Ida : ไม่ลืม, แล้วไง? (จบ) โดย ประชา สุวีรานนท์

ตอน1

Ida เป็นหนังที่ “นิ่ง” มาก ผู้กำกับฯ คือ ปาเวล ปาวลีคอฟสกี เป็นชาวโปแลนด์ที่อพยพมาที่อังกฤษนานแล้ว เขาเริ่มต้นจากทำหนังสารคดี ก่อนหันมาทำ Last Resort (2000) และ My Summer of Love (2004) เคยกลับมาทำหนังที่บ้านเกิด คือ La femme du V?me (2011)

แต่ละช็อตเหมือนเอาภาพนิ่งหลายๆ ภาพมาเรียงต่อกัน และระหว่างช็อตก็ไม่มีเพียงเวลาหรือความเงียบที่ว่างเปล่า

เทคนิคนี้กระตุ้นผู้ดูให้เลิกใช้คุณค่าดั้งเดิมมาตัดสิน และใส่ความรู้สึกนึกคิดของตนลงไปแทน

การจัดองค์ประกอบภาพทำให้นึกถึงหนังอาร์ตสมัยก่อน เช่น ให้จุดสำคัญของภาพหล่นไปอยู่ด้านล่างของจอ หนังมีทั้งความขาว-ดำและการตัดต่อแบบ คาร์ล ธีโอดอร์ ดรายเออร์ บวกกับ โรแบร์ต เบรสซง การเล่าเรื่องแบบ ฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์ และสัดส่วนของจอแบบหนังโปแลนด์ในช่วง 1960s (แถมยังให้เรื่องเกิดขึ้นในยุคนั้น) นอกจากนั้น การใช้ไฟดวงเดียวหรือแสงจริง ยังทำให้บางครั้งใบหน้าดูมืดหรือท้องฟ้าสีเทาดูกดดันจนเกินพอดี

ความนิ่งทำให้การเคลื่อนไหวทวีความสำคัญ

ในฉากที่มีบทสนทนา การขยับกล้ามเนื้อของนักแสดงเพียงนิดเดียวอาจจะสร้างความหมายของทั้งฉาก

ดนตรีประกอบแทบจะไม่มี ถ้าจะมีโมซาร์ต, บาค และโคลแทรน แทรกเข้ามา ก็เป็นเสียงจริงที่มาจากวิทยุหรือร้านอาหาร เสียงประกอบอื่นๆ เช่น ช้อนกระทบกันในโรงอาหารของวัด ช่วยให้บรรยากาศ เช่น ทำให้รู้สึกถึงชนบทและเน้นความน่าเบื่อของชีวิตที่นั่นให้เด่นขึ้นมา

นอกจากนั้น เพลงของโคลแทรนยังบอกการมาของแจ๊ซ ซึ่งหมายถึงการหลุดออกจากยุคสตาลินและการเริ่มต้นของปัจจุบัน

เพียงเท่านี้ก็อาจจะทำให้ผู้นิยมหนังอาร์ตชอบได้

หนังยาวเพียงแปดสิบนาที แต่จะรู้สึกว่าช้ามาก การออกซักถามหลายคนในหมู่บ้านและการพูดคุยของทั้งสองจบลงอย่างง่ายๆ ผลคือความล้มเหลว ซึ่งก็คล้ายกับการแสวงหาในชีวิตจริง

สิ่งที่ทั้งสองค้นพบไม่ช่วยคลี่คลายความเจ็บปวด ที่ได้กลับมาอาจจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างกันเท่านั้น

ศรัทธาของอีด้าถูกทดสอบ ประสบการณ์ของวันด้าถูกตั้งคำถาม ระหว่างทาง วันด้าหยอกล้ออีด้าเกี่ยวกับชีวิตจำเจในหมู่บ้านเล็กๆ และประสบการณ์เรื่องเซ็กซ์ของเธอ

แต่ที่สำคัญ ก่อนออกเดินทาง เธอถามว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราออกค้นหาพระเจ้าแล้วพบว่าไม่มีอยู่จริง?

สิ่งที่อีด้าต้องเอามาทบทวนคือชีวิตของวันด้าและของตนเองในวัด ซึ่งล้วนสะท้อนภาวะของ “การไม่จำ” ที่ครอบงำสังคม วันด้าหมกมุ่นกับความเป็นยิวและความเป็นเหยื่อของตน รวมทั้งทำหน้าที่พิพากษาผู้อื่น ซึ่งบางครั้งก็เกินเลย และถ้าพระเจ้าของวันด้าคือความสงบทางจิตใจ เธอก็หาไม่พบ

สำหรับชีวิตในอดีตของอีด้า การให้อภัยหมายถึงการไม่จดจำ การครองตัวอย่างสงบและบริสุทธิ์ของแม่ชี ถูกมองว่าดำเนินมาได้ด้วยการปฏิเสธความจริง พระเจ้าของคริสเตียนกลายเป็นผู้ที่เพิกเฉยต่อความทรมานของคนต่างศาสนา

ทั้งสองแนวทางไม่น่าจะนำมาสู่อะไร นอกจากภาวะความ “อิหลักอิเหลื่อ” ต่ออดีตและความจำ

นอกจากนั้น ภาวะนี้ยังดำรงอยู่ในสังคม โปแลนด์เป็นประเทศคาทอลิก ที่ชอบบอกคนอื่นๆ อยู่เสมอว่าตนเองเป็นเหยื่อของทั้งนาซีและโซเวียต แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามลืมว่าเคยร่วมมือกับสองชาตินั้น

โปแลนด์ผ่านการปกครองหลายรูปแบบรวมทั้งการลงโทษผู้ทำผิดหลายฝ่าย แต่จะสะสางกี่ครั้ง ก็ยังไม่ได้ยอมรับความจริงทั้งหมด อาชญากรรมที่ก่อขึ้นแต่ถูกกลบเกลื่อนยังมีอีกมากมาย และ ทำให้ผู้คนอยู่ในภาวะอิหลักอิเหลื่อ

หนังจะเฉลยในตอนกลางเรื่องว่า ฆาตกรคือชาวบ้านผู้ให้ความช่วยเหลือแก่พ่อแม่ของอีด้า ซึ่งก็คล้ายภาวะของ คนในชาติยุคนั้น คือบางส่วนได้รุมฆ่าชาวยิว แต่บอกว่าทำไปด้วยความกลัวหรือเพื่อเอาตัวรอด

และนอกจากจะประกาศไม่รับผิดชอบต่ออาชญากรรม ยังขอให้สองสาวลืมเรื่องนี้เสีย

หลังจากปูพื้นไว้แต่ต้นเรื่องแล้วว่าอีด้าเป็นเด็กสาวแสนบริสุทธิ์ และด้วยการประกอบสร้างชีวิตในคอนแวนต์ด้วยภาพต่างๆ ในหลายแง่มุม หนังดูเหมือนจะเข้าข้างการให้อภัยและลืมให้ลง

แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป ด้วยโคลส-อัพใบหน้าที่เรียบเฉยและอาการที่แสนสำรวม หนังจะบอกด้วยว่าเธอไม่ได้เป็นเพียงสามเณรี แต่เป็นนักบุญตัวจริง ต่อมา ทั้งๆ ที่โลกเก่าได้พังทลายและศรัทธาเดิมได้ล่มสลายลงไปแล้ว เธอก็ยังสามารถทำกิจวัตรต่างๆ ในแต่ละวันได้อย่างปกติ ไม่ว่าจะเป็นการเช็ดโต๊ะ ต้มน้ำ ทำความสะอาดวัด แบกพระรูป สวดมนต์ รวมทั้งช่วยประคองวันด้าให้ยืนขึ้นมา

หลังจากที่ได้สัมผัสความจริงและชีวิตทางโลกย์ นักบุญคนนี้จะเลือกชีวิตแบบไหน?

จะแค่ปลงอาบัติแล้วกลับไปบวชชีดังที่เคยฝัน?

ในฉากสุดท้าย เธอเดินกลับไปสู่ชนบท ทางเดินทอดสายไปยาว แต่ไม่มีอะไรบอกว่าจะไปสู่ที่ใด

Ida ไม่ใช่เพียงหนังที่เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่เกี่ยวกับตัวตนและความทรงจำ

หนังเรื่องนี้แตกต่างกับ The Shindler’s List หรือ Sophie Scholl : The Final Days

เพราะสิ่งที่ตัวละครทำคือนั่งฟัง แทบจะไม่ได้ประกอบวีรกรรมใดๆ

แต่ด้วยการอ้างว่าเป็นหนังอาร์ต จึงถือสิทธิในการซ่อนความหมายต่างๆ ไว้ภายใต้คำว่า “กำกวม” ความลึกลับในสีหน้าและพฤติกรรมของอีด้าส่งผลในตอนท้าย

เสียงหัวเราะเบาๆ และสายตาที่มองแม่ชีคนอื่นๆ ชวนให้คิดว่า แม้จะไม่ทิ้งชุดนักบวช เธอก็น่าจะยอมรับความจริง และปฏิเสธการดำเนินชีวิตตามครรลองเดิม

าถามที่ตามมาคือ “แล้วไง?” หรืออะไรเป็น “ทางออก” ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน หนังบอกเพียงว่าชีวิตที่เหลือดำเนินไปได้หลายแบบ ไม่ว่าจะใช้หรือทำลาย, ให้อภัยหรือจดจำ และเรียนรู้หรือหมกมุ่นไปตลอดชีวิต

สิ่งที่อีด้าค้นพบ ไม่ใช่แค่ความตายของพ่อแม่

แต่เป็นความจริงที่ว่าอดีตสามารถถูกอธิบายหรือปิดบังได้หลายวิธี

ถ้าจะปรองดองกับมัน การตั้งคำถามอาจจะมีความสำคัญและใช้ความกล้าหาญมากกว่า