รู้จักตัวตน “โจชัว หว่อง” นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยรุ่นเยาว์

เขาถือเป็น 1 ในนักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้ร้อนแรงที่สุดในฮ่องกง ถูกตราหน้าจากสื่อของทางการจีนว่าเป็นพวกหัวรุนแรง และเขายังมีอายุไม่ถึงเกณฑ์ที่จะทำใบขับขี่ด้วยซ้ำ

เรากำลังพูดถึง โจชัว หว่อง ชายหนุ่มร่างผอม สวมแว่นตาวัย 19 ปี ที่รูปลักษณ์ภายนอกอาจทำให้เข้าใจความดุดันทางการเมืองของเขาผิดไป

นักศึกษาผู้นี้ได้สร้างขบวนการเคลื่อนไหวเยาวชนเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ที่ผู้อาวุโสซึ่งมีแนวคิดต่างจากรัฐบาลจีนระบุว่า โดดเด่นอย่างเทียบได้กับการประท้วงของนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อ 25 ปีที่แล้ว

ในภาพสะท้อนที่ทำให้นึกถึงกลุ่มผู้รณรงค์ที่แห่กันมาท่วมท้นจัตุรัสใจกลางกรุงปักกิ่งเมื่อปี 1989 หว่อง นักเคลื่อนไหวรุ่นเยาว์ต้องการที่จะจุดชนวนให้เกิดคลื่นของอารยะขัดขืนในหมู่นักศึกษาชาวฮ่องกง

เป้าหมายของเขาคือเพื่อกดดันให้จีนมอบสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปเต็มรูปแบบให้กับฮ่องกง

การเคลื่อนไหวของ หว่อง เกิดขึ้นมาจากความไม่พอใจที่ถูกกดทับไว้เป็นเวลานานหลายปีในฮ่องกง

เมื่ออดีตอาณานิคมของสหราชอาณาจักรแห่งนี้ถูกส่งมอบคืนให้อยู่ภายใต้การปกครองของจีนในปี 1997 ทั้ง 2 ชาติบรรลุข้อตกลงที่ให้สัญญากับฮ่องกง ว่าจะ “ให้มีอำนาจปกครองตนเองในระดับสูง” ซึ่งรวมถึงการเลือกตั้งผู้นำของตนเองในระบอบประชาธิปไตย

ทว่าผ่านมา 17 ปี สิ่งที่ดูเหมือนเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ถูกทำให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาน้อยมาก ข้อเสนอล่าสุดของจีนระบุว่า ชาวฮ่องกงจะได้รับสิทธิในการลงคะแนนเลือกผู้นำคนต่อไปของตน แต่ผู้สมัครต้องเป็นคนที่รัฐบาลจีนรับรองเท่านั้น

หว่องมีความแน่วแน่ที่จะต่อสู้กับข้อเสนอดังกล่าว และเขาไม่ยอมอดทนรอคอยชัยชนะด้วย

“ผมไม่คิดว่าการต่อสู้ของเราจะเนิ่นนานมากนัก” หว่อง บอกกับซีเอ็นเอ็น และว่า “หากคุณมีความคิดว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยจะเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อ ยาวนาน และคุณลงมืออย่างช้าๆ คุณก็จะไม่มีทางได้รับมัน”

“คุณต้องมองสงครามทุกครั้งเหมือนเป็นสมรภูมิสุดท้าย เมื่อนั้นคุณจะมีความตั้งใจที่จะต่อสู้” เขาบอก

อาจจะยังมีความสงสัยในตัวเขาบ้าง แต่นักเคลื่อนไหวรุ่นเยาว์ผู้นี้มีประวัติในการต่อสู้คัดค้านที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในอดีต เมื่อปี 2011 หว่อง ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 15 ปี รู้สึกสะอิดสะเอียนกับการนำระบบ “การศึกษาศีลธรรมและความรักชาติ” ที่ปลูกฝังให้นิยมพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้ามาใช้ในโรงเรียนรัฐของฮ่องกง

ด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนกลุ่มหนึ่ง หว่องได้จัดตั้งกลุ่มนักศึกษาเพื่อประท้วงคัดค้านเรื่องนี้ เรียกว่า “สกอลาริสม์” โดยการเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ไปไกลกว่าที่เขาคิดฝันไว้มาก

ในเดือนกันยายน 2012 สกอลาริสม์รวบรวมผู้ประท้วงได้ 120,000 คน รวมถึงเยาวชนที่อดอาหารประท้วง 13 ราย เข้ายึดครองอาคารที่ทำการของรัฐบาล บีบให้บรรดาผู้นำของฮ่องกงต้องถอนหลักสูตรดังกล่าวออกไป

นั่นทำให้ หว่อง ตระหนักถึงพลังที่มีนัยยะสำคัญของเยาวชนฮ่องกง

กลุ่มสกอลาริสม์ เคลื่อนไหวเพื่อส่งสัญญาณในการเรียกร้องประชาธิปไตยไปถึงจีน โดยได้รับการสนับสนุนเป็นวงกว้าง สหภาพครูที่ใหญ่ที่สุดของฮ่องกงออกแถลงการณ์ ระบุว่า “อย่าปล่อยให้นักศึกษาต่อสู้อย่างเดียวดาย”

ปฏิกิริยาจากจีนเป็นไปในทางตรงข้าม สกอลาริสม์ ถูกตราหน้าว่าเป็น “กลุ่มหัวรุนแรง” โดยสื่อของทางการจีน ชื่อของหว่องยังถูกระบุถึงในสมุดปกน้ำเงินซึ่งเป็นเอกสารด้านความมั่นคงแห่งชาติของจีน ว่าเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพของพรรคคอมมิวนิสต์

ทว่า นักเคลื่อนไหวรุ่นเยาว์ผู้นี้ไม่ยอมถอย โดยเขายกคำกล่าวจากภาพยนตร์เรื่อง “วี ฟอร์ เวนเดตต้า” ที่บอกว่า

“ประชาชนไม่ควรจะเกรงกลัวรัฐบาล รัฐบาลต่างหากที่ควรจะเกรงกลัวประชาชน”