‘บิ๊กตู่’ เร่งคกก.ยุทธศาสตร์ชาติ ‘จิรชัย’ เผยปฏิรูปสื่อ เน้นจริยธรรม-ตรวจสอบได้

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจิรชัย มูลทองโร่ย ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติครั้งที่ 1/ 2561 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ย้ำในที่ประชุมถึงเรื่องการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน โดยให้พิจารณาว่าทำอย่างไรจึงจะนำยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปแต่ละด้านไปบอกกับชาวบ้านให้รับทราบและเข้าใจว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรเพื่อประชาชน ซึ่งนายจิรชัยแสดงความมั่นใจว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ มีความพร้อมและมีศักยภาพในการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน อีกทั้งตระหนักว่าการทำงานด้านสื่อในขณะนี้ ถือเป็นการทำงาน 2 นัย คือ ทำงานทั้งในฐานะคณะกรรมการปฏิรูปสื่อฯและทำงานเพื่อเป็นเครื่องมือของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ทุกชุดด้วย

นายจิรชัย กล่าวว่า ด้านการปฏิรูปสื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เน้นย้ำเรื่องใดเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม แต่ละด้านของการพัฒนาต่างมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน โดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะนำแผนและกรอบต่างๆมาทำให้เกิดความเชื่อมโยงในแต่ละด้านแต่ละมิติ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ได้ขอให้ทุกภาคส่วนไปหารือร่วมกัน และขอให้เน้นในเรื่องการปฎิบัติ เพราะแผนแม่บทถือว่าสมบูรณ์แล้ว จากนี้จึงอยู่ที่การปฏิบัติว่าใครจะทำและทำเมื่อใด โดยให้แต่ละคณะปฏิรูปดำเนินการไปตามแผนที่ยกร่างมาว่าจะมีกิจกรรมใดบ้าง โดย พล.อ.ประยุทธ์ยังย้ำถึงการเร่งรัดและติดตามผล เพื่อจะได้ทราบว่าใครทำอะไร ทำไปถึงขั้นใด และได้ผลเป็นอย่างไร

นายจิรชัย กล่าวว่า ขณะนี้มีแผนด้านสื่อมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ อยู่ 6 ด้าน แต่เน้นที่เรื่องสำคัญ 2 เรื่อง คือ การรู้เท่าทันสื่อ และจริยธรรมการกำกับดูแลสื่อ โดยเรื่องการรู้เท่าทันสื่อนั้น กระทรวงศึกษาธิการระบุว่ากำลังดำเนินการอยู่ แต่ต้องการให้บูรณาการหลายส่วนเข้าด้วยกัน เพื่อให้สอดคล้องกับคณะปฏิรูปและแผนปฏิรูปรวมถึงกิจกรรมที่คณะปฏิรูปจะดำเนินการ โดยมองว่า เมื่อประชาชนรับรู้ข้อมูลจากสื่อมาแล้ว ไม่ว่าจะมาจากวิทยุ โทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ ควรคำนึงว่าข้อมูลเหล่านั้นมีความถูกต้องหรือไม่ ควรจะเชื่อหรือไม่ ควรที่จะขยายต่อไปหรือไม่ และจะต้องรู้เท่าทันสื่อด้วย การรู้ไม่เท่าทันสื่อในฐานะเป็นผู้บริโภคถือเป็นปัญหาหลักของประชาชน ดังนั้น การบูรณาการหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องมี

“เมื่อมีสื่อเผยแพร่ข่าวออกมา หากเกิดความไม่มั่นใจหรือความสงสัย หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบจะต้องรับเรื่องร้องทุกข์เอาไว้ เพราะประชาชนเขาก็ไม่รู้จะสอบถามใคร และอีกเป้าหมายหนึ่งคือสื่อจะต้องตรวจสอบกันเองดูแลกันเอง หากเกิดความสงสัยจะต้องให้สื่อนั้นๆชี้แจง ดังนั้น ทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหรือองค์กรของสื่อจะต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องที่เป็นข้อเท็จจริงต่อประชาชน หากมีสื่อเสนอข่าวแล้วทำให้เกิดความสงสัย ก็สามารถสอบถามไปที่สื่อผู้ผลิตนั้นเลย เพื่อที่จะให้เขาอธิบายว่าจริงหรือไม่จริงอย่างไร เช่น การส่งต่อข่าวหรือเอกสารในโซเชียลมีเดีย ก็ต้องสอบถามไปที่ต้นสังกัดนั้นเลยเพื่อให้เกิดการอธิบายอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น” นายจิรชัย กล่าวและว่า ส่วนเรื่องจริยธรรมการกำกับดูแลสื่อ นอกจากการร่างกฎหมายกำกับดูแลสื่อให้สอดคล้องกับเค้าโครงเดิมจากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … ที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ทำมา อีกส่วนหนึ่งคือมาตรฐานวิชาชีพสื่อฐานกลาง ที่จำเป็นต้องขับเคลื่อนเร่งรัด ส่วนอีก 4 ด้านที่เหลือ เช่น ออนไลน์ ไซเบอร์ อุตสาหกรรมโทรทัศน์ และการบริการข้อมูลข่าวสารภาครัฐ บางส่วนเป็นเรื่องของการปรับปรุงกฎหมายซึ่งกำลังติดตามว่ามีความคืบหน้าอย่างไร

นายจิรชัย กล่าวต่อไปว่า ด้านการเฝ้าระวังสื่อจากโซเชียลมีเดียนั้น ประชาชนจำเป็นต้องตระหนักก่อนว่า ประชาชนเองก็เป็นฝ่ายผลิตสื่อสู่โซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ด้วยเช่นกัน จึงเท่ากับประชาชนเป็นทั้งฝ่ายรับข้อมูลและผลิตข้อมูล ดังนั้น จะต้องมีความรู้ว่าข้อมูลอะไรควรระงับยับยั้ง ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปด้านสื่อมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ จะประชุมหารือกันอีกครั้งในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล