คนมองหนัง : พลังของ “ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.1”

“ไทบ้าน เดอะซีรีส์” ภาคแรก คือ “หนังอินดี้อีสาน” ที่น่าทึ่ง

แม้จะมิใช่ภาพยนตร์เรื่องแรกสุดของขบวนการความเคลื่อนไหวทางศิลปวัฒนธรรมดังกล่าว แต่ “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” ก็ถือเป็นผลงานชิ้นแรกของกลุ่ม ที่สร้างปรากฏการณ์ทางการตลาดแบบ “ป่าล้อมเมือง/อีสานล้อมกรุง (เทพกรุงไทย)” ได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน กระทั่งรายได้เกินต้นทุนไปไกลลิบ

ไม่เพียงเท่านั้น นี่ยังเป็น “หนังอินดี้อีสาน” ที่มีที่ทางใน “สาขาหลักๆ” ของงานประกาศรางวัลประจำปี อย่างที่รุ่นพี่เรื่องก่อนหน้าไม่สามารถทำได้

หนึ่งปีผ่านไป “ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.1” โดยผู้กำกับฯ รายเดิม “สุรศักดิ์ ป้องศร” ก็ได้ฤกษ์เข้าฉายในโรงภาพยนตร์อีกครั้ง

หนนี้ หนังไม่รีรอให้ตัวเองประสบความสำเร็จในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วค่อยเขยิบเข้ามายังกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่อื่นๆ

แต่เลือกจะเปิดตัวพร้อมกันทั่วประเทศ ด้วยผลลัพธ์ที่น่าพอใจ

จนถึงวันที่ 4 มีนาคม 2561 “ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.1” ทำรายได้ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเชียงใหม่ ไป 18.86 ล้านบาท แต่ถ้านับรวมรายได้ในส่วนของสายหนังภาคอีสานและภาคอื่นๆ ซึ่งมีระบบจัดเก็บและประมวลผลรายรับแยกต่างหาก

ประมาณการกันว่าหนังภาคนี้มีรายได้ทะลุ 50 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว!

“ไทบ้าน เดอะซีรีส์” ภาคแรก เป็นหนัง “โรแมนติก คอเมดี้” (เจืออารมณ์อกหักประปราย) ซึ่งมีฉากหลังเป็น “พลวัตภายใน” ของหมู่บ้านอีสานแห่งหนึ่ง

ขณะที่ภาพยนตร์ภาค 2.1 เดินทางไปไกลกว่านั้น หนังยังตั้งหน้าตั้งตาเล่าเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในชุมชนเล็กๆ แห่งเดิม แต่เผยให้เห็นถึงชะตากรรมของตัวละครหลากหลายชีวิตมากยิ่งขึ้น

อย่างน้อยการเปิดและปิดเรื่องด้วยเหตุโศกนาฏกรรมต่างกรรมต่างวาระ ก็บ่งชี้ว่านี่เป็นหนังซึ่งมีพื้นที่ให้แก่ “ความทุกข์-ความจริง” ของชาวบ้านอีสานร่วมสมัย

มิได้คละคลุ้งด้วยอารมณ์โรแมนติก-แฟนตาซี-ชวนฝัน-ขำขัน แต่เพียงด้านเดียว

จุดเด่นสำคัญใน “ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.1” ก็คือ การนำเสนอถึงภาวะที่ตำแหน่งแห่งที่/สถานภาพของผู้คนในชุมชน/หมู่บ้าน ได้ “ไถลเลื่อน” ออกจากจุดเดิมๆ หรือความคาดหวัง-ความเข้าใจของคน (ดู) ส่วนใหญ่

ภาคนี้ “ครูแก้ว” ครูสาวคนสวยในหนัง ไม่ได้ทำหน้าที่ครูสักเท่าไหร่ ทว่า บทบาทหลักของเธอได้เคลื่อนเปลี่ยนกลายมาเป็น “คู่นอน-คนรัก” ของไอ้หนุ่มไทบ้านอย่าง “จาลอด” จนถูกเด็กนักเรียน/น้องชายแฟน และผู้ใหญ่บ้าน พูดแซว (แต่ไม่ใช่ด่าประณามหรือล่าแม่มด) ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ส่วนพระบวชใหม่ เช่น “พระเซียง” ก็บอกชัดเจนว่าตัวเองไม่ได้มาบวชเพื่อนิพพาน หรือเพื่อเป้าประสงค์ในเชิงศาสนธรรมใดๆ แต่เขาออกบวชเพื่อหลบหนีจากความรักที่ผิดหวัง (ซึ่งท้ายสุด ก็หนีไม่พ้น แถมสถานการณ์ยังย่ำแย่ลงกว่าเก่า)

นอกจากนี้ เรายังได้เห็นพระเซียงทำหน้าที่อะไรหลายๆ อย่างในเชิงตลกขบขัน และในเชิงการค้าพาณิชย์เพื่อช่วยเพื่อนสนิท รวมถึงการต้องตกเป็นเป้าหมายที่ถูกแกล้ง-รังแก ทั้งจากคนบ้าและเด็กในชุมชน

กระบวนการสตาร์ตอัพธุรกิจสโตร์ผักของ “ป่อง” (ที่ภาคก่อน มีความฝันอยากเปิด “เซเว่น-อีเลฟเว่น” แห่งแรกในหมู่บ้าน) ก็ส่งผลให้สถานภาพของบรรดาอีลีตประจำชุมชนเคลื่อนออกจากจุดเดิมเช่นกัน

เขาทำให้ “ครูใหญ่” กลายมาเป็นพาร์ตเนอร์ธุรกิจ พร้อมทั้งชักชวนตำรวจ (และผู้มีกำลังทรัพย์รายอื่นๆ) มาร่วมลงทุนในกิจการดังกล่าว

ที่เด็ดขาดสุด คือ ป่องที่ถูกพ่อ (ผู้ใหญ่บ้าน) เฉดหัวออกจากบ้าน ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงพื้นที่วัดให้กลายเป็น “เวิร์กกิ้งสเปซ” ซึ่งนับเป็นการจัดการพื้นที่ที่ “ร้ายกาจ” กว่าแผนการจัดสร้างสโตร์ผักของเขาเสียอีก

ขณะที่อดีตภารโรงอย่าง “จาลอด” ก็กลายมาเป็น “ผู้ช่วยนักธุรกิจ” ของป่อง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมุขฮาสุดของหนัง นี่คือ ตำแหน่ง/หน้าที่ที่บางครั้งก็มีประโยชน์ บางหนก็นำไปเบ่งได้

แต่หลายครั้งก็ไม่รู้ว่าจะมีไว้เพื่อทำอะไร แถมหลายหน การดำรงอยู่ของจาลอด (และทรัพย์สมบัติส่วนตัวโทรมๆ เช่น มอเตอร์ไซค์คันเก่าของเขา) ก็กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของแผนการธุรกิจซะงั้น

นอกจากนี้ ผู้ชมยังจะได้พบเห็นสถานภาพที่ “เคลื่อน” ออกนอกลู่ทาง ของตัวละครอีกหลายราย เช่น ภูมิหลังการกลายเป็นคนบ้าประจำหมู่บ้านของ “โรเบิร์ต”

ส่วนเขยฝรั่งอย่าง “เฮิร์บ” ก็เริ่มมีสถานภาพระหว่างอดีต-ปัจจุบัน คนนอก-คนใน ที่คลุมเครือสับสน เช่นเดียวกับที่เขาไม่สามารถทำตัวเป็นพ่อ/ผัวที่ดีได้อย่างเต็มเวลา เมื่อมีภารกิจนู่นนี่สอดแทรกเข้ามา ทั้งต้องพาน้องเมียย้ายไปอยู่หอพัก หรือต้องขับรถพาป่อง-จาลอด ไปตระเวนดูที่ดินทำสโตร์ผัก

ขณะที่ “ไอ้หนุ่มส่งพิซซ่า” ในหนัง ก็ไม่เคยทำหน้าที่ส่งพิซซ่าแต่อย่างใด (เพราะมัวไปประกอบกิจกรรมอื่น)

หากดูหนังด้วยวิธีการมองโลกแบบเดิม เราอาจรู้สึกว่าเหล่าตัวละครใน “ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.1” นั้นช่างอยู่ผิดที่ผิดทาง ผิดฝาผิดตัวไปเสียหมด

แต่ถ้าลองปล่อยใจไปตามจังหวะชีวิตของผู้คนในภาพยนตร์ ความผิดแผกทั้งหลายเหล่านั้นก็อาจหมายถึงวิถีชีวิตคนที่ผันแปรเปลี่ยนแปลงไป จนยากจะประเมินหรือทำความเข้าใจจากกรอบคิดเดิมๆ

นอกจากประเด็นเรื่องสถานภาพของบุคคล หนังยังพูดถึงสายสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้คนได้อย่างน่าสนใจชวนขบคิด

ประเด็นเล็กๆ ที่อาจทำให้หลายคนรู้สึก “จุกที่สุด” คือข้อขัดแย้งเรื่อง “ข้าวเหนียว-ข้าวเจ้า” ในครัวเรือนของจาลอด

นี่เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากความเคยชินในการเปิบ “ข้าวเหนียว” ของยายและ “ไอ้มืด” น้องชายจาลอด กับการแวะเวียนเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังเดียวกันของครูแก้ว ซึ่งเป็นคนเมืองผู้มีวิถีชีวิตและรสนิยมเรื่องอาหารการกินอีกแบบหนึ่ง

สุดท้าย จาลอดต้องแสวงหาทางออกที่ประนีประนอม ด้วยการหุง “ข้าวเหนียว” รวมกับ “ข้าวเจ้า” ซะเลย

แต่ความตึงเครียดอึดอัดก็คล้ายจะยังคงดำรงอยู่ มิได้ยุติสิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์

“บ้าน” ในหนังภาคนี้ ยังมีความขัดแย้งหลายระดับซ่อนแฝงอยู่อีกมากมาย เช่น ความสัมพันธ์อันไม่ราบรื่นระหว่างพ่อกับลูก (ผู้ใหญ่บ้านกับป่อง) จนถึงพี่กับน้อง (จาลอดกับมืด)

ไม่นับว่า “บ้าน” คือ บ่อเกิดของโศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญ การปล่อยคนแก่ไว้คนเดียวในบ้านไม่ใช่เรื่องปลอดภัย ที่สามารถรับประกันความสบายใจให้แก่ลูกหลาน เช่นเดียวกับการตั้งต้นชีวิตครอบครัวของหนุ่มสาวที่อาจไม่สวยสดงดงามเสมอไป

“วัด” ก็ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งเผยแพร่คำสอนทางศาสนาหรือสถานที่ทำบุญทำทาน วัดกลายเป็นศูนย์รวมของปัญหานานาชนิด เมื่อคนมีปัญหาต่างหลบหนีโลกภายนอกมาพึ่งวัด หรือถูกนำมาปล่อยวัด (ตั้งแต่พระเซียง ป่อง จนถึงโรเบิร์ต)

“โรงเรียน” ไม่ใช่สถานที่ของ “ครูใหญ่” (ซึ่งมาร่วมลงทุนในกิจการสโตร์ผัก ด้วยฐานะเจ้าของที่ดิน) และ “ครูน้อย” ที่ขลุกอยู่กับจาลอดเป็นหลัก แต่โรงเรียนในหนังภาคนี้กลายเป็นจุดสานก่อความรักแบบ “ปั๊ปปี้ เลิฟ” ระหว่างไอ้มืดกับหัวหน้าห้องสาวสวย

สถานที่/พื้นที่อย่าง “บ้าน-วัด-โรงเรียน” ใน “ไทบ้าน เดอะ ซีรีส์ 2.1” จึงไม่ต่างอะไรกับสถานภาพของผู้คนในชุมชน ที่ล้วนขยับขับเคลื่อนออกจากจุดเดิมๆ ซึ่งเคยอยู่เคยเป็น

แนวคิด “บวร” (บ้าน-วัด-โรงเรียน) ที่หนังพลิกแพลงฉวยใช้มาตั้งแต่ภาค 1 นั้นยิ่งขยับตัวออกห่างจากคอนเซ็ปต์เดียวกันของภาครัฐมากขึ้นทุกที

หรืออาจกล่าวได้ว่าหนังภาคนี้กำลังเสนอภาพและชีวิตของ “หมู่บ้านอีสาน” ที่ยังมีโครงสร้าง และมีสมาชิกชุมชนโลดแล่นอยู่ภายใน

แต่ “โครงสร้าง” ทางสังคม และ “หน้าที่” ของผู้คนเหล่านั้น กลับถูกผลัก ดัน บิด ผัน ตามกระแสความเปลี่ยนแปลง จนไม่สามารถคงรูปลักษณ์-รูปแบบความสัมพันธ์ดั้งเดิมไว้ได้อีกต่อไป

มีนักดูหนังจำนวนหนึ่งพูดถึงหลายๆ ฉากใน “ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.1” ที่แลดูเป็นเศษเสี้ยวเล็กน้อยกระจัดกระจาย และอาจไม่ได้ส่งผลต่อโครงเรื่องรวมๆ ของภาพยนตร์มากนัก

แต่ภาพเคลื่อนไหวกลุ่มนั้นกลับมีความดีงามโดยตัวของมันเอง ในแง่ของการจับภาพวิถีชีวิตของชาวบ้านคนเล็กคนน้อย

ทั้งฉาก-เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบริเวณร้านค้าของ “เจ๊สวย” ฉากว่าด้วยการดำเนินชีวิต/ความฝันส่วนตัวของเฮิร์บและ “จีนูน” (น้องสาวเจ๊สวย)

หรือฉากการออกไปเที่ยวเล่นของไอ้มืดกับแก๊งเพื่อนๆ เด็กผู้ชาย (การเป่าลูกดอกยิงปลา พอมาอยู่ร่วมกับการใช้สมาร์ทโฟน และความฝันเรื่องการซื้อมอเตอร์ไซค์แล้ว ก็ดูมีอะไรให้คิดต่อเยอะแยะ)

ผมรู้สึกว่าส่วนเสี้ยวเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งถูกนำมาเรียงร้อยผูกมัดขยำรวมกันเป็น “ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.1” นั้น คือ ภาพสะท้อนที่ดีมากๆ ของวัฒนธรรมการชมยูทูบและวัฒนธรรมเสพข่าวออนไลน์แบบไทยๆ

หลายเหตุการณ์ย่อยในหนัง มีเนื้อหา-อารมณ์ ที่ใกล้เคียงกับโครงเรื่องที่แลดูซ้ำซากจำเจ ซึ่งมักปรากฏในคลิปสไตล์ยูไลก์ คลิปเหตุการณ์/เอ็มวีหลายล้านวิวในยูทูบ ตลอดจนข่าวชาวบ้านแนวเว็บ/เพจข่าวสด ฯลฯ

คลิป/ข่าวทั้งหลายเหล่านี้ มีชีวิตของชาวบ้านปรากฏอยู่ในหลากหลายแง่มุม เรื่องดีๆ งามๆ อาจมีไม่มากเท่าเหตุอาชญากรรมสะเทือนขวัญ เรื่องงี่เง่าโง่เขลาเบาปัญญา เรื่องลามกจกเปรต เรื่องเล่นหัวเฮฮา เรื่องการใช้เวลาว่างอย่างไร้แก่นสาร หรือเรื่องความต้องการจะบริโภคสินค้าบางชนิด เพื่อก่อร่างสร้างตัวตนให้แก่ตัวเอง ฯลฯ

“ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.1” คืออีกหนึ่งผลลัพธ์ของวัฒนธรรมแบบดังกล่าว วัฒนธรรมที่มีความหมาย ทรงพลัง สัมผัสไปถึงชีวิต-จิตใจ และได้รับความนิยมจากมวลชนกลุ่มใหญ่ในระดับมหาศาล

ถ้าใครอยากเข้าใจสังคมไทยในภาพกว้าง ก็ควรจะต้องทำความเข้าใจมวลชนกลุ่มนี้และวัฒนธรรมการเสพสื่อของพวกเขา

แม้แต่ประเด็นการ “ไถลเลื่อน” ของสถานภาพบุคคลในหนัง ดังที่กล่าวไปแล้วช่วงต้นบทความ ผมก็เห็นว่าไม่ต่างอะไรกับบรรดาตัวละครเปี่ยมสีสันในข่าวดราม่ากรณี “คดีหวย 30 ล้าน”

ที่ต่างคนต่างมาปะทะแย่งชิงหวยรางวัลที่หนึ่ง ผ่านสถานะคู่ขัดแย้ง-คู่กรณีทางข้อกฎหมาย-คนพูดจริง-คนพูดลวง ไม่ใช่ในสถานะของตำรวจ ครู แม่ค้าสลาก ฯลฯ