ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

ธงทอง จันทรางศุ เจ้าของคอลัมน์ “หลังลับแลมีอรุณรุ่ง”

แม้จะอยู่ในเจน “อาวุโส”

แต่เป็น “อาวุโส” ที่มีช่องว่างกับเหล่า “เยาวเรศ” น้อยอย่างยิ่ง

ล่าสุด อาจารย์ธงทองเพิ่งไปร่วมกิจกรรมกับ “คนรุ่นใหม่” ที่ จ.อุตรดิตถ์มา

ไปเยี่ยมค่ายอาสาพัฒนาชนบทและกิจกรรมแนะนำกฎหมาย ของนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บ้านห้วยครั่ง อ.บ้านโคก

 

อาจารย์ธงทองเล่าถึงโรงเรียนบ้านห้วยครั่ง ที่นิสิตไปออกค่าย

เป็นโรงเรียนที่มีครูหกคน เป็นหญิงล้วน เป็นข้าราชการสามคน เป็นครูอัตราจ้างอีกสามคน

มีเด็กนักเรียนประถมหนึ่งถึงประถมหกประมาณ 30 คน

ถือเป็นโรงเรียนขนาดเล็กพิเศษ คือมีจำนวนนักเรียนไม่ถึง 40 คน

นอกจาก “ปัญหาดั้งเดิม” การจัดการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กที่เรารับรู้มาโดยตลอด

ไม่ว่าครูจำนวนน้อย

นักเรียนมีจำนวนลดลงไปเรื่อยๆ

ครูต้องทำหน้าที่อื่นสารพัด

ทั้งหน้าที่บริหาร ภารโรง ดูแลอาหารมื้อกลางวัน ผลัดกันเฝ้าโรงเรียนเวลากลางคืน

นโยบาย “คืนครูสู่ห้องเรียน” ที่เกากันมาหลายสิบปีไม่หายคันสักที

ยิ่งกว่านั้น อีกปัญหาที่อาจารย์ธงทองห่วงและกังวล

คือผลกระทบสืบเนื่องจากโควิดที่ “ไม่จบ” และไม่แตกต่างจากคนอีกมหาศาลในประเทศไทยเผชิญ

ทำไมถึงห่วง

และทำไมอาจารย์ธงทองจึงต้องขอแสดงความนับถืออย่างสูงสำหรับคุณครูโรงเรียนบ้านห้วยครั่ง

โปรดพลิกอ่านที่หน้า 52

 

ปัญหาที่โรงเรียนบ้านห้วยครั่ง อันห่างไกลนั้น

ว่าที่จริงแล้วก็เป็นปัญหาเดียวกับสิ่งที่ปรากฏในคอลัมน์การศึกษา ที่หน้า 32

นั่นคือปัญหาโควิด ที่กระทบมาถึงปัญหาเศรษฐกิจ

ทำให้ตัวเลข “เด็กดร็อปเอาต์” หรือเด็กออกจากโรงเรียนกลางคัน พุ่งลิ่ว

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา

มีการสำรวจพบว่า มีเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษามากถึง 238,707 คน

กระทรวงศึกษาธิการต้องระดมหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด เพื่อแก้ไข

แม้ว่าจะสามารถดึงเด็กที่อยู่นอกระบบกลับมาเรียนได้หลายหมื่นคน

แต่ดูเหมือนสถานการณ์ยังน่าห่วง

ล่าสุดตัวเลขเด็กดร็อปเอาต์ตลอดปี 2565 พบว่ามีอยู่กว่า 1 แสนคน!!

คอลัมน์การศึกษา ย้ำว่านี่เป็นงานหินที่รอรัฐบาลใหม่เข้ามาพิสูจน์ฝีมือ

สอดคล้องกับอาจารย์ธงทอง ที่เรียกร้องว่าปัญหาทั้งหมดนี้ ไม่สามารถปล่อยให้เวลาเป็นผู้เยียวยาแต่เพียงลำพังได้

หากแต่ต้องการการแก้ปัญหาเชิงระบบด้วยสติปัญญาของภาครัฐที่จะหนุนช่วย

อาจารย์ธงทองทิ้งท้ายไว้ในคอลัมน์ “หลังลับแลมีอรุณรุ่ง” ว่า

“…วันที่ผมนั่งเขียนหนังสืออยู่นี้ เป็นเวลาสองสัปดาห์แล้วนับจากวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วทั้งประเทศเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในประเทศส่วนใหญ่ ถ้าการเลือกตั้งผ่านไปถึงสองสัปดาห์แล้ว แต่ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ก็เป็นของแปลก แปลกมากถึงแปลกที่สุด

แต่สำหรับบ้านเรา แปลกมาหลายเรื่องแล้ว แปลกอีกเรื่องหนึ่งจะเป็นไรไป ฮา!

ไม่เป็นไรครับ เป็นคนไทยต้องอดทนอยู่แล้ว แต่อย่าให้เหลืออดก็แล้วกัน

เพราะวันไหนเหลืออดแล้ว คนไทยก็เอาจริงเอาจังน่าดู

ระหว่างที่เรายังไม่เหลืออดนี้ ขอพวกเราจงมาตั้งความหวังร่วมกัน

ขอให้รัฐบาลที่ตั้งใหม่เป็นผลสำเร็จ ช่วยนึกถึงปัญหาทั้งใหญ่และน้อยของประเทศไทย”

 

ขนาดอาจารย์ธงทองซึ่งอาวุโสและผ่านอะไรมามากมาย

ยังเตือนว่า อย่าให้ไปถึงจุดเหลืออด

แล้วคนรุ่นใหม่ ซึ่งแลเห็นการดิ้นรนทุกวิถีทางของฝ่ายดึกดำบรรพ์ เพื่อรักษาและเยื้ออำนาจของตนต่อไป

จะระอุร้อนแค่ไหน ไม่อยากนึกเล้ย! •