สุรชาติ บำรุงสุข : สันติภาพโนเบล 2017 สงครามนิวเคลียร์ 2018

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“เราคงหลอกตัวเองไม่ได้แล้วว่า [ในที่สุด] เราจะต้องเลือกระหว่างสันติภาพโลกหรือการทำลายโลก”

Bernard Baruch

รัฐบุรุษชาวอเมริกัน

“นี่จะเป็นการสิ้นสุดของอาวุธนิวเคลียร์ หรือจะเป็นการสิ้นสุดของเรา [มวลมนุษยชาติ]”

Beatrice Finn

ผู้อำนวยการ Ican

คำปราศรัยในการรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ 2017

ข่าวดีสำหรับผู้รักสันติภาพทั่วโลกในปี 2018 ก็คือ กลุ่ม Ican หรือกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการรณรงค์ในการยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ (The International Campaign to Abolish Nuclear Weapons) ได้รับการประกาศให้เป็นผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2017 ที่ผ่านมา

อย่างน้อยการได้รับรางวัลของ Ican ก็คือภาพสะท้อนของความกังวลต่อปัญหาสันติภาพของโลกที่ถูกท้าทายอย่างมากจากวิกฤตการณ์นิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี และจากการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นไม่หยุดในพื้นที่ดังกล่าว

เพราะผลจากการตอบโต้กันไปมาด้วยคำพูดร้อนแรงระหว่างผู้นำสหรัฐอเมริกาและผู้นำเกาหลีเหนือ

ตามมาด้วยการทดลองระเบิดนิวเคลียร์และการทดสอบขีปนาวุธจากรัฐบาลเกาหลีเหนือและการเผชิญหน้าทางทหารแล้ว สถานการณ์โลกก็ดูจะก้าวเข้าใกล้สงครามนิวเคลียร์อีกครั้ง

หรืออาจจะต้องยอมรับว่าเป็นการก้าวสู่โอกาสของการเกิดสงครามนิวเคลียร์อย่างไม่เคยมีมาก่อนหลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นแล้ว

ดังนั้น หากพิจารณาปัญหาสงครามและสันติภาพในการเมืองโลกของปี 2018 ปัญหาวิกฤตการณ์นิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีจะเป็น “ชนวน” สำคัญของปัญหาสงครามในเวทีโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และในความขัดแย้งนี้มีอาวุธนิวเคลียร์เป็นเครื่องมือ จนอาจจะต้องถือว่าสัญญาณจากปลายปี 2017 กำลังบ่งบอกถึงทิศทางของความร้อนแรงของสถานการณ์โลกในปี 2018 อย่างชัดเจน

จนมีความกังวลอย่างมากกับโอกาสของการเกิด “สงครามนิวเคลียร์” ในเวทีโลกปัจจุบัน

วิกฤตนิวเคลียร์เกาหลี

สถานการณ์ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีเป็นประเด็นสำคัญในการเมืองโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นบนสภาวะที่เกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ และยังยกระดับของการครอบครองอาวุธนี้ด้วยการประสบความสำเร็จในการทดลองยิงขีปนาวุธ

ซึ่งนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงในปัจจุบันเชื่อว่ารัฐบาลเปียงยางมีขีดความสามารถในการยิงขีปนาวุธระยะไกลแล้ว

ตลอดรวมถึงประเด็นสำคัญก็คือ การมีขีดความสามารถที่จะ “ย่อส่วน” ให้อาวุธนิวเคลียร์มีขนาดเล็กจนนำไปติดตั้งเป็น “หัวรบ” ของขีปนาวุธได้สำเร็จ

สภาวะเช่นนี้เป็นสิ่งที่แตกต่างจากสถานการณ์เดิมที่ดุลอำนาจบนคาบสมุทรเกาหลีไม่มีประเด็นเรื่องอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง

หรือหากจะเกิดความขัดแย้งขึ้นก็อยู่ในระดับของสงครามตามแบบที่จะไม่ขยายตัวไปสู่การเป็นสงครามนิวเคลียร์

ดังเช่นตัวแบบของสงครามเกาหลีที่เกิดขึ้นในปี 1950 หรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอีกหลายครั้งต่อมาก็จำกัดระดับอยู่กับสงครามที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ และอยู่ในสภาวะที่เป็น “สงครามจำกัด” (Limited Warfare) หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ สงครามดังกล่าวอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้

แต่สถานการณ์ปัจจุบันเกาหลีเหนือประสบความสำเร็จทางด้านอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธนิวเคลียร์อย่างมากจนถึงระดับของการมีขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM)

ซึ่งโดยนัยก็คือเปียงยางมีขีดความสามารถในการโจมตีต่อเป้าหมายในสหรัฐอเมริกาได้

และเชื่อกันว่าวอชิงตันเองก็อยู่ในพิสัยของอาวุธนี้ด้วย

และขณะเดียวกันต้องถือว่าสมดุลแห่งกำลังบนคาบสมุทรก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย จนอาจต้องยืมภาษาของยุคสงครามเย็นกลับมาใช้ว่า สมดุลบนคาบสมุทรเกาหลีกำลังเป็น “สมดุลแห่งความกลัว” (Balance of Terror) ไม่ใช่เรื่องของ “ดุลแห่งกำลัง” (Balance of Power) ในแบบเดิมอีกต่อไป

สภาวะเช่นนี้กำลังส่งสัญญาณถึงโอกาสที่คาบสมุทรนี้จะเป็นจุดของการ “เผชิญหน้าของอาวุธนิวเคลียร์” (nuclear confrontation) ดังเช่นที่โลกเคยมีประสบการณ์มาแล้วในยุคสงครามเย็น

บนเวทีของการต่อสู้ทางการเมืองเช่นนี้ สหรัฐและเกาหลีใต้ตอบโต้ด้วยการจัดการซ้อมรบใหญ่ ก่อนสิ้นปี 2017 มีกำลังพลของทั้งสองประเทศเข้าร่วมถึง 12,000 นาย

และทั้งสหรัฐยังได้นำเอาเครื่องบินรบที่ทันสมัยที่สุดคือเอฟ-22 (Raptor) ซึ่งเป็นอากาศยานล่องหน (Stealth) เข้าร่วมการซ้อมรบและทั้งยังมีการซ้อมรบทางทะเลอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

พร้อมกันนี้ นายแม็กมาสเตอร์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า “เกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามปัจจุบันโดยตรงต่อสหรัฐ” (หรือเป็น “immediate threat” ในทางความมั่นคง)

ในท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียดมากขึ้นเช่นนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของเกาหลีเหนือก็ตอบโต้ด้วยวาจาว่า รัฐบาลทรัมป์ “กำลังร้องหาสงครามนิวเคลียร์”

อย่างไรก็ตาม สำหรับรัฐบาลเปียงยางแล้ว อาวุธและขีปนาวุธนิวเคลียร์ที่มีเช่นนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการ “ป้องปราม” (deterrence) ต่อความพยายามของสหรัฐในการโจมตีเกาหลีเหนือเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง (regime change) ดังเช่นที่เกิดขึ้นจากตัวแบบอิรักและลิเบีย

จนกล่าวกันว่าผู้นำเกาหลีเหนือมีข้อสรุปว่า บทเรียนของความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นในอิรักหรือในลิเบีย เป็นเพราะรัฐบาลดังกล่าวไม่มีขีดความสามารถในการป้องปรามตนเอง

โดยเฉพาะกรณีของผู้นำลิเบียที่ตัดสินใจยกเลิกการพัฒนาอาวุธที่มีอำนาจในการทำลายล้างสูง

แต่สุดท้ายรัฐบาลของประธานาธิบดีกัดดาฟีก็ถูกโค่น

บทเรียนเช่นนี้ทำให้ผู้นำเกาหลีเหนือเชื่อว่าอาวุธและขีปนาวุธนิวเคลียร์ ไม่เพียงจะเป็นอำนาจต่อรองในทางการเมืองเท่านั้น

แต่ยังจะเป็นอำนาจในการป้องปรามในทางทหารอีกด้วย

และป้องกันการถูกล้มระบบการปกครอง ตัวแบบจากตะวันออกกลางเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีนี้

ดุลแห่งความกลัว

แม้ว่าหากเปลี่ยนดุลแห่งกำลังแล้ว กองทัพเกาหลีเหนืออาจจะอยู่ในลำดับต้นของโลก

แต่ระดับของเทคโนโลยีทหารเป็นสิ่งที่เปรียบกับขีดความสามารถทางทหารของสหรัฐไม่ได้เลย

ประกอบกับการขาดแคลนเชื้อเพลิงอย่างมาก จนทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ที่จะปิดช่องว่างของสมดุลแห่งกำลังกับสหรัฐก็คือ จะต้องเร่งพัฒนาอาวุธและขีปนาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งสหรัฐเองก็ดูจะตระหนักถึงปัญหาเช่นนี้

และเชื่อว่าในท้ายที่สุด สหรัฐมีเวลาไม่มากที่จะต้องป้องกันไม่ให้เกาหลีเหนือเดินทางจนถึงจุดของความสำเร็จดังกล่าวได้ เพราะเกาหลีเหนือพัฒนาขีดความสามารถนี้ได้อย่างรวดเร็ว

แน่นอนว่าการป้องกันเช่นนี้ของสหรัฐอาจจะต้องดำเนินการด้วยการ “ใช้กำลัง” จนทำให้สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีต้องใช้ภาษาในยุคสงครามเย็นในการอธิบายว่า คาบสมุทรเกาหลีกำลังเดินไปสู่จุด “เสี่ยงสุดท้าย”

หรือศัพท์ในทางยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ก็คือ สถานการณ์ที่เป็น “Brinkmanship”

และขณะเดียวกันดูเหมือนว่าโอกาสของการเจรจาทวิภาคีระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือก็ถอยห่างออกไปเรื่อยๆ จนแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เท่ากับที่การเจรจาหกฝ่าย (สหรัฐ จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเกาหลีเหนือ) ก็ดูจะเป็นไปได้ยากเช่นกัน…

สันติภาพบนคาบสมุทรดูจะไม่สดใสนัก

แต่แนวโน้มสงครามกลับดูเด่นชัดจนกลายเป็นความกังวลของโลก เพราะสงครามเกาหลีครั้งนี้มีโอกาสเป็น “สงครามนิวเคลียร์” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

North Korean leader Kim Jong Un guides the launch of a Hwasong-12 missile in this undated photo released by North Korea’s Korean Central News Agency (KCNA) on September 16, 2017. KCNA via REUTERS ATTENTION EDITORS – THIS PICTURE WAS PROVIDED BY A THIRD PARTY. REUTERS IS UNABLE TO INDEPENDENTLY VERIFY THIS IMAGE. NO THIRD PARTY SALES. SOUTH KOREA OUT. TPX IMAGES OF THE DAY

หยุดสงครามนิวเคลียร์!

ในท่ามกลางความตึงเครียดของวิกฤตนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีนั้น ข่าวดีของการที่กลุ่มต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ (Ican) ได้รับรางวัลโนเบลดูจะเป็นความหวังเล็กๆ ที่ช่วยกระตุ้นความสนใจของคนทั่วโลกต่อปัญหาความน่าสะพรึงกลัวของสงครามนิวเคลียร์ได้บ้าง

เพราะนอกจากจะเห็นการเปิดการเผชิญหน้าด้วยการพัฒนาอาวุธและการซ้อมรบอย่างต่อเนื่องแล้ว การใช้ภาษาของผู้นำทั้งสองฝ่ายก็เป็นแรงยั่วยุอย่างสำคัญจนมีส่วนทำให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นแย่ลงไปด้วย

กลุ่ม Ican พยายามรณรงค์ให้มีการลงนามความตกลงยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลก (global treaty banning nuclear weapons) ซึ่งชาติสมาชิกของสหประชาชาติได้ลงนามร่วมกันเมื่อเดือนกรกฎาคม 2017 โดยได้รับเสียงสนับสนุนถึง 123 เสียง

และความตกลงฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายเมื่อชาติสมาชิก 50 ประเทศลงนามและให้สัตยาบัน

การเคลื่อนไหวของกลุ่มจึงเป็นความหวังประการสำคัญในปัจจุบันที่จะหยุดยั้งโอกาสของการเกิดสงครามนิวเคลียร์ในเวทีโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี

แม้ชัยชนะในเวทีสหประชาชาติด้วยเสียงสนับสนุน 123 ประเทศ แต่ก็มีอีก 38 ประเทศไม่สนับสนุน และอีก 16 ประเทศงดออกเสียง

ซึ่งประเทศที่ออกเสียงคัดค้านได้แก่ สหรัฐ รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส อินเดีย ปากีสถาน อิสราเอล เกาหลีเหนือ และออสเตรเลีย ส่วนจีนงดออกเสียง

ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์ทั้งหมด 9 ประเทศไม่สนับสนุนความตกลงเช่นนี้

อันจะส่งผลให้โอกาสที่กฎหมายจะประสบความสำเร็จได้อย่างเป็นจริงก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

และยังต้องเผชิญกับการออกเสียงวีโต้ในเวทีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยชาติสมาชิกหลักทั้งห้า ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ทั้งหมด [สหรัฐ รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส และจีน หรือที่เรียกว่า “ชมรมนิวเคลียร์” (The Nuclear Club) ในเวทีโลกของยุคสงครามเย็น]

ในอีกด้านหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า โอกาสที่ความตกลงนี้จะบรรลุผลในทางปฏิบัติได้นั้น ก็อาจจะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ในการยอมรับต่อทิศทางดังกล่าว ซึ่งก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้แต่อย่างใด

และขณะเดียวกันก็เห็นได้ชัดเจนว่า รัฐมหาอำนาจนิวเคลียร์ไม่ตอบรับต่อข้อเรียกร้องให้ยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ในเวทีโลก

เพราะในความเป็นจริงของการเมืองโลก อาวุธนิวเคลียร์มิใช่เป็นเพียงเครื่องมือของการเพิ่มขีดความสามารถทางทหารของประเทศเท่านั้น

หากแต่ยังเป็นดังสัญลักษณ์ของการสร้างความเป็นรัฐมหาอำนาจ และในกรณีของเกาหลีเหนือยังขยายไปเป็นเครื่องมือของการปกป้องระบบการปกครองของประเทศตนเองอีกด้วย

ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว อรรถประโยชน์ของอาวุธนิวเคลียร์จึงไม่ใช่เป็นแต่เพียงเรื่องทางทหารเท่านั้น

แม้ผู้นำทางการเมืองบางคนอาจจะมองว่าปัญหาการยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์เป็นเรื่องอุดมคติเกินไป ไม่ต่างจากข้อตกลงเรื่องทุ่นระเบิด หรือระเบิดคลัสเตอร์ (Cluster Bombs) ซึ่งไม่ประสบอย่างจริงจังนัก

แต่ในอีกด้านหนึ่ง หลายประเทศเริ่มตระหนักว่าอาวุธนิวเคลียร์มีอำนาจการทำลายล้างสูงเกินกว่าที่จะใช้ในสงคราม

อย่างน้อยประจักษ์พยานจากฮิโรชิมาและนางาซากิในปี 1945 เป็นคำตอบที่ดีในกรณีนี้

ประกอบกับรัฐนิวเคลียร์บางส่วนไม่มีแนวโน้มจะลด และ/หรือควบคุมอาวุธดังกล่าว กลับเห็นทิศทางของการพัฒนาที่มากขึ้น

จนหลายฝ่ายเริ่มมองว่าความตกลงเดิมภายใต้สนธิสัญญาห้ามการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ (Non-Proliferation Treaty หรือ NPT) เป็นสิ่งที่ล้าสมัยเกินกว่าสถานการณ์ที่ดำรงอยู่ จึงหันมาสนับสนุนข้อเรียกร้องของ Ican ในปัจจุบันแทน

ดังได้กล่าวแล้วว่า แม้การรณรงค์ในเรื่องนี้อาจจะดูเป็นอุดมคติ แต่เมื่อเกิดความตึงเครียดขึ้นจากวิกฤตนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีแล้ว ข้อเรียกร้องให้ยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์น่าจะเป็นทางออกที่สำคัญสำหรับอนาคตของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้…

แม้ข้อเสนอในการรณรงค์นี้จะดูเป็นความฝัน แต่ก็เป็นความฝันที่จะทำให้โลกหลุดพ้นจากภัย “สงครามนิวเคลียร์” ในอนาคต

สงคราม vs. สันติภาพ

วิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีในปี 2018 จะเป็นประเด็นสำคัญในการเมืองโลกอย่างแน่นอน

และขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่เปราะบางและคาดเดาได้ยากด้วย

จนมีแต่ความหวังว่า 2018 จะไม่ใช่ปีที่เราเห็นสงครามนิวเคลียร์ที่เกาหลี

และหวังว่าเป็นปีที่โลกตระหนักถึงความน่ากลัวของอาวุธนิวเคลียร์มากขึ้น แม้จะยังไม่ใช่ปีที่เราจะยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ได้ทั้งหมดก็ตาม…

ขอสันติภาพจงเกิดแก่โลก!