ประชา สุวีรานนท์ : ‘ความจริงเสริม’ กับนิตยสาร

ทันทีที่ออกมา โปเกมอน โก กลายเป็นเกมที่มีคนชอบและมีอิทธิพลมากที่สุดในโลกในพริบตา

ในสังคมไทยก็เป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อย เกมนี้ก็ถูกเปรียบกับการจับกุมคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล เมื่อฮิตแล้ว รัฐบาลรีบออกมาบอกว่าจะใช้เป็นโมเดลเศรษฐกิจของชาติ ในขณะเดียวกัน ก็เรียกร้องให้ผู้เล่น เคารพต่อความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่บางแห่ง และต่อมาถึงขั้นทำหนังสือถึงเจ้าของผลิตภัณฑ์

แต่สาวกของเกมไม่สนใจ ยังออกไปบุกจับสัตว์พันธุ์นี้กันอุตลุด

โปเกมอน โก ใช้เทคโนโลยีที่เรียกกันว่า ความจริงเสริม หรือ เออาร์ (Augmented Reality) ซึ่งไม่ใช่ของใหม่ ถ้าความหมายของมันคือ การมองเห็นโลกจริงที่ทาบทับด้วยสิ่งต่างๆ เช่น รูปวาดและตัวหนังสือ (หรืออะไรก็ตามที่ถูกสร้างขึ้นโดยคอมพิวเตอร์) ก็ต้องยอมรับว่าเออาร์มีมานานแล้ว

ในปัจจุบัน สิ่งประดิษฐ์ล้ำๆ เช่น แผนที่ GPS ในรถยนต์ การผ่าตัดด้วยกล้อง และปริ๊นเตอร์สามมิติ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเออาร์ และถ้ายังจำกันได้ กูเกิลซึ่งมีเอี่ยวในโปเกมอน โก เคยออก Google Glass มาเมื่อสองสามปีที่แล้ว

แว่นแบบนี้ใช้เทคนิคเออาร์เหมือนกัน แต่กลับไม่ถูกใจใครเลยสักคน

 
สาเหตุที่ทำให้กูเกิลล้มเหลว? น่าจะเพราะลูกค้าคาดว่าจะได้ข้อมูลมากมายอย่างที่เคยเห็นในหนังไซไฟหลายเรื่อง เมื่อไม่ได้ก็ไม่พอใจ อีกอย่างคือ เมื่อเปรียบเทียบกับโทรศัพท์หรูๆ แว่นตาแบบนี้แพงเกินไป

แต่ที่สำคัญที่สุด คือแว่นตากูเกิลสร้างความไม่สบายใจแก่คนที่พบเห็น เพราะมีลักษณะคล้ายจะไปรุกรานความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นจะเอาไปทำเพื่อการค้าก็ไม่ได้ บรรดาร้านอาหาร บาร์ และสถานที่สาธารณะหลายแบบก็รีบห้ามการสวมแว่นตาแบบนี้

โปรดักต์ยังไม่ดี คนยังไม่พร้อม ไม่แปลกที่จะขายไม่ออก เมื่อต้นปีที่แล้ว กูเกิลถึงกับต้องระงับการขาย ถอนสินค้าคืนจากตลาด และเอากลับไปคิดกันใหม่

แต่คราวนี้ เมื่อกลับมาในรูปของเกม อาศัยการร่วมมือของคนนับล้านๆ และข่าวผู้กระหายสัตว์พันธุ์นี้ในหลายประเทศทั่วโลก โปเกมอน โก บรรลุสิ่งที่บริษัทไอทีจำนวนมากและ CIA หรือหน่วยสืบราชการลับทั่วโลกยังทำไม่สำเร็จ นั่นคือ ทำให้เออาร์เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง

อันที่จริง ความจริงเสริมเป็นเทคนิคที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้เชื่อมต่อหรือ “ปลั๊กอิน” เข้ากับโลกอื่น ซึ่งอาจจะเพ้อฝันกว่าหรือจริงกว่าที่เราคุ้นเคยก็ได้

ถ้าคิดต่อไป สิ่งพิมพ์ก็เป็นเทคนิคเก่าแก่ในการปลั๊กอิน การอ่านนิตยสารและหนังสือพิมพ์เป็นการเชื่อมต่อตนเองเข้ากับโลกอื่น การอ่านจะเป็นไปเพื่อค้นหาสิ่งใหม่ๆ เพื่อแสดงตัวตน หรือเพื่อหลีกหนีไปจากโลกที่เป็นจริงก็ได้

การเอาหน้าฝังเข้าไปในหนังสือพิมพ์เพื่อจะไม่มองหน้าคนบนรถโดยสารหรือคนรอบข้างเป็นกิจกรรมที่เราเคยทำ เพียงแต่ทุกวันนี้ อาจจะเปลี่ยนมาเป็นเอาหน้าไปติดจอ

เดอะนิวยอร์กเกอร์ (The New Yorker) ฉบับพฤษภาคมปีนี้ เป็นนิตยสารฉบับแรกๆ ที่ใช้เออาร์ ซึ่งหมายความว่า ถ้ามองผ่านดีไวซ์ รูปปกซึ่งเป็นผู้หญิงที่กำลังเดินผ่านประตูรถไฟใต้ดิน จะกลายเป็นภาพเคลื่อนไหว

แสนจะธรรมดา แต่เข้ากับความรู้สึกของคนใช้ซับเวย์ในนิวยอร์ก ซึ่งต้องทำแบบนี้ทุกวัน ทั้งหมกมุ่นครุ่นคิดกับตัวเอง และสัมผัสหรือปะทะกับคนอื่นๆ หลายล้านแบบ คำถามที่เกิดขึ้นคือ เราจะฟังเสียงไหน?

ดูเหมาะสมกับนิตยสารอายุกว่าเก้าสิบปี สีเหลืองและดำเหมือนแท็กซี่นิวยอร์ก เป็นการบอกว่านี่เป็นจุดเริ่มของการเดินทาง เมื่อรถไฟออก ผู้คนและตึกรามบ้านช่องและสิ่งอื่นๆ ก็จะโผล่ขึ้นมาตามลำดับเพื่อเล่าเรื่องต่อไป รูปจะคลี่คลายไปเป็นภาพเคลื่อนไหว และสิ่งอื่นๆ ทั้งจริงและไม่จริงก็จะตามมาอย่างสวยงาม

ความเออาร์อาจจะน้อยไปสักหน่อย ถ้าเทียบกับเกมที่กำลังฮิต แต่อย่าลืมว่าโปเกมอน โกก็มาจากการ์ตูนและเกมเก่าที่สะสมความนิยมเอาไว้นานแล้ว ในฐานะเทคนิค เออาร์สนับสนุนสิ่งที่นิตยสารฉบับนี้เคยบอกตลอดมา นั่นคือ บทความของเขาเป็นสิ่งที่จะเปลี่ยนมุมมองของผู้อ่าน ซึ่งต้องเน้นว่า ถ้าคุณกล้าเข้าไปอ่าน

การ “ไว้ลาย” หรือรักษาท่วงทำนองเดิมปรากฏชัดเพราะปกเป็นฝีมือของ คริสโตเฟอร์ นีแมน ซึ่งเป็นนักวาดภาพประกอบระดับโลก นีแมนเคยมีผลงานลงนิตยสารฉบับนี้มากมาย และอยู่คู่กับเดอะนิวยอร์กเกอร์มานาน

เขาตั้งชื่องานว่า “On the Go” และพูดเหมือนเทคนิคนี้ไม่ใช่เรื่องยากนัก : ความจริงเสริมอยู่ในรูปวาดทุกชนิดอยู่แล้ว มันคือ “หน้าต่าง” ที่ช่วยทำให้เรามองเห็นความจริง และแทบจะเป็นคำจำกัดความของรูปวาดอยู่แล้ว

เขาบอกว่าขณะดูรูปวาดหรืออ่านการ์ตูน คำถามสำคัญคือ : อะไรจะเกิดขึ้นถ้าเราเข้าไปในนั้น หรือถ้าใครในนั้นก้าวออกมา?”

นอกจากนั้น ปกยังชวนให้คิดถึงหนังเรื่อง “Sliding Doors” (1998) ซึ่งนำแสดงโดย กวินเนธ พัลโทรว์ ประเด็นของหนังคือ “ความจริงคู่ขนาน” (parallel realities) นางเอกจะกลายเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับรถไฟขบวนที่เธอขึ้น ก้าวเข้าขบวนหนึ่ง ชีวิตก็พลิกผันไปอีกแบบหนึ่ง

กลับไปมองอีกครั้ง ความจริงคู่ขนานกับเออาร์มีความคล้ายกัน มันคือความจริงที่เป็นไปได้ แม้จะในจินตนาการก็ตาม

เดอะนิวยอร์กเกอร์ไม่ใช่เล่มแรกที่ใช้เออาร์ Esquire เคยพยายามมาแล้ว ปีนี้ The Washington Post ใช้เพื่ออธิบายคดีตำรวจยิงคนดำในบัลติมอร์ เทคนิคนี้ให้ทั้งรูปสามมิติ เสียง แผนที่ สำเนาคำให้การในศาล และคำบรรยายของผู้สื่อข่าว ซึ่งน่าจะช่วยให้เข้าใจข้อมูลที่มากมายและซับซ้อนได้

นี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ “On the Go” นั้นสนุกน่าสนใจ แต่ไม่ได้ให้เนื้อหามากนัก

การจะใช้ความจริงเสริมในนิตยสาร ขึ้นอยู่กับว่า นอกเหนือจากสนุกแล้ว ผู้ใช้หรือผู้อ่านต้องการข้อมูลมากแค่ไหน? พูดอีกอย่าง เราอยากจะปลั๊กอินเข้ากับโลกที่ซับซ้อนกว่าจริงหรือไม่?