คำ ผกา : อาหารกลางวันฟรีภาษีประชาชน

คำ ผกา

ในยุคปฏิรูปก่อนเลือกตั้งนี้ดีจริงๆ เพราะมันทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า 4 ปีที่ไม่มีนักการเมืองเข้ามาบริหารประเทศแม้แต่คนเดียวนั้น ไม่ได้ทำให้เมืองไทยกลายเป็นประเทศที่ผุดผ่องไร้มลทินปราศจากการคดโกงใดๆ เลย

เพราะข่าวการทุจริตคอร์รัปชั่นมีออกมาให้ได้เห็นได้อ่านกันอยู่ทุกวัน ล่าสุดขนาดเงินค่าอาหารกลางวันเด็กหัวละ 20 บาทยังโกง!

นอกจากจะมีการโกงงบฯ อาหารกลางวันเด็กมูลค่าหัวละ 20 บาทแล้ว ยังอุตส่าห์มีนักโภชนาการคนหนึ่งออกมาบอกว่า งบฯ หัวละ 20 บาทนั้นเพียงพอ จัดการได้ เด็กสามารถกินอาหารดีๆ สารอาหารครบถ้วนได้ เพราะถ้าให้งบฯ มากกว่านี้จะมีการโกง เป็นการเพิ่มช่องว่างให้คนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์

โอ๊ยยย นี่เอานิ้วเท้าข้างไหนคิด?????

ถ้าเรายืนอยู่บนตรรกะนี้ เราควรตัดงบประมาณของทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน และลดเงินเดือนข้าราชการทุกคนเลยดีไหม?

เพราะให้งบฯ ไปเยอะๆ ก็เท่ากับเป็นการสร้างช่องว่างให้คนเข้ามาหาผลประโยชน์

ข้าราชการได้เงินเดือนเยอะๆ ไปก็ไม่ดีหรอก เดี๋ยวนำเงินไปใช้ในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ เดี๋ยวเอาเงินไปเลี้ยงกิ๊ก เลี้ยงเมียน้อย ครอบครัวแตกแยก

ส่วนผู้หญิงได้เงินเดือนเยอะๆ เดี๋ยวเอาไปช้อปปิ้งหมด ไร้สาระ อย่ามีเลย เงินดงเงินเดือน ไหนบอกว่ารักชาติ เสียสละ มาเป็นข้าราชการรับใช้ชาติไม่ต้องมีเงินเดือนละกัน—

ถ้าจะใช้ตรรกะแบบนี้ เราก็ควรถามคนพูดกลับไปด้วยตรรกะนี้ได้เช่นเดียวกัน

เงิน 20 บาท สำหรับจัดการอาหารกลางวันเด็ก ทำด้วยวิธีใดบ้าง?

เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ครูจะมาทำอาหารกลางวันให้เด็ก เพราะหนึ่ง ครูไม่ใช่แม่ครัว!

ลำพังคนที่เป็นครูเอง ตัวครูยังจัดการอาหารสามมื้อของตนเองให้มีคุณภาพไม่ได้เลย นับประสาอะไรจะมาทำอาหารกลางวันให้เด็กได้ ด้วยภาระงาน ภาระงานสอน ภาระงานเอกสาร ภาระงานจุกจิกจิปาถะ งานกิจกรรมทั้งจำเป็น ไม่จำเป็น ครูมีหนี้สินต้องหารายได้เสริม ครูมีลูก มีผัว มีเมีย มีพ่อ มีแม่ต้องดูแลเลี้ยงดู

ครูแต่ละคนแต่ละวันมีเวลาหาข้าวให้ตัวเองกินครบ 3 มื้อหรือเปล่า เรายังไม่รู้เลย

เพราะฉะนั้น จะให้ครูเป็นคนรับผิดชอบทำอาหารคงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

และฉันยังคิดว่า โรงเรียนควรมีอาหารกลางวันฟรีสำหรับครูด้วยซ้ำไป (ซึ่งตามข่าวก็มีข้อครหามาอีกว่า อาหารครูนั้นช่างอุดมสมบูรณ์ ไม่อัตคัดขัดสนเหมือนอาหารนักเรียน)

ทีนี้เมื่อไม่ใช่ครูเป็นผู้จัดการอาหารกลางวันนักเรียน วิธีจัดการคือ 1) การจ้างเหมา 2) การซื้ออาหารสดมาทำเอง 3) แจกคูปองมูลค่า 20 บาทให้นักเรียนซื้อกินจากแม่ค้าที่มาขายอาหารในโรงเรียน

การจ้างเหมา และการซื้อของสดมาปรุงเองนี่แหละ ที่ว่ากันว่าเป็นช่องทางของการทุจริต

ก่อนจะพูดเรื่องการทุจริต มาดูเรื่องวัตถุประสงค์ของการมีอาหารกลางวันในโรงเรียน

ฉันคิดว่าการมีอาหารกลางวันฟรีในโรงเรียนนั้น ไม่ใช่เรื่องความยากจน (หรือต่อให้มีประเด็นเรื่องความยากจน แต่ก็ไม่ควรใช้เรื่องนั้นมาเป็นแกนกลางในการทำโครงการอาหารกลางวันเด็ก)

เพราะอาหารกลางวันควรเป็นสวัสดิการหนึ่งสำหรับนักเรียนทุกคนที่มาพร้อมกับแนวคิดเรื่องการจัดการการศึกษาภาคบังคับฟรีสำหรับนักเรียนไทยทุกคน

การศึกษาภาคบังคับฟรีนี้ต้องรวมไปถึงการจัดหาอาหารกลางวันที่ดีและมีคุณภาพสำหรับนักเรียนด้วย

นอกจากเป็น a must หรือสิ่งที่ต้องมี ต้องทำแล้ว โครงการอาหารกลางวันเด็กควรเป็นโครงการที่เป็นมื้ออาหารตัวอย่างสำหรับอาหารที่มีประโยชน์ มีรสนิยม

เพื่อการเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับอาหารของนักเรียนอีกด้วย

ใน 1 มื้ออาหารกลางวันที่เด็กกินที่โรงเรียนนั้น เด็กจะได้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง?

เด็กเรียนรู้ที่จะกินในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบกิน (ไม่ได้แปลว่ากินขนมจีนกับน้ำปลา) เช่น การกินผัก การกินเครื่องเทศบางอย่าง หรือกินในสิ่งที่ปกติแล้วที่บ้านของตัวเองไม่ให้กิน หรือไม่มีให้กิน

ในโครงการเชฟน้อยกินเปลี่ยนโลกที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้ไปทำโครงการทดลอง ปรับเมนูอาหารกลางวันเด็กในบางศูนย์เด็กเล็กของจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าผู้ใหญ่มักเชื่อว่าอาหารสำหรับเด็กต้องเป็นแกงจืด ไข่ตุ๋น ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ๊ว ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยวน้ำลูกชิ้น ฯลฯ นั่นคือ คิดว่าเด็กไม่กินเผ็ด และไม่กินผัก

แต่พบว่าเมื่อเปลี่ยนเมนูอาหารเป็นผักกาดจอ หรือน้ำพริกอ่องโดยไม่ใส่พริก แต่ใส่เครื่องปรุง เครื่องเทศทุกอย่าง ให้เด็กกินกับผักต่างๆ

ปรากฏว่าเด็กกลับชอบกินน้ำพริกอ่อง หรือผักกาดจอ มากกว่าข้าวผัด หรือก๋วยเตี๋ยวผัด

ส่วนขนมนั้นก็ปรับจากขนมปี๊บ เป็นบัวลอยงาดำหวานน้อย หรือเมนูจากวัตถุดิบหาง่ายอื่นๆ ลดน้ำตาลธัญพืชที่มีประโยชน์ต่อเด็ก

ทั้งหมดนี้ ไม่ได้ทำให้งบฯ อาหารกลางวันแพงขึ้น แต่เด็กกลับได้กินอาหารที่หลากหลายขึ้น เรียนรู้จะกินผักได้มากชนิดขึ้น มีประโยชน์มากขึ้น

ได้รับสารกันบูดน้อยลง

ได้รับน้ำตาลและไขมันอันไม่จำเป็นน้อยลง

(สิ่งที่เราพึงรู้อีกว่าในข้อจำกัดทั้งปวงของการจัดการอาหารกลางวันเด็ก แม้ไม่มีการคอร์รัปชั่นเลย ขนม ของว่างสำหรับเด็กที่ได้กินในโรงเรียน ส่วนใหญ่เป็นขนมที่นอกจากจะไม่มีประโยชน์ ยังเป็นพิษต่อสุขภาพ เช่น ขนมปี๊บ ขนมราคาถูกที่ขายส่งกันในปริมาณมากๆ ในดิสเคาต์สโตร์ ขนมปังที่อุดมไปด้วยยากันบูด แยม น้ำเชื่อม น้ำหวานคุณภาพต่ำ ฯลฯ)

นอกจากการเรียนรู้ที่จะกินอาหารหลากหลายกว่าที่พ่อแม่ทำให้กิน

สิ่งหนึ่งที่เราสามารถฝึกเด็กในมื้ออาหารกลางวันได้คือ ฝึกมารยาทการกินอาหารร่วมกับผู้อื่น

การตักอาหารให้พอเหมาะ

การกินอาหารในถาดของตนเองให้หมดจด ไม่เหลือทิ้ง (ไม่เอาความชอบหรือไม่ชอบของตนเองเป็นที่ตั้ง แต่ต้องฝึกกินในสิ่งที่มีให้กิน)

การเก็บจาน ถาด แก้วน้ำด้วยตนเอง

การเช็ดโต๊ะ ทำความสะอาด หรือแม้กระทั่งการล้างจานด้วยตนเอง

การแบ่งงานกันทำ

ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องของการฝึกวินัย และความรับผิดชอบต่องานสาธารณะ พื้นที่สาธารณะ การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นด้วยความเคารพ

วินัยเช่นนั้นสำคัญและมีประโยชน์กว่าเอาเด็กไปยืนหน้าเสาธง ท่องอะไรก็ไม่รู้เป็นนกแก้วนกขุนทอง มีประโยชน์กว่าใช้เวลานับชั่วโมงๆ ไปตรวจผม ตรวจเล็บ ตรวจเสื้อซับในเด็กที่หาประโยชน์อะไรไม่ได้เลย

นอกจากเรียนรู้เรื่องเหล่านี้แล้ว ครูและผู้บริหารโรงเรียนควรเอาเวลาที่จะมาตรวจเล็บ ตรวจถุงเท้า ตรวจความยาวของเส้นผม ตรวจความยาวของชายกระโปรงเด็ก ไปดูว่า ในท้องถิ่นที่โรงเรียนตั้งอยู่สามารถหาเครือข่ายเกษตรกรที่จะผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพมาป้อนโครงการอาหารกลางวันของเด็กในโรงเรียนได้อย่างไร

และจะหาอาหารที่ปลอดภัยให้กับเด็กได้อย่างไร

อีกทั้งจะสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับที่มาของอาหาร ความปลอดภัย ความอยู่รอดของเกษตรกร การคุกคามของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมอาหารที่มีผลต่อมื้ออาหารของเด็ก ปัญหาสิ่งแวดล้อมกับความมั่นคงทางอาหาร ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนสามารถสอดแทรกข้อมูล วิธีคิด การหัดตั้งคำถามให้เด็กๆ ผ่านมื้ออาหารกลางวันในโครงการอาหารกลางวันของเด็กได้

จะเห็นว่าอาหารกลางวันจะไม่ใช่อาหารกลางวัน แต่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ และเป็นส่วนหนึ่งของ “วิชาความรู้” ของเด็กนักเรียนได้ด้วยตัวของมันเอง ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นในโครงการอาหารกลางวัน เพราะโครงการอาหารกลางวันของนักเรียนในบ้านเราเกิดขึ้นจากแนวคิดว่าเด็กยากจน นี่คืออาหารที่รัฐจักให้กินฟรี

(มีให้กินก็บุญแล้ว จะเอาอะไรอีก)

การจัดอาหารกลางวันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ การฝึกวินัย และสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมให้กับเด็กๆ นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่มีเวลา ซึ่งก็คงจริง เพราะโรงเรียนไทยใช้เวลาไปกับการเรียนและการทำการบ้านที่ล้นเกิน แถมยังมีกิจกรรมตรวจแถว ตรวจผม ตรวจมารยาท แค่นี้ก็หมดวันแล้ว

ต่อให้ไม่มีการคอร์รัปชั่น การที่โรงเรียนใช้งบฯ 20 บาทต่อหัวไปจ้างเหมาการทำอาหาร คนที่มารับเหมาต้องได้กำไร (เพราเขาทำธุรกิจ ไม่ได้ทำการกุศล) ก็ต้องบริหารเงินนี้บนฐานคิดเรื่องกำไร-ขาดทุน ดังนั้น เราจะไปคาดหวังอะไรกับคุณภาพอาหารที่เด็กจะได้กิน

อย่าว่าค่าอาหารหัวละ 20 บาทที่อุดหนุนโดยรัฐ ฉันเข้าไปดูเมนูอาหารกลางวันเด็กโรงเรียนเอกชนที่ค่าเทอมเป็นแสน อาหารกลางวันเด็กยังเป็นประเภท มะกะโรนีผัดไก่, เส้นเซี่ยงไฮ้ต้มหมูสับ, ข้าวไข่ตุ๋นหมูสับ อาหารว่างคือ กล้วยน้ำว้า 1 ลูก, ขนมปังชุบไข่ทอด อะไรเทือกนี้

ซึ่งหากเราจะมีความรู้ทางโภชนาการและทำอาหารเป็นอยู่บ้าง เราย่อมรู้ว่า เมนูแบบนี้ดีกว่าอาหารคนป่วยในโรงพยาบาลแค่นิดเดียว

ทั้งไม่น่าอร่อย ทั้งไม่น่าสนใจ

ทั้งดูไม่หลากหลาย ไม่น่ามีสารอาหารอะไรที่มีประโยชน์ต่อคนที่จะได้กินสักเท่าไหร่เลย

ถ้าไม่เหมาแม่ค้าข้างนอกให้ส่งอาหารเข้ามาในโรงเรียน อีกทางหนึ่งคือการแจกคูปอง 20 บาทให้เด็กซื้อกิน

ซึ่งก็คงต้องไปเสี่ยงดวงกันเอาเองว่า โรงเรียนมีการควบคุมคุณภาพอาหารของแม่ค้าที่มาขายอาหารในโรงเรียนอย่างไร

แต่ดูเหมือนว่า อย่างน้อยที่สุดวิธีนี้ เด็กยังพอได้เลือกกินในสิ่งที่ตัวเองอยากกิน

(ซึ่งไม่มีใครรู้ว่ามีประโยชน์แค่ไหน เช่น ฉันอาจจะกินข้าวเหนียวหมูปิ้งซ้ำๆ ทุกวันเพราะชอบ)

นี่แค่พูดในกรณีที่ไม่มีการคอร์รัปชั่น โครงการอาหารกลางวันเด็กก็ส่อแวว “ทุพโภชนาการ” แถมยังอันตราย

ในการสำรวจตัวอย่างผัก-ผลไม้จาก 34 โรงเรียนใน 4 จังหวัด พบจาก 335 ตัวอย่าง มีถึง 210 ตัวอย่างที่ไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 63%

นอกจากนี้ ยังพบสารตกค้างในวัตถุดิบปรุงอาหาร อย่าง “สารฟอกขาว ผงกรอบ และฟอร์มาลีน” รวมถึงมีการศึกษาว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้มีผลต่อการทำลายพัฒนาการทางสมองของเด็ก

https://www.tcijthai.com/news/2018/5/scoop/8017

ทางออกของปัญหาโครงการอาหารกลางวันเด็ก คงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่วิธีคิดของการมีโครงการนี้ว่า มันไม่ใช่โครงการ “สงเคราะห์พลเมืองผู้ยากไร้”

แต่มันคือสวัสดิการของรัฐ เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดอาหารมื้อกลางวันในโรงเรียนที่มีคุณภาพดีที่สุดให้กับนักเรียนไทยทุกคน!!!!!

อย่างน้อยนักเรียนโรงเรียนรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับความยากจนหรือร่ำรวย ดังนั้น อาหารกลางวันนี้ต้องถูกจัดไปด้วยความเคารพคนที่กิน

อาหารกลางวันเด็กต้องได้รับการจัดการด้วยความเคารพเด็ก ไม่ใช่คิดบนฐานของความคิดที่ว่า “ของฟรีจะเอาอะไรนักหนา”

เพราะนี่ไม่ใช่ของฟรี แต่คือภาษีประชาชนที่เป็นพ่อแม่ของเด็กนักเรียนหล่านั้นทุกคน

ส่วนงบฯ 20 บาทนั้น คงเถียงกันได้ว่าพอหรือไม่พอ

แต่สำหรับฉัน ที่เห็นว่าเรื่องกิน เรื่องโภชนาการและเรื่องคุณภาพชีวิตของเยาวชนเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้งบฯ ที่จัดซื้อจัดหาเพื่อความมั่นคงของชาติ

เพราะ “เด็ก” คือทรัพยากรบุคคลที่หมายถึงความมั่นคงของประเทศชาติเสียยิ่งกว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ใดๆ