อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : มาเลเซียในช่วงเปลี่ยนผ่าน

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ชัยชนะของอดีตนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมหมัด ที่ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้านปากันตัน ฮาราบัน (Pakatan Harapan-PH) เอาชนะกลุ่มแนวร่วมรัฐบาล บาริซัน เนชั่นแนล (Barisan National-BN) ที่นำโดยนายกรัฐมนตรีนาจิบ รอซัก จากพรรคอัมโน (United Malaysia National Organization-UMNO) ด้วยคะแนนเสียงข้างมากจำนวน 133 ที่นั่งจากทั้งหมด 222 ที่นั่งในสภา

ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพียงพอสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ

อาจวิเคราะห์ได้หลายแง่มุม

เบื้องต้นนี่ไม่ใช่ปาฏิหาริย์ และอย่าเพิ่งด่วนสรุปสำหรับช่วงเปลี่ยนแผนของมาเลเซีย

ที่สำคัญชัยชนะนี้บอกอะไรแก่การปกครองในระบอบอำนาจนิยม (Authoritarianism) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทยด้วย

มองจากโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจที่ซับซ้อน (complex socioeconomic structure)

 

มีคนจำนวนมากทั้งชาวไทยและเทศให้เหตุผลอย่างน้อย 2 ประการของชัยชนะของกลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้านปากาตัน ฮาราปัน กล่าวคือ

ประการที่หนึ่ง ปัญหาการถูกกล่าวหาทุจริตคอร์รัปชั่นของอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ รอซัก และพวกพ้องในกองทุนรัฐบาล 1MDB (Malaysia Development Berhad) มูลค่า ($ 45 billion) โดยมีการโอนเงินกว่า 20,000 ล้านบาทเข้าบัญชีส่วนตัวของอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ รอซัก และพวกพ้อง1

แต่อันที่จริงแล้ว การบริหารงานของรัฐบาลนาจิบ รอซัก ยังย่ำแย่มากโดยเฉพาะเศรษฐกิจอยู่ในภาวะถอดถอย ค่าครองชีพสูงขึ้น ค่าเงินริงกิตตกต่ำ ในเชิงโครงสร้างชาติพันธุ์ (Ethnicity) คนจีนโดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าจีนซึ่งสร้างรายได้และความมั่งคั่งในกับประเทศถูกกีดกันมากขึ้นตามลำดับ ยกเว้นกลุ่มคนที่ใกล้ชิดกับผู้นำชาวมาเลย์ในพรรคอัมโน

แต่ทว่า จริงๆ แล้วนโยบายภูมิบุตรา (Bumibrutra) ที่ประกอบสร้างโดยนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมหมัด เองได้สร้างความเหลื่อมล้ำทางชาติพันธุ์ (ชาวมาเลย์เป็นบุตรของแผ่นดิน ส่วนคนจีนและคนอินเดียคือคนอื่น) และความแตกต่างทางชนชั้นอย่างชัดเจน คือชนชั้นผู้ปกครองและชนชั้นผู้ถูกปกครอง

ดังนั้น ความไม่พอใจของคนในเชื้อชาติต่างๆ และชนชั้นผู้ถูกปกครอง ซึ่งได้สอดคล้องกับคนชั้นกลาง (middle class) และคนรุ่นใหม่ (Young Generation) ที่ยอมรับไม่ได้ต่อการบริหารประเทศที่ไร้ประสิทธิภาพ กีดกันคนกลุ่มอื่น แม้แต่คนมาเลย์ที่อยู่ “นอกวง” ของชนชั้นนำก็ไม่พอใจ

ดังนั้น ที่มีการกล่าวกันว่า ชัยชนะครั้งนี้ เป็นชัยชนะของกลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้านปากาตัน ฮาราปัน มีส่วนถูกเพียงครึ่งเดียว

แต่นี่เป็นชัยชนะต่อระบบพวกพ้อง (Cronyism) ซึ่งดำเนินมายาวนานกว่า 61 ปีตั้งแต่มาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี ค.ศ.1957 ซึ่งท่านที่ได้รับการขนานนามว่าบิดาแห่งมาเลเซียสมัยใหม่ นายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมหมัด ประกอบสร้างขึ้นมาเอง

ประการที่สอง ชัยชนะครั้งนี้ของกลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้านปากาตัน ฮาราปัน เกิดจากการจับมือกันระหว่างท่านมหาธีร์ โมฮัมหมัด และนายอันวาร์ อิบราฮิม

โดยนายอันวาร์ อิบราฮิม ซึ่งเคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสมัยท่านมหาธีร์ โมฮัมหมัด แต่ทั้งคู่ขัดแย้งกันในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี ค.ศ.1997

นายอัมวาร์ อิบราฮิม ต้องการดำเนินการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมาเลเซียตามโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) และมีเดินตามวาระการจัดการเศรษฐกิจ แนวทาง Washington Consensus แบบที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาต้องการ ส่วนนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ท่านมหาธีร์ โมฮัมหมัด กลับใช้มาตรการตรงกันข้าม คือใช้นโยบาย Capital Control จนกระทั่งปลดนายอันวาร์ซึ่งถูกกล่าวว่า ต้องการวัดรอยเท้าผู้นำกับท่านเอง

การเลือกตั้ง 2018 ครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายร่วมมือประสานประโยชน์กันจริง มีการส่งภรรยาของนายอันวาร์ (ซึ่งยังถูกกุมขังอยู่ในคุก 5 ปีโดยคำสั่งของศาลกลาง) คือนางวัน อาชีชะห์ ลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี

 

มองไปข้างหน้า

จริงอยู่ครับ ท่านมหาธีร์ โมฮัมหมัด มีบทบาทอย่างสูงที่ทำให้เกิดชัยชนะของฝ่ายค้านต่อกลุ่มแนวร่วมรัฐบาลบาริซัน เนชั่นแนล (Barisan National-BN)

ท่านมหาธีร์ โมฮัมหมัด ยังคงมีบารมีทางการเมืองและเป็นที่ยอมรับของคนมาเลเซียอยู่มากจากบุคลิกภาพของท่าน จากวิสัยทัศน์ 2020 (Wawasan 2020) จากโครงการก่อสร้างตึก Petronus ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ จากโครงการก่อสร้างเมืองใหม่ ปุตราจายาและโครงการรถยนตร์ประจำชาติ Proton

แต่ท่านมหาธีร์ โมฮัมหมัด ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ Time Magazine หลังการเลือกตั้งว่า ชัยชนะครั้งประวติศาสตร์นี้ไม่ได้เกิดจาก “บุคลิกภาพ” (personality) ท่านมีนโยบายเร่งด่วนคือ ปรับราคาน้ำมัน ทำงานในการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติโดยการยุติการคอร์รัปชั่นและทำให้การปกครองโดยกฎหมาย (Rule of Law) ฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่2

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ดีงามและเป็นความคาดหวัง มีแนวโน้มของประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งผมมีอีก 2 ประเด็นเป็นข้อสังเกตครับ

ประเด็นที่หนึ่ง นี่เป็นชัยชนะของระเบียบโลกใหม่ (New World Order) ที่สลับซับซ้อนอันยากต่อการควบคุม นั่นคือ สังคมออนไลน์ (Social Online)

ผมฟังผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากที่เชื่อใน สังคมออนไลน์ เชื่อว่า สังคมออนไลน์มีพลัง แต่ทว่าไร้การจัดตั้ง (unorganized) ในกรณีมาเลเซียและที่อื่นๆ ในโลก สังคมออนไลน์บางทีสิ่งที่ปรากฏเป็นเพียงคำกระแหนะกระแหน คำด่าทอและช่างบ่น เต็มไปหมดในโลกเสมือนจริง

แต่กรณีมาเลเซีย คนจำนวนมากที่ถูกเซ็นเซอร์ความคิดเห็นทางการเมืองด้วยวิธีการของอำนาจนิยมทุกรูปแบบได้ออกมาเปลี่ยนการเมือง โดยการออกเสียงการเลือกตั้งที่คูหาเลือกตั้ง สิ่งนี้เป็นความจริงทางการเมืองที่ระบอบอำนาจนิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรเริ่มเข้าใจพลังที่ว่านี้ สุดโต่งคือกัมพูชา

รองลงมาคือฟิลิปปินส์

ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ระบอบอำนาจนิยมกำลังถูกท้าทายจากสังคมออนไลน์และโลกเสมือนจริงที่ไม่มีใครควบคุมความคิดและพฤติกรรมทางการเมืองได้

ประการที่สอง อย่างเพิ่งด่วนสรุปว่าประชาธิปไตยและเสรีภาพจะกลับมาโดยไวในกรณีมาเลเซีย นี่เพิ่งเริ่มต้นล้างบางระบบพวกพ้อง ซึ่งท่านมหาธีร์ โมฮัมหมัด ใช้เวลาสร้างตั้งยาวนานกระทั่งฝังรากลึก Rule of Law พูดง่าย ฟังดูดี แต่ทำอย่างไรครับและเริ่มที่ตรงไหนก่อน ระบบพวกพ้องมีอยู่ในทุกที่ในเอเชีย รวมทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งกำลังล้างบางขั้วอำนาจเก่าด้วย

ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ เทคโนโลยีสำคัญ แต่อุดมการณ์ทางการเมืองก็สำคัญไม่แพ้กัน ทุกอย่างจะเปลี่ยนอย่างรวดเร็วมากๆ

——————————————————————————————————-
(1) อาลีสัน อุสมา “การเลือกตั้งมาเลเซีย 2018 : 3 ปรากฏการณ์สำคัญในชัยชนะของกลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้านปากาตัน ฮาราปัน” (Pakatan Harapan-PH) สำนักข่าวประชาไท 13 พฤษภาคม 2018
(2) Lainee Barron, “Malaysia”s Longest-Serving Prime Minister Returns to Power Promising a Tide of Change” Times 11 May 2018