู้สึกหวาดหวั่นกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ขอได้โปรดอย่าลังเลที่จะไป เพราะเราพยายามทำอย่างเต็มที่เพื่อประกันความปลอดภัย และขอบอกว่า ฝรั่งเศสยังคงเป็นฝรั่งเศสดังที่เคยเป็นเสมอมา ผมหมายถึงเป็นประเทศแห่งความสุขที่ทุกคนสามารถเพลิดเพลินไปกับวิวทิวทัศน์ สถาปัตยกรรม อาหารที่มีคุณภาพ ไวน์รสเลิศ สถานที่สำคัญต่างๆ และปัจจุบันสามารถเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ได้โดยไม่ต้องรอคิวนานเกินไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ (Musee du Louvre)”

“สำหรับผม เป็นเรื่องที่ดีมากที่ผมได้มาอยู่ที่ประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีชาวฝรั่งเศสพำนักอยู่ในประเทศไทยประมาณ 40,000-50,000 คนในปัจจุบัน และมีนักท่องเที่ยวฝรั่งเศสมาเยือนประเทศไทยถึง 70,000 คนต่อปี”

“การที่มีคนฝรั่งเศสถึง 70,000 คนมาเยือนประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องของความบังเอิญ แต่เป็นเพราะคนฝรั่งเศสได้รับความสุขสนุกสนานจึงติดใจและหลงใหลในประเทศไทย ที่ผมกล่าวมานี้เพราะผมคิดว่า ควรเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยและควรนำเสนอเรื่องเมืองไทยแก่นักท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่นักท่องเที่ยวฝรั่งเศส ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือ เราควรเพิ่มการแลกเปลี่ยนในเรื่องนี้ เพราะยังมีอีกหลายช่องทางในการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของเรา”

“ถึงแม้ว่าฝรั่งเศสยึดโยงกับสภายุโรปที่ระงับการเยี่ยมเยือนแบบทวิภาคีทั้งหมดในระดับรัฐมนตรี เพราะฝรั่งเศสและสมาชิกสหภาพยุโรปมีความคิดเห็นว่า การนำประเทศไทยกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยและการยึดหลักรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ฝรั่งเศสประสงค์ที่จะกระชับสัมพันธภาพกับประเทศไทย โดยยึดมั่นในสันติภาพ เสรีภาพ และหลักประชาธิปไตย”

“แต่ไม่มีอะไรป้องกันไม่ให้เรามีส่วนร่วมกับหน่วยงานของไทยในขั้นตอนของการกลับสู่ประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ.2017 ตามกรอบโรดแม็ปที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางเอาไว้”