สุรชาติ บำรุงสุข : 41 ปีแห่งการเคลื่อนไหว (ค่ำคืนอันยาวนาน!)

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

41 ปีแห่งการเคลื่อนไหว (7) ค่ำคืนอันยาวนาน!

ย้อนอ่านตอน  (6)  (5) 

“เราตายอย่างวีรชน มวลชนจะมีเสรี อุทิศชีพพลีเพื่อศักดิ์ศรีไทยดำรงคู่ฟ้า ดั่งแสงตะวันแรงกล้า สาดแสงเจิดจ้าทั่วแคว้นแดนไทย”

เพลงวีรชนปฏิวัติ

จิตร ภูมิศักดิ์

ผมเองมีความรู้สึกสองด้าน

ด้านหนึ่ง ก็ยังมั่นใจกับการรวมพลังในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชื่อมั่นในพลังมวลชนแบบที่เราได้เคยเห็นมาแล้วไม่ว่าจะเป็นการเดินขบวนในเดือนมีนาคม หรือการชุมนุมในเดือนสิงหาคมก็ตาม

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็อดหวั่นใจไปกับข้อมูลข่าวสารที่เริ่มไหลเข้ามาในฐานะของการเป็นกรรมการ ศนท. ที่เป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนในการควบคุมความเคลื่อนไหวในครั้งนี้

ข้อมูลบางส่วนของการเคลื่อนไหวของกลุ่มขวาถูกแจ้งให้เราทราบเป็นระยะๆ จนแอบกังวลอยู่ลึกๆ ในใจว่าพวกเขาอาจจะ “เผด็จศึก” พวกเราในระยะไม่นานนักก็ได้

เพราะดูจากระดับและประเด็นของการปลุกระดมในรอยต่อจากค่ำคืนวันที่ 4 ต่อเข้าวันที่ 5 ตุลาคมแล้ว ล้วนเป็นสัญญาณเตือนที่ในส่วนลึกของความรู้สึกของตัวเองแล้วก็อดประหวั่นพรั่นพรึงไม่ได้ แม้จะมีการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์เป็นเครื่องชโลมใจอยู่บ้างก็ตาม

แต่ก็รู้อยู่แก่ใจว่า ถ้ากลุ่มขวาจัดตัดสินใจที่จะบดขยี้พวกเราแล้ว โอกาสต้านทานคงเป็นไปได้ยาก

เราไม่ได้มีกองกำลังและอาวุธหนักที่จะทำการต่อต้านเช่นนั้นได้เลย

และยิ่งเคยได้เรียนรู้ถึงการล้มรัฐบาลซูการ์โนโดยทหารปีกขวา และตามมาด้วย “การสังหารหมู่” ครั้งใหญ่ในอินโดนีเซียแล้ว การสังหารหมู่ครั้งนั้นเป็น “ฝันร้าย” ของผมในฐานะของนักเรียนรัฐศาสตร์ที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหว

การต่อสู้ของชาวจุฬาฯ

บ่ายวันที่ 5 ตุลาคม ผมตัดสินใจออกจากธรรมศาสตร์มาที่ตึกจักรพงษ์ จุฬาฯ เพราะคงต้องมาถ่ายทอดให้พวกเราได้รับรู้ถึงสถานการณ์ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น

ผมไม่ปฏิเสธเลยว่าเป็นการกลับมาจุฬาฯ ด้วยความหวั่นใจกับสถานการณ์ในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง…

การปลุกระดมของพวกขวาจัดขยายตัวและรุนแรงขึ้น แล้วพวกเราจะรับมือได้จริงหรือ…

กลับมาถึงตึกจักรพงษ์แล้ว เหมือนกลับบ้าน… มีความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ เพราะตั้งแต่รับตำแหน่งรองนายกสโมสร ฝ่ายกิจกรรมภายนอกแล้ว ผมใช้ตึกนี้อย่างเต็มที่ เป็นที่ทำงานในเวลากลางวัน และเป็นที่พักในเวลากลางคืน

ซึ่งในช่วงของการเป็นนิสิตปี 4 และมีตำแหน่งอยู่ในขบวนนักศึกษาเช่นนี้ ผมไม่ค่อยได้กลับบ้านเท่าใดนัก

สำหรับผมแล้ว ชีวิตในตึกจักรพงษ์เป็นชีวิตที่อบอุ่นและอยู่ท่ามกลางมิตรภาพของเพื่อนๆ น้องๆ ทั้งหลายที่เป็น “นักกิจกรรม”

พวกเราหลายคนเติบโตมาด้วยกัน เห็นกันในจุฬาฯ มาหลายปี จากการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย

ฉะนั้น ในวันที่ต้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ทหาร ผมรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของคำว่า “Baptized by Fire” ได้เป็นอย่างดีว่าเป็นความรู้สึกถึงความเป็นพวกเดียวกันจากการผ่านประสบการณ์ที่ยากลำบากมาด้วยกัน เสมือนหนึ่งเป็นทหารที่อยู่ด้วยกันในสนามรบที่ยากลำบาก

และผมรู้สึกว่าพวกเราที่ใช้ชีวิตทำกิจกรรมร่วมกันที่ตึกจักรพงษ์ก็มีสภาพเช่นนั้น

หรือมิตรภาพของคนรุ่นผมในขบวนนักศึกษาประชาชนก็เช่นกัน… มิตรภาพของพวกเราถูกหล่อหลอมขึ้นจากไฟแห่งการต่อสู้ที่เกิดขึ้นของยุคสมัย เสมือนเป็น “มิตรร่วมรบ” มาด้วยกัน

แม้จะกลับมาเป็นอาจารย์แล้ว แต่ทุกครั้งที่เดินผ่านตึกจักรพงษ์ครั้งใด ก็อดที่จะรำลึกถึงภาพแห่งการต่อสู้ของ “ผู้ปฏิบัติงานชาวจุฬาฯ” ในครั้งนั้นไม่ได้

และแน่นอน ผมกล้ายืนยันว่าพวกเขาเป็นผู้ปฏิบัติงานที่ “เอาการเอางาน” เป็นอย่างยิ่ง

“ทีมจุฬาฯ” จากปี 2518 ต่อเข้าปี 2519 ขยายตัวทั้งปริมาณและคุณภาพ และขยันขันแข็งเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้น สำหรับผมแล้ว ตึกจักรพงษ์เป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของขบวนนิสิตจุฬาฯ ในปี 2519 ที่สำคัญ และยังเป็นสัญลักษณ์ของ “การเสียสละ” ของนิสิตจุฬาฯ หลายๆ คนที่ตัดสินใจเข้าร่วมการต่อสู้กับพี่น้องประชาชน

แม้หลายคนอาจจะไม่มีโอกาสได้กลับมาเห็นจุฬาฯ อีกครั้ง และกลับต้องทิ้งชีวิตไว้ในป่าเขา…

ดังนั้น สำหรับผมแล้ว ตึกจักรพงษ์คือสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ แม้ว่าประวัติศาสตร์ของจุฬาฯ ชุดนี้จะถูกบดบังและลบเลือนไปกับกาลเวลา

บ่ายวันนั้นผมนั่งคุยกับพี่เอนก (นายก สจม.) และบรรดาน้องๆ ทั้งที่เป็นกรรมการและเป็นผู้ปฏิบัติงาน

ผมถ่ายทอดให้พวกเขาฟังถึงความล่อแหลมของสถานการณ์ที่เกิดหลังจากภาพของการแสดงละครเวทีที่ลานโพธิ์ถูกแพร่กระจายและถูกนำไปใช้เป็นปัจจัยของการปลุกระดมอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นบนสื่อสิ่งพิมพ์อย่างดาวสยาม หรือสื่อเสียงอย่างสถานีวิทยุยานเกราะ…

น้องๆ ที่ติดตามวิทยุยานเกราะก็มาเล่าให้ฟังว่ายิ่งตกบ่าย การปลุกระดมก็ดูรุนแรงมากขึ้น ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด…

ผมบอกเขาว่าค่ำนี้คงต้องมีการเรียกประชุมกรรมการศูนย์นิสิตฯ และอาจจะต้องเตรียมรับสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

และขณะเดียวกันก็ขอให้พวกเราที่รวมกันที่จุฬาฯ คอยฟังผลการประชุมศูนย์ เพื่อกำหนดทิศทางว่าพวกเราจะไปกันต่ออย่างไร

แต่ก็รู้สึกลึกๆ ในใจว่า นับจากนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

ค่ำคืนวันที่ 5

ผมตัดสินใจครั้งสำคัญด้วยการบอกกับพี่เอนกว่าผมจะไปประชุมที่ธรรมศาสตร์เองในฐานะตัวแทนของจุฬาฯ เพราะผมอยู่ในศูนย์อยู่แล้ว และขอให้พี่เขาอยู่เป็นหลักกับน้องๆ ที่จุฬาฯ เพราะดูสถานการณ์แล้วไม่มีประโยชน์ที่เราทั้งสองคนจะไปด้วยกัน

เผื่อว่าหากมีอะไรเกิดขึ้นก็จะได้มีอีกคนอยู่เป็นแนวหลังที่จุฬาฯ และตั้งใจว่าช่วงเย็นๆ ก่อนค่ำก็จะกลับธรรมศาสตร์

แต่ก่อนจะกลับไปช่วงเย็นนั้น พี่เอนกได้รับโทรศัพท์จากอาจารย์ที่คุ้นเคยกันท่านหนึ่ง ขอพบเราทั้งสอง “ก่อน” ในตอนค่ำ โดยนัดหมายกันว่าอาจารย์จะเอารถมารับเราทั้งสองคนในตอนค่ำ…

รถพาเราวิ่งไปรอบๆ ไปยังเสาธงจุฬาฯ

อาจารย์ท่านนั้นเตือนว่าเขาจะยึดอำนาจพรุ่งนี้ ขอให้เราทั้งสองเตรียมตัว และช่วยจัดการพาน้องๆ ออกไปให้ปลอดภัย

ผมถามด้วยความไร้เดียงสาขณะอยู่ในรถว่า “อาจารย์พอจะบอกได้ไหมครับว่าใครจะทำ”

คำตอบที่ชัดเจนสวนกลับมาทันทีว่า “สุรชาติไม่ต้องรู้ ไปเตรียมตัว!”

แล้วอาจารย์ท่านนี้ก็ปล่อยเราทั้งสองคนลงใกล้ๆ ตึกจักรพงษ์

เราทั้งสองคนลงจากรถด้วยความรู้สึกที่บอกไม่ถูก รัฐประหารที่พวกเรากลัวกำลังจะเกิดขึ้นจริงๆ แล้ว

ปัญหาก็คือแล้วพวกเราจะทำอะไรได้ แล้วเราจะตัดสินใจอย่างไร เราจะต้านได้หรือ…

คำถามนี้วนเวียนไปมาในหัวของผมอย่างไม่มีคำตอบ

ผมตัดสินใจได้ชัดเจนว่า พี่เอนกคงต้องอยู่ดูแลงานของพวกเราที่จุฬาฯ และผมจะกลับไปเตือนพวกเราที่ธรรมศาสตร์…

สถานการณ์กำลังเดินมาถึงจุดพลิกผันจริงๆ แล้ว

ผมรีบออกจากตึกจักรพงษ์ไปธรรมศาสตร์ทันที และเมื่อถึงก็พบว่าการแถลงข่าวของศูนย์นิสิตฯ โดยประยูร (รองเลขาฯ) กำลังสิ้นสุดลง

ทางศูนย์พยายามชี้แจงถึงการแสดงละคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชี้แจงถึงความบริสุทธิ์ใจทั้งของ ศนท. และของชมรมละคร

ซึ่งในการแถลงข่าวนี้ก็ได้ให้ตัวแทนของชมรมละครเข้าร่วมชี้แจงด้วย และผมได้เล่าให้พวกเราที่เป็นแกนการชุมนุมถึงคำบอกเล่าของอาจารย์ที่เพิ่งส่งสัญญาณเตือนภัยผ่านมาถึงการรัฐประหารที่กำลังจะเกิดขึ้น

และจากข้อมูลที่เข้ามาประกอบกันด้วยแล้ว คงต้องยอมรับว่าสถานการณ์ดูจะแย่ลง และขณะเดียวกันก็เริ่มมีฝูงชนเข้ามารวมกลุ่มกันมากทางด้านสนามหลวงแล้ว

แต่ความเป็นจริงของการชุมนุมก็คือ การตัดสินใจยุติการรวมตัวของผู้คนเป็นจำนวนมากในยามค่ำคืนนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากเวลากลางคืนนั้นอันตรายเกินกว่าที่จะปล่อยให้คนกลับออกจากพื้นที่การชุมนุม โดยเฉพาะหลายคนอาจจะอยู่ไกลและไม่มีระบบขนส่งที่จะพาพวกเขากลับได้

แต่ปัญหาก็คือ เมื่อเริ่มมีการชุมนุมรอบนอกแล้ว การจะกลับออกไปตอนกลางคืนน่าจะอันตรายและอาจถูกทำร้ายได้

กรรมการศูนย์จึงตัดสินใจร่วมกันว่าการชุมนุมคงจะยุติในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม และก็ยังมีความหวังว่าหลังจากนั้นเราจะเปิดการ “เคาะประตู” ด้วยการส่งผู้ปฏิบัติงานออกไปหาพี่น้องประชาชนเพื่อบอกเล่าถึงข้อเท็จจริงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการแสดงละคร…

เรายังหวังว่าเราจะมีเวลาจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น เป็นความหวังในค่ำคืนของวันที่ 5 ตุลาคม หรือหากกล่าวเป็นสำนวนของชื่อหนังสือนิยายฝรั่งก็คงต้องบอกว่า “พรุ่งนี้ก็ยาวนานเกินไปเสียแล้ว” (“Tomorrow is too far.”)

คงต้องยอมรับว่าจากคืนวันที่ 5 กว่าจะถึงเช้าวันที่ 6 ตุลาคมนั้นเป็น “ค่ำคืนอันยาวนาน” จริงๆ ทั้งของชีวิตผมและชีวิตของพวกเราอีกหลายๆ คน และสำหรับเพื่อนบางคนแล้ว พวกเขาไม่มีโอกาสได้เห็นเช้าวันรุ่งขึ้นแต่อย่างใด…

หลายคนต้องจบชีวิตก่อนที่เช้าวันพรุ่งจะมาถึงอย่างไม่คาดคิด

ก่อนเช้าวันที่ 6

คํ่าคืนวันที่ 5 หลังจากการแถลงข่าวของ ศนท. ในเวลา 21.00 น. แล้ว พวกเราคุยกันอย่างคร่ำเคร่งเพราะสถานการณ์ดูจะพัฒนาไปในทิศทางที่ไม่ค่อยจะเป็นบวกกับฝ่ายเราเท่าใดนัก

ทุกคนเห็นร่วมกันว่าการสลายการชุมนุมตอนกลางคืนนั้นอันตรายเกินไป

ดังนั้น หากใครมาเขียนเล่าในปัจจุบันว่าเขาเสนอให้ยุติการชุมนุมแล้ว แต่กรรมการศูนย์ไม่รับข้อเสนอนั้น ก็กล่าวได้เลยว่า “ไม่จริง” เพราะมีคนพยายามมาเขียนเล่าให้ตัวเองเป็นวีรบุรุษในปัจจุบัน

ทั้งนี้ กรรมการศูนย์มีความเห็นพ้องต้องกันว่าจะยุติการชุมนุมในตอนเช้า โดยไม่มีใครคาดคิดว่า นับจากช่วงกลางคืนเป็นต้นไปแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น

เมื่อเวลาเริ่มค่ำมากขึ้น ก็เริ่มมีคนมาเตือนว่ามีคนมาชุมนุมหน้าธรรมศาสตร์มากขึ้น สัญญาณนี้เริ่มเห็นตั้งแต่ประมาณ 4 ทุ่มกว่า ซึ่งก็ยิ่งเท่ากับตอกย้ำว่าการยุติการชุมนุมแล้วหาทางพาคนออกจากธรรมศาสตร์นั้นดูจะเป็นเรื่องอันตราย

ยิ่งเวลาเดินไปในค่ำคืนนั้น สถานการณ์รอบๆ มหาวิทยาลัยก็เริ่มมีอาการแปลก เพราะพอตกดึกราวตี 1 กว่าก็เริ่มมีคนที่พยายามจะบุกเข้ามาทางประตูด้านหน้ามหาวิทยาลัย และเริ่มมีเสียงปืนดังขึ้นจากทิศทางดังกล่าว

และพอประมาณตี 2 ก็มีพวกเราที่ฟังวิทยุมารายงานว่ากลุ่มนวพลออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลจับกุมกรรมการ ศนท. ภายใน 72 ชั่วโมง

และหากรัฐบาลทำไม่ได้แล้ว กลุ่มนวพลก็จะเข้าดำเนินการเอง

พร้อมกันนี้สถานีวิทยุยานเกราะก็ออกอากาศโจมตีและป้ายสีศูนย์นิสิตฯ อย่างต่อเนื่อง…

ยิ่งดึก สถานการณ์ดูจะยิ่งทรุดลง แต่ก็มีความหวังเล็กๆ อยู่ประการหนึ่งว่า ในคืนวันที่ 5 นั้น นายกรัฐมนตรีได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรี ทำให้เราพอจะมีความหวังอยู่บ้างว่า รัฐบาลอาจจะยังมีความสามารถพอที่จะควบคุมสถานการณ์ที่กำลังถูกปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงได้บ้าง

เพราะหากสถานการณ์ถูกปล่อยไปโดยไม่ถูกหยุดยั้งได้แล้ว ในที่สุดก็อาจจะนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาล และรัฐบาลก็อาจจะตกเป็นผู้รับผลร้ายนี้เช่นกัน

ยิ่งตกดึก สถานการณ์ก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้น ซึ่งต้องให้เครดิตอย่างมากกับการคุมเวทีของ 3 พิธีกรหลัก คือ ชวลิต และ ธงชัย วินิจจะกูล และ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

เพราะเขาทั้งสามคนต้องพยายามอย่างมาก ด้านหนึ่ง คือการตรึงคนให้อยู่กับที่ และอีกด้านหนึ่ง ก็ควบคุมอารมณ์คนไม่ให้ตื่นตระหนก จนกลายเป็นภาวะที่ควบคุมไม่ได้

พร้อมกันนี้ก็มีเสียงปืนดังขึ้นมาเป็นระยะๆ แต่ก็ยังโชคดีว่า เสียงกระสุนดังอยู่บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัย ซึ่งก็ทำให้อย่างน้อยปราการสำคัญที่ป้องกันผู้ร่วมชุมนุมในบริเวณสนามฟุตบอลก็คือ ตัวหอประชุมที่ขวางกั้นเป็นแนวป้องกันไว้… เสียงของผู้คุมเวทีดังต่อเนื่องตลอดเวลา

ก่อนรุ่งสาง ผมพยายามไปดูสถานการณ์ในบริเวณดังกล่าว ผมคลานไปได้แค่หัวมุมของอาคารคณะนิติศาสตร์ ภาพที่มองเห็นอยู่เบื้องหน้าก็คือ สามชีวิตของเพื่อนผู้ร่วมชุมนุมนอนจมกองเลือดอยู่กับพื้นตรงหัวมุมของหอประชุมมหาวิทยาลัย และมีเสียงปืนดังต่อเนื่อง

ผมคิดว่าจากมุมของเพื่อนที่เสียชีวิตนั้น พวกเขาไม่ได้ถูกยิงจากด้านประตูหน้า แต่น่าจะถูกยิงจากมุมของพิพิธภัณฑสถาน เพราะหัวมุมหอประชุมน่าจะช่วยป้องกันพวกเขาจากแนวกระสุนจากทางประตูหน้าได้ แต่พวกเขาปกป้องตนเองไม่ได้เลยจากทางด้านพิพิธภัณฑ์ ผมทำได้แค่มองดูด้วยความเสียใจและคลานกลับมา พร้อมกับได้ยินเสียงกระสุนดังต่อเนื่อง

ผมเล่าให้กรรมการศูนย์ฟังถึงสิ่งที่เห็น และถ้าวันนั้นตัดสินใจออกไปพ้นจากแนวหัวมุมของคณะนิติศาสตร์แล้ว ก็คงเป็นอีกคนที่ไม่มีโอกาสเห็นเช้าวันที่ 6

แล้วสถานการณ์สำหรับฝ่ายเราก็หนักหน่วงยิ่งขึ้น เมื่อก่อนฟ้าจะเริ่มสาง กระสุนจากเครื่องยิงระเบิดลูกแรกก็ตกลงกลางพื้นที่ชุมนุมที่สนามฟุตบอล มีผู้เสียชีวิตทันที 4 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง…

สถานการณ์บอกอย่างชัดเจนว่าหลังจากการโจมตีด้วยเครื่องยิงระเบิด ซึ่งเป็นเสมือนกับการยิง “เปิดทาง” เพื่อเตรียมการบุกใหญ่ แล้วการโจมตีก็ทวีความรุนแรงขึ้น

ธงชัยและสมศักดิ์พยายามคุมเวทีอย่างเข้มแข็ง และเริ่มอพยพผู้ร่วมชุมนุมเข้าภายในตึกโดยเฉพาะตึกคณะบัญชี…

การโจมตีของกลุ่มขวาจัดเริ่มอย่างเป็นจริงแล้ว

ไม่ใช่การถูกล้อมจับอย่างที่เราคาดไว้แต่เดิม!