ล้านนาคำเมือง : แฮกนา

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “แฮกนา”

“แฮกนา” ก็คือคำว่า “แรกนา” ในภาษาไทยกลาง

แรกนาในล้านนา เป็นพิธีกรรมก่อนลงมือทำนา มีวัตถุประสงค์เพื่อความเป็นสิริมงคลเมื่อเริ่มฤดูทำนา และเป็นการเสี่ยงทายไปในตัว

ปกตินิยมทำกันในเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม

นับเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่ตรงกันกับในภาคกลาง

การกำหนดวันแรกนาของล้านนา จะมีการหาฤกษ์ยามก่อนเสมอ ส่วนมากนิยมให้เป็นวันอาทิตย์หรือวันพฤหัสบดี

แต่ทางที่ดีต้องประกอบกับการดูวันทางจันทรคติด้วย เนื่องจากถือกันว่า วันที่แรกนาดี เช่น ขึ้น 3, 4 ค่ำ ฯ หรือแรม 6, 7 ค่ำ ฯ เป็นต้น

เมื่อได้ฤกษ์แล้วก็จะมีการตั้งราชวัตรฉัตรธงในที่นา ตั้งท้าวทั้งสี่ขึ้นตามประเพณี

หรือไม่เช่นนั้นก็จัดอาหารคาวหวาน กล้วย อ้อย หมาก พลู บุหรี่ และข้าวเปลือก วางบนร้านสูงเพียงตา กลางร้านปักไม้ไผ่รวกลำยาว

บางแห่งถ้าที่นามีมาก ก็ใช้ไม้ไผ่ยาวกว่า เช่นลำยาวถึง 3 เมตร เพื่อให้ปกป้องคุ้มครองไปไกล และมองเห็นแต่ไกล ปลายไม้แขวนไว้ด้วยเฉลว มีสร้อยสังวาลลูกโซ่ทำจากไม้ไผ่ ติดปลายสังวาลด้วยปลาสองตัว

ยิ่งที่นากว้างมาก เฉลวและสายโซ่ก็ต้องมีขนาดใหญ่ขึ้นตามส่วน ปลานั้นสมมุติให้เป็นปลากั้งตัวหนึ่ง ปลาไนดำตัวหนึ่ง ด้วยปลาทั้งสองเป็นตัวละครในตำนานของพระแม่โพสพของภาคเหนือ

หรือบางแห่งใช้ปลาช่อนเพราะปลาช่อนเป็นเครื่องหมายของน้ำที่อุดมสมบูรณ์

ส่วนในตำนานของภาคกลางและภาคใต้ถือว่าเป็นปลากรายทองและปลาสำเภา ซึ่งเป็นพาหนะของพระแม่โพสพ

จากนั้นจะเชิญพ่อนามาประกอบพิธีอ่านโองการ บวงสรวงเทพารักษ์ที่ปกปักรักษาแดนนา พระแม่โพสพ และพระแม่ธรณี โดยคนในครอบครัวหรือผู้ที่ทำนาร่วมกันจะมาเข้าพิธี เป็นสัญลักษณ์ถึงความสามัคคีร่วมกันทำนา

แลต่อแต่นี้ไปจะช่วยกันแก้ปัญหาให้กับนาผืนนี้

เสร็จแล้วจะมีการเสี่ยงทาย โดยดูจากลักษณะของสร้อยสังวาล เช่น ถ้ายาวดีแปลว่าปีนี้น้ำท่าจะสมบูรณ์ ถ้าสร้อยสังวาลสั้น ก็แปลว่าปีนี้น้ำน้อย ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล

ยังมีการเสี่ยงทายเมล็ดข้าวอีก โดยเอาเมล็ดข้าวเปลือกบนร้านพิธีมานับ ถ้าได้เลขคู่แปลว่าผลผลิตของข้าวในนาจะให้ผลเต็มที่ แต่หากได้เลขคี่ ก็จะทำนายว่าจะได้ข้าวไม่ดีนัก

เสร็จพิธีจึงเอาเมล็ดข้าวเปลือกบนร้าน หว่านลงในปริมณฑลของราชวัตรพอเป็นพิธี นำเฉลวไปปักตามมุมของท้องนา พร้อมกับปลูกต้น “เอื้องหมายนา” คู่กับเฉลว เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงอาณาเขตของการทำนาในปีนั้นๆ เพื่อไม่ให้ปะปนแก่งแย่งที่นากับเพื่อนบ้าน เวลาไถนาไปจะได้รู้ว่าควรจะไถไปถึงไหน

จากนั้นก็จะหาวันที่จะทำการ แรกไถ แรกหว่าน แรกปลูก และแรกกระทำการอย่างอื่นๆ บนผืนนาจนกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการทำนา

จะเห็นว่าพิธี “แรกนา” ของคนล้านนา มีความคล้ายกับการแรกนาของภาคกลางที่ถือว่าประเทศของเราเป็นประเทศเกษตรกรรม การแรกนาคือพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์เพื่อความเป็นสิริมงคลของชาวนาทั่วประเทศ

และมีพิธีกรรมการเสี่ยงทายเช่นเดียวกัน