อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ อาลีบาบา ตอนที่ 2

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

แน่นอนรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนปกป้องการค้าเสรีและเป็นธรรม รวมทั้งปกป้องอาลีบาบาไปพร้อมกันด้วย

ในคำปราศรัยเรื่อง cyberspace เมื่อกลางเดือนเมษายนของท่านประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง (Xi Jinping) แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้กล่าวว่า

“…ให้ความแน่ใจว่า การแข่งขันในออนไลน์จะเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม อันเป็นกติกาอันดับแรกของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ท่านเน้นว่า ต้องบ่มเพาะสภาพแวดล้อมตลาดที่เป็นธรรม ส่งเสริมการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา และต่อต้านการแข่งขันแบบผูกขาดและไม่เห็นธรรม…”1

น่าสนใจอย่างยิ่ง อาลีบาบาเจาะเข้ามาใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใจคือกรุงเทพฯ และกัวลาลัมเปอร์ ด้วยกลไกของเทคโนโลยีออนไลน์ ด้วยอภิมหาข้อมูล (Big data) ด้วยพัฒนาการของทรัพย์สินทางปัญญาที่ล้ำหน้าไปไกลกว่าสหรัฐอเมริกามากนัก และด้วยยุทธศาสตร์ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์เชิงรุกของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน

 

โครงข่ายภูมิภาคของอาลีบาบา

ประเทศไทย ไม่ใช่ประเทศแรกและประเทศเดียวในอาเซียนที่อาลีบาบายักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซของจีนและของโลกเข้ามาลงทุน

ก่อนหน้านี้อาลีบาบาลงทุนในสิงคโปร์และมาเลเซีย

ผมคิดว่า ข้อเขียนของคุณนพ นรนารถ ตรงประเด็นและมองยุทธศาสตร์อาลีบาบาที่ตัดสินใจลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor-EEC)2 ของรัฐบาลท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ดีมาก

ดังนี้คือ

“…เดือนมีนาคมของปีที่แล้ว แจ๊ก หม่า ผู้ก่อตั้งและซีอีโออาลีบาบา เดินทางไปพบนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่กัวลาลัมเปอร์ และร่วมลงนามในข้อตกลง ลงทุนตั้งศูนย์กระจายสินค้าในเขตเศรษฐกิจดิจิตอล ใกล้กับสนามบินกัวลาลัมเปอร์

การลงทุนของอาลีบาบาในไทย ที่มีการลงนามเอ็มโอยูเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เหมือนกับการลงทุนในมาเลเซีย คือ การลงทุนในระบบโลจิสติกส์ของบริษัท ไช่เหนี่ยว ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่อาลีบาบาถือหุ้นใหญ่ 51%

แม้มูลค่าการลงทุนของอาลีบาบาในไทย จะน้อยกว่ามาเลเซียมาก

แต่ต้องนับว่าเป็นความสำเร็จของประเทศไทย ที่สามารถดึงอาลีบาบามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซีได้

อาลีบาบานับเป็นนักลงทุนต่างชาติรายแรก ที่มีความชัดเจนแล้วว่ามาลงทุนในอีอีซีแน่

ก่อนหน้านี้ เอ็กซ์ซอนโมบิล (EXXON Mobil) ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานจากสหรัฐอเมริกา ประกาศแผนการลงทุนตั้งโรงผลิตสารตั้งต้นปิโตรเคมีที่ศรีราชา

แต่มีเงื่อนไขขอให้รัฐบาลหาที่ดิน 500 ไร่ที่ต้องอยู่ใกล้โรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ที่ศรีราชา และท่าเรือแหลมฉบังให้ก่อน

ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องที่ดินที่จะตั้งโรงงาน

 

การเดินทางมาไทยของแจ๊ก หม่า เมื่อมีนาคมที่แล้ว เพื่อลงนามข้อตกลงการลงทุนในอีอีซี และการร่วมพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้เข้าสู่ระบบอีคอมเมิร์ซ จึงเป็นการประเดิมการลงทุนในอีอีซี โดยนักลงทุนต่างชาติเป็นเจ้าแรก

อาลีบาบาไม่ได้มาลงทุนในระบบอีคอมเมิร์ซ (e-commerce) แพลตฟอร์ม (platform) ซึ่งบางคนกังวลว่าจะทำให้สินค้าจีนทะลักเข้าประเทศไทย จะเข้ามาแข่งขัน และเอาชนะอีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์มของไทย เพราะอีคอมเมิร์ซของอาลีบาบาเข้ามาหาผู้ขาย และเข้าถึงผู้ซื้อในประเทศไทยหลายปีแล้ว คือ ลาซาด้า (Lazada) ซึ่งได้รับความนิยมจากคนไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง

การลงทุนของอาลีบาบาในอีอีซี คือ การตั้งศูนย์กระจายสินค้า (Distribution) และระบบโลจิสติกส์แบบเดียวกับที่ลงทุนในมาเลเซีย

ระบบโลจิสติกส์เป็นหัวใจสำคัญของการแข่งขันในธุรกิจอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อย่างอเมซอน (Amazon) อีเบย์ (ebay) เจดี (JD) และอาลีบาบาลงทุนมหาศาลในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ระบบฐานข้อมูล การใช้หุ่นยนต์ในศูนย์กระจายสินค้าเพื่อประสิทธิภาพในการเคลื่อนย้าย และขนถ่ายสินค้า การเชื่อมโยงกับธุรกิจขนส่ง บริการไปรษณีย์ พัสดุท้องถิ่นเพื่อส่งสินค้าถึงมือผู้ซื้อให้เร็วที่สุด

ไช่เหนี่ยว เป็นบริษัทร่วมทุนของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศจีน

อาลีบาบาถือหุ้น 47% และถือหุ้นเพิ่มเป็น 51% เมื่อปีที่แล้ว

พร้อมกับประกาศแผนการลงทุนด้วยเงิน 1 แสนล้านหยวน เท่ากับ 15.12 พันล้านดอลลาร์ หรือ 4.6 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี เพื่อพัฒนาระบบเครือข่ายโลจิสติกส์ ซีเอสแอลเอ็น (Cainiao Smart Logistics Network) ให้ครอบคลุมทั่วโลก ส่งสินค้าถึงมือผู้ซื้อในประเทศจีนภายในวันเดียว และภายใน 72 ชั่วโมง สำหรับออเดอร์ต่างประเทศ

ศูนย์กระจายสินค้าที่มาเลเซีย และ Smart Digital Hub ในอีอีซีคือส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนพัฒนาระบบซีเอสแอลเอ็น เพื่อรองรับแพลตฟอร์ม ลาซาด้าในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ระบบโลจิสติกส์ซีเอสแอลเอ็นของอาลีบาบา นอกจากจะเป็นหัวใจหลักในการแข่งขันกับอเมซอนแล้ว ยังทำรายได้จากค่าบริการขนส่งให้กับอาลีบาบา ที่สำคัญที่สุดคือ ข้อมูลเส้นทางขนส่งทุกรูปแบบทั่วโลก ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ทุกประเภท การเคลื่อนย้ายของสินค้า ใครเป็นผู้ผลิต จุดหมายปลายทางอยู่ที่ไหน ระยะเวลาในการขนส่งจะอยู่ในมือของอาลีบาบาทั้งหมด

และถ้ารัฐบาลจีนต้องการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้บ้าง คงไม่ใช่เรื่องยาก

 

สรุป

หากมองในฐานะนักสังคมศาสตร์ อาลีบาบาเข้ายึดกุมระบบการขนส่ง (transport) ทั้งระบบพื้นฐานดั้งเดิมและระบบออลไลน์ ยึดกุมความต้องการ (Demand) ของผู้ซื้อจากการวิเคราะห์

อภิมหาข้อมูล ต่อท่อการไหลเวียนของสินค้าบริการให้ครอบคลุมทั่วทุกแห่งหนในโลก

เชื่อมโยงการจ่ายเงินตราในรูปแบบต่างๆ ทั้งหมดจากกระเป๋าคนทุกวัย ทุกเพศ ทุกชนชั้น ทุกศาสนา ทุกชาติพันธุ์และทุกผิวสี

ทว่า ระบบอภิ (ผู้เขียนยังนึกไม่ออกว่าจะเรียกว่าอะไร) เจ้าของจะเอาไปใช้ทำอะไร ด้วยเป้าหมายที่ไม่ใช่ธุรกิจก็ย่อมได้

——————————————————————————————————————
(1) Erica Kinetz, “American Brands at War With Alibaba Over Visibility” AP 23 April 2018
(2) นพ นรนารถ “อาลีบาบาประเดิมอีอีซี แจ๊ก หม่า มาทำอะไร” MRG ONLONE 22 เมษายน 2561