แพทย์ พิจิตร : การยุบสภาในประเพณีการปกครองไทย (29) รัฐผีดิบ 

คราวที่แล้ว ได้เขียนถึงพฤติกรรมของรัฐบาลทักษิณ และตั้งคำถามว่าเข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือไม่ และได้ตอบไปบางส่วนแล้ว คราวนี้จึงขอสาธยายต่อไป

จากข้อสังเกตของฮาร์ตลินเกี่ยวกับกรณีของประเทศที่อยู่ตรงกลางระหว่างระบบอำนาจนิยมที่ชัดเจนกับระบอบประชาธิปไตยที่ยังไม่เข้มแข็ง

จะพบว่า Varol เองก็ตระหนักในกรณีเช่นนี้ และด้วยเหตุนี้เองที่ในงานเขียนที่เขียนขึ้นในปี ค.ศ.2014 และตีพิมพ์ในปี ค.ศ.2015 เป็นเวลา 2-3 ปีให้หลังจากงาน “Democratic Coup d”Etat” (2012) ของเขา

Varol ได้เขียนเกี่ยวกับประเทศที่การเมืองตกอยู่ในสภาวะที่เขาเรียกว่า “Stealth Authoritarianism” หรือ “อำนาจนิยมอำพราง”

โดยในงานชิ้นดังกล่าวนี้ เขาได้ชี้ให้เห็นว่า ในปัจจุบัน อำนาจนิยมได้แปรแปลงรูปร่างหน้าตาไปมาก (metamorphosis) ต่างจากในอดีตที่ผู้ที่เป็นนักอำนาจนิยม (authoritarians) จะกดขี่ฝ่ายตรงข้ามอย่างเปิดเผยโดยใช้ความรุนแรงและการละเมิดและทำลายนิติรัฐเพื่อปกปักรักษาให้การปกครองของพวกเขายืนยงอยู่ได้ต่อไป

แต่กระบวนการลงโทษและคว่ำบาตรหลังช่วงสงครามเย็นต่อพฤติกรรมหรือการกระทำที่เป็นอำนาจนิยมอย่างเปิดเผยได้สร้างแรงกระตุ้นที่มีนัยสำคัญให้เกิดการหาทางหลีกเลี่ยงวิธีการที่นักอำนาจนิยมในอดีตเคยกระทำ

สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่คือ อำนาจนิยมรุ่นใหม่เรียนรู้ที่จะธำรงรักษาอำนาจของพวกเขาผ่านกลไกทางกฎหมายอันเป็นกฎหมายในลักษณะเดียวกันที่ดำรงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยทั่วไป

โดย Varol ได้เปรียบอำนาจนิยมรุ่นใหม่หรืออำพรางนี้ว่าเป็นดั่งไวรัสที่กลายพันธุ์เพื่อปรับตัวให้เข้ากับยาใหม่ๆ

นักเผด็จการอำนาจนิยมหรือผู้ที่จะกำลังจะเป็นนักเผด็จการอำนาจนิยม—หรือผู้มีอำนาจในระบอบประชาธิปไตยที่พยายามใช้ประโยชน์จากพฤติกรรมเผด็จการอำนาจนิยมแอบแฝงในการสร้างระบอบให้เป็นประชาธิปไตยน้อยกว่าที่ผ่านมา— เรียนรู้ที่จะเล่นกติกาเดียวกันกับกติกาที่ดำรงอยู่ในรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย

แม้ว่าที่ผ่านมา กฎหมายจะเป็นเครื่องมืออันทรงคุณค่าเสมอในฐานะที่เป็นอาวุธของเผด็จการ (autocrat) เช่นกัน

แต่นักอำนาจนิยมสมัยใหม่จะเริ่มต้นใช้กฎหมายดังกล่าวและใช้สถาบันทางกฎหมายที่ดำรงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยเพื่อเป้าหมายหรือจุดประสงค์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งจะมีความเข้มข้นในการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือมากกว่านักเผด็จการรุ่นก่อน

Varol กล่าวว่า ในยุคสมัยใหม่ ฝูงหมาป่าอำนาจนิยมยากที่จะปรากฏตัวให้เห็นว่าเป็นฝูงหมาป่า

เพราะปัจจุบัน พวกเขาจะแต่งองค์ทรงเครื่อง อย่างน้อยก็บางส่วนในหนังแกะ

ซึ่งการทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “อำนาจนิยม” ในทางวิชาการที่ผ่านมาล้มเหลวส่งผลให้ไม่สามารถติดตามตรวจสอบได้อย่างเท่าทันกับวิวัฒนาการของระบบ “อำนาจนิยม”

 

Varol กล่าวว่าในปฏิบัติการแบบอำนาจนิยมอำพราง ผู้มีอำนาจเหล่านั้นได้เอาหน้ากากของกฎหมายมาสวมทับมาตรการกดขี่ เคลือบมาตรการดังกล่าวด้วยความชอบธรรมของกฎหมาย ส่งผลให้การกระทำที่ต่อต้านประชาธิปไตยของพวกเขายากที่จะตรวจสอบได้และขจัดได้ ด้วยกลไกการส่งเสริมประชาธิปไตยที่ดำรงอยู่

Varol ชี้ว่า ในสหรัฐอเมริกาเองและที่อื่นๆ ต่างก็มีข้อจำกัดในการปรับใช้มาตรการที่มีอยู่ในการตรวจสอบกลอุบายของอำนาจนิยมอำพราง

และบ่อยครั้งที่ผู้ศึกษาหรือผู้ที่ทำการตรวจสอบจะพบกับความขัดแย้งกันเอง

เพราะกลไกที่ใช้ในการตรวจสอบเหล่านี้เจาะลงไปได้แค่ระดับตื้นๆ ที่สามารถกำจัดข้อบกพร่องได้กับเฉพาะอำนาจนิยมที่เปิดเผยตรงไปตรงมาเท่านั้น

ดังนั้น กลไกการตรวจสอบที่ไม่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพเพียงพอก่อให้เกิดการเปิดช่องให้เกิดการปกคลุมอำพรางปฏิบัติการอำนาจนิยมโดยใช้ช่องทางกฎหมาย และกลับกลายเป็นสร้างเงื่อนไขสำคัญที่เอื้อให้การปฏิบัติการอำนาจนิยมเจริญเติบโตและอยู่ยั้งยืนยงได้อีกด้วย

นอกจากนี้ อำนาจนิยมอำพรางยังสามารถที่จะทำให้การปกครองในลักษณะนี้ดำรงอยู่ได้นานขึ้นในที่สุด โดยซ่อนปฏิบัติการที่ขัดกับประชาธิปไตยไว้ภายใต้หน้ากากของกฎหมาย

นอกจากนี้ Varol ยังได้ชี้ให้เห็นถึงการเริ่มตระหนักถึงสภาวะกลายพันธุ์ของระบบอำนาจนิยม

โดยเขาได้อ้างถึงงานวิจัยต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นถึงสภาพการณ์ดังกล่าวนี้

นั่นคือ ระบบการปกครองหรือลักษณะทางการเมืองที่อยู่ระหว่างปลายสองขั้วของประชาธิปไตยและอำนาจนิยม โดยมีลักษณะที่เชื่อมโยงของทั้งสองขั้วระบบนี้

และนักวิชาการได้ตีตราระบบเหล่านี้ด้วยชื่อต่างๆ เช่น “อำนาจนิยมที่มีการแข่งขัน” อันเป็นระบบการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นการเมืองที่มีการเลือกตั้งแต่ไม่เป็นประชาธิปไตย (Elections without Democracy) หรือ “อำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง” (electoral authoritarianism) อันเป็นระบบที่ใช้การเลือกตั้งในการรักษาอำนาจของตนไว้ผ่านการตัดสิทธิ์ การซื้อเสียง การข่มขู่ การโกงเลือกตั้ง เป็นต้น

หรือ “อำนาจนิยมครึ่งใบ” (semi-authoritarianism) อันเป็นระบบที่ปรากฏให้เห็นทั้งลักษณะประชาธิปไตยและอำนาจนิยม

หรือ “ระบบลูกผสม” (hybrid regimes) ที่มีลักษณะเช่นเดียวกันกับ “อำนาจนิยมครึ่งใบ”

และมีผู้นำเอาแนวคิด “ระบบลูกผสม” มาพัฒนาและเรียกว่าระบอบประชาธิปไตยจอมปลอม (pseudodemocratic)

โดยเน้นไปที่สภาวะอำนาจนิยมที่ใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือเช่นเดียวกันกับในกรณีที่เรียกว่า “รัฐผีดิบ” (Frankenstates) โดยอ้างถึงกรณีของประเทศฮังการีภายใต้การปกครองของ Viktor Orban เป็นต้น

 

Varol ได้สรุปว่า “อำนาจนิยมอำพราง” เป็นการปฏิบัติการที่เกิดขึ้นเพื่อปกป้องและสร้างปราการคุ้มกันอำนาจในเงื่อนไขที่การกดขี่บังคับโดยตรงไม่สามารถกระทำได้

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่สามารถใช้วิธีการแบบอำนาจนิยมดั้งเดิมทื่อๆ เหมือนในอดีต

ปฏิบัติการอำนาจนิยมใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปกป้องพิทักษ์สถานะที่ดำรงอยู่

สร้างเกราะหรือภูมิคุมกันผู้มีอำนาจทางการเมืองการปกครองให้รอดปลอดภัยจากการตรวจสอบถ่วงดุลหรือการท้าทายที่มีนัยสำคัญตามกระบวนการประชาธิปไตย

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ทำให้กระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลตามกระบวนการประชาธิปไตยหมดความหมายไปนั่นเอง เพื่อแผ้วทางไปสู่การเกิดการครอบงำโดยพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวหรือรัฐภายใต้พรรคการเมืองเดียว

ด้วยเหตุนี้ Varol จึงกล่าวโดยสรุปว่า แม้ว่าจะมีนิยามและชื่อที่เรียกขานแตกต่างกันไป

แต่โดยส่วนใหญ่ ระบบหรือปฏิบัติการอำนาจนิยมอำพรางดังกล่าวก็มีลักษณะสำคัญร่วมกัน

นั่นคือ แม้ว่าจะมีการแข่งขันผ่านการเลือกตั้งหลายพรรคจริง แต่ก็มีความไม่เป็นธรรมด้วยวิธีการและเงื่อนไขต่างๆ

อำนาจนิยมอำพรางใช้กลไกทางกฎหมายที่มีอยู่ในระบบ อันเป็นกลไกที่ดูน่าเชื่อถือและมีความเป็นประชาธิปไตย แต่ถูกใช้เพื่อเป้าหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม แม้ Varol จะยอมรับว่าอำนาจนิยมอำพรางร้ายกาจน้อยกว่าอำนาจนิยมแบบดั้งเดิมที่มีทางเลือกในการกดขี่มากกว่า

แต่ขณะเดียวกัน ภายใต้สถานการณ์บางสถานการณ์ อำนาจนิยมอำพรางก็สามารถช่วยสร้างเงื่อนไขให้ประชาธิปไตยสามารถขยายและเติบโตได้ ในพลวัตแบบก้าวไปข้างหน้าสองก้าวและถอยหลังหนึ่งก้าว

อันแตกต่างกับอำนาจนิยมแบบดั้งเดิมที่มักจะนำไปสู่ความล่มสลายของระบบ

ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า มักลงเอยด้วยสภาวะอนาธิปไตยหรือเผด็จการแบบเข้มข้น

 

นอกจากนี้ Varol ยังได้นำเสนอการทำความเข้าใจภาพรวมของปรากฏการณ์ “อำนาจนิยมอำพราง” ผ่านกรณีศึกษาต่างๆ ที่แตกต่างกัน

โดย Varol มุ่งหวังที่จะเติมเต็มช่องว่างในการศึกษาในเรื่องอำนาจนิยม ซึ่งขาดการสร้างทฤษฎีที่ทันสมัยรองรับเกี่ยวกับปรากฏการณ์อำนาจนิยมที่เกิดขึ้นหลังยุคสงครามเย็นที่ใช้วิธีการอำพรางโดยแอบอิงกับกลไกกฎหมายในการธำรงรักษาอำนาจทางการเมือง โดยเฉพาะกลไกทางกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญ ในการธำรงรักษาอำนาจทางการเมือง

แม้ว่าการปฏิบัติการอำนาจนิยมอำพรางจะพบได้บ่อยในระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่การนำเสนอแนวคิดเรื่อง “อำนาจนิยมอำพราง” จะช่วยทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า ปฏิบัติการดังกล่าวจะปรากฏให้เห็นได้ในระบอบประชาธิปไตยที่ได้รับความเชื่อถือด้วย รวมทั้งแม้แต่สหรัฐอเมริกาเองด้วย

ที่สำคัญคือ Varol ต้องการสื่อให้เห็นโฉมหน้าใหม่ล่าสุดของอำนาจนิยม คือ มีหน้าตาที่เป็นประชาธิปไตย แต่ใช้กลไกตามกติกากฎหมายอย่างมีเล่ห์กล

ไม่ต่างจากหมาป่าที่อำพรางตัวด้วยหนังแกะดังที่ผู้เขียนเพิ่งกล่าวไป

โดย Varol ชี้ว่า ในการทำความเข้าใจ “อำนาจนิยมอำพราง” เขามุ่งไปยังการถกเถียงทางวิชาการในเรื่องการปฏิบัติการของระบบมากกว่าจะเป็นเรื่องของรูปแบบของระบบ

ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า งานชิ้นนี้ของ Varol จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตามข้อสังเกตในงานของฮาร์ตลินข้างต้น

และจะช่วยให้ผู้ที่ต้องกำหนดนโยบายสาธารณะหรือออกกฎหมายสามารถรู้เท่าทันอำนาจนิยมอำพรางในโลกปัจจุบันได้

ดังนั้น จากที่กล่าวมานี้สามารถสรุปได้ว่า รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งย่อมไม่เป็นรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องเป็นรัฐบาลที่ไม่เป็นรัฐบาลอำนาจนิยมหรืออำนาจนิยมอำพรางเสมอไปด้วย