สุรชาติ บำรุงสุข : 41 ปีแห่งการเคลื่อนไหว (9) ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

41 ปีแห่งการเคลื่อนไหว (9) ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป!

ย้อนอ่าน ตอน  (8)  (7)

“[การฆ่าคอมมิวนิสต์] ถึงแม้จะฆ่าคนก็บาปเล็กน้อย แต่บุญกุศลได้มากกว่า เหมือนเราฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ ไอ้บาปมันก็มีหรอกที่ฆ่าปลา แต่เราใส่บาตรพระได้บุญมากกว่า”

กิตติวุฑโฒภิกขุ

บทสัมภาษณ์นิตยสารจัตุรัส 29 มิถุนายน 2519

ฟ้ารุ่งสางของเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 สว่างมากขึ้นเท่าใด การโจมตีจากภายนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ดูจะรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น แสงอาทิตย์ที่จับขอบฟ้าในเช้าวันนั้น ทำให้พวกเราหลายคนได้สัมผัสการฆ่าและความตายอย่างที่ไม่อาจคาดเดามาก่อนได้เลย

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า พวกเราหลายคนที่เป็นกรรมการศูนย์นิสิตฯ เคยมีมุมมองคล้ายๆ กันว่า อาจจะมีการสร้างสถานการณ์บางอย่างเพื่อนำไปสู่การรัฐประหาร และตามมาด้วยคำประกาศยุบศูนย์นิสิตฯ และมีคำสั่งให้กรรมการศูนย์ฯ เข้ารายงานตัว อันจะส่งผลให้กิจกรรมการเคลื่อนไหวของขบวนนักศึกษาประชาชนต้องหยุดลง

การสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเช้าวันนี้ ให้คำตอบอย่างชัดเจนว่า เราประเมินการยุติบทบาทของขบวนนักศึกษาประชาชนในแบบ “โลกสวย” อย่างมาก

คือคิดว่าผู้ปกครองคงจับพวกเรา แต่ไม่ใช่เปิดการ “ฆ่าหมู่” อย่างที่กำลังเกิดขึ้น…

การฆ่าที่เกิดขึ้นในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จึงเป็นดัง “ด้านมืด” ของประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลย

เพราะเหยื่อเป็นเพียงนิสิตนักศึกษา

เจรจาหยุดยิง ไม่ใช่มอบตัว

ยิ่งฟ้าสว่างมากขึ้นเท่าใด การโจมตีต่อเป้าหมายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

ซึ่งหากอยู่ในสถานการณ์สงครามจริงแล้ว การตัดสินใจของฝ่ายเรามีทางเดียวคือ ทำสงครามทำลายการล้อมปราบที่เกิดขึ้นให้ได้

หรืออย่างน้อยก็เตรียมรับมือกับการปิดล้อมในลักษณะของ “สงครามป้อมค่ายประชิด” เพื่อตอบโต้กับการเข้าตีที่เกิดขึ้น

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่เคยคิดว่าศูนย์นิสิตฯ อยู่ในสถานการณ์สงครามกับฝ่ายตรงข้าม

แล้วเราก็ไม่ได้จัดกำลังเพื่อเตรียมรับมือกับการล้อมปราบที่เกิดขึ้น

ทางออกในการปกป้องชีวิตของผู้ร่วมชุมนุมในเช้าวันนั้นจึงเหลือแต่เพียงประการเดียวคือ หาทางติดต่อรัฐบาล เพื่อหวังว่าจะเป็นหนทางของการควบคุมการใช้ความรุนแรงของขบวนการขวาพิฆาตซ้าย

คุณเจษฎา อังวิทยาธร กรรมการศูนย์นิสิตฯ จากมหาวิทยาลัยมหิดลใช้เวลาอย่างมากเพื่อติดต่อกับฝ่ายรัฐบาลตามที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ที่พวกเราพอจะมีอยู่ในมือ

และในระหว่างความพยายามในการติดต่อครั้งนี้ การโจมตีดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

สำหรับกองกำลังของฝ่ายขวาจัดแล้ว การโจมตีในเช้าวันที่ 6 เป็นดังโอกาสของการ “สร้างกุศล” ครั้งใหญ่ด้วยการฆ่าคอมมิวนิสต์

เพราะพวกเขาเชื่ออย่างมากว่านิสิตนักศึกษาและประชาชนผู้ร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นคอมมิวนิสต์

ซึ่งความเชื่อเช่นนี้ถูกประกอบสร้างและถูกปลุกระดมอย่างหนักในขบวนการต่อต้านคอมมิวนิสต์มาตั้งแต่กลางปี 2518

และที่สำคัญก็คือความเชื่อว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”

จนในที่สุดเราก็สามารถติดต่อกับผู้แทนของฝ่ายรัฐบาลได้ แม้จะใช้เวลาอย่างมากก็ตาม และทางรัฐบาลตกลงให้กรรมการศูนย์นิสิตฯ ไปพบกับนายกรัฐมนตรีที่บ้านพัก และขอให้นำตัวผู้แสดงละครมาด้วย

คงต้องยืนยันว่าการติดต่อนี้ไม่ใช่การเดินทางไปมอบตัว เราติดต่อเพื่อขอให้รัฐบาลควบคุมความรุนแรงที่ขยายตัวมากขึ้นด้วยการ “หยุดยิง”

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคำสั่งให้มีการหยุดยิงจะเกิดขึ้นได้ และเป็นหนทางของการรักษาชีวิตของผู้ร่วมชุมนุม

ดังนั้น สำหรับผมแล้ว การเดินทางไปพบกับนายกรัฐมนตรีในวันดังกล่าวจึงไม่ใช่การมอบตัวอย่างที่มีการกล่าวถึงเสมอในเอกสารในยุคหลังๆ

ในสถานการณ์ความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นเช่นนี้ กรรมการศูนย์ไม่สามารถออกไปจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้โดยง่าย

ทางรัฐบาลจึงนัดส่งรถตำรวจมารับเราที่ประตูท่าพระจันทร์

กรรมการศูนย์นิสิตฯ 3 คน ได้แก่ คุณสุธรรม แสงประทุม (เลขาฯ ศนท.) คุณประพนธ์ วังศิริพิทักษ์ (นายกองค์การนักศึกษาเทคโนโลยีพระจอมเกล้า) และผม

ส่วนคณะผู้แสดงละคร 3 คน ได้แก่ คุณอนุพงษ์ พงษ์สุวรรณ (ประธานชมรม) คุณวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ และ คุณอภินันท์ บัวหภักดี (ผู้แสดงละคร) ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่าจริงๆ แล้วผู้แสดงละครล้อเลียนการฆ่าแขวนคอช่างไฟฟ้าที่นครปฐมนั้น มี 2 คนและผลัดกันแสดง ไม่ใช่มีแต่กรณีของอภินันท์คนเดียว

การเดินทางครั้งนี้เต็มไปด้วยความหวังว่าเราจะได้มีโอกาสชี้แจงกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี และหวังแบบ “โลกสวย” ว่า ได้พบและชี้แจงกับนายกฯ แล้ว สถานการณ์ความรุนแรงที่ธรรมศาสตร์คงจะคลี่คลายได้…

พวกเรามีความหวังกับการเดินทางครั้งนี้อย่างมาก

รถกระบะตำรวจของสถานีตำรวจชนะสงครามมารอรับที่ประตูท่าพระจันทร์ตามที่ตกลงไว้ เสียงวิทยุตำรวจรายงานการเดินทางของพวกเราเพื่อไปบ้านนายกฯ ที่ซอยเอกมัยดังเป็นระยะๆ

จนในที่สุดพวกเราก็ถึงบ้านนายกฯ และพวกเราก็ดีใจอย่างมากที่รถตำรวจพาพวกเราเข้าไปในบ้านเลยโดยไม่จำเป็นต้องแลกบัตรตามระเบียบรักษาความปลอดภัยแต่อย่างใด

ผมยังคิดเข้าข้างตัวเองว่า ทางตำรวจหน้าประตูคงรู้ว่าการมาพบเป็นเรื่องด่วน จึงให้พวกเราผ่านเข้ามา โดยผมเองก็ไม่ฉุกใจเลยว่านับจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น

บ้านนายกฯ ที่ไปไม่ถึง

แต่แล้วความดีใจที่มาถึงบ้านนายกฯ เริ่มจางหายไป เพราะมีตำรวจมาโบกมือเป็นสัญญาณว่าไม่ต้องลงจากรถ เพราะท่านนายกฯ ไม่อยู่ และบอกให้เราไปพบกับอธิบดีตำรวจแทน…

พวกเราเริ่มรู้สึกว่าสถานการณ์ผิดปกติ แม้ด้านหนึ่งจะคิดเข้าข้างตัวเองอีกสักครั้งว่า ถ้าได้พบและชี้แจงกับอธิบดีตำรวจก็อาจจะเป็นโอกาสอยู่บ้าง แต่อีกด้านหนึ่งก็เริ่มหวั่นใจว่า พวกเราติดกับดักแล้ว คือเดินทางมาให้เขาจับถึงที่

แล้วรถตำรวจก็พาเราออกจากบ้านนายกฯ ที่ซอยเอกมัย แต่ปัญหาก็คือเราไม่รู้ว่ารถตำรวจจะพาเราไปที่ไหน รู้จากเส้นทางว่ารถพาเรากลับเข้าเมือง รถผ่านแยกสยามสแควร์ ผมมีความรู้สึกทันทีว่าอยากกลับจุฬาฯ มาก… รู้สึกเช่นนั้นจริงๆ แต่ก็คงเป็นไปไม่ได้ เราอยู่บนรถตำรวจที่ไม่รู้ว่าจุดหมายปลายทางคือที่ใด

รถไปถึงกองปราบสามยอดตอนสายๆ อธิบดีตำรวจ พลตำรวจเอกศรีสุข มหินทรเทพ ยืนรออยู่ พอรถจอดสนิท ผมได้ยินคำสั่งสั้นๆ จากอธิบดี ฟังแล้วก็ไม่ต้องมีคำถามใดๆ อีก คำสั่งนั้นก็คือ “จับ”… แล้วตำรวจที่ถูกจัดเตรียมไว้ก็กรูเข้าควบคุมตัวพวกเรา

ความหวังตอนที่ออกมาจากธรรมศาสตร์ว่าเราจะได้ชี้แจงกับนายกฯ เป็นอันสูญสิ้นลง…เหลือเพียงแต่ความเป็นห่วงชีวิตของผู้ร่วมชุมนุมในธรรมศาสตร์

แต่ทั้งหมดนี้ผมก็ยังยืนยันเสมอว่าเราเดินทางมาเพื่อ “ชี้แจง” กับรัฐบาลขอให้มีการหยุดยิง และ “ไม่ได้มามอบตัว” แต่อย่างใด เพราะถ้าจะมอบตัวแล้ว พวกเราเดินทางไปที่สถานีตำรวจชนะสงครามซึ่งอยู่ไม่ไกลนักก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปถึงบ้านนายกฯ ที่ซอยเอกมัย

หรือไม่เช่นนั้นก็มอบตัวกับสารวัตรใหญ่ของ สน.ชนะสงครามที่มารับตัวเราในเช้าวันนั้นก็ได้

แต่ประเด็นนี้ต่อมาถูกสร้างให้เกิดภาพลักษณ์ว่ากรรมการศูนย์เดินทางเข้ามอบตัวกับรัฐบาล ซึ่งในช่วงหนึ่งมีการปล่อยข่าวอย่างเลวร้ายว่า กรรมการศูนย์ “หนีไปมอบตัว” หรือมีการปล่อยข่าวในช่วงนั้นว่ากรรมการศูนย์แตกกัน และฝ่ายหนึ่งยอมเข้ามอบตัว

หากคิดในภาษาปัจจุบันก็คือ เรากำลังเผชิญกับ “ปฏิบัติการข่าวสาร” ของฝ่ายขวาเพื่อลดความน่าเชื่อถือของศูนย์นิสิตฯ

หลังจากถูกจับกุมตรงที่จอดรถแล้ว เราก็ถูกนำตัวเข้า “ห้องขัง” ที่กองปราบสามยอด พวกเราจึงมักจะล้อกันเสมอว่าการเดินทางไปพบนายกฯ เสนีย์ เป็นดังการ “เดินทางไกล”

เพราะจากการเดินทางในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จนกระทั่งนายกฯ เสนีย์ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว เราก็ไม่ได้พบ

จนผมเคยคิดว่าถ้ามีโอกาสได้พบจริง ผมอยากถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับท่านในเช้าวันนั้น

เพราะผมเชื่อว่ารัฐบาลคงตั้งใจจริงให้เราเข้าพบเพื่อชี้แจง แต่ทำไมการเข้าพบจึงกลายเป็นการจับกุม

หรือถ้าเอาเวลาของการติดต่อของกรรมการศูนย์เพื่อขอเข้าพบนายกฯ เป็นเส้นกำหนดเวลา แสดงว่าหลังจากช่วงเวลาดังกล่าวไปแล้ว น่าจะเกิดการ “พลิกผัน” ทางการเมืองภายในของรัฐบาลด้วย

จนเมื่อมีโอกาสรับรู้ข้อมูลมากขึ้น ผมจึงเชื่อว่าเกิด “รัฐประหารเงียบ” ในรัฐบาล จนนายกฯ ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาฯ ได้

และขณะเดียวกันตัวนายกฯ เองก็ไม่อยู่ในภาวะที่จะทำอะไรได้ด้วย หรือว่าที่จริง คณะรัฐบาลสิ้นสภาพไปแล้ว

ขังรวมที่สามยอด

ยังโชคดีอยู่ประการหนึ่งว่า พวกเราทั้งหมด 6 คนถูกขังรวมอยู่ด้วยกัน จึงยังพอจะเป็นโอกาสของการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เพราะในยามนั้นไม่มีอะไรจะสำคัญมากเท่ากับ “กำลังใจ”

แต่ขณะเดียวกันเรารู้น้อยมากว่าเกิดอะไรขึ้นกับการล้อมปราบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในช่วงแรกเราจึงมีความหวังแบบ “ลมๆ แล้งๆ” ว่าพวกเขาอาจจะจับกุมและคุมขังพวกเราชั่วคราว แล้วรอให้กระแสตกก็อาจจะปล่อยตัวพวกเราก็ได้

จนกระทั่งตอนค่ำเราจึงรับรู้ว่ารัฐประหารที่พวกเราคาดว่าจะเกิดนั้นได้เกิดขึ้นจริงๆ แล้ว ซึ่งเมื่อมาถึงจุดของการยึดอำนาจ ความหวังลมๆ แล้งๆ ว่าเราอาจจะได้ออกจากห้องขังเร็วก็เริ่มหายกลายเป็นอากาศธาตุไป…

รัฐบาลรัฐประหารคงไม่ปล่อยพวกเราไปสู่อิสรภาพในเร็ววันเป็นแน่

ความเป็นจริงของชีวิตในห้องขังก็คือ เราเริ่มจัดการกับตัวเองเพราะจะต้องนอนในห้องขัง ไม่ใช่ห้องนอนที่แสนสบายของที่บ้านแล้ว

พวกเราจึงเริ่มจัดทำความสะอาดบางส่วน เพราะห้องขังนี้เป็นสี่เหลี่ยม มีเตียงไม้ยาวยกพื้นพร้อมกับไฟแสงสลัวกลางห้องที่ไม่สว่างมากนัก

จนอดไม่ได้ที่จะคิดเปรียบว่าเหมือนกับห้องขังของพวกตำรวจลับเกสตาโปในภาพยนตร์สงครามที่เคยดู เพราะตำรวจลับนาซีพวกนี้มีภารกิจหลักในการทำหน้าที่จับกุมผู้เห็นต่างทางการเมือง

ผมคิดฟุ้งไปอีกหลายเรื่อง และอดคิดถึงพ่อกับแม่ไม่ได้ นึกถึงคำเตือนให้ระมัดระวังตัวในวันที่พ่อมาส่งผมขึ้นรถโดยสารกลับกรุงเทพฯ

รู้ว่าพ่อกับแม่คงเป็นห่วงมาก แต่ก็นึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไร จนในที่สุดก็หลับไปด้วยความเพลีย เพราะในช่วงก่อนวันถูกจับนั้น ผมแทบไม่ได้นอน เนื่องจากความตึงเครียดของสถานการณ์…

ค่ำคืนแรกในห้องขังในวันที่ 6 ตุลาคม เต็มไปด้วยความกังวล และจบลงด้วยความอ่อนเพลีย

อีกส่วนหนึ่งของชีวิตที่กองปราบก็คือ การถูกเอาตัวออกไปสอบสวนและทำทะเบียนประวัติอาชญากรรม

และทุกครั้งที่ออกจากห้องขังเราจะถูกจับใส่กุญแจมือราวกับเป็น “อาชญากรใหญ่” แต่ว่าที่จริงในมุมมองของกลไกรัฐที่เป็นพวกปีกขวาแล้ว พวกเราถูกประกอบสร้างให้เป็นอาชญากรใหญ่เพราะถูกมองว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ระหว่างทางเอาตัวไปห้องสอบสวน จะมีตำรวจบางส่วนออกมาด่าว่าพวกเราบางคนด้วยคำพูดแรงๆ และหยาบๆ บ้าง ซึ่งพวกเราทั้งหมดเริ่มทำใจกับสถานการณ์เช่นนี้ แต่เมื่อทำใจได้ก็กลับถูกมองว่าถูกส่งไปฝึกมาแล้วใช่ไหม จึงรู้สึกปรับตัวกับเรื่องเหล่านี้ได้

หนึ่งในคำถามยอดฮิตก็คือผมผ่านการฝึกในเวียดนามหรือในลาวมาใช่ไหม

ผมตอบกลับไปว่าให้ไปตรวจสอบประวัติการเรียนผมที่จุฬาฯ ได้ว่าผมไม่เคยขาดเรียนหายไปไหน

หากย้อนกลับไปดูสถานการณ์การปลุกระดมของฝ่ายขวาจัดแล้ว ก็เข้าใจได้ไม่ยากนักว่า ทำไมพวกเจ้าหน้าที่ถึงเชื่อว่าพวกเราเข้ารับการฝึกในโรงเรียนการทหารจากประเทศเพื่อนบ้านมาแล้ว

พวกเขาเชื่อแม้กระทั่งว่าผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันนั้นเป็นชาวต่างชาติ

และโดยวาทกรรมก็คือเป็น “ญวน” เพราะเวียดนามทั้งหมดในขณะนั้นเป็นคอมมิวนิสต์…

ความเชื่อและความกลัวของผู้มีอำนาจและมีอาวุธที่เมื่อผสมผสานกันอย่างไร้เหตุผลแล้ว ก็สามารถก่อความรุนแรงได้ไม่ยากเลย และยิ่งกลัวมากเท่าใดก็ยิ่งจะต้องทำลายแหล่งที่มาของความกลัวให้ได้มากเท่านั้น

การล้อมปราบที่นำไปสู่ “การสังหารหมู่” ในวันที่ 6 ตุลาฯ จึงเป็นผลของการขับเคลื่อนของปัจจัยเช่นนี้… ยิ่งกลัวมาก ก็ยิ่งต้องฆ่ามาก

และยังมีแรงส่งท้ายด้วยว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาปเหมือนกับฆ่าปลาทำอาหารใส่บาตรพระ!”