ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 พฤศจิกายน 2560 |
---|---|
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
41 ปีแห่งการเคลื่อนไหว (8) ทุ่งสังหารกลางเมืองหลวง!
“กางปีกหลีกบินจากเมือง เจ้านกสีเหลืองจากไป
เจ้าบินไปสู่เสรี บัดนี้เจ้าชีวาวาย”
เพลงนกสีเหลือง
วงคาราวาน
สถานการณ์รอบๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในค่ำคืนของวันที่ 5 ตุลาคม 2519 นั้น เป็นช่วงเวลาของการปลุกระดมขนาดใหญ่อย่างไม่เคยมีมาก่อน…
เป็นช่วงเวลาของการขับเคลื่อนกระแส “ขวาพิฆาตซ้าย” ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ผลจากการตีพิมพ์เผยแพร่ภาพการแสดงละครล้อการถูกฆาตกรรมของสองพนักงานการไฟฟ้าจังหวัดนครปฐมที่ปรากฏบนหนังสือพิมพ์ดาวสยามและบางกอกโพสต์ กลายเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้สื่อขวาจัดอย่างสถานีวิทยุยานเกราะและสถานีวิทยุในเครือข่ายได้ก่อกระแสครั้งใหญ่จากเย็นวันอังคารที่ 4 ตุลาคม 2516 จนถึงเช้าวันที่ 6 ตุลาคม
ในด้านหนึ่งก็คือการโจมตีและใส่ร้ายป้ายสีต่อการเคลื่อนไหวของขบวนนิสิตนักศึกษา หรือหากกล่าวในภาษาปัจจุบันก็คือ การใช้สื่อขวาจัดเปิด “ปฏิบัติการข่าวสาร” เพื่อโจมตีและทำลายความชอบธรรมทางการเมืองของกลุ่มเป้าหมายอย่างหนัก
พร้อมกันนี้ในอีกด้านหนึ่งก็ระดมมวลชนปีกขวา ไม่ว่าจะเป็นกระทิงแดง นวพล และลูกเสือชาวบ้านให้เข้าร่วมในการปิดล้อมการชุมนุมของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยที่ธรรมศาสตร์
และวัตถุประสงค์ของข้อเรียกร้องที่ชัดเจนคือต้องจัดการกับ “พวกคอมมิวนิสต์” ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างเด็ดขาด
สงครามล้อมปราบ
การปลุกระดมอย่างร้อนแรงในค่ำคืนของวันที่ 5 ตุลาคม และตามมาด้วยการใช้เครื่องยิงระเบิดเปิดฉากใส่พื้นที่เป้าหมายที่มีนักศึกษาชุมนุมอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นดังการ “ยิงเปิดทาง” เพื่อส่งสัญญาณเตรียมการเข้าตีใหญ่ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 6 ตุลาคม
นับจากนี้แล้วความไร้เดียงสาของผมได้สิ้นสุดลง เพราะจากเดิมที่เคยคิดว่า เราอาจจะเจอสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในการยุติบทบาทการเคลื่อนไหวของศูนย์นิสิตก็คือ การประกาศให้กรรมการศูนย์มอบตัวและถูกจับกุม และใช้อำนาจทางกฎหมายเข้าจัดการยุบศูนย์นิสิตฯ
แต่จากการเปิดการโจมตีด้วยอาวุธหนักและตามมาด้วยการยิงบริเวณด้านสนามหลวงเข้าสู่พื้นที่ของมหาวิทยาลัย เท่ากับส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการการจับกุมอย่างสันติ แต่พวกเขากำลังเปิดยุทธการทางทหารในลักษณะของ “การล้อมปราบ”
ยุทธการเช่นนี้ในมิติทางทหารแล้วมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการทำลายล้างกำลังพลของฝ่ายตรงข้าม
การล้อมปราบเป็นสงครามที่ฝ่ายที่มีอำนาจทางทหารเหนือกว่า ใช้ขีดความสามารถดังกล่าวที่มีอยู่ทำการปิดล้อมพื้นที่ในทางภูมิศาสตร์ ซึ่งมักจะเป็นพื้นที่ที่เป็นฐานที่มั่น หรือเป็นพื้นที่ที่มีการชุมนุมกำลังพลของฝ่ายตรงข้าม และฝ่ายที่มีกำลังอำนาจทางทหารที่เหนือกว่าก็จะใช้อำนาจที่มีอยู่ “บดขยี้” เป้าหมายฝ่ายตรงข้าม
ฉะนั้น หากมองในทางยุทธศาสตร์แบบวิชาประวัติศาสตร์ทหารในสงครามเดียนเบียนฟูแล้ว พื้นที่ธรรมศาสตร์จึงเป็นดัง “กระเป๋า” ที่จะเปิดให้กำลังพลของฝ่ายตรงข้ามเข้าไปอยู่ และใช้อำนาจทางทหารที่เหนือกว่าจัดการทำลายข้าศึกที่อยู่ในพื้นที่ที่เป็นดังกระเป๋านั้น
ถ้าคิดในจินตนาการของวิชาประวัติศาสตร์ทหารในแบบสงครามเดียนเบียนฟูแล้ว ธรรมศาสตร์จึงถูกแปลงให้เป็นพื้นที่สังหารหรือเป็นกระเป๋าที่มีข้าศึกอยู่…
แต่ในความเป็นจริง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมเรียกร้องของนักศึกษาประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ใช่สงคราม พวกเราเพียงแค่จัดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลนำตัวจอมพลถนอมที่เดินทางกลับเข้าประเทศออกไปต่างหาก
เพราะถ้าเป็นสงครามจริงแล้ว ศูนย์นิสิตฯ น่าจะต้องมีทั้งกำลังพลที่ได้รับการฝึกทางทหาร พร้อมกับมียุทโธปกรณ์เพื่อที่จะรับมือกับการเข้าตีของกองกำลังขวาจัดที่ปรากฏในรูปแบบต่างๆ
การฆ่าที่ไม่ใช่สงคราม
สําหรับผู้นำปีกขวาบางส่วนในเวลาต่อมาพยายามจะอธิบายถึงการเปิดยุทธการในการโจมตีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเช้าวันดังกล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเป็น “สงคราม”
และถ้าจะมีการสูญเสียเกิดขึ้น ก็เป็นเพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสงคราม
แต่สถานการณ์ในวันนั้นไม่ใช่สงคราม เพราะศูนย์นิสิตฯ จัดการชุมนุมทางการเมือง ไม่ได้จัดการทำสงครามแต่อย่างใด
และคำอธิบายง่ายๆ ก็คือถ้าเราทำสงคราม เราจะมีทั้งกองกำลังและยุทโธปกรณ์ที่จะใช้รับมือกับการโจมตีทางทหารที่จะเกิดขึ้น
แต่เมื่อเราไม่ได้ทำสงครามและไม่ได้มีเครื่องมือของการสงครามแล้ว การจะรับมือกับการล้อมปราบของกองกำลังฝ่ายขวาในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม จึงเป็นไปไม่ได้เลย
ยิ่งเมื่อมีการเปิดทางด้วยเครื่องยิงระเบิดในตอนรุ่งสางแล้ว ก็เป็นที่ชัดเจนว่าโอกาสที่เราจะป้องกันตัวเองนั้นเป็นไปไม่ได้เลย
เท่าๆ กับโอกาสที่จะปกป้องรักษาชีวิตของพวกเราอีกหลายๆ คนในพื้นที่การชุมนุมก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน
สถานการณ์ของการล้อมปราบในเช้าตรู่วันนั้น จึงเป็นความเลวร้ายที่กองกำลังของฝ่ายขวาใช้อำนาจของอาวุธเข้าจัดการกับการชุมนุมของนักศึกษาประชาชนด้วยความรุนแรงอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
เพราะโดยปกติแล้วการใช้กำลังรบเข้าจัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในประวัติศาสตร์ไทยนั้น มักจะเป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทหารหรือผู้นำทหารสองฝ่ายมากกว่า และต่างฝ่ายต่างมีกำลังอาวุธของตนเองที่ชัดเจน
เช่น การปราบปรามการยึดอำนาจของกลุ่มทหารเรือในวันรับมอบเรือชื่อ “แมนฮัตตัน” จากสหรัฐอเมริกาในวันที่ 29 มิถุนายน 2494 โดยทางฝ่ายทหารบกตัดสินใจที่จะใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างเด็ดขาด
การปราบ “กบฏแมนฮัตตัน” เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการใช้กำลังปิดล้อมเป้าหมายที่เป็นทหารของอีกฝ่าย และมีการปะทะกันหลายจุด
สถานการณ์เช่นนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นการใช้กำลังของคู่ขัดแย้งทางการเมืองทั้งสองฝ่าย แต่นิสิตนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ไม่ได้อยู่ในสถานะเช่นนั้นแต่อย่างใด สภาพเช่นนี้ทำให้การใช้ความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม เป็นสิ่งที่กลายเป็น “จุดดำ” ของประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะเป็นการใช้กำลังที่ไม่มีความชอบธรรมในตัวเอง เนื่องจากฝ่ายที่ถูกปิดล้อมและปราบปรามนั้นไม่ใช่ทหารฝ่ายตรงข้าม แต่เป็นเพียงนักศึกษาที่จัดการชุมนุมในรั้วมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยก็ไม่ใช่ฐานที่มั่นทางทหารที่จะสามารถรับมือกับการเข้าตีเช่นนั้นได้แต่อย่างใด…
ปฏิบัติการโจมตีธรรมศาสตร์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม จึงเป็นการใช้กำลังแบบฝ่ายเดียว
โอกาสที่ผู้ชุมนุมในธรรมศาสตร์จะต้านทานการเข้าตีดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้และเกินกว่าจินตนาการที่พวกเรามี และคงไม่ผิดนักถ้าจะเปรียบเทียบว่าปฏิบัติการในวันนั้นไม่ต่างอะไรจากสำนวนไทยที่ว่า “ปิดประตูตีแมว”
แต่ความเป็นจริงก็คือผู้ชุมนุมเป็นคนไม่ใช่แมว ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นของการใช้กำลังในวันนั้นก็คือการ “ปิดประตูยิงคน”
และจนถึงปัจจุบันก็ยังคงเป็นเครื่องหมายคำถามใหญ่ว่าการฆ่าครั้งใหญ่ที่ต้นมะขามสนามหลวงและที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกิดขึ้นได้อย่างไร
เพราะเรามักจะอธิบายเสมอว่าสังคมไทยเป็นสังคมพุทธ แล้วการล้อมปราบและฆ่าเกิดขึ้นด้วยเหตุผลอะไร
กระบวนการสร้างข้าศึกภายใน
การฆ่าที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองนั้น จำเป็นต้องมีกระบวนการที่จะทำให้การฆ่ามีความชอบธรรมในตัวเอง
เช่น คำสัมภาษณ์ของพระภิกษุปีกขวาที่นำเสนอวาทกรรมทางความคิดที่สำคัญในการใช้มาตรการเด็ดขาดกับบุคคลที่เชื่อว่าเป็นคอมมิวนิสต์ว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”
อีกทั้งการปลุกระดมของสื่อปีกขวาที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และโหมกระแสต่อต้านให้ร้อนแรงขึ้นหลังจากการพังทลายของระบบนิยมตะวันตกในอินโดจีนในปี 2518 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการล้มของรัฐบาลปีกขวาในไซ่ง่อนและพนมเปญในช่วงต้นปี ทำให้เกิดผลทางจิตวิทยาของความกลัวอย่างมาก
และพวกเขาดูจะยิ่งกลัวมากขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงแบบที่ไม่คาดคิดในลาวในช่วงปีดังกล่าว
อันส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของ “ภูมิทัศน์” ด้านความมั่นคงของไทยอย่างมาก
หรือที่อาจจะเรียกได้ว่าการล้มลงของสามโดมิโนในอินโดจีนได้กลายเป็นแรงกระตุ้นของความกลัวในกลุ่มอนุรักษนิยมไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
เพราะเท่ากับเกิดความชัดเจนว่าภูมิทัศน์ใหม่ของรัฐไทยกำลังมีพรมแดนติดกับรัฐสังคมนิยม
นอกจากนี้ ความฝันด้านความมั่นคงที่มีเสมอในหมู่ชนชั้นนำและผู้นำทหารก็คือ ไทยจะมี “รัฐกันชน” เพื่อขวางกั้นการขยายอิทธิพลของคอมมิวนิสต์จากอินโดจีน
ฝันนี้สลายลงอย่างสิ้นเชิงเมื่อปี 2518 ปิดฉากลง และฝันร้ายยังน่ากลัวมากขึ้นจากการเคลื่อนไหวของขบวนนักศึกษาประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยผลักดันให้สหรัฐปิดฐานทัพและสถานที่ทางทหาร ตลอดรวมถึงสิ่งปลูกสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในทางทหาร
ซึ่งภายใต้ความกลัวการขยายตัวของคอมมิวนิสต์เช่นนี้ การปิดฐานทัพในมุมมองของบรรดาปีกขวาทั้งหลายแล้วก็เป็นดังการทำลายหลักประกันด้านความมั่นคงของประเทศอย่างชัดเจน
สำหรับกลุ่มขวาไทยในภาวะที่ต้องเผชิญกับฝันร้ายของการสิ้นสุดของรัฐบาลปีกขวาในอินโดจีนแล้ว พวกเขามีความหวังที่สำคัญอยู่กับการปกป้องประเทศไทยโดยสหรัฐ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขาต้องการความมั่นใจว่า ถ้าไทยต้องเผชิญกับการคุกคามของกองกำลังคอมมิวนิสต์แล้ว สหรัฐจะเข้ามาเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองไทย
ไม่ว่าจะเป็นผลจากการเข้าร่วมรบกับกำลังรบของสหรัฐในสงครามเกาหลี (2493) พันธกรณีในความตกลงซีโต้ (2498) การมีแถลงการณ์ร่วมไทย-สหรัฐ (2505) และการมีส่วนสนับสนุนอย่างสำคัญในการทำสงครามเวียดนามด้วยการอนุญาตให้สหรัฐมีฐานทัพและสถานที่ทางทหารต่างๆ ตลอดรวมถึงการส่งกำลังรบเข้าร่วมโดยตรงกับสหรัฐในสงครามดังกล่าว
กลุ่มขวาที่กลัวคอมมิวนิสต์จึงหวาดกลัวอย่างมากว่า การต่อต้านฐานทัพสหรัฐ จะทำให้สหรัฐละทิ้งพันธะในการปกป้องไทย
และไทยจะต้องยืนอย่างโดดเดี่ยวในการเผชิญกับภูมิทัศน์ใหม่ที่มีเพื่อนบ้านในอินโดจีนเป็น “รัฐสังคมนิยม” ทั้งหมด
ในสภาพที่ปีกอนุรักษนิยมไทยต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงด้วยความกลัวอย่างมากเช่นนี้ ขบวนนักศึกษาประชาชนจึงถูกประกอบสร้างให้เป็น “ข้าศึกภายใน” ที่จะต้องจัดการด้วยมาตรการเด็ดขาด เพื่อเป้าหมายสำคัญในการรักษาความมั่นคงไทย…
การปิดล้อมและกวาดล้างจึงเป็นมาตรการเด็ดขาดที่จะต้องใช้เพื่อลดระดับความกลัวที่เกิดขึ้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลสืบเนื่องที่จะเกิดขึ้น
คอมมิวนิสต์ต้องฆ่า!
ยิ่งฟ้ารุ่งสางของวันที่ 6 ตุลาคมสว่างมากขึ้นเท่าใด การโจมตีที่เกิดขึ้นก็ดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นฤทธิ์ของเครื่องยิงระเบิดแบบ “เอ็ม-79” ที่ยิงเข้ามาที่สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ ควันระเบิดที่ฟุ้งขึ้นก็ตามมาด้วยผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต
แม้ชวลิต ธงชัย และสมศักดิ์ จะพยายามคุมเวทีอย่างดีเพียงใด แต่คงต้องยอมรับว่าสถานการณ์ที่พวกเรากำลังเผชิญเกินขีดความสามารถในระดับปกติ ทั้งทางประสบการณ์และปัญญาที่จะรับมือได้อย่างแน่นอน
จักรกลการล้อมปราบของฝ่ายขวาดำเนินต่อไปอย่างรุนแรง ภาพของการสูญเสียปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง…
เราเห็นคนเจ็บและคนตายอย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อน และสิ่งที่ได้เห็นกันในวันนั้นไม่ใช่หนังสงครามในแบบที่เราเคยดูในโรงภาพยนตร์
แต่เป็นสงครามแบบฝ่ายเดียวที่มุ่งทำลายล้างขบวนนักศึกษาให้สิ้นซากด้วยความเชื่อหลักว่านักศึกษาและผู้ที่ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นคอมมิวนิสต์ จึงต้องใช้มาตรการเด็ดขาดเข้าจัดการ
อีกทั้งในกระบวนการที่จะทำให้เกิดความชอบธรรมของการใช้กำลังปราบปรามเช่นนี้ นักศึกษาและผู้ร่วมชุมนุมยิ่งถูกสร้างภาพให้เป็น “คนต่างชาติ” โดยมีการโฆษณาโจมตีว่าคนเหล่านี้เป็น “ญวน” เพราะในขณะนั้นความกลัวคอมมิวนิสต์เวียดนามถูกสร้างให้กลายเป็นวาทกรรมสำคัญในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ การฆ่าจึงเป็นการจัดการกับ “คนนอก” ที่แทรกซึมเข้ามาก่อความไม่สงบในสังคมไทย
จิตวิทยาที่สำคัญของความเชื่อที่หยาบที่สุดในทางยุทธศาสตร์ก็คือ “ยิ่งฆ่า ยิ่งมั่นคง” แล้ว การฆ่าก็ดำเนินไปอย่างที่เรานึกไม่ถึงว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นในใจกลางเมืองหลวงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519!