สุรชาติ บำรุงสุข : ซัมมิตสหรัฐ-เกาหลีเหนือ จุดจบของสงครามเย็นในเอเชีย?

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ในที่สุดสงครามเกาหลีจะถูกรับรู้ว่าเป็นหนึ่งในสงครามที่เลวร้ายที่สุด และเป็นหนึ่งในสงครามที่สำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 20”

Bruce Cumings

The Korean War : A History

หากพิจารณาจากบริบทของประวัติศาสตร์สงครามแล้ว คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า ศตวรรษที่ 20 เป็น “ศตวรรษแห่งสงคราม” เพราะศตวรรษนี้ไม่เพียงจะมีสงครามโลกถึงสองครั้ง แต่ยังมีสงครามอื่นที่ใหญ่และมีนัยสำคัญในการเมืองโลก

ไม่ว่าจะเป็นสงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม และสงครามตะวันออกกลาง เป็นต้น

แต่ละสงครามในศตวรรษนี้เต็มไปด้วยความรุนแรงและการทำลายล้างขนาดใหญ่ และในแต่ละสงครามก็เต็มไปด้วยชีวิตของทหารและพลเรือนจำนวนมากที่ต้องสูญสิ้นไปกับสงคราม

แน่นอนว่าในบริบทเช่นนี้ สงครามเกาหลีมีนัยสำคัญกับโลกสมัยใหม่ เพราะเป็นสงครามใหญ่ครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นสงครามครั้งแรกที่รัฐมหาอำนาจในเวทีโลกเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์

อีกทั้งสงครามนี้ยังเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของสงครามเย็นในเอเชีย… และเป็นจุดสุดท้ายของสงครามเย็นที่ยังไม่ยุติในการเมืองโลกอีกด้วย

เมื่อสงครามยังไม่จบ!

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ปัญหาการจัดเรื่องการปกครองพื้นที่ของคาบสมุทรเกาหลีเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญทางการเมืองในเอเชีย ในวันที่ 10 สิงหาคม 1945 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้กำหนดแนวเส้นแบ่งทางภูมิรัฐศาสตร์เพื่อใช้ในการปลดอาวุธของกองทัพญี่ปุ่นที่เส้นขนานที่ 38

เส้นนี้จะแบ่งภารกิจระหว่างกองทัพสหรัฐกับกองทัพสหภาพโซเวียตในภารกิจดังกล่าว

และต่อมาเส้นดังกล่าวได้กลายเป็นเส้นแบ่งทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การสนับสนุนของรัฐมหาอำนาจแต่ละฝ่าย

และที่สำคัญ เส้นที่ 38 ได้มีสถานะของเส้นแบ่งทางอุดมการณ์ระหว่างค่ายตะวันตกและตะวันออก

เท่าๆ กับที่แบ่งเกาหลีออกเป็นสองส่วนในทางการเมืองการปกครองด้วย

หลังจากการปลดอาวุธกองทัพญี่ปุ่นแล้ว กองทัพแดงโซเวียตได้ถอนตัวออกจากเกาหลีในภาคเหนือในปี 1948 และสหรัฐถอนออกเช่นกันในปี 1949

ต่อมาในปี 1950 จีนก็เปลี่ยนแปลงการปกครองพร้อมกับการขึ้นสู่อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์

และขณะเดียวกันโซเวียตก็ประสบความสำเร็จในการเป็นรัฐมหาอำนาจนิวเคลียร์ในปี 1949

U.S. President Donald Trump and North Korea’s leader Kim Jong Un sign documents that acknowledge the progress of the talks and pledge to keep momentum going, after their summit at the Capella Hotel on Sentosa island in Singapore June 12, 2018. REUTERS/Jonathan Ernst TPX IMAGES OF THE DAY

การผูกขาดอำนาจนิวเคลียร์ไม่ได้เป็นของสหรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป ในขณะนั้นความกังวลด้านความมั่นคงของสหรัฐอยู่กับการขยายอิทธิพลของโซเวียตในยุโรป การคงกำลังรบของสหรัฐในเอเชียในยุคหลังสงครามโดยเฉพาะบนคาบสมุทรเกาหลีไม่ได้มีความเข้มแข็ง และกองทัพเกาหลีใต้เองก็ไม่ได้มีความเข้มแข็งเช่นกัน

และเชื่อกันว่าผู้นำเกาหลีเหนือน่าจะได้รับสัญญาณการสนับสนุนจากโซเวียตให้เปิดการโจมตี บนเงื่อนไขที่จีนจะให้การสนับสนุนทางทหารด้วย

สงครามเกาหลีเริ่มขึ้นในเช้าตรู่ของวันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน 1950 กองทัพของเกาหลีเหนือเปิดการรุกข้ามเส้นขนานที่ 38 อย่างรวดเร็ว กองทัพสหรัฐอเมริกาและกองทัพเกาหลีใต้ไม่ได้มีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะรับมือกับการโจมตีที่เกิดขึ้น

แต่ในที่สุดสหประชาชาติภายใต้การผลักดันของสหรัฐได้ตัดสินใจเข้าแทรกแซง จนกลายเป็นสงครามใหญ่ครั้งแรกหลังจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2

และสงครามนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญประการหนึ่งของพันธะด้านความมั่นคงของสหรัฐในเอเชีย

และถือว่าเป็นบททดสอบนโยบายและยุทธศาสตร์ของสหรัฐต่อเอเชีย โดยเฉพาะสหรัฐมองว่าได้สูญเสียจีนไปแล้ว สหรัฐจะไม่ยอมสูญเสียเกาหลีอีก

ท่ามกลางความรุนแรงของสงครามนี้ มีความพยายามอย่างมากที่จะหาทางยุติการรบที่เกิดขึ้น และสงครามจากเดือนกรกฎาคม 1951 จนถึงกรกฎาคม 1953 เป็นการรบในแบบตรึงอยู่กับที่คล้ายกับสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ก็เปิดโอกาสให้การเจรจาสันติภาพสามารถเกิดขึ้นได้

จนในที่สุดการเจรจาหยุดยิง (Armistice) ก็เกิดขึ้นที่หมู่บ้านปันมุนจอมในวันที่ 27 กรกฎาคม 1953…

การรบจบ แต่สงครามยังไม่จบ!

สงครามกำลังจะจบ?

การหยุดยิงยุติศึกในสงครามเกาหลีเช่นนี้ไม่ใช่ “สัญญาสันติภาพ” ที่จะมีนัยถึงการยุติสงครามเพราะเป็นเพียงการหยุดยิง

ฉะนั้น จึงต้องถือว่าสงครามเกาหลีในปี 1950 จนถึงปัจจุบันนั้น ยังไม่สิ้นสุดลงแต่อย่างใด

และขณะเดียวกันก็เห็นถึงความตึงเครียดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังจะเห็นได้ว่าเส้นขนานที่ 38 ได้ถูกกำหนดให้เป็น “เขตปลอดทหาร” ซึ่งโดยภาษาแล้วน่าจะมีความหมายว่า เป็นพื้นที่ที่ปลอดจากการวางกำลังรบ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เขตปลอดทหารเป็นเขตที่มีความพร้อมรบทางทหารมากที่สุดของทั้งสองฝ่าย

และเป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบางอย่างมาก

อีกทั้งความตึงเครียดยังเป็นผลการเผชิญหน้าทางทหารทั้งในรูปของสงครามตามแบบ และสงครามนิวเคลียร์

อันเป็นผลจากการทดลองและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือที่เกิดมาโดยตลอด จนในภาวะปัจจุบันเชื่อกันว่าเกาหลีเหนือมีหัวรบนิวเคลียร์และขีปนาวุธนิวเคลียร์ข้ามทวีปแล้ว และอาจจะต้องยอมรับในความเป็นจริงว่าเกาหลีเหนือได้มีสถานะเป็น “รัฐนิวเคลียร์” แล้ว

ความสำเร็จทางด้านนิวเคลียร์เช่นนี้ ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่าความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีในปัจจุบันจะยกระดับกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ได้

แม้สงครามนิวเคลียร์ดูจะเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจินตนาการก็ตามที แต่ปัจจัยจากบุคลิกของผู้นำทั้งสหรัฐ (ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์) และเกาหลีเหนือ (ประธานาธิบดีคิมจองอึน) ในปัจจุบัน ทำให้ปัญหาสงครามนิวเคลียร์บนคาบสมุทรนี้เป็นสิ่งที่จะมองด้วยความประมาทไม่ได้

ดังนั้น จึงไม่แปลกนักที่สถานการณ์ “วิกฤตนิวเคลียร์เกาหลี” ในช่วงปี 2017 จะเป็นความกังวลชุดใหญ่ทั้งในเอเชียและในโลก

และเริ่มมีการเตรียมรับภัยจากการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ เช่น ในญี่ปุ่นและในฮาวาย เป็นต้น

แต่สถานการณ์ในปี 2018 กลับมีทิศทางที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง

จนเป็นดัง “ฤดูใบไม้ผลิ” บนคาบสมุทรเกาหลี นับจากกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในเดือนกุมภาพันธ์

การพบระหว่างผู้นำสูงสุดของสองเกาหลีในเดือนเมษายน (เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี)

และที่สำคัญคือการพบระหว่างผู้นำสูงสุดสหรัฐ-เกาหลีเหนือที่สิงคโปร์ในเดือนมิถุนายน (เป็นครั้งแรกหลังจากการหยุดยิงในปี 1953) และเป็นครั้งแรกที่ผู้นำเกาหลีเหนือข้ามเส้นขนานที่ 38

แม้จะเป็นภาพเชิงสัญลักษณ์ก็ตาม

สามเหตุการณ์ใหญ่เช่นนี้บ่งบอกถึงแนวโน้มใหม่

แม้จากการประชุมที่สิงคโปร์จะยังไม่มีการลงนามในสัญญาสันติภาพ แต่การตกลงที่จะทำลายอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ (denuclearization) ก็จะต้องถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดภูมิทัศน์ความมั่นคงใหม่

จนเป็นเสมือนกับจุดเริ่มต้นของ “การยุติสงครามเย็น” บนคาบสมุทรเกาหลี แม้จะมีข้อถกเถียงว่ากระบวนการทำลายอาวุธนิวเคลียร์จะมีรายละเอียดและขั้นตอนที่ยุ่งยากอีกพอสมควรก็ตาม

June 12, 2018. REUTERS/Jonathan Ernst

ถ้าสงครามจบ!

อย่างไรก็ตาม ผลจากการที่สงครามเกาหลีไม่ได้ยุติลงอย่างเป็นทางการนั้น ทำให้คาบสมุทรเกาหลีกลายเป็น “พื้นที่สงคราม” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และรูปธรรมของสถานะเช่นนี้ก็คือ การคงกำลังรบขนาดใหญ่ไว้ในพื้นที่ดังกล่าว ดังจะเห็นได้ว่า ไม่เพียงแต่จะมีกองทัพเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้เท่านั้น หากแต่ยังมีกองทัพสหรัฐในเกาหลีใต้ และในพื้นที่ใกล้เคียงคือญี่ปุ่นอีกด้วย

ดังนั้น หากตรวจสอบดุลกำลังบนคาบสมุทรเกาหลีแล้ว จะเห็นภาพเชิงเปรียบเทียบอย่างสังเขป

กองทัพเกาหลีเหนือ

– กำลังพลรวม 1,190,000 นาย (กองทัพบก 1,020,000 กองทัพเรือ 60,000 กองทัพอากาศ 110,000)

– กำลังรบทางบก ได้แก่ รถถังหลัก 3,500 คัน รถถังเบา 560 คัน ปืนใหญ่ 21,100 กระบอก

– กำลังรบทางเรือประกอบไปด้วยเรือดำน้ำติดขีปนาวุธ 1 ลำ เรือดำน้ำ 72 ลำ เรือฟริเกต 2 ลำ

– กำลังรบทางอากาศ ได้แก่ เครื่องบินทิ้งระเบิด 80 เครื่อง เครื่องบินรบ 465 เครื่อง

กองทัพเกาหลีใต้

– กำลังพลรวม 630,000 นาย (กองทัพบก 495,000 กองทัพเรือ 70,000 กองทัพอากาศ 65,000)

– กำลังรบทางบก ประกอบไปด้วยรถถังหลัก 2,434 คัน ปืนใหญ่ 11,380 กระบอก

– กำลังรบทางเรือ มีเรือดำน้ำ 23 ลำ เรือลาดตระเวน 3 ลำ เรือพิฆาต 6 ลำ เรือฟริเกต 14 ลำ

กำลังรบทางอากาศ มีเครื่องบินรบ 487 เครื่อง เครื่องบินที่มีขีดความสามารถในการรบ 80 เครื่อง

สำหรับกองทัพสหรัฐอเมริกาในเอเชียนั้น ประกอบไปด้วยกำลังพลสหรัฐในญี่ปุ่น 47,050 นาย มีกำลังหลัก ได้แก่ กองทัพเรือที่ 7 (โยโกสุกะ) กองทัพอากาศที่ 5 (โอกินาวา) กองกำลังนาวิกโยธิน (โอกินาวา) ส่วนกำลังพลสหรัฐในเกาหลีใต้ มี 28,500 นาย โดยมีกำลังหลักได้แก่กองทัพบกที่ 8 (โซล) และกองทัพอากาศที่ 7 (โอซาน) นอกจากนี้ยังมีกำลังพลสหรัฐที่เกาะกวมจำนวน 5,150 นาย

จากสภาพของการคงกำลังรบดังที่ปรากฏในข้างต้นเห็นได้ชัดว่าสงครามยังไม่จบ

แต่ถ้าสถานการณ์ความตึงเครียดและการเผชิญหน้าทางทหารลดลงอย่างมาก จนไปถึงจุดที่คาบสมุทรเกาหลีจะไม่เป็น “จุดร้อน” (hotspot) ในการเมืองโลกแล้ว

สถานะด้านความมั่นคงในทางภูมิรัฐศาสตร์ของคาบสมุทรเกาหลีย่อมจะเปลี่ยนแปลงไป

ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว กำลังรบขนาดใหญ่เช่นนี้จะยังคงอยู่ต่อไปอีกหรือไม่

และยังรวมเข้ากับแนวโน้มใหม่ที่เกาหลีเหนืออาจจะยอมยุติโครงการนิวเคลียร์ของตนที่เป็นผลสืบเนื่องจากปรากฏการณ์ใหม่ที่สำคัญคือ การประชุมผู้นำสูงสุดของเกาหลีทั้งสองฝ่ายและการพบกันระหว่างผู้นำสหรัฐและเกาหลีเหนือ จนทำให้สถานการณ์ความมั่นคงบนคาบสมุทรเกาหลีกำลังเดินไปสู่ทิศทางที่เป็นบวกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ดังนั้น หากการยุติสงครามเกาหลีเกิดขึ้นจริงในอนาคต และผนวกเข้ากับแนวโน้มใหม่แล้ว ก็อาจจะนำไปสู่ภูมิทัศน์ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลี

เกาหลีเหนือยังจำเป็นต้องคงกองทัพขนาดใหญ่ไว้อีกหรือไม่ (หากเปรียบเทียบแล้วมีขนาดใหญ่ของกำลังพลเป็นอันดับ 4 ของโลก)

เช่นเดียวกัน กองทัพเกาหลีใต้ก็มีขนาดใหญ่เช่นกัน (ลำดับ 4 ของกองทัพในเอเชีย) แต่ที่สำคัญคือ สหรัฐจะคงกำลังรบไว้ในเกาหลีใต้และในโอกินาวาต่อไปอีกหรือไม่เพียงใด

ดังนั้น หากภูมิทัศน์ความมั่นคงใหม่เกิดขึ้น พร้อมกับการลดลงของความตึงเครียดจากวิกฤตนิวเคลียร์แล้ว ยุทธศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจที่เกี่ยวข้องก็จะเปลี่ยนไปด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสงครามเกาหลีถึงจุดเปลี่ยนแปลงจริงแล้ว ยุทธศาสตร์ของสหรัฐ จีน รัสเซีย และญี่ปุ่นจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน

และการปรับยุทธศาสตร์ความมั่นคงใหม่ของรัฐมหาอำนาจทั้งสี่ย่อมจะส่งผลกระทบต่อการเมืองในเอเชียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกทั้งอาจจะนำไปสู่การปรับยุทธศาสตร์รัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงทั้งสองได้แก่เกาหลีเหนือและใต้อีกด้วย ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จึงเป็นความหวังว่า “ฤดูใบไม้ผลิ” กำลังเริ่มเบ่งบานบนคาบสมุทรเกาหลี และขณะเดียวกันพื้นที่สงครามก็กำลังจะเปลี่ยนเป็น “คาบสมุทรแห่งสันติภาพ”

และทุกฝ่ายก็หวังว่าสิ่งนี้จะเป็นความจริงมากกว่า “ความฝัน” ชั่วครั้งชั่วคราว!

หมายเหตุ : กำลังรบเชิงเปรียบเทียบ

การจัดขนาดกองทัพของโลก 5 ลำดับแรก ได้แก่ ลำดับ 1 กองทัพจีน ลำดับ 2 กองทัพอินเดีย ลำดับ 3 กองทัพสหรัฐ ลำดับ 4 กองทัพเกาหลีเหนือ ลำดับ 5 กองทัพรัสเซีย

การจัดขนาดกองทัพในเอเชีย 5 ลำดับแรก ได้แก่ ลำดับ 1 กองทัพจีน ลำดับ 2 กองทัพเกาหลีเหนือ ลำดับ 3 กองทัพปากีสถาน ลำดับ 4 กองทัพเกาหลีใต้ ลำดับ 5 กองทัพเวียดนาม

(ตัวเลขกำลังพลและจำนวนอาวุธในบทความนี้ อ้างจาก IISS, Military Balance 2017)