สารบรรณ : ตัวพิมพ์มีสังกัด กับการเป็น “ฟอนต์แห่งชาติ”

การปฏิวัติดิจิตอลของตัวพิมพ์เกิดขึ้นหลายสิบปีมาแล้ว

แต่สิ่งที่สำคัญและยังส่งผลต่อปัจจุบันคือ OpenType ซึ่งเป็นระบบใหม่ที่เกิดขึ้นราวปี 2540

เมื่อบริษัทคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ของโลกคือ อะโดบี้ ไมโครซอฟต์ และแอปเปิ้ล ประกาศยุติสงครามระหว่างตัวพิมพ์ และตกลงใช้แพลตฟอร์มนี้ร่วมกัน

OpenType ทำให้ตัวพิมพ์กลายเป็นแบบที่เราเห็นในทุกวันนี้

จากที่เคยมีปัญหา เช่น คนที่ใช้แอปเปิ้ลกับพีซีและใช้ตัวดีฟอลต์ซึ่งอยู่คนละแพลตฟอร์มไม่สามารถสื่อสารกันได้ ก็หมดปัญหาไป

ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะใช้ไอโฟนหรือซัมซุง อยู่บนกระดาษหรือบนจอ (ทั้งของโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์) ข้อความและเนื้อหาที่ส่งจะอ่านง่ายและเหมือนกัน

thumbnail_02sarabun

ในยุคเดียวกัน ตัวที่สำคัญตัวหนึ่งคือ “สารบรรณ” หรือ TH Sarabun PSK ซึ่งถูกกำหนดให้ใช้ในเอกสารราชการทุกชนิดและใช้กันอย่างแพร่หลาย

สารบรรณเป็นที่นิยมเพราะสวยดี จุดเด่นคือแลดูเป็นกลางๆ มีเส้นนอนโค้ง และไม่มีเส้นหนัก-เบา (monoline) และอาจจะเป็นผลของศึกษาข้อดีของฝรั่งเศสกับโมโนไทป์กลาง แล้วเอามาผสมกัน

อยู่ในเอกสารราชการทุกชนิด ตั้งแต่รายงานของนักเรียน วิทยานิพนธ์ของนักศึกษา แบบฟอร์มของสถานีตำรวจ เขต รวมทั้งหน่วยราชการทุกกระทรวงทบวงกรม ไปจนถึงราชกิจจานุเบกษาหรือคำสั่งคณะรัฐบาล นอกจากนั้น ยังปรากฏทั้งในหนังสือและตำราเรียนของราชการหลายเล่ม จะมียกเว้นก็แต่ในสื่อบางประเภท เช่น ป้ายประกาศ เว็บไซต์ และโทรศัพท์มือถือ

ใช้ได้กับระบบปฏิบัติการเกือบทุกระบบ และมีเวอร์ชั่นที่ปรับปรุงใหม่อยู่เสมอ คนทั่วไปสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีที่ www.f0nt.com และอีกหลายไซต์ ต่อมา แพร่หลายออกไปทั้งในรูปหนังสือหรือสื่อออนไลน์ ซึ่งรวมถึงเอกชน เช่น ในโลโก้ของวิกิพีเดีย เพจของมติชนสุดสัปดาห์ ศิลปวัฒนธรรม

ในทุกวันจะมีเอกสารนับล้านๆ ฉบับที่ใช้ตัวนี้ถูกผลิตออกมา ไม่ว่าจะด้วยปริ๊นเตอร์ขนาดเล็ก แท่นพิมพ์ขนาดใหญ่ หรือดีไวซ์อื่นๆ

ดังนั้น ถ้าจะมองหาตัวพิมพ์ที่สะท้อนยุคนี้ คงไม่มีอะไรเหมาะสมเท่า TH Sarabun PSK

thumbnail_03wikilogo

มองในแง่ดี สารบรรณยืนยันหลักการที่ว่า ตัวพิมพ์ควรจะฟรีและไม่มีค่าใช้จ่าย แทนที่จะต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะถ้ามีเงื่อนไขว่าเป็นการใช้เพื่อส่วนตัว ไม่ใช่การพาณิชย์ นอกจากนั้น ยังชี้ว่ารัฐควรจะมีบทบาท “คุ้มครอง” สมบัติของชาติ หรือทำให้คนในชาติสามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ได้มากขึ้น

นอกจากนั้น เมื่อการใช้เฟซบุ๊กและไลน์เพิ่มขึ้นมหาศาล และสายส่ง (distributor) ขยายอิทธิพลขึ้น ฟอนต์ฟรียิ่งเป็นที่ต้องการและกลายป็นเทรนด์ แม้แต่กูเกิลก็ทําออกแจกจ่ายในปีนี้

แต่กำเนิดของตัวพิมพ์กลุ่มนี้ก็มีความยอกย้อนน่าสนใจ เพราะไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างลอยๆ ตรงกันข้าม มีมูลเหตุทางสังคมมากมาย

สารบรรณและตัวพิมพ์ในชุดเดียวกันอีก 12 แบบ เกิดจากการจัดประกวดและคัดเลือกเมื่อปี พ.ศ.2550 โดย ซิป้า (SIPA) หรือสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

หลังจากนั้นมีการนำไปพัฒนาเป็น OpenType มีชื่อเรียกว่า “ฟอนต์แห่งชาติ” และในปี พ.ศ.2553 มีคำสั่งของรัฐบาลกำหนดว่าต้องใช้ในเอกสารทุกชนิด

ต้องเข้าใจว่า ก่อนหน้านั้น เกิดกรณีไล่จับโรงพิมพ์หลายแห่งในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ตัวพิมพ์ ซึ่งเริ่มจากการที่ผู้ออกแบบรายหนึ่งไปแจ้งความกับตำรวจและส่งจดหมายไปทวงค่าลิขสิทธิ์

และส่งผลให้โรงพิมพ์ทั่วประเทศเดือดร้อนกันมาก ต้องเข้าใจว่า ในยุคนั้น ความที่ลิขสิทธิ์ถูกละเมิดกันจนเป็นเรื่องปกติ การยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นข้อหาและส่งตำรวจไปจับ ย่อมสร้างความไม่เข้าใจและโกรธแค้น

สถานการณ์นี้จบลงด้วยการที่กระทรวงพานิชย์เข้ามาเป็นฝ่ายที่จัดการปัญหา โดยเสนอว่าให้ออกแบบตัวพิมพ์ใหม่ที่ปลอดลิขสิทธิ์ ในขณะนั้น เนวิน ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคําพูดที่ว่า “ฟอนต์ไทยไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะพ่อขุนรามฯ เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นมา” ก็เกิดขึ้นมา

กรณีนี้น่าสนใจเพราะเป็นครั้งแรกๆ ที่ตัวพิมพ์มีความสำคัญมากจนรัฐบาลและธุรกิจเอกชนต้องหันมามอง

แน่นอน รัฐบาลย่อมอยากเอาใจเจ้าของโรงพิมพ์ แต่ที่สำคัญ ทำให้ตระหนักถึงการใช้ตัวพิมพ์ไร้ลิขสิทธิ์ของตนที่ดำเนินติดต่อกันมานานด้วย

หลังจากนั้น กฎหมายที่เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ตัวพิมพ์จึงชัดเจนกว่าเดิม โครงการสร้างฟอนต์ราชการของซิป้าหรือที่มีชื่อขึ้นต้นว่า TH เกิดขึ้น

และไม่นานหลังจากนั้น ก็เกิดฟอนต์ TF ของสหพันธ์การพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการเอาตัวพิมพ์เก่ามาพัฒนา โดยมีจุดมุ่งหมายจะให้โรงพิมพ์ต่างๆ เอาไปใช้ฟรี

ซึ่งพิสูจน์ว่า ในสายตาของคนไทย ลิขสิทธิ์ไม่ใช่หลักการที่เป็นนามธรรม หรือเป็นจริยธรรมที่ยอมรับกันได้ง่ายๆ

แต่ลิขสิทธิ์หมายถึงผลประโยชน์ และจะกลายเป็นปัญหาระดับชาติขึ้นมา ก็ต้องไปกระทบผลประโยชน์ของคนอีกส่วนหนึ่งหรือโรงพิมพ์ทั่วประเทศ

การคุ้มครองลิขสิทธิ์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง และมีบรรยากาศประชาธิปไตยในบ้านเมืองพอสมควร

 

นอกจากนั้น ยังมาพร้อมกับตำแหน่งสำคัญคือ “ฟอนต์แห่งชาติ” ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า แม้จะถูกเรียกกันแบบลำลองและไม่เป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวาง การมีคําว่า “แห่งชาติ” ตามท้าย ย่อมเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่ตัวเองด้วย

และเมื่อประกอบกับการออกคำสั่งให้หน่วยราชการใช้อย่างจริงจัง จึงกล่าวได้ว่า สารบรรณและตัวพิมพ์ในชุดเดียวกันบรรลุความเป็น “ฟอนต์แห่งชาติ” แล้ว