Ida : ไม่ลืม, แล้วไง? (1) โดย ประชา สุวีรานนท์

การรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา หรือการปราบปรามครั้งใหญ่ที่ธรรมศาสตร์เมื่อปี พ.ศ.2519 คล้ายกับโฮโลคอสต์หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของยุโรปในสงครามโลกครั้งที่สอง ตรงที่มีเนื้อหาและพิธีกรรมมากมาย

แน่นอน เมื่อเริ่มทำกันนั้น เป็นไปเพื่อตอกย้ำความทรงจำ เกี่ยวกับอาชญากรรม แต่เมื่อทำกันมากเข้า โฮโลคอสต์อาจจะไม่ได้หมายถึงการฆ่าหมู่ แต่กลายเป็นชื่อของแนวหนัง (genre) หรือความตื่นตาตื่นใจแบบหนึ่งเท่านั้น

ในหนังโฮโลคอสต์ สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะถูกลดทอนให้เป็นดราม่าบีบน้ำตา บิดเบือนให้เป็นวีรกรรม หรือพลิกผันให้เป็นสเตตัสอัพเกรดของผู้เล่า

ความทุกข์ทรมานของเหยื่อและการปรองดองกับอดีต อาจจะกลายเป็นดัดจริตเสแสร้ง สิ่งที่ควรจะสร้างความสั่นสะเทือนกลายเป็นกลอุบายหรือเทคนิค ซึ่งหมายความว่า ถ้ามากเกินไป เรื่องจะหมดความหมายและผู้ฟังทั้งหลายจะตายด้าน

ด้วยเหตุนี้ นอกจากท่องว่า “เราไม่ลืม” หนังโฮโลคอสต์ยุคใหม่จึงต้องพูดถึง “ทางออก” ด้วย นี่อาจจะเพราะไม่ลืมหมายถึงการเอาผิดกับอาชญากร และขออภัยในทางกฎหมาย ซึ่งผ่านไปแล้ว

ปัญหาของยุโรปในขั้นตอนนี้จึงไม่ใช่การจำหรือลืม แต่จะทำให้คนในชาติอยู่ร่วมกันอย่างสนิทใจได้อย่างไร

%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%8a%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b8%a5%e0%b8%84%e0%b8%b1%e0%b8%a5%e0%b9%80%e0%b8%88%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b9%8c-2

Ida หนังโปแลนด์ที่ได้รับรางวัลออสการ์ปี 2557 เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะชี้ว่าการสารภาพบาปและรับโทษนั้นไม่ใช่แค่เรื่องทางกฎหมาย และหลังจากรู้เรื่องนี้แล้ว จะหาทางปรองดองกับอดีตหรือ หรือมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยไม่หมดศรัทธาในเพื่อนมนุษย์ อาจจะสำคัญที่สุด

จุดสำคัญอยู่ตอนท้าย เมื่อนางเอกถูกหนุ่มคนหนึ่งขอให้เธอเลิกคิดเป็นแม่ชีและมาอยู่กับเขา

ฝ่ายหญิงถามว่า แล้วไง?

ชายหนุมตอบว่า “ก็แต่งงาน มีลูก ซื้อบ้าน”

แต่เธอถามอีกว่า แล้วไง?

พอถึงตรงนี้ คำตอบของเขา ซึ่งเป็นประโยคปิดเรื่องคือ “ก็อย่างเดิม, ใช้ชีวิต”

แล้วไง? หมายความว่าหลังจากที่รู้ความจริงที่แสนหฤโหดแล้ว ผู้ดูผู้ฟังที่ไม่ใช่เหยื่อควรจะทำอะไร?

พูดอีกอย่าง ความรู้นั้นอาจจะส่งผลต่างๆ กัน ทั้งต่อศรัทธาความเป็นมนุษย์ และเพื่อนร่วมชาติ แน่นอน สำหรับบางคน รู้แล้ว (หรือดูหนังแล้ว) จะทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ได้ แต่สำหรับบางคน จะเลือกการดำเนินชีวิตต่อไปอย่างปกติสุข หรืออยู่กับคนที่ไม่รู้เรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร?

รู้ไปทำไม? จำไปทำไม? อาจจะเป็นคำถามสำหรับงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา หลังจากเปิดเผยความจริงหมดแล้ว ถ้าคนรุ่นหลังถามอย่างนั้น จะตอบเขาอย่างไร

 

เรื่องของ Ida เริ่มในช่วง 1960s เด็กสาวอายุสิบแปดชื่อแอนนา เป็นลูกกำพร้าและไม่เคยรู้จักใครในครอบครัวเลย เธอโตมาในคอนแวนต์แห่งหนึ่งในชนบทและต้องการเป็นแม่ชี

แต่ก่อนจะสาบานตนและเข้ารับศีล ต้องถูกส่งไปพบกับญาติคนสุดท้ายคือป้าของเธอ การเดินทางนี้ทำให้นางเอกรู้ว่าพ่อแม่ของตนเป็นยิวและถูกฆ่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รวมทั้งค้นพบอดีตของป้าและตัวเอง

ทันทีที่พบกัน วันด้า ผู้มีอายุราวสี่สิบห้าและท่าทางเหมือนจัดเจนต่อชีวิต บอกว่า ชื่อเดิมเธอคือ อีด้า ลิบเบนสไตน์ พ่อและแม่ของเธอตายระหว่างหนีนาซี แต่ไม่รู้ว่าตายอย่างไร

หลังจากพูดกันไม่กี่คำ ทั้งสองตกลงกันว่าจะเดินทางไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่งเพื่อสืบเรื่องนี้

คล้ายหนังนักสืบ อีด้ากับวันด้าเป็นการจับคู่ที่ดูเหมือนจะแปลกใหม่นั่นคือ คาทอลิกกับคอมมิวนิสต์, แม่ชีกับหญิงสำส่อน, คนรุ่นใหม่กับเก่า อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคนหรือสองขั้วนี้ ล้วนมีปัญหาของตัวเอง

ในช่วงสงคราม ชาวโปแลนด์ (ซึ่งรวมยิวนับล้านๆ) เสียชีวิตไปมากกว่าหนึ่งในห้าของทั้งหมด

สองปีหลังสงครามโลก เมื่อคอมมิวนิสต์ยึดประเทศโดยอาศัยกองทัพแดงและตำรวจลับของโซเวียต คนที่เคยต่อต้านนาซีถูกหาว่าเป็นอาชญากร เขาเหล่านั้นถูกยิงทิ้งและแขวนคอ

หนังไม่มีการแสดงให้เห็นสิ่งเหล่านี้ แต่ก็บอกว่าโปแลนด์เป็นดินแดนของซากศพ สังคมกำลังแตกแยก และคนที่เราคุยด้วยอาจหักหลังหรือไม่ ก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ได้ง่ายๆ โดยแฝงบรรยากาศแบบนี้เข้าไปในทุกฉาก

 

สองสาวเป็นภาพสะท้อนของอะไรบางอย่าง คนที่อาจจะดูแปลกกว่าคือวันด้า ในช่วง 30s เธอเป็นคอมมิวนิสต์และเคลื่อนไหวใต้ดินเพื่อต่อต้านนาซี

ต่อมา หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กลายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลโปแลนด์ในยุคที่ปกครองอย่างเหี้ยมโหด ในฐานะผู้พิพากษาและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์

เธอเคยส่งคนไปประหารมากมายจนได้รับฉายาว่า Red Wanda แต่ในปี 1961 ก็เลิกเชื่อในการปฏิวัติและลาออก หลังจากนั้น เนื่องจากมีชีวิตที่มั่นคง จึงอยู่กับบุหรี่ เหล้ายาปลาปิ้ง เสพศิลปะ และมีความสุขไปวันๆ รวมทั้งเปลี่ยนคู่นอนไปเรื่อยๆ

ถ้าอีด้ากำลังแสวงหาตัวตน วันด้าก็เป็นต้นแบบอันหนึ่ง

ชีวิตของเธอสะท้อนประวัติศาสตร์ของโปแลนด์ เช่น ถูกทรยศสองครั้ง ครั้งแรกโดยโปแลนด์ที่เกลียดยิว (รวมทั้งนาซี) และครั้งที่สองโดยโปแลนด์ที่เป็นคอมมิวนิสต์ ความจำของเธอจึงมีแต่ความขมขื่นและบาปที่ล้างไม่ได้

ส่วนอีด้านั้น ตอนแรกไม่น่าสนใจเลย เช่น เมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นยิว เธอได้แต่เบิกตากว้างและดูเหมือนจะไม่มีอารมณ์ตอบสนองใดๆ

ผู้ดูอาจจะสงสัยว่าเธอโง่เสียจนไม่รู้ว่าความจริงข้อนี้มีความหมายแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ความเยือกเย็นแบบนี้แหละทำให้ตัวละครดูลึกลับ เช่น เมื่อพบความจริงแล้ว ตัวตนของเธอจะเป็นอย่างไรต่อไป

ผู้ดูสงสัยว่าเธอจะรักษาศรัทธาหรือความต้องการจะบวชได้ไหม?

ในตอนใกล้จบ เธอได้กลับไปที่วัด และขอล้างบาปที่ตนเองไม่ได้ทำ